เหตุการณ์ทะเลาะวิวาทระหว่างนักเรียนต่างสถาบัน ที่เกิดขึ้น 2 เหตุการณ์ติดกัน 2 วัน คือวันที่ 24-25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ทั้ง 2 เหตุการณ์เกิดขึ้นบนรถประจำทาง ความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดกับคู่กรณีทั้งสองฝ่าย แต่เกิดขึ้นกับผู้อยู่ในเหตุการณ์ที่ไม่รู้เรื่อง ซึ่งเหตุการณ์แรกผู้โดยสารบนรถถูกลูกหลง ในขณะที่เหตุการณ์ที่ 2 พนักงานขับรถสาย 131 ถูกยิงเสียชีวิต
จากเหตุการณ์ในครั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ได้มีมาตรการลงโทษโดย สถาบันเทคโนโลยีกรุงเทพ และสถาบันเทคโนโลยีไทยวิจิตรศิลป์ งดรับนักเรียนชั้น ปวช.1 ในปีการศึกษา 2556 และหากยังแก้ไขปัญหาไม่ได้อีก กระทรวงศึกษาธิการจำเป็นต้องปิดสถาบันที่ก่อเหตุ
จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า เหตุการณ์ทะเลาะวิวาท มักจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนมิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคมเป็นสถิติสูงสุด แต่ในปี 2555 ตั้งแต่เดือนมกราคม จนถึงปัจจุบัน มีการรับแจ้งเหตุ 386 ครั้ง พื้นที่ที่มีการก่อเหตุมากที่สุดคือ ท้องที่สถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก 21 ครั้ง ซึ่งข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน หรือ สช. ซึ่งได้ตรวจสอบสถิติที่ผ่านๆ มาพบว่า ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทของนักเรียนลดลง แต่มีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะอาวุธที่ใช้ เดิมจะเป็นเพียงไม้บรรทัดเหล็กยาว หรือ เหล็กฟุต ไม้ ปัจจุบันนักเรียนเหล่านี้จะพกปืน มีดดาบยาว ซึ่งเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับสถิติการรับแจ้งเหตุของ กองบัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อปี 2549 รับแจ้งเหตุนักเรียนทะเลาะวิวาทลดลง 1,978 ครั้ง ปี 2550 จำนวน 1,713 ครั้ง ขณะที่เดือนตุลาคม 2546-2547 มีเหตุการณ์นักเรียนทะเลาะวิวาทรวมกว่า 3,000 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หน่วยงานที่เกี่ยวข้องซึ่งสังกัดกระทรวงศึกษาได้พยายาม หาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด เช่นในปีการศึกษานี้ ก่อนเปิดภาคเรียนสองสัปดาห์ ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ประชุมร่วมกับผู้บริหารสถานศึกษาอาชีวะเอกชน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อเตรียมมาตรการป้องกันนักเรียนทะเลาะวิวาทในช่วงเปิดเทอมแล้ว ที่ผ่านมา สช.ได้มีแผนป้องกันนักเรียน นักศึกษาอาชีวะเอกชน ก่อเหตุทะเลาะวิวาท โดยมีโครงการพัฒนาผู้นำนักศึกษา และพัฒนาคุณธรรมจริยธรรม โดยการพานักเรียน นักศึกษาอาชีวะ ไปเข้าค่ายอบรมในค่ายลูกเสือ และเข้าศูนย์พัฒนาจิตใจที่ จ.สระบุรี ปราจีนบุรี ลพบุรี รุ่นละ 3-7 วัน จึงทำให้สถิตินักเรียน นักศึกษาอาชีวะเอกชนทะเลาะวิวาทลดลง แต่ก็ยังมีอีกส่วนหนึ่งที่จะต้องพัฒนาจิตใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
นักเรียนยกพวกตีกันมีแต่ประเทศไทย
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย หรือสกว. ได้ทำวิจัยเมื่อปี 2547 ซึ่งเป็นปีที่สถิติการทะเลาะวิวาทพุ่งขึ้นสูงกว่า 3,000 ครั้ง พบว่า ปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน ส่วนหนึ่งของปัญหามาจากความรุนแรงในครอบครัว ซึ่งส่งผลกระทบมาก เพราะเด็กเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง และคุ้นเคยกับความรุนแรง รวมถึงการกระตุ้นความรุนแรงจากสื่อภาพยนตร์และโทรทัศน์
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านลบที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยไม่มีการพัฒนาระบบความเข้มแข็งในสังคม ทำให้ปัญหาของวัยรุ่นขยายวงกว้าง พฤติกรรมของเยาวชน ที่มักจะจับกลุ่มก่อเหตุรุนแรงเพิ่มขึ้นจน กลายเป็นปัญหาสังคมที่รุนแรง พฤติกรรมดังกล่าวคือ การหมกมุ่นในกาม การมีกิจกรรมทางเพศพร่ำเพรื่อไม่เลือกที่ การเสพและค้ายาเสพติดรวมทั้งของมึนเมาต่างๆ การวิวาททำร้ายกัน การก่ออาชญากรรมอื่นๆ เช่นการลักทรัพย์ การตั้งแก๊งก่อกวน และการติดของใช้หรูหราและฟุ่มเฟือย ถึงขั้นมีการลักขโมยหรือขายตัว ซึ่งพฤติกรรมแบบบริโภคนิยม เป็นไปตามกระแสลัทธิผู้บริโภค ที่ครอบงำหรือเป็นโครงสร้างทางสังคมในปัจจุบัน
นอกจากนี้งานวิจัยยังระบุว่า การทะเลาะวิวาทกันของนักเรียน มีเฉพาะวัยรุ่นของไทยเท่านั้น ขณะที่ปัญหาความรุนแรงรูปแบบอื่นๆ จะมีเกิดขึ้นตามเมืองใหญ่ๆทั่วโลก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ไม่มีปัญหาการยกพวกตีกัน แต่จะมีปัญหายาเสพติด การก่ออาชากรรม การฆ่าคน ความรุนแรงในสถานศึกษา รวมไปถึงการตั้งแก๊งก่อกวนชุมชนสังคม
ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น ปัญหาความรุนแรงในหมู่เยาวชน ก็มีสถิติเพิ่มสูงขึ้นพบว่า อาชญากรรมวัยรุ่นได้เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47 ในปี 2546 เมื่อมีการเปรียบเทียบกับปี 2545 พบว่า อายุของผู้กระทำผิดกลับน้อยลงทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องกำหนดลดอายุของผู้กระทำผิด หรืออาชญากรวัยรุ่นจาก 16 ปี เหลือ 14 ปี จากปัจจัยดังกล่าวนี้ ทำให้วิเคราะห์ได้ว่า เป็นอาการป่วยของสังคมญี่ปุ่น ที่มีลักษณะเด่น 3 ประการ ได้แก่ การเสพยาเสพติด การบังคับเข้มงวด และการทำร้ายตัวเอง
แก้ปัญหานักเรียนตีกันกฎหมายต้องเด็ดขาด
ทางด้าน นายอุดม บุตตะ หัวหน้าศูนย์เสมารักษ์ กระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแล และป้องกันไม่ให้นักเรียนทะเลาะวิวาทกัน ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า การที่สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น เพราะกฎหมายไม่เข้มงวดกับนักเรียนที่กระทำความผิด เพราะเห็นว่ายังเป็นเยาวชน จึงได้รับการปฏิบัติตามสิทธิของเยาวชน ที่จะไม่ถูกดำเนินการตามกฏหมาย ในขณะที่พฤติกรรมบางอย่างที่เด็กเหล่านี้ทำไม่ใช่พฤติกรรมของเยาวชน
“ถือมีดดาบวิ่งไล่ฟันกัน ไล่ยิงคนบนรถเมล์ พฤติกรรมเหล่านี้ไม่น่าจะใช่พฤติกรรมของเยาวชน แล้วกฎหมายที่บังคับเบาเกินไป แล้วพอถูกจับโดนปรับแค่ 100 บาท ไม่มีใครเข็ดหรอกครับ เดี๋ยวทำใหม่อีก ซึ่งในความเป็นจริง นักเรียนที่ก่อเหตุทะเลาะวิวาท มีประมาณ 5-8 เปอร์เซ็นต์จากนักเรียนทั่วประเทศเท่านั้น แต่การที่กฏหมายไม่เข้มงวดกับนักเรียนเหล่านี้ ทำให้ภาพการทะเลาะวิวาทที่รุนแรงมีมากกว่านักเรียนที่ดี”
อย่างไรก็ตามการแก้ปัญหานักเรียนทะเลาะวิวาท ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งอาจารย์จากโรงเรียน สถาบันการศึกษา และงบประมาณ ที่ผ่านมาศูนย์เสมารักษ์ไขอความร่วมมือจากโรงเรียนสนับสนุนอาจารย์มาช่วยดูแลนักเรียน ส่วนใหญ่พบว่าอาจารย์ตั้งใจมาดูแลนักเรียน แต่โรงเรียนไม่สนับสนุนสวัสดิการ หรือให้ความช่วยเหลือด้านอื่น ทำให้ขาดคนในการทำงาน
“ครูที่มาช่วยจะมาด้วยใจ ด้วยความเป็นครู แต่ผู้บริหารโรงเรียนคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของครูในโรงเรียน ไม่มีสวัสดิการให้ ศูนย์เสมารักษ์จึงขาดเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือ เรื่องการดูแลนักเรียน”
การขาดเจ้าหน้าที่ของศูนย์เสมารักษ์ เป็นปัญหาใหญ่ของศูนย์เสมารักษ์ในการแก้ปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียน เนื่องจากแต่ละปีศูนย์ฯจะได้งบประมาณจำกัด ซึ่งเมื่อมีงบประมาณจำกัด การดำเนินการต่างๆ จึงถูกจำกัดไปด้วย ตั้งแต่อัตรากำลังเจ้าหน้าที่ วัสดุอุปกรณ์ ยานพาหนะ ค่าล่วงเวลา ปัจจุบันมีศูนย์เสมารักษ์ทั่วประเทศ 12 ศูนย์ ซึ่งน้อยกว่าสมัยที่ยังเป็นสารวัตรนักเรียนที่มีอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ ศูนย์ฯได้พยายามขออัตรากำลังเพิ่ม แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติ จึงใช้วิธีการสร้างเครือข่ายในการทำงาน ด้วยการฝึกอบรมจากอาจารย์จากโรงเรียนในพื้นที่ที่มีศูนย์เสมารักษ์ตั้งอยู่
ศธ.แก้ปัญหาถูกทางแต่อย่าเปลี่ยนนโยบายบ่อย
นายอุดมกล่าวต่อว่า เมื่อปี 2553 กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกมาตรการ 3 ข้อ เพื่อแก้ปัญหาการก่อเหตุวิวาทของนักเรียน ประกอบด้วย ให้ดำเนินการตามกฎหมายกับนักเรียนที่ก่อเหตุอย่างเด็ดขาด เพราะรัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และต้องการทำให้เป็นแบบอย่างว่า มีการจัดการกับผู้ก่อเหตุอย่างจริงจัง
2.กำหนดให้สถานศึกษากลุ่มเสี่ยงทุกแห่งจัดทำประวัตินักเรียนเป็นรายบุคคล โดยเฉพาะนักเรียนกลุ่มเสี่ยง ต้องทำประวัติเป็นข้อมูลเชิงลึกไปถึงประวัติครอบครัว พร้อมมีภาพถ่าย และให้เก็บข้อมูลพร้อมรูปถ่ายไว้ที่สถาบัน และส่งสถานีตำรวจในท้องที่ รวมถึงส่งมายังกองสารวัตรนักเรียน กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อนักเรียนก่อเหตุขึ้น เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้ใช้ข้อมูลดังกล่าวในการจับกุม และ 3.ให้สถานศึกษาประสานให้ตำรวจเข้าไปตรวจค้นภายในสถานศึกษา และตรวจค้นนักเรียนเป็นรายบุคคลด้วยเมื่อก่อเหตุ ว่าจะมีนักเรียนก่อเหตุ ทะเลาะวิวาท ส่วนระยะยาวจะมีการวางระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มเสี่ยงอย่างใกล้ชิด สร้างความร่วมมือกับกลุ่มภาคี และจัดกิจกรรมเพื่อนช่วยเพื่อนขึ้นในกลุ่ม สถาบันการศึกษาของอาชีวศึกษาเอกชน
หัวหน้าศูนย์เสมารักษ์เห็นว่า มาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี 2553 เป็นมาตรการที่ดี ถ้ามีการปฏิบัติจริงตามแผนที่ได้วางไว้ จะสามารถแก้ปัญหานี้ได้ และกระทรวงศึกษาธิการไม่ควรเปลี่ยนนโยบายตามผู้บริหาร ในขณะเดียวกันต้องส่งเสริมและกำชับผู้บริหารสถานศึกษา ดำเนินการตามนโยบายอย่างเคร่งครัด และที่สำคัญต้องเพิ่มมาตรการและกำลังคน
“มาตรการเมื่อปี 2553 ออกมาดีแล้ว กระทรวงศึกษาธิการ ต้องกำชับให้ทุกโรงเรียนดำเนินการอย่างเคร่งครัดด้วย และที่สำคัญนโยบายไม่ควรเปลี่ยนบ่อย ตามผู้บริหาร เพราะบางครั้งนโยบายเดิมยังไม่ได้ดำเนินการ เมื่อมีการเปลี่ยนผู้บริหาร เปลี่ยนนโยบายอีก การแก้ปัญหาไม่เกิดผล”
ต้นเหตุเพราะเด็กเกเรกับโรงเรียนเห็นแก่เงิน
นายอุดมกล่าวอีกว่า ปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนโยงไปถึงการเป็นสถาบันอาชีวศึกษา ที่สังคมไม่ให้ค่าเท่าที่ควร มีบางโรงเรียนที่ผู้บริหารคำนึงถึงแต่กำไร ขาดทุน เหมือนผู้ประกอบการต้องทำการค้าให้มีกำไร ซึ่งถ้าไม่มีกำไรโรงเรียนต้องปิดตัวลง ผู้บริหารโรงเรียนจึงไม่ให้ความสำคัญกับการเรียนการสอน ไม่ค่อยเข้มงวดกับนักเรียนเท่าที่ควร ประกอบกับนักเรียนที่มาเรียน ส่วนใหญ่เป็นเด็กระดับ 3 ซึ่งหมายความว่า สอบเข้าที่อื่นไม่ได้ อาจจะเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมเกเร ตั้งแต่เรียนมัธยมศึกษาตอนต้นด้วย จึงเป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดปัญหาตามมา
“บางโรงเรียน ผู้บริหารไม่ได้สนใจการเรียนการสอนของเด็ก ขอให้มีชื่อเด็กมาเข้าเรียน เพื่อใช้ขอรับเงินอุดหนุนการศึกษาจากรัฐบาลเท่านั้น”
ส่วนการแก้ปัญหานักเรียนทะเลาะวิวาท ผอ.ศูนย์เสมารักษ์มองว่า เฉพาะกระทรวงศึกษาธิการเพียงอย่างเดียวไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆต้องเข้ามาร่วมด้วย เช่น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ควรจะเข้ามาดูแลเรื่องของครอบครัว เพราะส่วนใหญ่ของเด็กนักเรียนที่ก่อปัญหาทะเลาะวิวาทจะมาจากครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกัน ทำให้มีพฤติกรรมก้าวร้าว
เน้นสร้างแนวป้องกันร่วมกับเครือข่ายผู้ปกครอง
ขณะที่ นายชุมพล อินธนุราช รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักเรียน วิทยาลัยเทคโนโลยีช่างฝีมือปัญจวิทยา ย่านถ.พหลโยธิน เขตจตุจักร กรุงเทพฯ กล่าวว่า ผู้บริหารสถาบันให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหานี้มาก จึงได้วางระบบเรียกว่า ระบบความช่วยเหลือ ด้วยการทำประวัติของเด็กนักเรียน ตั้งแต่เข้ามาสมัครเรียน ให้ผู้ปกครองรับรู้มีการเซ็นใบอนุญาตให้ตรวจสารเสพติดได้ตลอดเวลา ส่วนการเฝ้าระวังนั้นจะแบ่งอาจารย์ 9 คน คอยดูแลตามจุดต่างๆ คอยดูแลทั้งเช้าและเย็นหลังเลิกเรียน ตั้งแต่นักเรียนขึ้นรถเมล์ จนถึงสุดสาย
“เราจะมีครูเวร 9 คนประจำตามจุดต่างๆ เช่น บริเวณถ.พหลโยธิน ซอยเสนานิคม ตลาดสะพานใหม่ ลำลูกกา ครูจะคอยดูให้เด็กขึ้นรถเมล์ เช่น สาย 39, 29 หลังจากนั้น ครูจะขี่มอเตอร์ไซด์ตามประกบ จนถึงสุดสายรถเมล์ ถ้าเห็นท่าทีว่าจะมีเหตุการณ์ไม่ดีเกิดขึ้น หรือเห็นเด็กโรงเรียนอื่น จะรีบประสานกับอาจารย์โรงเรียนนั้นๆ เพื่อแก้ไขในทันที”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถาบันจะวางแผนป้องกันแล้ว แต่เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมา นักเรียนของวิทยาลัยเทคโนโลยีช่างฝีมือปัญจวิทยา ถูกยิงจนเสียชีวิตหลังจากที่ไปร่วมงานวันเกิดเพื่อน ซึ่งยังไม่สามารถจับตัวคนร้ายได้
ส่วนในปัจจุบันหากมีนักเรียนนอกแถว ซึ่งอาจจะเกเรบ้าง หรือพบสารเสพติด สถาบันจะใช้วิธีหักคะแนนความประพฤติจาก 100 คะแนน และเชิญผู้ปกครองมารับทราบปัญหา ถ้านักเรียนคนใดถูกหักคะแนนจนเหลือเพียง 50 คะแนน เราจะเจรจากับผู้ปกครองว่าเด็กจะเรียนต่อหรือไม่ ถ้าต้องการเรียนต่อสถาบันจะช่วยเหลือ เช่นให้บำเพ็ญประโยชน์ นำไปสถานบำบัด เป็นต้น ซึ่งสถาบันจะพยายามให้เด็กได้ปรับตัว เพราะถ้าเราไม่ให้เขาเรียนหนังสือต่อไป เขาจะออกไปทำอะไร สร้างปัญหาให้กับสังคมอีก เราจะกอบเลนเป็นรูปเป็นร่างให้ได้
นอกจากนี้วิทยาลัยเทคโนโลยีช่างฝีมือปัญจวิทยา ยังมีโครงการเครือข่ายผู้ปกครอง เพื่อช่วยดูแลลูกหลานของเราด้วย ครูอาจจะดูแลไม่ทั่วถึง ซึ่งเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นหรือผู้ปกครองพบว่า อาจจะมีเหตุร้ายให้แจ้งมาที่โรงเรียนได้เลย สถาบันจะมีเจ้าหน้าที่คอยรับโทรศัพท์รับแจ้งเหตุ ทั้งนี้การป้องกันของสถาบัน สามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งแนวทางที่สถาบันดำเนินการอยู่ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ปกครอง ผู้ปกครองที่นำลูกมาสมัครเรียนจะถามคำแรกว่า มีการตีกันไหม เราต้องอธิบายถึงแนวทางให้ฟัง เพื่อสร้างความมั่นใจ เพราะเมื่อผู้ปกครองมั่นใจ เขาจะให้ลูกเรียนกับเรา โรงเรียนก็จะอยู่ได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม รองผู้อำนวยการฝ่ายกิจการนักเรียน วิทยาลัยเทคโนโลยีช่างฝีมือปัญจวิทยา กล่าวด้วยว่า การแก้ปัญหานักเรียนทะเลาะวิวาทที่ยังแก้ไม่ได้นั้น เนื่องจากไม่มีการดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด เนื่องจากเห็นว่านักเรียนเหล่านี้เป็นเยาวชน ซึ่งสอดคล้องกับข้อเสนอของผู้หัวหน้าศูนย์เสมารักษ์ และมาตรการของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เสนอให้ดำเนินการขั้นเด็ดขาด เพื่อเป็นแบบอย่าง นอกจากนี้สิ่งที่พบคือ ผู้ปกครองเชื่อลูกตนเอง ตามใจ และไม่ยอมรับว่าลูกทำความผิดด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ