ความขัดแย้งระหว่างเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลา (คูขุด) กับชาวประมงพื้นที่ทะเลสาบสงขลา ตอนกลาง บริเวณ ต.คูขุด อ.สทิงพระ จ.สงขลา ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน เกิดขึ้นมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ทั้งที่ที่ผ่านมาชาวประมงพื้นบ้านได้หาทางออกให้กับวิกฤติของทะเลสาบ โดยเฉพาะประเด็นปริมาณพันธุ์สัตว์ที่นับวันจะลดลงทุกวัน โดยชาวบ้านร่วมกันการปล่อยพันธุ์สัตว์ลงในทะเลสาบ หากมีการจับสัตว์น้ำที่กำลังวางไข่ได้ก็ปล่อยกลับลงทะเล ก่อนหน้านี้ได้ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐทำกิจกรรมการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลสาบ เช่น สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง (NICA) โดยเพาะพันธุ์สัตว์น้ำให้ชาวประมงคูขุดนำมาปล่อยลงในทะเลสาบเพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ
ล่าสุดร่วมกันจัดทำกิจกรรม “โครงการธนาคารกุ้งไข่และกระชังอนุบาลสัตว์น้ำ” แต่ปรากฏว่า นายอภิเชษฐ์ เพ็งแก้ว หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลา ต.คูขุด ซึ่งเพิ่งย้ายเข้าไปรับตำแหน่งใหม่ ได้สั่งให้รื้อทิ้งโครงการนี้ จนเรื่องราวบานปลายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างเจ้าหน้าที่กับชาวบ้านในพื้นที่
ประมงพื้นบ้านตั้งกลุ่มฟื้นทะเลสาบสงขลา
นายนิทัศน์ แก้วศรี นายกสมาคมประมงทะเลสาบ อ.สทิ้งพระ จ.สงขลา เปิดเผยว่า ชาวประมงในทะเลสาบสงขลาพยายามรวมกลุ่มกันหาทางออกให้กับชาวประมง โดยเฉพาะการเพิ่มปริมาณพันธุ์สัตว์น้ำในทะเลสาบซึ่งมีน้อยลง และพยายามคิดรูปแบบที่สร้างความเป็นธรรมในการชื้อขายสัตว์น้ำที่จับได้ คือตั้งแพปลาชุมชนบ้านคูขุด ต.คูขุด อ.สทิงพระ เมื่อวันที่ 12 ส.ค.2548 จากการรวมตัวของชาวประมงพื้นบ้านที่จับสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา สมาชิกแรกเริ่มก่อตั้ง 17 คน ปัจจุบันมีสมาชิก 200 คน ที่อยู่ในพื้นที่ต.คูขุด ต.ท่าหิน ต.คลองรี อ.สทิ้งพระ
นายนิทัศน์กล่าวต่อว่า การประกอบอาชีพทำประมงที่มีรายได้ไม่แน่นอนแล้ว เพราะออกทะเลไปแต่ละครั้ง ต้องวัดดวง ประกอบในปัจจุบันทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลสาบลดน้อยลง ประกอบกับปัญหาราคากุ้งปลาที่จับได้พ่อค้าคนกลางยังให้ราคาที่ไม่ยุติธรรม ชาวประมงจึงคิดหาทางออกเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ทำให้เกิดแพชุมชนขึ้น โดยสมาชิกจะรับซื้อสัตว์น้ำที่จับได้ในราคาที่เป็นธรรมและปันผลให้สมาชิกด้วย ผลจากการดำเนินการในช่วงที่ผ่านมาสร้างความพึงพอใจให้กับสมาชิกเป็นอย่างมาก
นอกจากนี้ชาวประมงยังร่วมกันทำกิจกรรมการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลสาบ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญกับชาวประมง เพราะเป็นวิถีชีวิตและอาชีพหลัก ที่ผ่านมามีการปล่อยพันธุ์กุ้งปลาลงทะเลสาบ และร่วมกับกรมประมงออกระเบียบให้สมาชิกและคนในชุมชนใช้เครื่องมือประมงที่ไม่ทำลายล้าง เช่น ยาเบื่อ อวนลาก อวนรุน ขนาดตาอวน ตาข่ายดักจับสัตว์น้ำ ที่มีขนาดห่างของตาข่ายไม่ต่ำกว่า 5 ซ.ม. เพื่อป้องกันการจับสัตว์น้ำขนาดเล็กๆ นั้นเอง
จับมือรัฐ-เอกชนทำธนาคารกุ้งไข่
นายสมควร วรรณรัศมี กรรมการแพชุมชน กล่าวว่า กิจกรรมของชาวประมงในอ.คูขุด เพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูสัตว์น้ำคือการทำธนาคารกุ้งไข่ และกระชังอนุบาลสัตว์น้ำฯ จากความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมประมง, สถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง (NICA) ภาคเอกชน เช่น สมาคมรักษ์ทะเลไทย, Oxfam, EU ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เกิดจากการระดมความคิดร่วมกันของหลายภาคส่วน ในการฟื้นฟูทะเลสาบ จึงเกิดกิจกรรมทำธนาคารกุ้งไข่ เมื่อวันที่ 25 ก.พ.2555 โดยสมาชิกแพชุมชนปล่อยแม่กุ้งไข่ให้ขยายพันธุ์ในพื้นที่เขตอนุรักษ์ฯ หมู่ 4 ต.คูขุด เมื่อแม่กุ้งฟักไข่ในธนาคารกุ้งไข่ และลูกกุ้งโตขึ้นในระยะเวลา 3-4 เดือน ก็จะว่ายออกไปสู่ทะเลสาบสงขลาให้ชาวประมงได้จับต่อไป ซึ่งปัจจุบันกุ้งเป็นสัตว์เศรษฐกิจคือ กุ้งก้ามกราม กิโลกรัมละ 300-500 บาท
แต่ปัญหาก็เกิดขึ้นเมื่อนายอภิเชษฐ์ เพ็งแก้ว หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบสงขลา ที่เพิ่งย้ายมาที่นี่เพียง 2-3 เดือน ไม่เห็นด้วยกับการทำธนาคารกุ้งของชาวประมง เพราะชุมชนไม่ได้ติดต่อการทำกิจกรรมดังกล่าวกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ จึงให้ทางแพชุมชน ทำหนังสือชี้แจงการทำกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งแพชุมชนก็ได้ทำหนังสือชี้แจงการทำกิจกรรมไปแล้ว แต่นายอภิเชษฐ์กลับบอกยังไม่เข้าใจกิจกรรม โดยที่ผ่านมาการทำกิจกรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมร่วมกันของชุมชนทางหัวหน้าเขตฯคนก่อนๆ ไม่เคยมีปัญหาแบบนี้
หน.เขตห้ามล่าฯสั่งรื้อกระชังใน 7 วัน
“หัวหน้าเขตห้ามล่าฯ คนใหม่ยังบอกให้ชุมชนรื้อธนาคารกุ้งไข่ออก ภายใน 7 วัน อ้างว่าธนาคารกุ้งไข่ ไปขวางทางเรือ บดบังทัศนียภาพในทะเลสาบ ทำให้ชาวบ้านไม่พอใจกับพฤติกรรมของหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ คนนี้เป็นอย่างมาก จึงได้ประสานไปยังประมงจังหวัด และสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ที่เป็นหน่วยงานภาครัฐ ที่เข้ามาหนุนเสริมการทำธนาคารกุ้งไข่ทันที หลังจากประมงจังหวัดทราบเรื่อง จึงประสานงานประมงอำเภอสทิงพระ ประสานไกล่เกลี่ยปัญหาที่เกิดขึ้น มายังหัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯ ว่าเป็นกิจกรรมที่กรมประมง และสถาบันวิจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง ให้การสนับสนุน เป็นกิจกรรมการอนุรักษ์ฟื้นฟูขยายพันธุ์ทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลา ซึ่งสอดคล้องกับงานของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลสาบ ควรให้กิจกรรมของชุมชนดำเนินการต่อไปได้”
ต่อมานายชูศักดิ์ บริสุทธิ์ ประมงอำเภอสทิงพระ ติดต่อกับนายอภิเชษฐ์ว่า หากไม่ให้ชุมชนทำธนาคารกุ้งไข่ โดยมีคำสั่ง แจ้งให้รื้อออกภายใน 7 วัน นั้น ขอให้แม่กุ้งได้สลัดไข่ออกให้หมดก่อน ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 1 เดือน แล้วจึงรื้อธนาคารไข่กุ้งออกได้หรือไม่ แต่นายอภิเชษฐ์ยังยืนยันให้รื้อออกภายใน 7 วันเหมือนเดิม และหากจะทำธนาคารกุ้งไข่อีก ก็ให้กรมประมงทำหนังสือขออนุญาตทำกิจกรรมให้กับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าอีกครั้ง โดยครั้งนี้ไม่ดำเนินคดีทางกฎหมายก็นับว่าดีแล้ว
นายสมควรกล่าวด้วยว่า ชุมชนจึงรื้อธนาคารกุ้งไข่ออกเมื่อวันที่ 31 มี.ค.2555 ที่ผ่านมา ท่ามความเสียใจของสมาชิกแพชุมชน จากนั้นทางกรรมการและสมาชิกแพชุมชนจึงมีมติร่วมกันว่าจะไม่ขายกุ้งปลาหรือสัตว์น้ำชนิดใดๆ และจะไม่ใช้สถานที่ของเขตห้ามล่าสัตว์ป่าฯในการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสมาคมประมง อ.สทิงพระ หากนายอภิเชษฐ์ยังอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ