ชำแหละ ‘สำนักงานประกันสังคม’ จวกไม่โปร่งใส-ประโยชน์ทับซ้อน ไม่เร่งแก้-30ปี'เงินชราภาพ'ติดลบ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 6 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 3458 ครั้ง

 

ระบบการบริหารงานที่ไม่โปร่งใส ไม่เปิดเผย, การคัดเลือกคณะกรรมการที่ไม่ได้เปิดให้ภาคส่วนต่างที่เกี่ยวข้องได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง, เงินค้างจ่ายทั้งจากฝ่ายนายจ้างและรัฐบาลรวมกันเกือบ 40,000 ล้านบาท, เงินชราภาพที่กำลังจะติดลบในอีก 30 ปีข้างหน้า เหล่านี้คือข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่มีทีท่าว่าจะหายไป

 

ต้นเดือนตุลาคม ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้อำนวยการวิจัย (ด้านหลักประกันทางสังคม) ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม มูลนิธิสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ (Thailand Development Research Institute Foundation: TDRI) ยื่นจดหมายลาออกจากคณะอนุกรรมการพิจารณา และกำหนดแนวทางการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพของ สปส. โดยให้เหตุผลว่า “สปส. ไม่มีความจริงใจ ใส่ใจ ที่จะแก้ไขปัญหา เปล่าประโยชน์ที่จะอยู่ต่อไป”

 

1 ปีที่แล้ว ดร.วรวรรณ ได้รับเชิญให้เข้าร่วมอนุกรรมการชุดดังกล่าว ด้วยความที่ติดตามเรื่องนี้และแสดงความคิดเห็นอย่างต่อเนื่อง ดร.วรวรรณจึงเห็นว่า การวิพากษ์วิจารณ์อยู่นอกวงอย่างเดียว อาจไม่เป็นธรรมต่อ สปส. ทำให้ตัดสินใจเข้าเป็นอนุกรรมการฯ ด้วยหวังว่าจะนำความรู้และข้อมูลทางวิชาการลงไปช่วยแก้ไขปัญหากองทุนชราภาพ แต่ก็เกิดเหตุการณ์ว่า

 

 

              “รายงานการประชุมส่งมาถึงตอนบ่าย พรุ่งนี้เช้าประชุม ดิฉันก็รีบอ่าน แล้วก็เห็นมีการเสนอให้ไปดูงานต่างประเทศ เสนอให้สร้างบ้านพักคนชรา เอาเงินไปใช้ส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ จัดหารถพยาบาล คือมันไปนอกเรื่องนอกราวเลย มันจึงมาถึงจุดที่ดิฉันคิดว่าไม่มีประโยชน์ที่จะอยู่ในอนุกรรมการชุดนี้อีกต่อไป”

 

 

จากประสบการณ์ข้างต้นทำให้ ดร.วรวรรณรับรู้ถึงปัญหาภายในของ สปส. เป็นอย่างดี และในอีก 30 ปีข้างหน้า คนในสังคมจะได้เห็นเงินกองทุนชราภาพติดลบ ไม่มีเงินจ่ายให้แก่ผู้ประกันตนที่เกษียณอายุแล้ว ที่น่าวิตกก็คือ มีเวลาอีกเพียง 1 ปีเท่านั้น สำหรับการแก้ไขวิกฤตเงินกองทุนชราภาพ

 

 

 

 

 

 

กฎหมายประกันสังคมคิดไม่ถึงผู้สูงอายุเพิ่ม

 

 

กฎหมายประกันสังคมถูกเรียกร้อง ผลักดัน มาตั้งแต่ก่อนปี 2500 แต่มาสำเร็จผลเป็นรูปธรรมในปี 2533 ในยุคของพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี จากแรงกดดันของกลุ่มแรงงาน และกลุ่มของ ดร.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ที่ออกมาเรียกร้อง โดยในระยะเริ่มต้นสิทธิประโยชน์ยังไม่ได้ครอบคลุมเช่นในปัจจุบัน มีเพียง 4 สิทธิประโยชน์เท่านั้นคือ ประกันอันตรายเพื่อเจ็บป่วยนอกงาน, คลอดบุตร, ทุพพลภาพ และเสียชีวิต แล้วจึงค่อย ๆ ขยับขยายสิทธิ มาสู่การสงเคราะห์บุตรและชราภาพในขั้นต่อมา เมื่อสิ้นปี 2541 ส่วนการประกันการว่างงานเป็นสิทธิประโยชน์สุดท้าย ที่ถูกเพิ่มเติมเข้ามาภายหลัง โดยหลักการพื้นฐานอยู่ที่การร่วมจ่ายสมทบระหว่างลูกจ้าง นายจ้าง และรัฐบาล ฝ่ายละ 3 เปอร์เซ็นต์จากอัตราเงินเดือน

 

หากมองถึงสภาพปัญหาที่เกิดกับสปส.ในปัจจุบัน บางคนอาจตั้งคำถามว่า แล้วเหตุใดกฎหมายที่ออกมาในยุคนั้น ซึ่งน่าจะผ่านการกลั่นกรองมาอย่างรัดกุมแล้ว จึงกำลังจะสร้างปัญหาเงินกองทุนชราภาพติดลบ ดร.วรวรรณ อธิบายว่า

 

 

              “ณ วันนั้นปัญหาเรื่องประชากรสูงอายุยังไม่เกิด ทั่วโลกยังไม่มีปัญหานี้ อาจจะเพียงแค่เพิ่งคิดกัน แต่ยังไม่เห็นเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน และเพิ่งมาเห็นชัดเจนในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ในยุคนั้นจึงยังไม่ใช่ประเด็นที่ได้รับการใส่ใจ เราก็คิดไม่ถึงเหมือนกัน เพราะอยู่ในช่วงที่ประชากรกำลังเติบโตเต็มที่ แรงงานไม่ได้ขาด แล้ว เราไม่เคยมีกองทุนประเภทกองทุนชราภาพมาก่อน ตลาดทุนของไทยก็เพิ่งจะเริ่มโต คือลักษณะต่าง ๆ เหล่านี้ มันเป็นเรื่องของประเทศที่พัฒนาแล้ว เขาพัฒนาไปจนถึงจุดหนึ่ง แต่ของเราเพิ่งเริ่มต้น และคนที่ร่างกฎหมายนี้ก็ไม่มีนักเศรษฐศาสตร์เข้าไปเกี่ยวข้อง”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แก้กฎหมายปี 2542 รัฐจ่ายเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ กระทบกองทุน

 

 

กล่าวได้ว่าในช่วงต้น ๆ ของประกันสังคม ลูกจ้างจำนวนมากยังไม่มีความเข้าใจ จึงไม่ต้องการจ่ายเงินสมทบ และไม่ใช้บริการรักษาพยาบาลตามสิทธิที่ตนเองมี อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป ความเข้าใจและรูปแบบการให้บริการก็ปรับตัวดีขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นที่ยอมรับในระดับหนึ่ง

 

แม้ว่าสิทธิประโยชน์ โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลจะดีขึ้น แต่จุดเปลี่ยนที่กระทบต่อกองทุนชราภาพอย่างมีนัยสำคัญ ที่สังคมไม่รู้ก็เกิดขึ้น ในเดือนกรกฎาคม ปี 2542 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ประเทศไทยกำลังบอบช้ำจากวิกฤตเศรษฐกิจ รัฐบาลขณะนั้นได้แก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 โดยกำหนดให้รัฐจ่ายเงินสมทบเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ด้วยเหตุผลที่ก็เรียกได้ว่าฟังขึ้นคือ ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ

 

 

              “การที่รัฐสมทบเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ ประกันสังคมก็เอาส่วนนี้ไปใช้ในเรื่องการสงเคราะห์บุตร ทำให้ส่วนของบำนาญชราภาพเป็นการสมทบ เพียงระหว่างนายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ 3 เปอร์เซ็นต์ ประเด็นนี้ที่บอกว่าสำคัญเพราะมันเกี่ยวเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้ใหญ่ทั้งในระดับรัฐมนตรีและผู้ใหญ่ในกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เข้าใจผิดหลายคนว่า รัฐได้ช่วยผู้ประกันตนแล้ว ในเรื่องของบำนาญชราภาพ ซึ่งจริงๆ 1 เปอร์เซ็นต์นี้ ประกันสังคมเอาไปใช้เรื่องการสงเคราะห์บุตร”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ประกันว่างงานกรณีออกเองผิดหลักการประกัน

 

 

อีกหนึ่งจุดที่กล่าวได้ว่า ทำให้กองทุนประกันสังคมอ่อนแออย่างที่ไม่ควรจะเป็นคือ ในส่วนของการประกันการว่างงาน ซึ่งเกิดขึ้นในยุคของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ยุคสมัยที่นโยบายประชานิยมกำลังเบ่งบาน เกิดการแข่งขันกันสร้างผลงาน แม้ว่านายจ้างจะไม่เต็มใจนัก แต่ฝ่ายการเมืองก็สามารถผลักดันจนสำเร็จ โดยเพิ่มข้อต่อรองของฝ่ายลูกจ้างที่ว่าต้องจ่ายเงินกรณีลาออกจากงานด้วยลงไป ซึ่งไม่ใช่การประกันที่ถูกต้องและไม่มีประเทศใดในโลกกำหนดเช่นนี้ เนื่องจากหลักการของการจ่ายเงินประกันการว่างงานก็เพื่อช่วยเหลือแรงงานเมื่อถูกไล่ออกจากงานให้สามารถใช้เงินส่วนนี้เลี้ยงดูตนเองและครอบครัว รวมถึงการพัฒนาฝีมือและแสวงหางานใหม่ แต่ไม่จ่ายให้ในกรณีที่ลาออกเอง เพราะเท่ากับส่งเสริมให้คนเกียจค้านและไม่พัฒนาทักษะการทำงาน อีกทั้งหลักการประกันคือการประกันสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยไม่คาดคิดเท่านั้น ซึ่งต่างจากกรณีการลาออกเอง

 

 

                “ณ วันที่ร่างกฎหมาย เรามองไม่เห็นสิ่งเหล่านี้และคิดไปไม่ถึง แล้วเวลาที่ร่างกฎหมายออกมาแล้ว ประเทศไทยชอบพูดว่าใช้ไปก่อนแล้วค่อยแก้ แต่พอถึงเวลาที่ควรจะแก้ คนที่ได้อำนาจไม่อยากให้แก้ กลไกที่จะทำให้เกิดการแก้ มันยาก จึงเป็นปัญหาคาราคาซังแบบนี้ คือจะบอกว่าไม่ดีทั้งหมดก็ไม่ถูก แต่จุดที่มีปัญหา มันก็ควรได้รับการแก้ไขเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้น”

 

 

กระทุ้งสปส.แบ่งกองทุนผิด จับรวมกันทั้งที่ไม่ควร

 

 

ปัจจุบัน เงินกองทุนประกันสังคมทั้งหมดมีเงินอยู่ประมาณ 9 แสนล้านบาท ถูกแบ่งออกเป็น 3 กองทุนตามลำดับการเพิ่มสิทธิประโยชน์ 3 ครั้ง หมายความว่า 4 สิทธิประโยชน์แรกรวมกันเป็น 1 กองทุน สิทธิประโยชน์สงเคราะห์บุตรและชราภาพ 1 กองทุน และประกันการว่างงานอีก 1 กองทุน ซึ่งก็ต้องบอกว่าผิดหลักการประกันอีกเช่นเดิม

 

ตามหลักการประกันสังคมควรแบ่งกองทุนตามลักษณะการประกันออกเป็นระยะสั้นและระยะยาว เพราะมีลักษณะการใช้เงินที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น การประกันการเจ็บป่วย และสงเคราะห์บุตร ถือเป็นการประกันแบบระยะสั้น เนื่องจากมีเงินเข้าออกบัญชีตลอดเวลา ขณะที่การประกันชราภาพและการว่างงานเป็นการประกันระยะยาว ซึ่งทั้งสองแบบมีลักษณะความเสี่ยง และการบริหารเงินกองทุนที่แตกต่างกัน แต่ สปส. กลับนำเงินสงเคราะห์บุตรกับกองทุนชราภาพไปรวมไว้ด้วยกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

           “ทั้งที่เงินสงเคราะห์บุตรกับบำนาญชราภาพไม่ควรอยู่ด้วยกัน แต่เราก็รวมไว้ด้วยกัน มันจึงคลุมเครือทำให้ไม่เห็นว่า สิ่งที่รัฐสมทบช่วยเป็นการช่วยสงเคราะห์บุตร ไม่ใช่บำนาญชราภาพ” ดร.วรวรรณ์ กล่าว และอธิบายสภาพเงินกองทุนประกันสังคมว่า

 

             “ตอนนี้เงินสมทบที่เก็บกองแรก (4 สิทธิประโยชน์แรก) เรียกว่าขาดทุนแล้ว ไม่ค่อยพอใช้จ่ายสวัสดิการรักษาพยาบาล เรียกว่า หมิ่นเหม่ บางช่วงก็ติดลบ แต่ด้วยความที่มีเงินเก่าเหลืออยู่ ส่วนเงินที่เราเห็น 900,000 ล้านบาท คือกองที่ 2 ของสงเคราะห์บุตรและบำนาญชราภาพ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เพราะตั้งแต่เริ่มเก็บปี 2541 ก็เก็บอย่างเดียว ไม่ได้ใช้หรือใช้น้อยมาก กรณีที่คนเกษียณอายุ แต่ยังไม่ได้รับบำนาญ เพราะต้องสมทบให้ได้ 15 ปี แต่เนื่องจากเพิ่งเริ่มปี 2541 จึงยังไม่มีใครสมทบครบ 15 ปี คนที่เกษียณไปแล้ว ออมมาเท่าไหร่ก็ได้ของตัวเองคืนไปเป็นเงินก้อน เมื่อเงินไม่ถูกใช้จึงกองอยู่เยอะมาก ส่วนกองสุดท้าย ประกันการว่างงาน ด้วยความที่ว่าวิถีเศรษฐกิจของเรา ทำให้คนที่ถูกไล่ออกของประเทศเราไม่ได้เยอะมากมาย เงินประกันว่างงานก็เหลือเหมือนกัน แต่ไม่ถึงหลักแสนล้าน”

 

 

ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม ระบุว่า เงินกองทุนในส่วน 4 สิทธิประโยชน์แรก เท่ากับ 51,984 ล้านบาท เงินกองทุนสงเคราะห์บุตรและชราภาพมีมากที่สุดคือ 826,752 ล้านบาท และเงินกองทุนประกันการว่างงานอยู่ที่ 66,679 ล้านบาท ซึ่ง ดร.วรวรรณบอกว่า เงินส่วนที่มากที่สุดคือกองที่ 2 และเป็นส่วนของเงินชราภาพ ส่วนสงเคราะห์บุตรไม่มีมากนักเนื่องจากเป็นส่วนที่รัฐจ่ายสมทบเพียง 1 เปอร์เซ็นต์

 

 

กองทุนอิงราชการทำบริหารไม่โปร่งใส

 

 

จุดด้อยสำคัญอีกประการของการบริหารกองทุนประกันสังคม ดร.วรวรรณ์อธิบายว่า คือการนำกองทุนนี้ไปอิงกับระบบราชการ ซึ่งความสามารถด้านการบริหารจัดการและความรู้ด้านการลงทุนจำกัด นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความไม่โปร่งใส ในการบริหารจัดการกองทุน เป็นเพราะกฎหมายไม่ได้กำหนดให้คณะกรรมการต้องรายงานแก่รัฐสภา แต่ขึ้นตรงกับปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ซึ่งก็เป็นหนึ่งในคณะกรรมการประกันสังคม

 

 

               “สปส. แค่รายงานของเขาในกระทรวง เพราะมันเป็นระบบราชการ แค่รับผิดชอบต่อปลัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งปลัดก็ดูแลเรื่องนี้อยู่อย่างมิดชิด คือไม่มีกลไกอะไรที่มาบีบให้เขาต้องเปิดเผย ตรงนี้เป็นข้อเสียที่ผูกติดกับระบบราชการ”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อนาคตเงินชราภาพติดลบ รัฐก็ช่วยไม่ได้

 

 

                  “เราแสดงความคิดเห็นเรื่องนี้มาตลอด เพราะเราเห็นปัญหาว่า ตอนที่ร่างกฎหมาย ผู้ร่างไม่ได้มองสิ่งที่จะเกิดในอนาคต เรื่องประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นและอายุยืนขึ้น คิดแต่ว่าประชากรกำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คนในวัยเด็กมีจำนวนมากพอ ที่จะช่วยเหลือคนวัยชรา เพราะฉะนั้นระบบการจ่ายเงินบำนาญ ก็จะได้ผลคือ เมื่อไหร่ก็ตามที่สภาพประชากรเป็นลักษณะที่กำลังเติบโต และมีกลุ่มคนวัยทำงานมากพอ ที่จะสนับสนุนผู้สูงอายุ ระบบบำนาญจะได้ผล แต่ประเทศไทยไม่ได้เป็นอย่างนั้น”

 

 

ความจริง ณ ขณะนี้คืออัตราการเกิดต่ำมาก ขณะที่จุดที่ประชากรวัยทำงานมีมากที่สุดก็จบลงไปแล้ว ปัจจุบันจำนวนประชากรวัยทำงานกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่จำนวนผู้สูงอายุกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีอายุยืนขึ้น ดังนั้นระบบที่ถูกออกแบบมาให้เก็บเงินจากคนวัยทำงาน เพื่อไปจ่ายเงินบำนาญให้แก่ผู้สูงอายุจึงไม่ได้ผลอีกต่อไป โดยเฉพาะระบบของไทย ที่ออกแบบให้เก็บเงินสมทบจากลูกจ้าง 3 เปอร์เซ็นต์ นายจ้าง 3 เปอร์เซ็นต์ เท่ากับ 6 เปอร์เซ็นต์ แต่ระเบียบการจ่ายบำนาญขั้นต่ำกลับสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า ถ้าผู้ประกันตนอายุ 55 ปี และจ่ายเงินสมทบครบ 15 ปี ผู้ประกันตนจะได้เงินบำนาญ 20 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือน แต่ถ้าผู้ประกันตนทำงานมา 16 ปี สปส. ก็จะบวกเพิ่มเป็น 21.5 เปอร์เซ็นต์ คือยิ่งทำงานนานเท่าไหร่ 1 ปีที่เกิน 15 ปี จะได้รับการบวกให้ปีละ 1.5 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น ถ้าทำงานนาน อายุยืน ก็จะได้บำนาญมาก

 

 

                     “ตอนนี้คนไทยอายุเฉลี่ย 73 ปี ถ้าเกษียณตั้งแต่อายุ 55 อยู่ไปอีกนาน คุณจ่ายเพียง 6 เปอร์เซ็นต์มา 15 ปี ในขณะที่คุณได้ 20 เปอร์เซ็นต์ ตั้งแต่อายุ 55 สมมติว่าเสียชีวิตตอนอายุ 73 ปี มันก็เกือบ 20 ปี ถ้าในแง่ผู้รับมันคุ้มค่า ถ้าทุกคนคุ้มค่าหมด หมายถึงต้องเอาเงินของคนอื่นมาจ่าย เพราะเงินมันอยู่ในกอง ดังนั้น หมายถึงว่า ณ วันหนึ่งเงินจะไม่พอจ่าย”

 

 

ถึงกระนั้น พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 24 ระบุว่า ในกรณีที่เงินกองทุนไม่พอจ่าย ให้รัฐบาลจ่ายเงินอุดหนุน หรือเงินทดรองราชการให้ตามความจำเป็น ฟังดูก็รัดกุมดี แต่ดร.วรวรรณตั้งข้อสังเกตว่า เราจะไว้ใจได้เพียงใดว่า รัฐบาลจะช่วยได้ จะนำเงินงบประมาณจากแหล่งใดมาจ่ายให้ ณ วันที่มีผู้สูงอายุเต็มไปหมด ทั้งในวันที่กองทุนติดลบแล้วตัวเลขการติดลบเพิ่มขึ้นเร็วมาก ผ่านไปเพียง 3 ปี จะต้องใช้เงินอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อจ่ายบำนาญ ยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่รัฐบาลสร้างหนี้สาธารณะจำนวนมากเช่นนี้ ก็ยิ่งต้องตั้งคำถามว่า ในอีก 25 ปีข้างหน้ารัฐบาลไทยจะมีเงินพอช่วยเหลือหรือไม่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สปส. ไม่จริงใจแก้ปัญหา ทำแต่เรื่องเล็กๆ

 

 

ถึงตอนนี้ ดร.วรวรรณบอกเล่าประสบการณ์ การเข้าไปเป็นอนุกรรมการพิจารณาและกำหนดแนวทางการจ่ายสิทธิประโยชน์กรณีชราภาพของ สปส. ว่า

 

 

                     “ทางประกันสังคมเขาก็ทราบปัญหานี้ แต่เท่าที่ดิฉันไปประชุม เราก็ไม่เห็นความพยายามตั้งใจจะแก้ปัญหา แต่อนุกรรมการชุดนี้ ก็ไปพิจารณาเรื่องการปรับฐานเงินเดือนขั้นต่ำ ขั้นสูง คือในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เราเห็นว่าในที่สุดแล้ว สปส.ไม่ได้พยายามแก้ปัญหาในประเด็นที่กำลังจะเกิด แต่แก้ปัญหาเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่ได้ทำให้กองทุนมีความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่มั่นคงขึ้น มีอยู่ครั้งหนึ่งดิฉันติดภาระประชุมอื่นทำให้ไม่ได้เข้าประชุม จำได้ว่าแสดงความคิดเห็นไป เขาพิจารณาเรื่องการปรับฐานขั้นต่ำ แต่ไม่พิจารณาเรื่องการปรับฐานเงินเดือนขั้นสูง

 

 

                “คือทุกวันนี้การสมทบเงินมันมีฐานเงินเดือนขั้นต่ำกับขั้นสูงอยู่ ขั้นต่ำคือ 1,650 บาท ขั้นสูงคือ 15,000 บาท สมมติว่าเงินเดือนคุณแค่ 1,500 บาท เขาก็จะคิดเป็น 1,650 บาท เพื่อให้มีเงินจ่ายขั้นต่ำ ถ้าเงินเดือนคุณ 20,000 บาท เขาก็จะคิดคุณแค่ 15,000 บาท เขาบอกว่าขั้นต่ำมันต่ำไปแล้ว ซึ่งทุกคนเห็นด้วย เพราะอัตรานี้ใช้มาตั้งแต่เริ่มมีกฎหมาย ไม่เคยถูกปรับตามอัตราเงินเฟ้อเลย ดิฉันบอกว่าต้องปรับขั้นสูงด้วย เพราะมันไม่มีเหตุผลเลยที่จะปรับแต่ขั้นต่ำ ถ้าเงินที่เข้ากองทุนยังเก็บอยู่ต่ำ ๆ เงินที่ไม่พออยู่แล้วก็จะยิ่งไม่พอ ยิ่งเป็นปัญหาหนักเข้าไปอีก แล้วเราไม่ได้หมายความว่า ต้องบังคับใช้ทันที แต่จะต้องผ่านการทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ประกันภัย เราก็เสนอว่าควรต้องทำทั้งสองอย่าง แล้วมาดูกัน”

 

 

แต่ปรากฏว่า ในรายงานการประชุมไม่มีความเห็นของ ดร.วรวรรณรวมอยู่ด้วย โดยให้เหตุผลว่า ดร.วรวรรณ ไม่ได้เข้าร่วมประชุม การส่งแฟ็กซ์ความคิดเห็นไปจะไม่ถูกนำเข้าพิจารณา แต่ปัญหาที่ ดร.วรวรรณ พบก็คือ ทางสปส.ไม่แจ้งกำหนดการประชุมล่วงหน้า แต่จะบอกกระชั้นชิดมาก จนไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้เนื่องจากติดภารกิจอื่น

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แฉบอร์ดสปส.ถลุงงบ-บอร์ดมีแต่หน้าเดิม แถมมีผลประโยชน์ทับซ้อน

 

 

ดร.วรวรรณพบว่า ช่องโหว่สำคัญที่ทำให้เกิดการใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพและไม่มีความโปร่งใส เนื่องจากกฎหมายอนุญาตให้ใช้เงิน 10 เปอร์เซ็นต์ ของเงินสมทบประมาณปีละ 100,000 ล้านบาท ในการบริหารจัดการ เงิน 10,000 ล้านบาทนี้ ดร.วรวรรณกล่าวว่า มากกว่างบประมาณของบางกระทรวงเสียอีก  งบประมาณส่วนนี้คณะกรรมการสปส. สามารถใช้ได้โดยไม่ต้องผ่านกระทรวงการคลังหรือรัฐสภา เป็นการตั้งงบเองและจัดการกันเองภายใน จึงไม่มีใครพยายามแก้กฎหมายส่วนนี้ แม้ว่าคนภายนอกต้องการให้แก้ แต่คนในกระทรวงไม่ต้องการ

 

 

                     “เงินของผู้ประกันตนในแต่ละปีถูกนำไปใช้โดยที่เราไม่รู้เรื่องเลย มันเป็นเงินจำนวนมหาศาล เขาใช้ไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ถ้าครบนี่เวียนหัวเลย เพราะมันเป็นเงินที่วันหนึ่งต้องถูกเอามาใช้เพื่อจ่ายบำนาญ แต่กลับถูกใช้โดยไม่มีประสิทธิภาพทุกปี นำไปทำหนังสือประวัติผู้บริหารสำนักงานในอดีต ซึ่งบางคนก็ดี บางคนก็ไม่ดี ด้วยเงินจำนวนหลักร้อยล้าน คุณรู้สึกหรือเปล่าว่า อยากเอาเงิน 100 ล้านบาทของผู้ประกันตนไปทำหนังสือเชิดชูคนเหล่านั้น หรือว่าเอาไปดูงานต่างประเทศ ปีหนึ่งหลายครั้งมาก คือถ้าดูงานแล้วเอาความรู้มาพัฒนาระบบ เราจะไม่ว่าเลย แต่เท่าที่ดูมาเราก็ไม่เห็นว่ามันถูกพัฒนาให้ดีขึ้น แล้วเจ้าหน้าที่ในระดับปฏิบัติงานที่ควรไปดูงาน กลับไม่ได้ไป กลายเป็นคณะกรรมการซึ่งดูมาแล้วก็ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้น คนที่ควรได้รับการส่งเสริมกลับไม่ได้รับ”

 

                   “หรือระบบคอมพิวเตอร์ปีหนึ่งก็หลายพันล้านทุกปี จนเรางงว่า มันมีระบบอะไรหรือเปล่าที่ต้องใช้เงินมหาศาลขนาดนี้ ถ้าระบบประกันสังคมเป็นเรื่องของการจ่ายเงิน เก็บเงิน เราไปเทียบกับระบบของธนาคารได้หรือไม่ว่าเขาใช้เงินหลักนี้หรือเปล่า หรือระบบของ กบข. เขาไม่ได้ใช้เงินหลักนี้เลย”

 

หรือกระทั่งการซื้ออาคารหลายแห่งในหลายจังหวัด โดยทางสปส.อ้างว่า เพื่อใช้สำหรับเก็บเอกสารของผู้ประกันตน ซึ่งก็ไม่เคยถูกตรวจสอบว่า เป็นอาคารของใคร ได้มาตรฐานหรือไม่ ราคาที่ซื้อเหมาะสมหรือเปล่า เพราะสิ่งเหล่านี้ผ่านคณะกรรมการเพียงฝ่ายเดียว ดร.วรวรรณกล่าวว่า สิ่งเหล่านี้ปรากฏอยู่รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ซึ่งทำให้ทราบว่า ณ วันที่ประชุม ตัวแทนของกระทรวงการคลังก็มักจะทักท้วง แต่ก็ไม่เกิดผล

 

ขณะเดียวกัน บรรดาตัวแทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้าง ที่นั่งอยู่ในคณะกรรมการ ก็ล้วนแต่เป็นบุคคลหน้าเดิม ๆ และเท่าที่ ดร.วรวรรณ ทราบ ตัวแทนบางคนก็มีผลประโยชน์อิงอยู่กับสปส. เป็นเหตุให้วนเวียนกลับมาเป็นคณะกรรมการเสมอ ขณะที่ตัวแทนในส่วนของภาครัฐก็เป็นเพียงตัวแทนของกระทรวงการคลัง กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงบประมาณ ที่เหลือเป็นฝ่ายเลขาธิการและที่ปรึกษาของ สปส. ดร.วรวรรณ แสดงความคิดเห็นว่า คณะกรรมการมีตัวแทนของกระทรวงที่ไม่ใช่ระดับสั่งการได้มานั่ง ทั้งตัวแทนลูกจ้างก็ไม่ใช่ตัวแทนลูกจ้างทั้งประเทศจริง ๆ กลไกการคัดเลือกคณะกรรมการก็มีปัญหา แต่กลับให้คนเหล่านี้ดูแลเงิน 900,000 ล้านบาท

 

 

                 “นายจ้างที่เห็นที่เป็นตัวแทนของนายจ้างจริง ๆ คือที่มาจากสมาคมธนาคาร สภาอุตสาหกรรม หรือหอการค้า ที่เหลือก็เป็นนายจ้างแบบกระดาษ มีผลประโยชน์อยู่ เราก็รู้ ก็เห็น ส่วนตัวแทนลูกจ้างที่ยังอยู่ได้ เพราะเขามีฐานแรงงานระดับหนึ่งที่สนับสนุนเขาอยู่ เขาก็จะเป็นประเภทประธานสหภาพแรงงานแห่งนั้นแห่งนี้”

 

 

ต้องปรับวิธีจ่ายบำนาญ ตั้งนิติบุคคลเพิ่มโปร่งใส

 

 

ดร.วรวรรณอธิบายถึงหนทางแก้ไขวิกฤตเงินกองทุนชราภาพในอีก 30 ปีข้างหน้าว่ามีอยู่ 2 ทาง หนึ่ง-ปรับวิธีหรือลดการจ่ายเงินชราภาพลงไม่ให้สูงดังที่เป็นอยู่ หรือสอง-เพิ่มการจ่ายเงินสมทบให้มากขึ้น

 

 

                 “ถ้าจะแก้ให้ตรงจุดต้องเปลี่ยนวิธีการจ่ายเงินหรือไม่ก็ขึ้นเงินสมทบ บัญชีมันมีสมดุลรายรับกับรายจ่าย ถ้ารู้ว่ารายจ่ายจะมากกว่ารายรับ ก็ต้องรับเพิ่มขึ้นหรือไม่ก็จ่ายน้อยลง กับแบบใหม่เลย คือรับเท่าเดิม จ่ายเท่าเดิม นั่นคือเป็นบัญชีบุคคลไปเลย เอาเงินไปลงทุน ได้เท่าไหร่ก็อยู่ในบัญชี คุณอยากได้เยอะ คุณก็ต้องออมเพิ่ม ที่ได้เพิ่มก็เป็นของคุณ ไม่ได้เอาเงินคุณไปจ่ายให้คนอื่น”

 

 

 

ดร.วรวรรณมองว่า การปรับวิธีการจ่ายเงินชราภาพ น่าจะมีความเป็นไปได้มากกว่า เพราะถ้าเลือกการเก็บเงินสมทบเพิ่ม ก็จะเกิดคำถามว่า รูปแบบการบริหารจัดการกองทุนที่ผ่านมาของ สปส. สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกันตนได้หรือไม่ คำตอบคือไม่ โอกาสที่ผู้ประกันตนจะยอมจ่ายเพิ่มจึงน้อยมาก

 

อีกด้านหนึ่งก็ต้องทำให้กองทุนมีความชัดเจน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ โดยการแยกบัญชีในส่วนของกองทุนชราภาพออกจากกองทุนสงเคราะห์บุตร เพื่อที่ไม่ให้ผู้ประกันตนเสียผลประโยชน์ และถ้าจะให้ดี ก็จำเป็นต้องแก้กฎหมาย เพื่อดึงกองทุนประกันสังคมออกจากระบบราชการ ตั้งขึ้นเป็นนิติบุคคล มีผู้บริหารกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญด้านการลงทุน และต้องรายงานผลการดำเนินงานตรงต่อรัฐสภา

 

 

               “กับอีกวิธีหนึ่งคือไม่ต้องไปรื้อทั้งหมด เพราะสิ่งที่เป็นปัญหาคือเงินกองทุนบำนาญชราภาพ ก็ดึงมาเฉพาะส่วนนี้มาตั้งกองทุนลักษณะเดียวแบบ กบข. (กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ) ส่วนอื่นก็ไว้ที่เดิม หาคนมาบริหารและรายงานตรงต่อสภา แต่ทางคณะกรรมการและสภาคงไม่ยอม เพราะมีอำนาจ มีเงินเหลือใช้เยอะแยะ คือถ้ามันติดลบ คนก็จะผลักไสไล่ส่ง แต่เมื่อไหร่ก็ตามทั้งเงิน ทั้งอำนาจ อยู่กับคุณ คุณจะปล่อยเหรอ”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ถามว่าแล้วเงินสมทบที่ค้างจ่ายจากทั้งภาครัฐและนายจ้าง ส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อกองทุนประกันสังคมหรือไม่ ดร.วรวรรณอธิบายว่า เงินกองทุนมีอยู่เป็นจำนวนมาก เงินค้างจ่ายจึงไม่ก่อปัญหาด้านสภาพคล่องต่อกองทุน แต่จะเป็นผลเสียในแง่ของการเสียผลประโยชน์ โดยเฉพาะเงินสมทบจากภาครัฐซึ่งค้างจ่ายตลอด และจ่ายตามหลังโดยไม่มีการถูกปรับ ซึ่งต่างจากฝ่ายนายจ้าง

 

 

              “ภาครัฐติดหนี้อย่างนี้มาตลอด แต่กลับกบข. เขาจะไม่ติด เพราะเป็นเงินของข้าราชการ คนที่ตั้งงบคือข้าราชการ คนที่อยู่ในประกันสังคมก็คือข้าราชการ สิ่งที่เสียคือผลประโยชน์จากการลงทุน เงินตั้งหลักหมื่นล้าน ไปลงทุนมันก็ได้เยอะ”

 

 

ไม่ควรปล่อยกู้สปส.มือไม่ถึง ควรให้ธนาคารดูแล

 

 

ที่ผ่านมามีแนวคิดที่จะดึงเงินจากกองทุนประกันสังคม ไปใช้ในด้านต่างๆ และมีการตั้งข้อสังเกตว่า เป็นไปได้หรือไม่ หากอนาคตรัฐบาลจะดึงเงินส่วนนี้ไปใช้สำหรับนโยบายประชานิยม ดร.วรวรรณกล่าวว่า กฎหมายกำหนดไว้อยู่แล้วว่า กองทุนชราภาพ สามารถนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงและไม่เสี่ยงได้ ในอัตราเท่าใด แต่ถ้ารัฐบาลต้องการดึงเงินส่วนนี้ไป โดยการออกเป็นพันธบัตรที่ให้ผลตอบแทนดี และรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน ตามหลักการลงทุนก็ถือว่าทำได้

 

 

               “ที่ดึงไปใช้แบบน่าเกลียดคือ ประเภทมีโครงการเกี่ยวกับบ้าน เกี่ยวกับไปสนับสนุนนั่นนิดนี่หน่อย เงินที่ดึงไปจะไม่ใช่ก้อนใหญ่ แต่จะหายไปเป็นรายปี ร้อยล้าน พันล้าน เอาไปปล่อยเงินกู้ให้กับโครงการบ้านเพื่อผู้ประกันตนอะไรของเขา โครงการทำนองนี้เขาจะดึงได้จากเงินบริหารจัดการ 10 เปอร์เซ็นต์”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ขณะที่แนวคิดที่จะนำเงินส่วนนี้ไปปล่อยกู้ให้ผู้ประกันตนนั้น ดร.วรวรรณเห็นว่า ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะคณะกรรมการสปส. ไม่มีความรู้ด้านการเงินการธนาคารเพียงพอ เฉพาะแค่การบริหารกองทุนชราภาพทุกวันนี้ก็ยังเกิดคำถาม ซึ่งการทำธุรกิจธนาคารจำเป็นต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ หรือไม่สปส.ก็ต้องกันเงินส่วนหนึ่งไปให้ธนาคารที่มีอยู่แล้ว เป็นผู้บริหารจัดการแทน ดร.วรวรรณยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่น ที่เคยนำเงินกองทุนลักษณะนี้ ไปซื้อกิจการโรงแรม รีสอร์ท สปา ด้วยหวังว่าจะนำมาบริหารให้ได้ผลตอบแทนที่ดี ผลปรากฏว่า กิจการดังกล่าวล้มละลาย จนต้องขายทิ้ง เพราะทำในสิ่งที่ตนเองไม่มีความสามารถและความชำนาญ

 

 

                “ในต่างประเทศการบริหารกองทุนลักษณะนี้ ส่วนใหญ่จะออกมาในลักษณะของ กบข. ที่ต้องเป็นหน่วยงานอิสระ คนที่จะมาทำต้องเป็นมือ 1 ด้านการลงทุน ไม่ใช่นั่งอยู่กระทรวงแรงงาน เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านแรงงาน แต่มาดูเรื่องการลงทุน และต้องมีกฎหมายที่แน่นหนาว่า การบริหารจะต้องรายงานกับรัฐสภา ต้องมีธรรมาภิบาล เพราะคุณนั่งบริหารกองทุนที่มีเงินเข้าออกเยอะมาก ดังนั้นต้องมีธรรมาภิบาล ต้องชัดเจนว่า อะไรคือผลประโยชน์ทับซ้อน คือเมื่อคุณดูแลอนาคตของคน 10 ล้านคน นั่นหมายความว่าระบบจะต้องดี และต้องสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกันตนที่จะเอาเงินมาให้ และมั่นใจว่าวันที่แก่ตัวลงเขาจะได้รับเงินคืน”

 

 

ขับเคลื่อนออนไลน์ จี้สปส.เปิดรายงานการประชุม

 

 

ด้วยสภาพเช่นนี้ ดร.วรวรรณจึงพยายามขับเคลื่อนด้วยตนเอง โดยการสร้างเพจในเฟซบุ๊ค ในชื่อ “ติดตาม ประกันสังคม” เพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการประกันสังคม ด้วยหวังว่าจะทำให้กลุ่มแรงงานที่เป็นคนทำงานสำนักงานสนใจและตื่นตัวเกี่ยวกับเงินกองทุนของคนกลุ่มนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                “ดิฉันคิดว่าตอนนี้อำนาจการต่อรองที่อยู่ในคณะกรรมการ ซึ่งไม่มีตัวแทนลูกจ้างที่เป็นพนักงานออฟฟิศเลย และตัวแทนฝ่ายลูกจ้างก็ไม่สนใจ เพราะเขารู้ว่า ฐานคนที่สนับสนุนเขาเวลาจัดงานที่เมืองทองมีคนไปเป็นพัน ๆ ก็เป็นคนของตัวแทนฝ่ายลูกจ้างที่เกณฑ์ ๆ กันมาแล้วก็รับเงิน”

 

 

ข้อเรียกร้องประการแรกที่ ดร.วรวรรณต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นคือการเรียกร้องให้คณะกรรมการประกันสังคมเปิดเผยรายงานการประชุมของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการต่อสาธารณะ

 

 

เมื่อถามว่า สังคมไทยเหลือเวลาแค่ไหนสำหรับแก้ปัญหาเงินกองทุนชราภาพติดลบ ดร.วรวรรณบอกว่า สปส. แจ้งไว้ว่าจะเริ่มจ่ายเงินบำนาญชราภาพตอนต้นปี 2557 ซึ่งถ้าจะจัดการแก้ไขระเบียบการจ่ายเงินก็ต้องเริ่มก่อนจ่ายจริง เพราะถ้าเริ่มจ่ายแล้ว การจะปรับแก้ภายหลังถือเป็นเรื่องยาก ดังนั้น สังคมไทยจึงเหลือเวลาอีกแค่ปีเดียว แน่นอนว่าด้วยเวลาเพียงเท่านี้กับเรื่องใหญ่ขนาดนี้ ถือว่ามีความเป็นไปได้ต่ำมากถึงเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่ง ดร.วรวรรณเองก็ดูจะยอมรับว่าเป็นไปไม่ได้

 

 

                 “แต่ว่าอยู่เฉย ๆ ก็ไม่ได้แก้ปัญหาอะไร ปีแรก ๆ ยังจ่ายไม่เยอะ แต่จะเยอะในช่วง 20 ปีข้างหน้า คือมันสะสม ปีแรกคนเกษียณน้อย แต่คนเหล่านี้ไม่ได้เสียชีวิต แล้วทุกปีมีคนเกษียณใหม่เพิ่ม แต่ยังก็ต้องแก้ไข เพราะถ้ารอให้ถึงวันที่เกิดปัญหา มันแก้ไม่ทันแล้ว มันไม่ใช่ของที่แก้ภายในปีเดียวได้ เพราะถ้าปัญหามันสะสม การแก้ไขก็ต้องใช้เวลานานขึ้น”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: