แฉอีไอเอ‘บีเอสที’ไม่ได้ประเมินความเสี่ยง ไร้แผนป้องกันอุบัติภัย-กระจายสารพิษ จวกรัฐรวมหัวปิดข้อมูล‘โทลูอีน’พิษถึงตาย

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 8 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 7318 ครั้ง

 

จากเหตุการณ์ถังสารเคมีของบริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ หรือ บีเอสที ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เมื่อวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 129 คน และเสียชีวิต 12 คน หลังจากเกิดเหตุจังหวัดระยองได้ประกาศใช้แผนฉุกเฉินและสั่งอพยพคนงานออกจากพื้นที่ รวมถึงชุมชนรอบนิคมฯ มาบตาพุด เบื้องต้นคาดการณ์ว่า สาเหตุระเบิดน่าจะมาจากอากาศร้อนจัด หรือความประมาท

ส่วนเหตุการณ์ระเบิดไฟลุกไหม้ถังสารเคมีครั้งนี้ เกิดขึ้นที่ฝ่ายผลิตยางบีอาร์ ที่หน่วยผลิต บริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด ติดกับบริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ ซึ่งอยู่ภายในโรงงานเดียวกัน ขณะคนงานกำลังทำความสะอาดถัง และกำลังบรรจุสารโทลูอีนใส่ถัง ได้เกิดระเบิดและมีไฟลุกไหม้ขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่วนสาเหตุเกิดจากสารโทลูอีน ซึ่งเป็นสารไวไฟถูกความร้อนทำให้เกิดไฟลุกไหม้ขึ้น

สำหรับ บริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด (Bste) เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ จำกัด โดยเป็นผู้ผลิต ผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ประเภท Polybutadiens Rubber (BR) และ Styrene Butadiene Rubbur (SBR) ซึ่งยางสงเคราะห์นี้ ถูกนำไปใช้ในการผลิตยางรถยนต์ ยางชิ้นส่วนยานยนต์ พื้นรองเท้าพลาสติก และอุปกรณ์กีฬา ฯลฯ

 

จวกรัฐ-โรงงานไฟไหม้ปกปิดเรื่องสารเคมี

 

 

น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงเหตุการณ์ระเบิดไฟลุกไหม้ ทำให้เกิดควันพิษจำนวนมหาศาล ว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่หลังเกิดเหตุการณ์แล้วพบว่า การจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นค่อนข้างมีปัญหา ทั้งภาครัฐ นิคมอุตสาหกรรม และในส่วนของโรงงานเอง มีความพยายามปกปิดข้อมูล ทำให้เกิดความเข้าใจผิดของคนในพื้นที่ เช่น มีความพยายามให้ข้อมูลว่า สารทูโลอีนที่ระเหยออกมานั้น ไม่ใช่สารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ซึ่งในความเป็นจริงสารทูโลอีน เป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง และมีผลในการทำลายอวัยวะ เช่น ตับ และอวัยวะภายใน และระบบทางเดินหายใจ ซึ่งจากการลงพื้นที่บริเวณที่มีการระเบิด สังเกตได้เลยว่าจะมีอาการคอแห้ง

 

“เมื่อไม่มีการพูดความจริงเกี่ยวกับผลของสารเคมีที่ระเหยออกมา อย่างสารทูโลอีน มันจะมีผลไปถึงชาวบ้านที่อยู่โดยรอบและผู้ที่เข้ามาในบริเวณนี้ ไม่ได้มีการเตรียมตัวที่ถูก ทั้งนักข่าว หน่วยกู้ภัย และคนอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและต้องเข้าไปในพื้นที่ ดังนั้นการพูดว่าไม่มีอันตราย เป็นการพูดที่ผิดมาก อาจจะทำให้การแก้ปัญหาไปผิดทาง”

 

น.ส.เพ็ญโฉมกล่าวว่า เรื่องที่ต้องติดตามต่อไปทั้งจากภาครัฐและผู้ประกอบการคือ ข้อเท็จจริงของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทั้งผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและผู้ที่เสียชีวิต ซึ่งตัวเลขที่แถลงออกมานั้น ยังไม่แน่ว่าเป็นตัวเลขที่แท้จริงหรือไม่ รวมไปถึงปัญหาชาวบ้านจากชุมชนโดยรอบ ที่สูดดมสารเคมีที่ฟุ้งกระจายออกไป ซึ่งไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่า มีการฟุ้งกระจายของสารเคมีไปมากขนาดไหน มีประชาชนที่ได้รับสารเคมีจากการสูดดมมากเท่าไหร่ ภาครัฐยังไม่มีการพูดถึงปัญหาเหล่านี้ และไม่มีมาตรการที่จะดูแลช่วยเหลือด้วย

 

เกิดเหตุซ้ำซากไม่เคยแก้ไขได้

 

สำหรับกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการระเบิดครั้งนี้ มีสองกลุ่มด้วยกัน คือ คนงานในโรงงาน ซึ่งส่วนใหญ่จะได้รับบาดเจ็บ ตั้งแต่บาดเจ็บเล็กน้อย บาดเจ็บปานกลาง บาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิต อีกกลุ่มหนึ่งคือชาวบ้านที่อาศัยอยู่รอบโรงงาน และในรัศมีที่สารเคมีจะฟุ้งกระจายไปด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นจากอุบัติภัยครั้งนี้ ปัญหาที่เห็นได้ชัดเจนคือ มีการปกปิดข้อมูล และไม่มีการประกาศข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้กับชาวบ้าน ซึ่งความเงียบแบบนี้จะทำให้เกิดปัญหาในอนาคต และที่สำคัญคือ  หลังจากเกิดเหตุระเบิดแล้ว มีฝนตกลงมาการแพร่กระจายของสารเคมีที่รั่วไหลไปในอากาศและลงแหล่งน้ำ ภาครัฐและผู้ประกอบการได้คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้หรือไม่ ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับโรงงานอุตสาหกรรมภายในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เป็นเช่นนี้ทุกครั้งและไม่เคยมีการแก้ไขแต่อย่างใด

 

ชี้สารโทลูอีนอันตรายมาก-ทำลายตับไตสมอง

 

 

ทางด้านผศ.ดร.กิติกร จามรดุสิต  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนิเวศวิทยาอุตสาหกรรม คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอเรื่องเหตุการณ์ระเบิดครั้งนี้ ในเฟซบุ๊คของคณะฯ ว่า บริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ ที่เกิดเหตุระเบิดครั้งนี้ เป็นบริษัทหนึ่ง ในกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลาง ที่ผลิตผลิตภัณฑ์หลัก Mixed C4 ซึ่ง ผลิตภัณฑ์จำพวกคาร์บอน 4 ตัวนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งในอุตสาหกรรมก๊าซแอลพีจี หรือก๊าซหุงต้ม อุตสาหกรรมการผลิตตัวเพิ่มค่าออกเทน และ อุตสาหกรรมยางสังเคราะห์ ทั้งยางบิวทาไดอีน และยางสไตรีนบิวทาไดอีน ซึ่งภายในกระบวนการผลิตยางสังเคราะห์ของบริษัทนี้ ใช้กระบวนการสังเคราะห์แบบสารละลาย คือต้องมีตัวทำละลายไปละลายวัตถุดิบตั้งต้น ซึ่งตัวทำละลายที่ใช้ก็คือ โทลูอีน

ซึ่งสารโทลูอีนนั้น เมื่อสูดดมเข้าไปโดยตรง จะก่อให้เกิดการระคายเคือง ปวด วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ มึนงง แต่หากสัมผัสถูกผิวหนังจะก่อให้เกิดการระคายเคือง ทำให้เกิดผื่นแดงได้ หากมีการสูดดม หรือสัมผัสโดยตรงเป็นระยะเวลานานๆ อาจมีผลทำลายอวัยวะภายในประเภท ตับ ไต กระเพาะปัสสาวะ และสมองได้ สารนี้มีความเสถียร แต่หากเกิดการสลายตัวจากการเผาไหม้อาจทำให้เกิดเป็นออกไซด์ของคาร์บอน และออกไซด์ของไนโตรเจนได้ ซึ่งสารเคมีนี้จัดเป็นสารเคมีอันตราย ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ชนิดที่ 3

 

จี้เร่งตรวจแหล่งน้ำ-สภาพอากาศ

 

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและฝึกอบรมนิเวศวิทยาอุตสาหกรรมระบุอีกว่า จากเหตุระเบิดมีกลุ่มหมอกควันสีดำ ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้แบบไม่สมบูรณ์ และในขณะเกิดเหตุเกิดฝนตกลงมา หากควันดังกล่าวรวมกับน้ำในแหล่งน้ำ ลักษณะน้ำจะมีความเป็นกรดเล็กน้อย หากไม่มีสารเคมีอันตรายตัวอื่นเจือปน การควบคุมผลกระทบในระยะสั้นและระยะยาวของระบบนิเวศ ในพื้นที่ไม่น่าเป็นห่วงนัก ด้วยเพราะโครงสร้างสารดังกล่าวเป็นไฮโดรคาร์บอน ซึ่งประกอบด้วยไฮโดรเจน และคาร์บอนไดออกไซด์เป็นหลัก แต่หากมีสารสะสมลงไปในแหล่งน้ำปริมาณสูงมากๆ จะส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในแหล่งน้ำทั้งนี้ ควรมีการตรวจสอบคุณภาพอากาศ และคุณภาพของแหล่งน้ำทั้งน้ำผิวดิน และชายฝั่งของบริเวณดังกล่าวภายหลังเหตุการณ์ควบคุมได้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ทั้งโรงงานที่อยู่ในพื้นที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ควรยกระดับและสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของความปลอดภัยของพื้นที่ ทั้งแผนความปลอดภัย แผนฉุกเฉิน แผนอพยพ โดยเน้นที่การสื่อสารกับชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบด้วย

 

“หลังเกิดเหตุแล้ว การสื่อสารเพื่อลดความตื่นตระหนกถือเป็นเรื่องสำคัญ และต้องทำเป็นการเร่งด่วนด้วย เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจในพื้นที่ ด้วยการตรวจสอบคุณภาพอากาศ แหล่งน้ำ และสุขภาพโดยรอบของพื้นที่ถือเป็นเรื่องสำคัญ และต้องทำทั้งในระยะสั้นและยาว ถึงแม้โทลูอีนจะอันตรายน้อยกว่าเบนซีน แต่โครงสร้างโทลูอีนยังประกอบด้วยเบนซีน ก็ยังว่าก่อมะเร็งอยู่ดี” ดร.กิติกรกล่าว

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสารโทลูอีน (Toluene) เป็นอนุพันธ์ของเบนซีน มีลักษณะเป็นของเหลว ไม่มีสี ระเหยเป็นไอและติดไฟได้ง่ายที่ความดันบรรยากาศและอุณหภูมิปกติ มีกลิ่นคล้ายเบนซิน กลิ่นหอมหวานแรง สูตรโมเลกุลคือ C6H5CH3 ในปัจจุบันโทลูอีนส่วนใหญ่เป็นผลพลอยได้ของอุตสาหกรรมถ่านหินและอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ในอุตสาหกรรมถ่านหินจะได้โทลูอีนจากแก๊สและ coal tar ส่วนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะได้จากการกลั่นน้ำมันดิบ หรือ ก๊าซธรรมชาติ สมบัติทางเคมีและกายภาพของโทลูอีนที่ควรรู้จัก เช่น จุดหลอมเหลว -95°C จุดเดือด 110.4°C จุดวาบไฟ 6-10°C ความหนาแน่น 0.866 g.mL-1 อุณหภูมิที่ติดไฟได้เอง 623°C เป็นต้น

สำหรับประโยชน์โทลูอีนมีหลายอย่างเช่น ใช้ทำสารทำละลาย ในอุตสาหกรรม ยา เคมี ยาง พลาสติก และ สี ใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตสารเคมีหลายชนิด ใช้ในอุตสาหกรรมหนังเทียม เส้นใย การเคลือบกระดาษ และหมึกพิมพ์ ใช้ใส่ในน้ำมันเชื้อเพลิง ใช้เป็นส่วนผสมหลักของทินเนอร์ในสี แลกเกอร์ และน้ำมันชักเงา เป็นต้น

 

 

อยู่ระหว่างยื่นอีเอชไอเอขอต่อขยายโรงงาน

 

 

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากเว็บไซต์ สำนักงานองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ www.iceh.or.th เมื่อเดือนธ.ค.2554 ที่ผ่านมา โครงการผลิตผลิตภัณฑ์จาก Mixed C4 ของบริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัด (ส่วนขยายครั้งที่ 2) ซึ่งมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 147.71 จากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ได้ส่งรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ให้คณะกรรมการพิจารณา เนื่องจากโครงการดังกล่าว เข้าข่ายโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของหน่วยงานที่รับผิดชอบ

ข้อมูลจากเอกสารแนะนำโครงการระบุว่า  ผลิตภัณฑ์ของโครงการ 1,3 บิวทาไดอีน เป็นสารก่อมะเร็งกลุ่ม 1ตามการแบ่งประเภทของ IARC และเป็นก๊าซที่มีคุณสมบัติก่อมะเร็งเม็ดเลือดขาว และมะเร็งน้ำเหลือง รวมทั้งเป็นอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้สายตาพร่ามัว คลื่นไส้ เพลีย ชีพจรเต้นช้าลง ความดันลดลงและถึงขั้นหมดสติ

ทั้งนี้เว็บไซด์ดังกล่าวได้นำเสนอข้อมูลกระบวนการรับฟังความคิดเห็นขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากชุมชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากโครงการผลิตผลิตภัณฑ์ Mixed C4 ของบริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัด (ส่วนขยายครั้งที่ 2) ซึ่งชาวบ้านที่เข้าร่วมเวทีสะท้อนว่า ในการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของ BST ในการทำประชาพิจารณ์ของโรงงานนั้น  ชุมชนได้แจ้งกับโรงงานว่า 1,3 บิวทาไดอีน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของโครงการ เป็นสารที่โรงงานเกินมาตรฐาน แต่โรงงานยืนยันว่ามีค่าไม่เกินมาตรฐาน ดังนั้นชาวบ้านจึงไม่ต้องการเข้าร่วมเวทีรับฟังความเห็น เนื่องจากมีการเข้าร่วมหลายครั้ง แต่ไม่มีการพัฒนาหรือนำข้อคิดเห็นของชาวบ้านไปแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น นอกจากนี้เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ไม่เคยไม่มีโรงงานใดยอมรับว่าเป็นสารเคมีจากโรงงานตนเอง

 

 

กอ.สส.ไม่ยอมให้ผ่านการพิจารณา

 

 

นอกจากนี้ชาวบ้านยังไม่ให้ความเชื่อถือในผลการวิจัย เนื่องจากงานวิจัยที่ผ่านมาเข้าข้างผู้ประกอบการมากเกินไป รวมทั้งไม่มีการแจ้งผลงานวิจัยให้ประชาชนทราบ และที่สำคัญควรมีการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเดิมให้ดีก่อน แล้วจึงค่อยก่อสร้างหรือขยายกำลังการผลิตใหม่  ซึ่งข้อมูลจากเว็บไซต์ขององค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ สรุปว่า ชาวบ้านในพื้นที่ที่อาจจะได้รับผลกระทบจากโครงการที่อาจก่อให้เกิดความรุนแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ไม่เห็นด้วยกับการขยายอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ มีมติไม่เป็นเอกฉันท์ในการให้ความเห็นต่อ โครงการผลิตผลิตภัณฑ์ Mixed C4 ของบริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัด (ส่วนขยายครั้งที่ 2) ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้

กลุ่มแรงงานออกแถลงการณ์จี้รัฐแก้ปัญหา

 

วันเดียวกัน นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใยต่อสถานการณ์สารเคมีระเบิดในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เรียกร้องรัฐบาลให้มีนโยบายที่ชัดเจนต่อการคุ้มครองแรงงาน ให้เกิดความปลอดภัยจากการทำงาน ในอุตสาหกรรมอันตรายในประเทศไทย

“รัฐอย่าทำหน้าที่เพียงติดปลาสเตอร์ ทายาแดง ให้กินแอสไพริน เพราะเป็นการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวเท่านั้น”

 

สืบเนื่องจากสถานการณ์สารเคมีโทลูอีน (Toluene) บริเวณโรงเก็บสารตัวทำละลายของบริษัท บีเอสที อิลาสโตเมอร์ส จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เกิดระเบิดขึ้นอย่างรุนแรงจนลุกไหม้ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2555 ส่งผลให้มีแรงงานเสียชีวิต 12 คน และบาดเจ็บกว่า 129 คน บริษัทในเครือของบริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางสงเคราะห์ที่นำไปใช้ในการผลิตยางรถยนต์ ยางชิ้นส่วนยานยนต์ พื้นรองเท้าพลาสติก และอุปกรณ์กีฬา โดยเป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตยางสังเคราะห์รายใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชีย

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยขอแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อแรงงานและครอบครัวที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการทำงานในครั้งนี้ ทั้งๆ ที่อีกไม่กี่วันจะเป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ 10 พ.ค.

อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ระเบิดดังกล่าวกลับเป็นเพียงภาพสะท้อนถึงปลายทางรูปธรรมของสถานการณ์ความไม่ปลอดภัยจากการทำงานของแรงงาน ในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ ในประเทศไทย ที่ยังต้องเผชิญกับอุบัติเหตุจากการทำงานจนเสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บบ่อยครั้ง แม้รัฐบาลไทยจะมีแนวนโยบายหรือมาตรการในการจัดการกับปัญหา แต่พบว่ารัฐยังไม่ได้ดำเนินการให้เป็นที่ประจักษ์ชัดเจน ทั้งๆ ที่ข้อมูลจากหอการค้าไทยระบุว่า สินค้าส่งออกสำคัญของประเทศไทย 10 อันดับแรก ปี 2554 ในลำดับที่ 6 7 และ 8 คือ เม็ดพลาสติก, ผลิตภัณฑ์ยาง และเคมีภัณฑ์ มูลค่า 265, 312, 252, 969 และ 250, 046 ล้านบาท ตามลำดับ แต่ชีวิตของแรงงานกลับแปรผกผันกับตัวเลขการส่งออกดังกล่าว

 

 

เปิดซ่อมประจำปีแต่จ้างคนนอกที่ประมาทมาทำ

 

 

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องด้วยเหตุผลสำคัญ 8 ประการคือ

1.แม้จะมีการระบุว่าเหตุระเบิดครั้งดังกล่าว อยู่ในช่วงระหว่างการปิดโรงงาน เพื่อซ่อมบำรุงประจำปี แต่โดยข้อเท็จจริงแล้ว โรงงานปิโตรเคมีขนาดใหญ่เมื่อเดินเครื่องการผลิตไปได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ จะต้องมีการปิดซ่อมบำรุง เพื่อตรวจซ่อมบำรุงเครื่องจักร และเปลี่ยนตัวเร่งปฏิกิริยาบางตัว ที่ถึงรอบการหมดอายุ กรณีดังกล่าวหากเป็นการซ่อมบำรุงปกติ ในระหว่างที่มีการเดินเครื่องการผลิต ทางโรงงานจะมีหน่วยซ่อมบำรุงดูแลเป็นการเฉพาะ แต่หากเป็นการซ่อมบำรุง เพื่อทำการตรวจเช็คทั้งหมด ทางโรงงานจะมีการว่าจ้างบริษัทภายนอกเข้ามาทำการซ่อมบำรุง บ่อยครั้งที่การจ้างงานภายนอกมา พร้อมกับความไม่ปลอดภัยของแรงงานที่เข้ามาทำงาน เนื่องจากแรงงานกลุ่มที่เข้ามาซ่อมบำรุงนี้ ไม่ใช่แรงงานประจำที่มีความชำนาญพื้นที่หรือมีความรู้พื้นฐานเพียงพอ กับระบบการผลิตของโรงงาน หรือคุ้นเคยกับการทำงานในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงของสารเคมี ที่มีไอระเหยและสามารถติดไฟได้ง่าย รวมถึงความเข้มงวดและความตระหนักของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานในสถานประกอบการ (จป.) มีน้อย ทำให้โอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุจากการทำงานแบบครั้งนี้ด้วยความประมาทจึงมีสูงมาก

 

แฉอีไอเอไม่มีข้อมูลสารเคมี-ความเสี่ยง

 

2.สืบเนื่องจากเดือนธันวาคม พ.ศ.2554 องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (กอสส.) ได้ให้ความเห็นต่อการดำเนินโครงการของบริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ จำกัด ว่า เป็นโครงการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 มาตรา 67 วรรค 2 ทั้งนี้ในรายงานดังกล่าวได้ระบุชัดเจนว่า การดำเนินการของโรงงานยังขาดการประเมินความเสี่ยงในเรื่องอุบัติภัย ทั้งๆ ที่โครงการฯมีการใช้วัตถุดิบสารเคมีหลายชนิด ทั้งสารไวไฟและสารก่อมะเร็ง โดยเฉพาะขาดการประเมินในเรื่องของการแพร่กระจายของสารพิษที่เกิดจากเหตุไฟไหม้ ระเบิดหรือไฟไหม้พร้อมกับเหตุระเบิด นอกจากนี้ยังขาดการประเมินความปลอดภัยในช่วงการซ่อมบำรุง ที่อาจจะต้องใช้บุคคลากรจากภายนอกด้วย ความเสี่ยงจะแตกต่างกันไปจากการใช้บุคลากรของบริษัทอย่างเดียว

นอกจากนั้นแล้วในรายงานยังระบุอีกว่า โรงงานแห่งนี้ไม่มีการระบุเรื่องการประเมินความเสี่ยงและศักยภาพการรองรับอุบัติภัย ทั้งในเรื่องของขาดข้อมูลแสดงทิศทางการแพร่กระจายของสารเคมีหากเกิดอุบัติภัย, ขาดข้อมูลการแจ้งเหตุหรือการสื่อสาร กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยตรง กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน, ไม่ปรากฏแผนรวมของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และไม่กำหนดการซ้อมแผนรับมืออุบัติภัยอย่างสม่ำเสมอ และครอบคลุมทุกชุมชนที่มีความเสี่ยง, ขาดการแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทราบถึงข้อมูลความปลอดภัยของสารเคมี และขาดแผนการดูแล เยียวยา และฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบและสิ่งแวดล้อมจากอุบัติภัย เหล่านี้คือข้อมูลสำคัญ ที่ชี้ให้เห็นถึงการที่โรงงานไม่มีนโยบายที่ชัดเจน ในเรื่องการส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานของแรงงานแม้แต่น้อย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ เมื่อวันที่ 5-6 มี.ค.2552 โรงงานแห่งนี้ก็ได้เกิดสารเคมีรั่วไหล ขณะขนถ่ายสารเคมีขึ้นมาจากท่าเรือมาบตาพุดมาแล้วครั้งหนึ่ง

 

 

คนงานไม่รู้ว่าสารเคมีอันตรายมาก

 

 

3.โทลูอีน (Toluene) เป็นของเหลวใสและเป็นสารไวไฟที่ถือว่าเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 ที่ควบคุมโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม สารเคมีประเภทนี้ส่งผลต่อสุขภาพสูง คือ ทำลายระบบประสาทส่วนกลาง มีผลต่อไขกระดูกและโลหิตอาจกลายเป็นมะเร็งในเม็ดเลือด สำหรับแรงงานที่ต้องทำงานอยู่กับสารเคมีประเภทนี้เป็นเวลานาน ต้องเผชิญกับร่างกายที่อ่อนเพลีย มีอาการเหมือนมึนเมา คลื่นไส้ บางคนมีอาการวิงเวียน หมดสติ และอาจเสียชีวิตได้ เนื่องจากหายใจไม่ออก สำหรับผิวหนัง ถ้าถูกโทลูอีนเป็นเวลานานซ้ำที่เดิมจะเป็นแผลอักเสบ แน่นอนข้อมูลดังกล่าวนี้ แรงงานโดยทั่วไปกลับไม่ทราบ และขาดการเข้าถึงเพื่อการป้องกันในระหว่างการทำงานจนเกิดความสูญเสียขึ้น

4.นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดเป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2525 ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ว่าด้วยการกระจายความเจริญจากเมืองหลวงไปสู่ภูมิภาค ภายในนิคมมีพื้นที่กว่า 10,000 ไร่ โรงงานอุตสาหกรรมกว่า 300 โรงงาน มีอุตสาหกรรมที่สำคัญคือ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ เหล็ก โรงกลั่นน้ำมัน และโรงไฟฟ้า ทั้งนี้กว่า 50% ของโรงงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี

ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่และชุมชนโดยรอบ จนนำไปสู่การฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้พื้นที่มาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษ จนเมื่อวันที่ 3 มี.ค.2552 ศาลปกครองจังหวัดระยองได้พิพากษาให้คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ประกาศให้ท้องที่เขตเทศบาลเมืองมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นเขตควบคุมมลพิษ บังคับให้โรงงานในพื้นที่ต้องจัดทำการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 67 วรรค แต่การดำเนินการของกรมควบคุมมลพิษก็ยังล่าช้าและไม่มีมาตรการบังคับอย่างจริงจัง รวมถึงมาตรการป้องกันและแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่เป็นรูปธรรมของหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง จนส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ความรุนแรงครั้งล่าสุด

สารพิษกระทบชาวบ้านปีละนับแสนราย

 

5.ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขพบว่า ปี 2554 ผู้ใช้แรงงานในโรงงานอุตสาหกรรมได้รับสารพิษจากสารเคมี จนประสบความเจ็บป่วย บาดเจ็บ พิการ ซึ่งเป็นสืบเนื่องมาจากการทำงานปีละไม่ต่ำกว่า 200,000 ราย เสียชีวิตประมาณปีละ 800 ราย ซึ่งไม่รวมถึงผู้ใช้แรงงานภาคเกษตรกรรม แรงงานนอกระบบ และแรงงานข้ามชาติ เรียกได้ว่า อัตราการเจ็บป่วยจากการทำงานไม่ได้ลดน้อยลง ปัจจุบันโรคที่เป็นปัญหามากที่สุดในแรงงานทุกกลุ่มในภาคอุตสาหกรรม คือ โรคกล้ามเนื้ออักเสบ กระดูกสันหลังทับเส้นประสาท และโรคจากสารเคมี ซึ่งโรคเหล่านี้แรงงานมักจะถูกสำนักงานกองทุนเงินทดแทนตีความว่า ไม่ใช่การเจ็บป่วยจากการทำงาน ทำให้แรงงานเข้าไม่ถึงการดูแล และนำมาสู่การฟ้องร้องคดีบ่อยครั้ง สิทธิจากระบบประกันสังคมก็ยังไม่ครอบคลุมโรคที่เกิดจากการทำงาน นี้คือพิษภัยของการพัฒนาอุตสาหกรรมที่แรงงานต้องเผชิญ

สถานการณ์ความไม่ปลอดภัยจากการทำงาน จึงส่งผลต่อความสูญเสียทั้งทางตรง ได้แก่ รายได้ ผลิตภาพในการผลิต และทางอ้อม ได้แก่ ผลกระทบทางจิตใจและการดำรงชีวิตของลูกจ้าง ซึ่งองค์การแรงงานระหว่างประเทศประมาณค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหาความปลอดภัยและอาชีวอนามัยว่า จะมีค่าเสียหายประมาณร้อยละ 4 ของรายได้ประชาชาติ ในขณะที่ผลของความสูญเสียในเชิงคุณภาพชีวิตไม่อาจประเมินหรือทดแทนได้

 

 

ผู้ประกอบการไม่ทำตามระเบียบกฎหมาย

 

 

6.แม้ว่าในโรงงานหรือสถานประกอบการแต่ละแห่ง จะมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานในสถานประกอบการ (จป.) ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการผลักดันให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน อย่างไรก็ตามกลับพบว่า ความเสี่ยงในสถานประกอบการก็ยังไม่ได้ลดลง สุขภาพของลูกจ้างยังเผชิญกับความเสี่ยงจากการทำงาน เนื่องจากในทางปฏิบัติพบว่า สถานประกอบการยังขาดการบังคับใช้กฎหมายและการรณรงค์เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ดังเช่นกรณีการเข้ามาของบริษัทซ่อมบำรุงภายนอกในบริษัท BST เป็นต้น

รวมทั้งยังไม่มีการยกระดับ และปรับปรุงมาตรฐาน ในการบริหารจัดการด้านความปลอดภัยตามปัจจัยเสี่ยงให้ทันต่อความก้าวหน้า ในการผลิตทางภาคอุตสาหกรรม เหล่านี้เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความเสี่ยงจากความไม่ปลอดภัยในการทำงาน ยังเป็นปัญหาสำคัญของสถานประกอบการ ในย่านอุตสาหกรรมแต่ละพื้นที่

จากตัวอย่างของอุบัติภัยจากสารเคมีในพื้นที่มาบตาพุด เช่นในช่วงปลายปี 2550 ถึงต้นปี 2551 พบว่าเกิดอุบัติเหตุจากสารเคมี 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 ที่โรงงานบริษัทแพรกซ์แอร์ (Praxair) เป็นโรงงานผลิตน้ำแข็งแห้ง ตั้งอยู่ต.มาบตาพุด เกิดเหตุท่อและถังแก๊สแอมโมเนียระเบิด เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2550 ครั้งที่ 2 โรงงานไทยออร์แกนนิกเคมิคัลส์ ในเครือบริษัท อดิตยา เบอร์ล่า เคมีคัลล์ นิคมเหมราชตะวันออก เกิดเหตุก๊าซคลอลีนรั่วไหลเมื่อวันที่ 27 ก.พ.2551 ทางนิคมฯ ไม่มีการแจ้งข้อมูลข่าวสารให้ชุมชนใกล้เคียงทราบ

ครั้งที่ 3 โรงงานพีทีที ฟีนอลในเครือปตท. อยู่ในนิคมเหมราชตะวันออกเกิดเหตุสารคิวมีนรั่วไหลในปริมาณมากระหว่างทดลองเดินเครื่องเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.2551 มีคนงานกว่า 112 คน ถูกนำส่งโรงพยาบาลมาบตาพุด โดยแหล่งข่าวจากภายในนิคมระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 2 คน แต่ทางบริษัทและสาธารณสุขจังหวัดแถลงข่าวว่าไม่มีผู้เสียชีวิตแต่อย่างใด ครั้งที่ 4 โรงงานพีทีที ฟีนอลในเครือปตท.ได้เกิดเหตุระเบิดทำให้มีสารเคมีรั่วไหลเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.2551

นอกจากนั้นแล้วจากข้อมูลของสำนักความปลอดภัยแรงงาน รายงานว่า ในปี 2553 มีสถานประกอบการเพียง 17,883 แห่ง (ร้อยละ 4.76) จากจำนวนรวมทั้งประเทศ 375,914 แห่ง ที่ได้รับการตรวจความปลอดภัยและสภาพแวดล้อม เป็นการตรวจด้วยสายตาไม่ใช่การตรวจด้วยเครื่องมือตรวจวัดทางวิทยาศาสตร์ และสรุปได้ว่าโดยเฉลี่ยในแต่ละปีทางกระทรวงแรงงานสามารถส่งเจ้าพนักงานตรวจแรงงานเข้าตรวจด้านความปลอดภัยได้ประมาณร้อยละ 5 ของจำนวนสถานประกอบการทั้งหมดเท่านั้น

 

จี้รัฐดูแลแรงงาน-แก้ปัญหามลพิษจากอุตสาหกรรม

 

 

คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย จึงขอเรียกร้องรัฐบาลดังนี้ 1.รัฐบาลต้องมีแนวนโยบายต่อการป้องกันให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน ของแรงงานในอุตสาหกรรมประเภทต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนักอันตราย เนื่องจากอุตสาหกรรมประเภทนี้ เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของอุตสาหกรรมไทย รวมถึงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดนับพันล้านหรือหมื่นล้าน โดยเฉพาะการสร้างให้เกิดระบบที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแต่ละส่วน ต้องเข้ามารับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่ ในการสร้างให้เกิดความปลอดภัยในการทำงานให้มากขึ้น มีการทำงานอย่างบูรณาการของหน่วยงานทุกระดับทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น บทบาทของจังหวัด ท้องถิ่น เช่น เทศบาล บทบาทของกรม กระทรวงต่างๆ โดยเฉพาะบทบาทของกระทรวงแรงงานต่อการคุ้มครองและเข้าถึงสิทธิแรงงาน

2.รัฐบาลต้องมีแนวนโยบายที่รอบด้านและชัดเจนเรื่อง มาตรฐานการปล่อยมลพิษ เมื่อรัฐบาลได้ปล่อยให้มีการตั้งโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก ที่เกินกว่าพื้นที่จะรองรับได้จริง เนื่องจากพบว่า แรงงานในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และชุมชนใกล้เคียง ต้องเผชิญกับมลพิษจากสารเคมีอย่างรุนแรง แม้จำนวนมลพิษที่แต่ละโรงงานปล่อยออกมาจะได้มาตรฐานการปล่อยมลพิษก็ตาม แต่เมื่อทุกโรงงานต่างปล่อยมลพิษ และมารวมกันในพื้นที่หนึ่งๆ ซึ่งเกินกำลังความสามารถของธรรมชาติที่จะรองรับได้ ในพื้นที่นั้นๆ ทำให้ส่งผลต่อระดับมาตรฐานคุณภาพชีวิตเลวลง อย่างที่แรงงานและชุมชนต้องประสบอยู่ในปัจจุบัน

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐบาล ต้องพิจารณาระเบียบ กฎเกณฑ์ในการจัดตั้งโรงงาน โดยคำนึงถึงศักยภาพในการรองรับของพื้นที่ เนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด มีโรงงานตั้งรวมกันอยู่เป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาในการควบคุมดูแล และทำให้ไม่สามารถระบุโรงงานที่เป็นแหล่งปล่อยสารมลพิษได้ จึงควรพิจารณาระเบียบกฎเกณฑ์ ในการจัดตั้งโรงงานเสียใหม่ โดยคำนึงถึงศักยภาพความสามารถในการรองรับมลพิษของพื้นที่ด้วย

3.รัฐบาลควรมีแนวนโยบายที่ชัดเจนในเรื่องการสร้างความร่วมมือประสานงาน ตลอดจนการประชุม ปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงานในพื้นที่ เพื่อรับทราบสถานการณ์ปัญหาที่แท้จริงและการแสวงหาหนทางและการป้องกันตั้งแต่ยังไม่เกิดเหตุ เพราะสหภาพแรงงานถือเป็นกลไกสำคัญในการทำงาน ด้านการส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน กับแรงงานที่อยู่ในสถานประกอบการแต่ละแห่ง โดยเฉพาะการเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องชัดเจนและเข้าใจได้ง่ายแก่แรงงานในพื้นที่ 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ

  

Like this article:
Social share: