ชี้‘เมดิคัล ฮับ’กระทบชีวิตคนจนแน่ หมอขาดแคลน-แห่ไปร.พ.เอกชน แนะสร้างกลไกรองรับ-แก้ปัญหา

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 6 ธ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3059 ครั้ง

 

นโยบายเมดิคัล ฮับ ได้แรงหนุนทั้งจากภาครัฐและเอกชน มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาประเทศไทย เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ โดยกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่ภาคเอกชนต่างมีการเคลื่อนไหวอย่างคึกคัก ทั้งการควบรวมกิจการ การผลักดันให้รัฐสนับสนุนให้มากขึ้น การเรียกร้องให้นำเข้าแพทย์ต่างชาติเพื่อแก้ไขการขาดแคลนแพทย์ ไล่เรียงไปถึงการที่โรงเรียนแพทย์อย่างโรงพยาบาลศิริราช เปิดโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ เป็นเมดิคัล ฮับ ยังไม่นับโรงเรียนแพทย์ตามภูมิภาคต่าง ๆ ที่ทางกระทรวงสาธารณสุข มีแนวทางจะสร้างเป็นศูนย์บริการทางการแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางระดับสูง

 

ในมิติเชิงเศรษฐกิจ เมดิคัล ฮับ สามารถดึงเม็ดเงินเข้าประเทศจำนวนมหาศาล แต่อีกด้านหนึ่งก็สร้างความวิตกกังวลว่า จะกระทบต่อการบริการสาธารณสุขกับคนในประเทศ ซึ่งหลายครั้งกลายเป็นการตั้งป้อมใส่กัน ระหว่างฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้าน

 

สังคมไทยคงเลี่ยงผลกระทบทั้งเชิงบวกและลบ ที่เกิดจากนโยบายเมดิคัล ฮับ ไม่ได้ คำถามก็คือเราจะอยู่กับมันอย่างไร น.พ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) วิเคราะห์และตอบคำถามหลากประเด็นว่าด้วยเมดิคัล ฮับ

 

 

 

หนุนเมดิคัล ฮับ ไม่ใช่บทบาทของกระทรวงสาธารณสุข

 

 

น.พ.พงษ์พิสุทธิ์ ตั้งคำถามเบื้องต้นก่อนว่า อะไรคือบทบาทของกระทรวงสาธารณสุขที่ควรจะเป็น เพราะหากถามถึงระดับรากฐานความคิดแล้ว ภารกิจของกระทรวงสาธารณสุขคือการส่งเสริมเมดิคัล ฮับ เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ หรือการดูแลคนไทยให้มีสุขภาพดีกันแน่

 

มุมมองของ น.พ.พงษ์พิสุทธิ์กลับเห็นว่า บทบาทที่ควรจะต้องเป็นของกระทรวงสาธารณสุข ในเรื่องเมดิคัล ฮับ คือการตระเตรียมแผน เพื่อรองรับผลกระทบที่มีประสิทธิภาพ มิใช่แผนส่งเสริม ซึ่งควรเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์

 

 

              “การส่งเสริมน่าจะปล่อยให้กระทรวงพาณิชย์ทำไป กระทรวงสาธารณสุขควรไปดูแลเรื่องผลกระทบ เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่า ถึงอย่างไรเมดิคัล ฮับ มันก็ต้องเกิดขึ้นแน่นอน”

 

 

‘เมดิคัล ฮับ’ ทำหมอขาดแคลน หนีซบร.พ.เอกชน

 

 

น.พ.พงษ์พิสุทธิ์กล่าวถึงนโยบายเมดิคัล ฮับ ว่า หากเป็นสิ่งที่ภาคธุรกิจดำเนินการเอง ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าขยายตัวเร็วเกินไป ท้ายที่สุดจะกระทบกับระบบโดยรวมของประเทศ เนื่องจากปัญหาสำคัญที่สุดของระบบของประเทศไทยคือ อัตราเฉลี่ยบุคลากรโดยรวม เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่ต้องดูแล และประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจขนาดเดียวกับประเทศไทย ถือว่าประเทศไทยมีจำนวนแพทย์ค่อนข้างต่ำ เมื่อต้องแบ่งแพทย์ที่มีน้อยอยู่แล้ว ไปดูแลชาวต่างชาติจึงเป็นประเด็นที่น่าวิตก

 

 

               “แต่ถ้ามันค่อย ๆ เติบโต แล้วมีการผลิตแพทย์เข้ามาชดเชยได้ทัน ก็อาจลดผลกระทบตรงนี้ได้บ้าง โดยรวมความพร้อมของเรา อยู่ที่ความพร้อมในเชิงกำลังคน ที่เราต้องมีให้พอ ปัญหาของเราตอนนี้คือ การขาดแคลนทรัพยากร กำลังคนเป็นหลัก”

 

 

ปัญหาการขาดแคลนแพทย์รุนแรงเพิ่มมากขึ้น ตั้งแต่ปี 2545 จากนโยบายหลักประกันสุขภาพ จากเดิมผู้ป่วยใช้บริการ 2 ครั้งต่อคนต่อปี 10 ปีผ่านไป อัตราการใช้บริการของผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 3 ครั้งกว่า ๆ ต่อคนต่อปี ซึ่งกลายเป็นภาระงานที่เพิ่มขึ้นของบุคลาการสาธารณสุขของภาครัฐ ยิ่งหากนโยบายเมดิคัล ฮับ ดึงแพทย์ไปอยู่ในภาคเอกชน ปัญหานี้จะยิ่งหนักหน่วงขึ้น เมื่อแพทย์ในภาครัฐมีน้อยลง แต่งานมากขึ้น สุดท้ายจะกลายเป็นวงจรอุบาทว์ ที่ยิ่งผลักแพทย์ออกจากระบบราชการ

 

 

 

 

 

เปิดร.พ.เอกชนในโรงเรียนแพทย์กระทบสิทธิคนไทย

 

 

ปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานคือ กรณีที่โรงเรียนแพทย์จำนวนหนึ่ง เปิดศูนย์การแพทย์ของตน โดยเรียกว่า ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ หรือบางแห่งก็ประกาศชัดเจนว่า เพื่อเป็นเมดิคัล ฮับ น.พ.พงษ์พิสุทธิ์ ตั้งข้อสังเกตว่า

 

 

                    “ประเด็นที่ต้องตีความให้ชัดเจนคือ การทำเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เพื่อเน้นการให้บริการที่เป็นเลิศ สำหรับกลุ่มประชากรที่อาจจะมีความต้องการเฉพาะใช่หรือไม่ ถ้าเน้นตรงนี้ก็อาจจะไม่มีผลกระทบร้ายแรง เพราะโดยทั่วไปโรงเรียนแพทย์ต้องพัฒนาวิทยาการ พัฒนาความเป็นเลิศอยู่แล้ว แต่ถ้าบอกว่า ทำศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เพื่อรองรับผู้ป่วยต่างชาติ ตรงนี้เป็นการกำหนดกลุ่มเป้าหมายไปด้วย จะเริ่มเกิดผลกระทบ”

 

 

 

น.พ.พงษ์พิสุทธิ์กล่าวว่า ก่อนที่จะมีนโยบายเมดิคัล ฮับ แพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพ ก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว หากต้องใช้กำลังคนที่ไม่เพียงพอไปดูแลผู้ป่วยชาวต่างชาติอีก จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมปัญหา คำถามคือทำไมโรงพยาบาลของรัฐจึงต้องทำเช่นนี้ ทำไมคนไทยไม่ว่าจะถือบัตรอะไรก็ตามที่เข้ามาใช้บริการศูนย์ฯ ซึ่งอยู่ในสังกัดของโรงพยาบาลรัฐจึงต้องเสียค่าบริการ ในเมื่อเป็นสิทธิที่คนไทยพึงได้รับ

 

 

                      “ทำไมกรณีนี้ต้องจ่ายเงิน อธิบายได้ 2 อย่าง หนึ่ง สิ่งที่ทำไม่ใช่บริการพื้นฐาน ไม่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของระบบประกันสุขภาพใด ๆ ก็ต้องจ่ายเงิน อย่างนี้ไม่เป็นไร ไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ แต่ถ้าเป็นบริการแบบเดียวกัน แต่เก็บเงินก็จะเกิดคำถามพอสมควร แล้วยิ่งเก็บในอัตราที่เทียบเคียงกับเอกชน อาจจะถูกกว่านิดหน่อย ก็ต้องตั้งคำถามว่า คุณเป็นหน่วยงานของรัฐ ลงทุนด้วยทรัพยากรของรัฐ แล้วนโยบายของรัฐ กำหนดให้ดูแลคนไทยทุกคนอย่างเท่าเทียม ด้วยสิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลที่จำเป็น ถ้าคุณให้บริการพื้นฐานที่จำเป็น คุณใช้เงินภาษีไปสร้างโรงพยาบาล แต่เก็บเงิน มันก็ขัดแย้งกับนโยบายของรัฐ คุณจะอธิบายอย่างไร ทำไมโรงพยาบาลเหล่านี้จึงได้อภิสิทธิ์ ที่จะไม่ปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ ตรงนี้คือรายละเอียดที่ยังไม่แน่ใจ”

 

 

 

 

 

ส่วนกรณีที่อ้างว่าต้องเก็บเงินเพื่อนำไปหล่อเลี้ยงโรงพยาบาลเพราะรัฐบาลจ่ายให้ไม่พอและเพื่อนำมาพัฒนาทางด้านการแพทย์ กรณีนี้ น.พ.พงษ์พิสุทธิ์ คิดว่าโรงพยาบาลรัฐจะต้องเรียกร้องจากรัฐบาลและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มิใช่ปล่อยให้เป็นภาระของทางโรงพยาบาลรัฐเช่นที่เป็นอยู่ แต่โรงพยาบาลรัฐก็ต้องเอาข้อมูลมาแสดงให้ดูว่า ไม่ได้ขายของแพงให้แก่ระบบหลักประกันสุขภาพ โดยรวมแล้ว น.พ.พงษ์พิสุทธิ์ จึงมองว่าเหตุผลที่ถูกนำมาอธิบายยังรับฟังไม่ขึ้นนัก

 

 

ถามโรงเรียนแพทย์ คนจนได้ประโยชน์หรือไม่

 

 

 

การที่แพทย์โรงพยาบาลรัฐ ต้องวิ่งรอกทำงานกับโรงพยาบาลเอกชน จนกระทบกับการทำงานในภาครัฐ เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอ เป็นข้อเท็จจริงที่ดำรงอยู่ ปัญหาเรื่องรายได้ผูกโยงไปสู่ปัญหาสมองไหล ที่แพทย์จำนวนมาก ถูกโรงพยาบาลเอกชนดึงออกจากระบบ ซึ่งเป็นผลจากนโยบายเมดิคัล ฮับ และนี่คืออีกเหตุผลหนึ่งที่โรงเรียนแพทย์อ้างถึงความจำเป็น ที่ต้องเปิดศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ นำเงินมาเพิ่มค่าตอบแทนแพทย์ เพื่อรักษาแพทย์ไว้ในระบบ

 

อย่างไรก็ตาม น.พ.พงษ์พิสุทธิ์ ตั้งข้อสังเกตไว้อย่างน่าสนใจว่า ถ้าการดึงแพทย์ไว้ในภาครัฐ เพื่อให้แพทย์ทำงานแก่ส่วนรวมได้เต็มที่ แต่การที่โรงพยาบาลรัฐเป็นศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ เพื่อทำธุรกิจในรูปของเอกชน แล้วนำรายได้ส่วนหนึ่งไปเพิ่มให้แก่แพทย์ แต่การทำเช่นนี้ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเวลาการทำงานของแพทย์ให้แก่ระบบจริงหรือไม่ เพราะสุดท้ายงานที่เพิ่มขึ้นของแพทย์ ก็มาจากการดูแลคนไข้แบบโรงพยาบาลเอกชนอยู่ดี เพียงแต่เป็นโรงพยาบาลเอกชนที่อยู่ในโรงพยาบาลรัฐ น.พ.พงษ์พิสุทธิ์ขยายความว่า

 

 

                 “มันก็แค่เป็นการเปลี่ยนการดูแลคนไข้ที่มีเงิน จากโรงพยาบาลเอกชนเป็นโรงพยาบาลรัฐ แต่ก็ดูแลคนรวยเหมือนกัน สมมติถ้าเรากำลังคิดว่าต้องการให้คนยากจน ได้รับการดูแลที่ดีขึ้น มีหมอเก่ง ๆ มาดูแล สิ่งที่ทำขึ้นไม่ได้ทำให้คนจนได้รับการดูแลที่ดีขึ้น เพราะคนรวยที่เคยไปโรงพยาบาลเอกชนก็อาจมาโรงพยาบาลที่เปิดใหม่ของโรงเรียนแพทย์ ผมจึงถามว่าโดยรวมแล้ว คนจน คนฐานะปานกลางได้ประโยชน์หรือไม่ เว้นเสียแต่จะอธิบายว่า เงินที่ได้จากตรงนี้ จะนำมาปรับปรุงให้การดูแลคนไข้ในระบบปกติดีขึ้น ในแง่นี้อาจเป็นไปได้ แม้แต่คนที่ไม่ได้ไปทำงานในศูนย์การแพทย์ฯ ก็ได้รับค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นด้วย เพื่อให้เขาดูแลคนไข้ในระบบปกติให้ดีขึ้น เป็นไปได้หรือไม่ ถ้าเป็นไปได้ก็อาจจะได้ประโยชน์ เอาเงินตรงนี้มาช่วยคนจน”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ร่วมผลิตแพทย์ ต้องกำหนดกติกาที่เป็นธรรม

 

 

ส่วนแนวคิดที่จะให้โรงพยาบาลเอกชนและโรงเรียนแพทย์ร่วมกันผลิตแพทย์ น.พ.พงษ์พิสุทธิ์กล่าวว่า ยังไม่เห็นแนวทางที่จะทำได้ เนื่องจากแรงจูงใจของเอกชนกับรัฐมีความแตกต่างกัน เพราะโรงพยาบาลเอกชนต้องการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อนำไปใช้ แต่โดยปกติแล้ว โรงพยาบาลเอกชนต้องการแพทย์ที่มีประสบการณ์ไม่ใช่แพทย์จบใหม่ น.พ.พงษ์พิสุทธิ์ จึงสงสัยว่าการร่วมกันผลิตแพทย์ดังกล่าว จะเป็นการผลิตร่วมกันในมิติไหน ซึ่งรายละเอียดตรงนี้ไม่ชัด

 

 

              “ถ้าสมมติว่าร่วมกันผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เมื่อแพทย์เหล่านี้จบแล้วก็ให้ไปทำงานที่โรงพยาบาลเอกชนด้วย เช่น ถ้าโรงเรียนแพทย์ผลิตเองได้ 10 คน ถ้าโรงพยาบาลเอกชนช่วยจะผลิตได้ 15 คน แต่ขอ 5 คนไปทำงานที่เขา พูดง่าย ๆ คือ ส่งคนของเขามาเรียน แบบนี้อาจเป็นไปได้ ต้องมาดูว่าส่วนที่เขาต้องการคืออะไร หนึ่ง-คือต้องการระบบการศึกษา สอง-ส่วนที่เรียกกันว่าใช้อาจารย์แพทย์เดียวกัน ซึ่งเราก็ต้องถามอีกว่าอาจารย์แพทย์ที่มีอยู่ในโรงเรียนแพทย์ตอนนี้ มากพอที่จะดูแลแพทย์มากกว่าเดิมหรือไม่ ถ้าดูแลแพทย์มากกว่าเดิมแล้วคุณภาพต่ำลงจะทำอย่างไร”

 

 

แต่ถ้าเป็นรูปแบบที่นำอาจารย์แพทย์ทั้งจากโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลเอกชนมาสอนร่วมกัน โดยอาศัยหลักสูตรของโรงเรียนแพทย์ ก็จะช่วยแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพได้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพการผลิตแพทย์ให้เพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม น.พ.พงษ์พิสุทธิ์ คิดว่าจะต้องมีการกำหนดกติกาที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย ส่วนไหนที่ใช้ทรัพยากรของภาครัฐก็ควรจะต้องจ่ายคืนในส่วนนั้นด้วย

 

 

 

 

 

นำเข้าแพทย์ต่างชาติไม่ง่ายอย่างที่คิด

 

 

ข้อเสนอที่จะให้นำเข้าแพทย์ชาวต่างชาติ แม้ว่าจะมีข้อดีที่ทำให้ประเทศไทยไม่ต้องเสียกำลังคนไปเพื่อดูแลชาวต่างประเทศ แต่ก็อาจทำให้จุดแข็งของเมดิคัล ฮับ สูญเสียไป เพราะคนไข้ชาวต่างประเทศจำนวนไม่น้อยมารักษาในเมืองไทย เพราะชื่อเสียงและคุณภาพของแพทย์ไทย

 

ทั้งปัญหาของการนำเข้าแพทย์ต่างชาติยังมีอีก 2 ประเด็นที่ต้องพิจารณา หนึ่ง-หากนำเข้าแพทย์จากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน ซึ่งมาตรฐานแพทย์ยังเทียบกับของไทยไม่ได้ วิธีการนี้อาจดึงมาตรฐานการรักษาโดยภาพรวมของประเทศไทยให้ตกลง และกระทบต่อเมดิคัล ฮับ ในภายหลัง สอง-ถ้านำเข้าแพทย์จากประเทศที่มีมาตรฐานสูง ก็หมายความต้นทุนจะต้องสูงขึ้นตามไปด้วย อาจกระทบต้นทุนโดยรวมของทั้งระบบในอนาคต แต่ไม่ว่าจะเป็นข้อหนึ่งหรือข้อสอง ก็จำเป็นต้องแก้กฎระเบียบ ที่ปัจจุบันยังไม่อนุญาตให้แพทย์ต่างชาติเข้ามารักษาในประเทศ ยกเว้นกรณีพิเศษเท่านั้น

 

 

แพทย์ผิวหนังเพิ่มสูงขึ้น แต่แพทย์ช่วยชีวิตคนกลับขาดแคลน

 

 

จะเห็นได้ว่าแกนของปัญหาอยู่ที่การขาดแคลนแพทย์ ทั้งในแง่จำนวนและการกระจายตัว ซึ่งจำนวนที่เหมาะสมคือ แพทย์ 1 คนต่อประชากรประมาณ 1,400-1,800 คน ปัจจุบัน ประเทศไทยมีแพทย์ 1 คนต่อประชากร 2,000 คน นับว่าใกล้เคียงกับมาตรฐานที่ควรจะเป็นแล้ว แต่ก็ยังไม่ถือว่าเพียงพอ ส่วนประเด็นการกระจายตัวของแพทย์พบว่า คนในเมืองมีแพทย์มากกว่าคนในชนบท เมื่อเทียบตามจำนวนประชากร จุดนี้ยังต้องได้รับการจัดการ

 

 

              “ส่วนการกระจายในแง่ที่ 2 คือการกระจายตามสาขาความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เราพบว่าตอนนี้แพทย์บางสาขาเริ่มเพียงพอ เช่น สาขาสูติกรรมกับเด็ก เพราะเดี๋ยวนี้คนคลอดน้อยลง จำนวนเด็กลดลง แต่สาขาที่ขาดและเห็นได้ชัดคือ หมอศัลยกรรมและหมอศัลยกรรมทางสมอง มีอุบัติเหตุเลือดออกในสมองปุ๊บ ต้องผ่า หมอเหล่านี้ทำงานหนัก เพราะอุบัติเหตุเกิดได้ทุกเมื่อ เราพบว่าอัตราการขาดของ 2 สาขานี้เยอะมาก เรากำลังดูอยู่ว่า มีสาขาใดที่มีแนวโน้มจะเกินหรือไม่ พบว่า โรคผิวหนัง ความสวยความงาม เดี๋ยวนี้มีหมอที่หน้าตาดี ๆ ไปเรียนกันเยอะ ขณะที่หมอที่รักษาชีวิต ความเป็นความตาย กลับมีคนเรียนน้อยลง”

 

 

น.พ.พงษ์พิสุทธิ์กล่าวด้วยว่า การจะแก้ไขปัญหานี้ต้องมีการจัดการอย่างจริงจัง ไม่ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด หรือใครอยากเรียนอะไรก็เรียน เพราะการเรียนวิชาชีพแพทย์เป็นการเรียน เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคม เพราะฉะนั้นไม่สามารถให้อิสระได้ทั้งหมด

 

 

 

 

เงินเดือนอย่างเดียวดึงแพทย์ไม่ได้

 

 

                    “ปัญหาพื้นฐานเรื่องความเหลื่อมล้ำของคนในสังคม เป็นความเหลื่อมล้ำที่มีพื้นฐานจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจและความแตกต่างระหว่างพื้นที่ คุณเอาเงินจ้างหมอเดือนหนึ่งเป็นแสน แต่ให้เขาอยู่ในที่ห่างไกลทุรกันดาร ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก โรงเรียนก็ไม่มี คุณมีเงินเป็นแสนแต่ใช้อะไรไม่ได้ แต่งงาน มีลูก จะให้ลูกเข้าเรียนที่ไหน เพราะฉะนั้นโดยรวม มาตรการด้านค่าตอบแทนมันก็มีผลในระดับหนึ่ง ที่สำคัญคือต้องลดความเหลื่อมล้ำระหว่างภาคเมืองกับภาคชนบทให้เหลือน้อยที่สุด เพื่อทำให้คนไม่ว่าอยู่ตรงไหนก็ได้รับการดูแลจากรัฐแบบเดียวกัน ด้วยคุณภาพเท่าเทียมกัน”

 

 

คือความเห็นของ น.พ.พงษ์พิสุทธิ์ที่มองว่า การขึ้นค่าตอบแทนแพทย์เพื่อดึงแพทย์ให้อยู่ในระบบ ไม่ใช่คำตอบสุดท้ายโดยตัวมันเอง แต่จะต้องแก้ไขความเหลื่อมล้ำทางสังคม และปรับปรุงระบบการดูแลของภาครัฐ

 

น.พ.พงษ์พิสุทธิ์เสนอแนวทางการรักษาแพทย์ให้อยู่ในระบบว่า หนึ่ง-ต้องขึ้นค่าตอบแทน สอง-ต้องจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานให้แพทย์สามารถทำงานได้เต็มที่ และใช้ระบบคุณธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย และสุดท้าย-ชุมชนที่แพทย์อยู่อาศัย ต้องมีระบบสวัสดิการต่าง ๆ ในระดับที่ยอมรับได้

 

 

                      “การจูงใจให้แพทย์อยู่ได้จริง ๆ อย่าคิดแค่มาตรการเดียว มันไม่ได้ผล” น.พ.พงษ์พิสุทธิ์ ย้ำ และเสริมว่า ปัจจุบันการปรับเปลี่ยนค่าตอบแทนของบุคลากรของกระทรวงสาธารณสุข มีการปรับเปลี่ยนไปมากแล้ว ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงพอสมควร ดังนั้นในตัวจังหวัดและเมืองใหญ่ ๆ แพทย์จะเริ่มอยู่ได้ เหลือเพียงตามอำเภอที่อยู่ห่างไกลเท่านั้นที่ยังลำบาก

 

 

ไทยเลี่ยงไม่ได้ แนะเร่งสร้างกลไกรองรับเมดิคัล ฮับ

 

 

ถึงจุดนี้ต้องยอมรับว่า ไม่ว่าฝ่ายที่คัดค้านนโยบายเมดิคัล ฮับ จะคิดอย่างไร กระแสนี้ก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ประเด็นจึงมิได้อยู่ที่ว่าประเทศไทยควรมีหรือไม่มีเมดิคัล ฮับ แต่อยู่ที่ว่าเราจะอยู่กับเมดิคัล ฮับ อย่างไร น.พ.พงษ์พิสุทธิ์กล่าวว่า สิ่งสำคัญตอนนี้คือ กลไกการกำกับดูแลด้านมาตรฐานการรักษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องไม่มีการรักษาแบบสองมาตรฐานระหว่างคนไทยและคนต่างชาติ

 

ประเด็นต่อมาควรต้องสร้างกลไก เพื่อดึงทรัพยากรส่วนหนึ่งกลับสู่สังคม เพราะนโยบายเมดิคัล ฮับ ถือเป็นการใช้ทรัพยากรส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของธุรกิจเอกชน เนื่องจากบุคลากรทางการแพทย์ รัฐเป็นผู้ลงทุน น.พ.พงษ์พิสุทธิ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า

 

 

 

 

   “ถึงแม้หลายคนจะบอกว่าพูดอย่างนั้นได้หรือ เพราะนักศึกษาก็จ่ายเงินเอง ลงทุนเอง แต่ต้องบอกว่า โดยรวมไม่ใช่เฉพาะแค่การที่รัฐบาลอุดหนุนลงไป แต่คือชีวิตของคนไทยที่นักศึกษาแพทย์ได้ใช้ เพื่อฝึกฝนจนเป็นแพทย์ที่มีประสบการณ์ เขารักษาคนไทยผิด ๆ ถูก ๆ ไประยะหนึ่งกระทั่งมีประสบการณ์ แล้วนำความรู้นั้นไปดูแลคนต่างชาติ แบบนี้ถือว่าเป็นการลงทุนของสังคมไทย เขาก็ควรจะคืนกลับให้แก่สังคมไทย และการคืนกลับไม่ใช่แค่การใช้ทุน 3 ปีแล้วก็จบ เพราะการทำงาน 3 ปี ก็คือการทำให้แพทย์มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วย”

 

 

ใช้เครื่องมือทางภาษี ขวางร.พ.เอกชนเอาเปรียบ

 

 

รูปแบบหนึ่งคือการใช้เครื่องมือทางภาษี ซึ่งภาคธุรกิจต่างออกมาคัดค้าน โดยให้เหตุผลว่า จะกระทบต่อการแข่งขัน

 

 

               “ใครจะยอมจ่ายภาษีล่ะ คุณก็อ้างว่ากระทบต่อการแข่งขัน แต่เขาก็จะไปบวกในต้นทุน ผลักภาระให้ผู้ป่วย ราคาก็สูงขึ้น เมื่อราคาสูงขึ้น ผู้ป่วยก็อาจจะย้ายไปโรงพยาบาลอื่น แต่นี่คือต้นทุนที่แท้จริง เพราะโรงพยาบาลเอกชนไม่ได้ลงทุนผลิตแพทย์เหล่านี้ขึ้นมาเลย คุณอาศัยสิ่งที่ภาครัฐลงทุนมาประหยัดต้นทุนให้ตัวเอง มันก็ไม่ถูก คุณต้องบอกต้นทุนจริงของคุณว่าเท่าไหร่ แล้วไปลดในส่วนที่ลดได้ แต่คุณเอาต้นทุนที่รัฐลงทุนไปใช้ กระทั่งลืมปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของตนเอง”

 

 

น.พ.พงษ์พิสุทธิ์ ยกตัวอย่างการคืนกลับให้แก่สังคมว่า อาจเป็นในรูปของการจ่ายเงิน หรือกำหนดเป็นเวลาทำงานคืนแก่สังคมก็ได้ เช่น การเป็นอาจารย์แพทย์หรือการดูแลผู้ป่วยคนไทย เป็นต้น แต่ประเด็นคือต้องหามาตรการ และรูปแบบที่จะทำให้เกิดการตอบแทนคืนกลับสู่สังคมให้ได้

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: