ร้อยปีมีครั้งเดียว‘ดาวศุกร์ผ่านดวงอาทิตย์’ ครั้งสุดท้ายของชีวิต-พลาดต้องรอ105ปี นักดาราศาสตร์วัดระยะ'โลก-ดวงอาทิตย์'

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 5 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 3634 ครั้ง

พลาดครั้งนี้เกิดอีกที 11 ธ.ค.2660

 

รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวถึงความสำคัญของปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ว่า “ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์” เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ที่มนุษย์ให้ความสนใจมาช้านานแล้ว ไม่น้อยกว่าปรากฏการณ์จันทรุปราคาหรือสุริยุปราคา เพราะนอกจากจะเป็นปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่พิเศษและหาชมได้ยากแล้ว การสังเกตการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ยังเป็นการศึกษาวิจัยทางดาราศาสตร์ที่ทำให้นักดาราศาสตร์สามารถคำนวณระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์อย่างแม่นยำ จะเห็นได้จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่มีการกล่าวถึงการสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ดังกล่าวมานานนับหลายศตวรรษ  และในวันที่ 6 มิถุนายน 2555 คนไทยจะสามารถมองเห็นปรากฏการณ์ดาวศุกร์ ผ่านหน้าดวงอาทิตย์เหนือฟ้าเมืองไทย ซึ่งถือว่าเป็นปรากฏการณ์ครั้งสุดท้ายที่ผู้ที่มีชีวิต ณ ปัจจุบัน จะมีโอกาสได้เห็น เนื่องจากปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 11 ธันวาคม 2660 หรืออีกกว่าหนึ่งศตวรรษในอนาคต

 

 

 

 

โลก ดาวศุกร์ ดวงอาทิตย์เรียงตัวแนวเดียวกัน

 

สำหรับปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ เป็นปรากฏการณ์ที่ดาวศุกร์เคลื่อนที่ผ่านแนวเส้นตรงที่เชื่อมระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ทำให้ดวงอาทิตย์ ดาวศุกร์ และโลก เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดาวศุกร์ ปรากฏเป็นจุดกลมเล็กเคลื่อนที่ผ่านดวงอาทิตย์ (ถ้าเปรียบเทียบขนาดปรากฏของดวงอาทิตย์เท่ากับลูกบาสเกตบอล ขนาดของดาวศุกร์ที่ปรากฏผ่านหน้าจะมีขนาดปรากฏเท่ากับเม็ดถั่วเขียว) โดยดาวศุกร์จะเคลื่อนที่ ตัดจากขอบด้านตะวันออกของดวงอาทิตย์ไปยังด้านตะวันตก ใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 6 ชั่วโมง  สามารถสังเกตเห็นได้ตั้งแต่ดวงอาทิตย์โผล่พ้นจากขอบฟ้าเวลา 05.49 จนถึงเวลาประมาณ 11.49 น. (ตามเวลาประเทศไทย  ณ กรุงเทพมหานคร) ของวันที่ 6 มิถุนายน 2555 โดยสามารถสังเกตเห็นได้ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย

 

นักดาราศาสตร์ใช้คำนวณระยะทางของโลกกับดวงอาทิตย์

 

รศ.บุญรักษาอธิบายเพิ่มเติมถึงความสำคัญของปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่มนุษย์ให้ความสนใจมาช้านานแล้ว โดยเห็นได้จากบันทึกทางประวัติศาสตร์ ที่มีการกล่าวถึงการสังเกตการณ์ปรากฏการณ์ดังกล่าว ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 นักดาราศาสตร์ใช้ปรากฏการณ์นี้ เพื่อศึกษาระยะห่างระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ แทนที่จะใช้ปรากฏการณ์ดาวพุธผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ซึ่งเกิดขึ้นค่อนข้างบ่อย ประมาณ 13 ครั้งในรอบ 100 ปี แต่เนื่องจากดาวพุธอยู่ห่างจากโลกมาก การคำนวณหาระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ จึงไม่สามารถวัดได้อย่างแม่นยำ นักดาราศาสตร์จึงหันมาใช้ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ มาคำนวณหาระยะห่างระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์แทน เนื่องจากดาวศุกร์อยู่ห่างจากโลกเพียง 38 ล้านกิโลเมตร หรือคิดเป็นเพียงครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับดาวพุธที่อยู่ห่างถึง 77 ล้านกิโลเมตร

อย่างไรก็ตาม วงโคจรของดาวศุกร์มีขนาดใหญ่กว่าดาวพุธเกือบ 2 เท่า ดังนั้นดาวศุกร์จึงมีโอกาสที่จะโคจรมาอยู่ข้างหน้าดวงอาทิตย์พอดี น้อยกว่าดาวพุธ จึงทำให้ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านดวงอาทิตย์เกิดขึ้นได้เพียงสองครั้งในช่วงเวลากว่า 100 ปี เท่านั้น

 

100 ปี เกิด 2 ครั้งห่างครั้งละ 8 ปี

 

                    “คาบของการเกิดปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้ง เหมือนปรากฏการณ์สุริยุปราคา ปรากฏการณ์จันทรุปราคา แต่ใช้เวลากว่าศตวรรษจึงจะเกิดขึ้น 2 ครั้ง และแต่ละครั้งใช้ระยะเวลาห่างกัน  8 ปี ซึ่งปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในรอบศตวรรษนี้ ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2547 ส่วนครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้นในวันที่ 6 มิถุนายน 2555 หากพลาดการชมปรากฏการณ์ในครั้งนี้ คงต้องรอไปอีก 105 ปี โดยครั้งแรกจะเกิดขึ้นในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2660 และครั้งที่ 2 จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2668” รศ.บุญรักษากล่าว

 

ไทยเริ่มเห็นได้เวลา 05.49-11.49 น.

 

สำหรับการเกิดปรากฏการณ์ครั้งนี้ ดาวศุกร์จะเคลื่อนที่ผ่านแนวเส้นตรงที่เชื่อมระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ ทำให้ดวงอาทิตย์ ดาวศุกร์ และโลก เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกัน เมื่อสังเกตจากโลกจะเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นจุดกลมเล็ก เคลื่อนที่ผ่านดวงอาทิตย์ โดยดาวศุกร์จะเคลื่อนที่ตัดจากขอบด้านตะวันออกของดวงอาทิตย์ไปยังด้านตะวันตก โดยดาวศุกร์จะเริ่มสัมผัสที่ขอบด้านนอกทางด้านตะวันออกของดวงอาทิตย์ค่อนไปทางเหนือในเวลา 05.09.29 น. และค่อย ๆ เคลื่อนที่ผ่านเข้ามาบนหน้าดวงอาทิตย์หมดทั้งดวงที่เวลา 05.27.26 น.

ช่วงเวลาดังกล่าวประเทศไทยจะยังไม่สามารถสังเกตเห็นได้ เนื่องจากดวงอาทิตย์ขึ้นเวลา 05.49 น. ดังนั้น คนไทยจะเริ่มเห็นปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 05.49 น. เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงที่ดาวศุกร์เคลื่อนที่ผ่านเข้ามาอยู่หน้าดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

และเวลา 08.32.17 น. ดาวศุกร์จะเคลื่อนมาถึงกึ่งกลางของเส้นทางการผ่านหน้าดวงอาทิตย์ หลังจากนั้นจะเคลื่อนที่ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ไปจนเริ่มสัมผัสขอบทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของดวงอาทิตย์ ในเวลา 11.32.15 น. และสิ้นสุดปรากฏการณ์เวลา 11.49.46 น. โดยใช้เวลาเคลื่อนที่ผ่านทั้งหมด 6 ชั่วโมง 39 นาที 58 วินาที ผู้สังเกตในประเทศไทยจะเห็นปรากฏการณ์ครั้งนี้นานเกือบ 6 ชั่วโมง

ดังนั้นหากต้องการชมปรากฏการณ์นี้ ก็จะสามารถสังเกตเห็นได้ ตั้งแต่ดวงอาทิตย์โผล่พ้นจากขอบฟ้าเวลา 05.49 จนถึงเวลาประมาณ 11.49 น. (ตามเวลาประเทศไทย  ณ กรุงเทพมหานคร) ของวันที่ 6 มิถุนายน 2555 โดยสามารถสังเกตเห็นได้ในทุกภูมิภาคของประเทศไทย และทั้งหมดในแถบมหาสมุทรแปซิฟิกและทางตะวันออกของประเทศออสเตรเลีย โดยปรากฏการณ์จะเริ่มต้นตั้งแต่เวลาประมาณ 05.09 น. ก่อนฟ้าสางเล็กน้อย

 

เตือนอย่าดูด้วยตาเปล่า-อาจตาบอดได้

 

อย่างไรก็ตามการชมปรากฎการณ์ครั้งนี้ จำเป็นต้องสังเกตจากดวงอาทิตย์โดยตรง ดังนั้นจึงอาจเกิดอันตรายต่อดวงตาได้ หากไม่มีการป้องกันอย่างดี  ดร.ศรัณย์  โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ให้คำแนะนำสำหรับการชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า เพื่อความปลอดภัยจึงไม่ควรมองดวงอาทิตย์ด้วยตาเปล่า เนื่องจากดวงอาทิตย์มีแสงสว่างจ้ามาก การจ้องมองดวงอาทิตย์โดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน อาจนำอันตรายมาสู่ดวงตาถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ การสังเกตปรากฏการณ์ จึงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวัง และใช้อุปกรณ์ที่มีความปลอดภัยสูง เช่น กล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองกรองแสง  แว่นดูดวงอาทิตย์ หรืออาจใช้อุปกรณ์สังเกตการณ์ทางอ้อม เช่น การฉายภาพดวงอาทิตย์บนฉากรับภาพจากกล้องโทรทรรศน์  เป็นต้น

และขอให้ประชาชนระมัดระวังการบันทึกภาพดวงอาทิตย์ด้วยกล้องดิจิตัล หรือกล้องจากโทรศัพท์มือถือ เนื่องจากเลนส์ของกล้องต่างๆ เหล่านี้มีคุณสมบัติในการรวมแสง การมองภาพที่ส่องจากเลนส์ไปยังดวงอาทิตย์โดยตรง อาจทำให้ตาบอดได้เช่นกัน

 

แนะวิธีดูอย่างปลอดภัย-ใช้กล้องที่ติดแผ่นกรองแสง

 

สำหรับวิธีที่จะสังเกตปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างปลอดภัย วิธีที่ 1 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรง เป็นวิธีการการสังเกตดวงอาทิตย์ด้วยตาผ่านอุปกรณ์ต่างๆ เช่น กล้องโทรทรรศน์สำหรับดูดวงอาทิตย์ กล้องโทรทรรศน์ที่ติดแผ่นกรองแสง แว่นตาดูดวงอาทิตย์ที่ทำจากแผ่นพอลิเมอร์ดำหรือแผ่นกรองแสงไมลาร์ หรืออุปกรณ์ง่ายๆ เช่น กระจกแผ่นกรองแสงสำหรับหน้ากากเชื่อมโลหะ เบอร์ 14 หรือมากกว่า ไม่ควรใช้ฟิล์มเอ็กซเรย์ ฟิล์มถ่ายรูปใช้แล้ว แผ่นซีดี  แว่นกันแดด กระจกรมควัน แผ่นฟิล์มกรองแสงสีดำที่ใช้ติดกระจกรถยนต์แม้จะมีสีดำสนิทก็ตาม แต่ก็ยังไม่ปลอดภัยต่อสายตา เพราะสิ่งเหล่านี้ยังมีประสิทธิภาพในการกรองแสงไม่เพียงพอ ถึงแม้จะกรองความเข้มแสงออกไปได้ แต่ยังไม่สามารถกรองแสงบางช่วงคลื่นที่เป็นอันตรายต่อสายตาออกไปได้ การสังเกตดวงอาทิตย์ทางตรงจึงต้องมีอุปกรณ์กรองแสงที่มีคุณภาพสำหรับกรองแสงอาทิตย์โดยเฉพาะ ขณะทำการสังเกตไม่ควรจ้องดวงอาทิตย์นานเกิน 5 วินาทีต่อครั้ง และควรหยุดพักเป็นระยะๆ เพื่อให้เกิดความปลอดภัย

 

ดูทางอ้อมผ่านฉากรับภาพแบบกล้องรูเข็ม

 

วิธีที่ 2 การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อม เป็นการดูเงาของแสงอาทิตย์ผ่านฉากรับภาพหรือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม  การสังเกตดวงอาทิตย์ทางอ้อมเป็นวิธีที่มีความปลอดภัยไม่เกิดอันตรายต่อดวงตาและช่วยให้สามารถดูปรากฏการณ์ดังกล่าวได้ทีละหลายคน มีวิธีการดังนี้

- ใช้กล้องโทรทรรศน์รับแสงจากดวงอาทิตย์แล้วตั้งฉากรับภาพที่ออกมาจากเลนส์ใกล้ตา

- การฉายภาพดวงอาทิตย์จากกล้องสองตา โดยทั่วไปแล้วกล้องสองตาเป็นอุปกรณ์ที่ค่อนข้างที่จะหาได้ง่ายที่สุด ซึ่งกล้องสองตาขนาดเล็กทั่วไปเหล่านี้มักมีกำลังขยายประมาณ 7 – 10 เท่า

- การฉายภาพดวงอาทิตย์จากกล้องโซลาร์สโคป (Solarscope) ใช้หลักการรวมแสงให้ไปฉายบนฉากรับภาพ

- ประดิษฐ์กล้องรูเข็มด้วยวิธีง่าย ๆ โดยการเจาะรูเล็กๆ บนวัสดุที่ต้องการ นำไปส่องกับแดด แสงแดดก็จะลอดผ่านรูที่เจาะไว้ตกลงบนฉาก ซึ่งอาจเป็นกระดาษ พื้นโต๊ะ หรือพื้นดิน รูปร่างของรูที่เจาะไม่มีผลต่อภาพบนฉาก แต่จะมีผลต่อความคมชัดและความสว่างของภาพ โดยรูปขนาดเล็กจะให้ภาพที่คมชัดแต่มีความสว่างน้อย รูขนาดใหญ่จะให้ความสว่างมากแต่ความคมชัดของภาพจะลดน้อยลง

 

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์ตั้งจุดให้ดู 3 แห่ง

 

 

นอกจากนี้ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับเครือข่ายทางดาราศาสตร์กว่า 51 หน่วยงาน ในหลายจังหวัด ตั้งจุดสังเกตปรากฏการณ์ดังกล่าว ณ อุทยานหลวงราชพฤกษ์ จ.เชียงใหม่ พร้อมทั้งถ่ายทอดสดปรากฏการณ์ครั้งนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ของสถาบันฯ ที่  www.narit.or.th  ซึ่งถ่ายทอดจาก 3 จุด ได้แก่ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) จ.เชียงใหม่ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฏิ์ จ.ฉะเชิงเทรา และ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา จ.สงขลา หรือติดตามข้อมูลข่าวสารการเกิดปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ได้ที่ Facebook/สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

 

 

นักวิชาการสดร.ทำหนังสือคู่มือให้ดาวน์โหลดฟรี

 

 

ในส่วนของนักดาราศาสตร์ได้ ยังจัดทำหนังสือเรื่อง “ปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์” ขึ้น เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับปรากฏการณ์สำคัญครั้งนี้ด้วย  รศ.บุญรักษา กล่าวว่า เพราะปรากฏการณ์นี้เป็นปรากฏการณ์ที่หาดูได้ยาก ซึ่งนายกรกมล ศรีบุญเรือง เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์อาวุโส สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้ใช้ความพยายามในการค้นคว้าและเรียบเรียงข้อมูลปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ของนักดาราศาสตร์ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันอย่างครบถ้วน อีกทั้งข้อแนะนำการสังเกตการณ์ดวงอาทิตย์อย่างไรให้ปลอดภัย รวมทั้งการอธิบายวัฏจักรและจังหวะแห่งธรรมชาติ ที่น่าอัศจรรย์ของวงโคจรของดาวศุกร์รอบดวงอาทิตย์เมื่อสังเกตจากโลก ทำให้สามารถทำนายการเกิดปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในอนาคตได้อย่างแม่นยำอีกด้วย

ซึ่งหนังสือปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์เล่มนี้ จะเป็นหนังสือที่มีประโยชน์ต่อผู้อ่าน ทั้งในเชิงวิทยาศาสตร์และเชิงประวัติศาสตร์ ที่เป็นทั้งความรู้รอบตัวสำหรับผู้ที่สนใจและสามารถนำไปใช้อ้างอิงในการจัดการเรียนการสอนทางดาราศาสตร์ในสถานศึกษาอย่างมีคุณค่า

 

นายกรกมลระบุไว้ในคำนำหนังสือเล่มดังกล่าวว่า หนังสือปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ได้เรียบเรียงขึ้น เพื่อใช้เป็นคู่มือในการสังเกตปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2555 เนื้อหาภายในประกอบด้วยการค้นพบปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์การเกิดปรากฏการณ์ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ประวัติของการสังเกตการณ์ในยุคแรกๆ จนมาถึงปัจจุบัน เช่นเทคนิคการสังเกตการณ์ และประโยชน์จากการนำข้อมูลมาวิเคราะห์ ประวัติความอยากลำบากของนักดาราศาสตร์ในยุคก่อน ที่ต้องเดินทางไกลเพื่อไปสังเกตการณ์ พร้อมบันทึกข้อมูล เพื่อนำมาวิเคราะห์หาระยะระหว่างโลกถึงดวงอาทิตย์ ซึ่งนักดาราศาสตร์หลายคณะสามารถทำภารกิจได้บรรลุเป้าหมาย บ้างก็เสียชีวิตระหว่างเดินทาง ความยากลำบากของนักดาราศาสตร์เหล่านั้นไม่ได้สูญเปล่า

โดยหนังสือเล่มนี้ใช้เวลาในการจัดทำกว่า 5 เดือนเต็ม จากการศึกษาจากอินเตอร์เน็ตและค้นคว้าจากเอกสาร เพื่อรวบรวมหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ครั้งนี้ให้ครอบคลุมให้ได้มากที่สุด พร้อมทั้งยังได้นำภาพประกอบเพื่อความเข้าใจของผู้อ่านยิ่งขึ้น ซึ่งผู้สนใจดาวน์โหลดได้ที่ เว็บไซด์ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) www.narit.or.th

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: