หลังจากรณรงค์ช่วยเหลือคนเก็บเบอร์รี่ชาวไทย ที่ได้รับความเดือดร้อนจากประเทศสวีเดน และประเทศฟินแลนด์นับตั้งแต่ปี 2552 และเดินทางศึกษาพูดคุยกับคนงานและครอบครัวผู้เสียหายที่ 9 จังหวัดที่อีสานในปี 2552 เจรจากับรัฐบาลไทย เจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานไทย รวมทั้ง CEOs (ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร) ของบริษัทเบอร์รี่ และข้าราชการที่เกี่ยวข้องที่สวีเดนและฟินแลนด์หลายครั้งนับตั้งแต่นั้นมา อีกทั้งเดินทางพบกับคนท้องถิ่น สื่อมวลชน ที่ฟินแลนด์และสวีเดน และเยี่ยมคนงานตามแคมป์หลายแคมป์ที่ฟินแลนด์ในปี 2553 จนถ่ายทอดออกมาเป็นสารคดี 3 เรื่อง และข้อเขียนทั้งขนาดสั้นและขนาดยาวอีกหลายชิ้น
เมื่อถึงฤดูกาลเบอร์รี่ปี 2555 ผู้เขียนจึงคิดว่า มีความจำเป็นที่จะต้องเขียนรายงานฉบับยาวชิ้นนี้ออกมา เพื่อให้สังคมไทยและสังคมโลกตระหนักถึงสภาพความเป็นจริง ของอุตสาหกรรมพาคนไปเก็บเบอร์รี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมุ่งนำสภาพงาน สภาพปัญหาและความเสี่ยงต่างๆ ที่คนงานเก็บเบอร์รี่ชาวไทย ซึ่งเป็นเกษตรกรจากที่ราบสูงจากภาคอีสานเป็นส่วนใหญ่ จะต้องเผชิญและแบกรับอย่างละเอียดมากขึ้น
รายงานชิ้นนี้มุ่งให้คนเก็บเบอร์รี่ เตรียมรับสถานการณ์อย่างที่มันเป็นจริง ไม่ใช่อยู่กับความฝันถึงเงินแสน และเชื่อมั่นว่าความตั้งใจจะทำงานหนัก จะอดทน จะทำให้พวกเขาได้เงินกลับบ้าน และเพื่อจะทำให้เรื่องราวความเสียหายจากคนไทย จากวิถีค้าแรงงานข้ามชาติ ไม่ถูกปล่อยให้เลือนหายไป กลายเป็นคนไม่มีตัวตน พร้อมกับการโหมประชาสัมพันธ์ขายฝันเบอร์รี่ ในฤดูกาลใหม่ที่กำลังมาถึงเช่นนี้กันต่อไป … ปีแล้วปีเล่า…
และเพื่อบอกว่า จนถึงบัดนี้ความเสียหายของเกษตรกรไทย ที่ต่อเนื่องมาหลายปี รวมกันหลายร้อยล้านบาท กับการค้าฝันเสี่ยงโชคเบอร์รี่ป่า ก็ยังไม่มีใครรับผิดชอบ เช่นเดียวกับคนงานที่ถูกค้าไปทำงานยังประเทศอื่น ๆ อีกมากมายหลายพันหลายหมื่นคน ที่ราคาความเสียหายของพวกเขาไม่เคยได้รับการเยียวยา หรือใส่ใจจากกลไกรัฐไทย
เกริ่นนำ
“ถ้าอยู่เมืองไทยแล้วขยันเช่นไปที่สวีเดน เรารวยกันทุกคน”
“บอกเพื่อนๆ ให้ขยัน ให้อดทน แม้ลูกเดียวก็ต้องเก็บ เพราะมันคือเงิน”
“เราจ้างตัวเองมาลำบาก”
“ก็เครียดกันทุกคนละครับ กลัวไม่ลุหนี้”
ฯลฯ
ถ้อยคำจากผู้เสียหายหรือไม่ได้เงินตามที่คาดหวังไว้ จากการเดินทางมาเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนและฟินแลนด์เหล่านี้ สะท้อนออกจากปากคนงานหลายคน ที่ได้พบเจอนับตั้งแต่ปี 2552
เมื่อใกล้เวลาฤดูกาลเก็บเบอร์รี่ ผู้เขียนมักจะนึกถึงหน้าตาของอดีตคนงานเบอร์รี่หลายร้อยคน ที่ร่วมประท้วงด้วยกันมา นึกถึงมิตรภาพและการต้อนรับอันอบอุ่น เมื่อไปเยี่ยมพวกเขาที่บ้านในหลายจังหวัดที่อีสาน
นึกถึงดวงตาเศร้าเจ็บปวดและสูญเสียศักดิ์ศรีตัวตน แห่งความเป็นคนงานไทยที่ขยัน อดทน และซื่อสัตย์ ที่พ่ายแพ้ต่อฤดูกาลที่เขตโลกเหนือ
ได้เห็นผลพวงจากน้ำพักน้ำแรงเบอร์รี่ ทั้งรถเกี่ยวข้าว ร้านขายของชำ และบ้านที่มีแต่โครงเพราะขาดทุนจากการไปครั้งที่ 3 จนไม่มีเงินสร้างต่อจนเสร็จ
ได้เห็นการหย่าร้าง การแยกทางกันทำมาหากิน การเจอแฟนใหม่เพราะเบอร์รี่
หลายคนที่เคยไปทำงานเมืองนอกบอกว่า การทำงานเก็บเบอร์รี่ป่าที่สวีเดนและฟินแลนด์ เป็นงานที่โหดที่สุด
นึกถึงแก้วและครอบครัวที่นครพนม แก้วและพี่น้องทั้งสี่คน (ผู้ชายหมด) ดิ้นรนไปทำงานเมืองนอกในเกือบทุกประเทศ ตั้งแต่สิงคโปร์ช่วงต้นทศวรรษ 2530 ตามมาด้วยมาเลเซีย ไต้หวัน เกาหลี และเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดน
เงินส่วนใหญ่ที่ได้มา ถูกใช้ไปกับการจ่ายคืนเงินกู้ค่านายหน้า และจ่ายค่าเดินทางของพี่น้องคนต่อไป และครั้งต่อไป จนบัดนี้ผ่านไปร่วมสองทศวรรษ พวกเขาก็ยังต้องดิ้นรนเพื่อไปเมืองนอก หรือเพื่อสร้างชีวิตในประเทศ
แก้วถึงกับใช้เงินที่เหลือทั้งหมดจากไต้หวัน ที่เขาเพิ่งเดินทางกลับมา หลังครบสัญญาสองปี จำนวน 50,000 บาท เป็นทุนจ่ายค่านายหน้า 86,000 บาท เพื่อไปเก็บเบอร์รี่ที่สวีเดนในปี 2552
เมื่อเราไปเยี่ยมเขาและครอบครัว รวมทั้งเพื่อนที่เสียหายกลับมาที่จ.นครพนม เราเห็นแก้วมีความสุขท่ามกลางชีวิตกลางทุ่งอันงดงาม บ่อปลา บ่อกบ แปลงพริกผักนิดหน่อย ที่สร้างรายได้ในช่วงฤดูกาลให้แก้วเป็นพันบาท บอกกับเราว่า “ถ้าอยู่เมืองไทยแล้วขยันเช่นไปที่สวีเดน เรารวยกันทุกคน” แก้วบอกว่าไม่ไปอีกแล้วเมืองนอก
ที่จ.อุบลราชธานี เราพบพี่ประมวลและภรรยา พร้อมครอบครัว ครอบครัวนักการเมืองท้องถิ่น ที่หวังเพียงได้พากันไปเมืองนอก และมีเงินเหลือเก็บบ้าง พี่ประมวลไปกับภรรยา และต้องกู้หนี้ยืมสินร่วมสองแสนบาท ทำให้สองเดือนกับความหวังทำชีวิตพลิกผันและพังทลาย
ชีวิตผู้ที่เคยได้รับการยอมรับนับถือในชุมชน เมื่อล้มเหลวกลับมา และมีภาระหนี้ที่ต้องมาชดใช้ พวกเขาเสียศูนย์ ต้องเริ่มต้นสร้างกำลังใจให้ตัวเอง และกู้คืนชื่อเสียงและศักดิ์ศรี
ผู้เขียนไม่เคยลืมครอบครัวปรานีที่แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ในการอยู่ศูนย์กลางตัวแทนเก็บเบอร์รี่ ทุกปีครอบครัวของเธอจะถูกกระตุ้นว่าต้องเสี่ยง น้องชายไปก่อนกลับมาไม่ได้เงิน และบอกทุกคนว่าสภาพงานเป็นอย่างไร แต่ก็ห้ามแรงกระตุ้นจากความอยากเสี่ยงไม่ได้ ปีต่อมาปรานีไปเก็บพร้อมกับสามี เผอิญเป็นปี 2552 ที่ทั้งสวีเดนและฟินแลนด์คราคร่ำไปด้วยคนเก็บเบอร์รี่ชาวไทย “ไปที่ไหนก็ปะหน้ากันตลอด” ปรานีและสามีเสียหายกลับมาพร้อมหนี้กว่าแสน
สามีต้องหลีกเจ้าหนี้ไปทำงานก่อสร้าง ทิ้งปรานีดูแลพี่สาวที่ป่วย ลูกที่เล็ก และอยู่กับครอบครัวที่ทุกข์ระทมจากความล้มเหลวแห่งการล่าฝัน ท่ามกลางเรื่องเล่ายั่วยุแห่งผู้ที่ประสบความสำเร็จไม่กี่คน แต่เรื่องราวกลับได้รับการจดจำ และขยายกว้างขวางไปใหญ่โต เพื่อสร้างแรงดึงดูดให้คนอื่นๆ บินเข้าสู่มือนักค้าแรงงาน
ความเป็นสวีเดน และฟินแลนด์ ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าร่ำรวย และพัฒนา เป็นแรงจูงใจหนึ่ง เพราะถือได้ว่ามาเที่ยวเมืองนอก ประเทศโลกเหนือที่ร่ำรวย ค่าแรงสูง ธรรมชาติงาม และผู้คนจิตใจดี
สำหรับคนที่ศึกษาและติดตามการถูกหลอก และถูกค้าฝันไปทำงานเมืองนอกของคนไทยมากกว่า 2 ทศวรรษ การนำอาหารที่พระเจ้ามอบให้ที่มีฤดูกาลอันจำกัด เพื่อสองเดือนนี้ เข้าข้นทุกรสชาติแห่งชีวิตคนทำงานเมืองนอกตามไปด้วยเช่นกันตามเงื่อนไขระยะเวลาที่จำกัด กับต้นทุนค่าใช้จ่ายเท่ากับการทำสัญญาไปทำงานประเทศไต้หวัน 2 ปี
ทำความรู้จักกับเบอร์รี่ป่า
ในเขตภาคเหนือคาบเกี่ยวเขตอาร์กติกไล่ตั้งแต่แคนาดา มาสแกนดิเนเวีย (นอร์เวย์ สวีเดน และฟินแลนด์) ไปยังรัสเซีย และญี่ปุ่น จะเป็นแหล่งของเบอร์รี่ป่า หลากหลายชนิด แต่ชนิดที่คนนิยมกิน และต่อมาพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมคือ cloud berry, lingon berry, blueberry และ crow berry เป็นต้น ซึ่งเป็นไม้พุ่มเตี้ยติดพื้น ที่จะพากันฟื้นตัวเมื่อน้ำแข็งละลาย และจะค่อยๆ ออกผลให้เก็บกินได้ตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมจนถึงต้นเดือนตุลาคมของทุกปี
เบอร์รี่ป่าเหล่านี้มีคุณค่าทางโภชนาการสูงมาก เรียกกันว่าเป็นของขวัญจากพระเจ้า เพื่อชดเชยสภาพอากาศที่เลวร้ายให้คนและสัตว์ที่อยู่เขตอาร์กติก และนับตั้งแต่มีการพัฒนาการค้าเบอร์รี่ป่าเป็นล่ำเป็นสัน และมีโรงงานแปรรูปหลายโรงเปิดที่ภาคเหนือของสวีเดนและฟินแลนด์ ความต้องการเบอร์รี่ป่าในตลาดโลก เพิ่มสูงขึ้นมาก โดยประเทศนำเข้าสำคัญได้แก่ญี่ปุ่น จีน อิตาลี เป็นต้น เพื่อนำมาผลิตยาบำรุงสายตา วิตามิน เครื่องดื่ม อาหาร และอุปกรณ์เสริมความงามต่างๆ
เป็นประเพณีมาช้านานของคนในพื้นที่ที่นี่ คือ ทั้งครอบครัวจะพากันไปเก็บเบอร์รี่มาแช่แข็งไว้เพื่อบริโภคในครอบครัวทั้งปี ทั้งทานสดและทำแยมต่างๆ นอกจากนี้มันก็เป็นอาหารของพวกหมี ลีห์ และกวางเรนเดียร์ และสัตว์ป่าต่างๆ ด้วย หมีก็จะเก็บเบอร์รี่เหล่านี้กิน เพื่อเป็นอาหารตุนในระหว่างฤดูจำศีลตลอดช่วงหิมะอันหนาวเย็นกว่า 5 เดือนของทุกปี
นอกจากการเก็บตามธรรมชาติแล้ว ในจีน โปร์แลนด์ และแคนาดา เป็นต้น ได้มีการพัฒนาฟาร์มบลูเบอร์รี่ เพื่อส่งออกกันอย่างเป็นลำเป็นสัน ซึ่งเบอร์รี่ฟาร์มจะลูกใหญ่กว่า แต่รสชาติไม่อร่อยเท่าเบอร์รี่ป่า
เพื่อนที่นี่บอกว่า “การเจอแหล่งเบอร์รี่ป่าและเห็ดดก ถือเป็นความลับที่เป็นมรดกตกทอดในครอบครัว” ก่อนออกจากบ้านไปดงเบอร์รี่ ถึงขนาดต้องแอบออกจากบ้าน ไม่ให้เพื่อนบ้านรู้กันทีเดียว
ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดใด ที่จะเกิดการไม่กินเส้นกัน กลั่นแกล้งกัน ระหว่างคนเก็บเบอร์รี่เจ้าถิ่นกับคนเก็บเบอร์รี่ชาวไทย เพราะการแย่งแหล่งเบอร์รี่ดก และก็ไม่ใช่เรื่องประหลาดใจที่คนเก็บเบอร์รี่ชาวไทยเจ้าเก่า จะขับรถกันวันละ 200-300 กม. เพื่อเดินทางจากแคมป์ ไปยังแหล่งเบอร์รี่ดกที่ตัวเองคุ้นเคย
ผลผลิตของเบอร์รี่จะขึ้นอยู่กับฤดูกาลและคาดการณ์ลำบาก ว่าจะมากน้อยขนาดไหน จนกว่าจะเห็นดอก ซึ่งก็เป็นช่วงกลางเดือนมิถุนายน และถ้าปีไหนเกิดอาการเปลี่ยนและหนาวจัดในช่วงดอกออก ก็จะส่งผลเสียหายต่อปริมาณของเบอร์รี่ด้วย (เช่นกรณีปีที่เสียหายมากๆ ในปี 2552 ที่คนไทยต้องกลับบ้านมือเปล่าหรือพร้อมหนี้สินกันหลายพันคน)
การพาคนงานจากต่างประเทศเข้าไปเก็บเบอร์รี่
จุดเริ่มต้นของการพาคนต่างชาติเข้ามาเก็บเบอร์รี่ที่สแกนดิเนเวียร์ โดยเฉพาะที่ตอนเหนือของสวีเดนและฟินแลนด์ เริ่มจากการที่หญิงไทยที่มาแต่งงานกับคนสวีเดนหรือฟินแลนด์ เชิญชวนของญาติให้มาเที่ยวและมาเก็บเบอร์รี่ 2 เดือน ในช่วงหลังปักดำและระหว่างรอฤดูเก็บเกี่ยว เมื่อช่วงต้นทศวรรษที่ 2530
แต่ด้วยเห็นรายได้อยู่ข้างหน้า โดยไม่ได้คิดค่านายหน้าอะไร เพียงแค่ญาติจ่ายค่าตั๋วและค่าใช้จ่ายกันมาเอง พอเห็นได้เงินเยอะ คนมาเก็บก็เลยลุยเก็บเบอร์รี่กันมากกว่ามาเที่ยว และพอได้เงินกลับเมืองไทยกัน ข่าวก็แพร่สะพัด หญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติในพื้นที่ก็คิดหาประโยชน์ด้วย โดยการทำตัวเป็นนายหน้าจัดการเส้นทางและเก็บค่าหัวคิว อีกทั้งให้ยืมเงินดอกเบี้ยสูง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง รวมทั้งเก็บค่าใช้จ่ายเรื่องบ้าน อาหาร และรถเช่าคนเก็บเบอร์รี่ด้วย
เมื่อความโลภของคนไม่เท่ากัน วิถีนี้ก็ถูกเปิดโปงและร้องเรียนจากคนงานที่เสียหายมากขึ้นเรื่อยๆ นับตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา
บริษัทแปรรูปและส่งออกเบอร์รี่ที่เริ่มเคยชินกับวิถีการทำงานราวกับทาส ไม่หยุดพักทั้งวันทั้งคืนของคนไทย ก็เลยลุกขึ้นมาต่อรองและจัดการระบบเอง แต่ไม่ได้ทำเอง อาศัยความเป็นผู้ซื้อ รับประกันตัวแทนนายหน้า และอาศัยเงินหนา จัดซื้อโรงเรียนและรีสอร์ทเก่า รวมทั้งรถเก่าไว้รองรับคนงาน หารายได้เพิ่มด้วย แต่ในราคาที่คุมระหว่างกัน
ด้วยวิถีนี้ อุตสาหกรรมเบอร์รี่ในฐานะสมาคมผู้ซื้อร่วมกับบรรษัทจัดเก็บและขายเบอร์รี่ที่ตั้งตามมา จึงสามารถต่อรองโควต้านำเข้าคนเก็บจากต่างประเทศ โดยเฉพาะอาศัยตัวแทนชาวไทยที่ชำนาญการ และมีความเชี่ยวชาญเรื่องการนำแรงงานไปต่างประเทศมาช่วยหาคน และจัดการเรื่องการเดินทาง
เกษตรกรในที่ราบสูงของไทย จึงพากันเดินทางมาเก็บเบอร์รี่ในวีซ่า “นักท่องเที่ยวจ้างงานตัวเอง หรือนักท่องเที่ยวนายจ้างตัวเอง”
จากไม่ถึงร้อยคนในปีที่เริ่มเปิด (2548) ก็พุ่งสูงขึ้นเป็นร่วมหมื่นคนในปี 2552 จนตกลงมาอยู่ที่ระดับ 6,000-7,000 คนในปัจจุบัน (ไม่รวมตัวเลขที่เดินทางมากับระบบญาติเหมือนเดิม ที่มีการคุ้มเข้มเรื่องวีซ่ามากขึ้น และต้องพิสูจน์ว่าเป็นญาติกันจริงๆ อีกประมาณปีละ 3,000 คน) ส่งผลให้จำนวนเบอร์รี่ในอุตสาหกรรมแปรรูปและส่งออกเบอร์รี่ ที่เก็บโดยคนไทยเพิ่มขึ้นจาก 15 % ในปี 2546 เป็น 80 % ในปี 2552 และการเติบโตของอุตสาหกรรมเบอร์รี่ของทั้งสองประเทศ
หลังจากปัญหาวิกฤติเบอร์รี่ปี 2552 เมื่อคนเก็บเบอร์รี่ชาวไทยขายทุนกันเป็นจำนวนมาก สภาแรงงานที่สวีเดน และสหภาพแรงงานคอมมูนอล และสาธารณชน ได้กดดันให้รัฐบาลสวีเดนใช้ระบบสัญญาจ้างงานที่มีฐานค่าจ้างขั้นต่ำ และเงื่อนไขการทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง ระบบสัญญาจ้างงานนี้เปิดให้ทั้งนายจ้างที่เป็นบริษัทสวีเดน (คนเก็บต้องถูกหักภาษีเงินได้ 25 %) และบริษัทที่ประเทศไทยนำมา (ได้รับการยกเว้นภาษี) และระบบการจ้างงานนี้ใช้ครั้งแรกในปี 2553 (ระบบสัญญานี้ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมาก กรุณาอ่านเพิ่มเติมได้ที่ “รายงานการต่อสู้ของคนงานเก็บเบอร์รี่ยังไม่จบ”)
สำหรับฟินแลนด์ยังคงใช้ระบบ “วีซ่านักท่องเที่ยวนายจ้างงานตัวเอง” อยู่ แต่รัฐจะเข้ามาสอดส่องดูแลมากขึ้น เรื่องคุณภาพการกินอยู่ และการขาดทุนของคนงาน และมีการต่อรองกันเรื่องการสร้างหลักประกันไม่ให้คนงานรับภาระความเสี่ยง และความเสียหายฝ่ายเดียวมากขึ้น (ในปี 2555 กระทรวงการต่างประเทศฟินแลนด์ คาดการณ์ว่าจะมีคนเก็บเบอร์รี่มาฟินแลนด์ รวมทั้งคนงานฟาร์มเกษตร 12,000 คน เป็นคนไทย 3,000 คน (ดู Wonders in Finnish Forests)
กระนั้นก็ตาม นับตั้งแต่วิกฤติเบอร์รี่ปี 2552 ผลเบอร์รี่ไม่แน่นอน และคนที่จะได้เงินแบบถูกหวยและแจ็กพ็อตแบบเก่าเป็นเรื่องที่ยากมากขึ้นเรื่อยๆ
“ฤดูกาลเบอร์รี่ปี 2553 ที่สวีเดนเริ่มร้อนแรง ตั้งแต่ช่วงต้นฤดู เมื่อมีการนำเสนอข่าวการประท้วงนายหน้า ของคนงานจีน 120 คน ในวันที่ 6 สิงหาคม ตามมาติดๆ ด้วยข่าวการประท้วงของคนงานเวียดนาม 70 คน ที่แปรความโกรธแค้นไปสู่หัวหน้าแคมป์ ด้วยการทุบตีและขังพวกหัวหน้าไว้ในห้อง เมื่อต้องเผชิญกับความกดดันที่ไม่รู้ว่าจะไปหาเงินที่ไหนมาใช้หนี้ที่กู้มาจ่ายค่านายหน้า เพื่อเดินทางมาสวีเดน คนเวียดนาม 150 จากจำนวน 290 คน ตัดสินใจหนีวีซ่าอยู่ต่อในยุโรปในฐานะคนงานผิดกฎหมาย
หนี้สินจากค่านายหน้าที่กู้ยืมมาสวีเดนของพวกเขาสูงถึง 60-100,000 บาท ซึ่งต้องทำงานกันเป็นปีหรือสองปี กว่าจะใช้หนี้เหล่านี้ได้หมด
บริษัทจัดหางาน (ในนามบริษัทอาหารและเครื่องดื่ม) เกือบทุกบริษัท ต่างมีคดีฟ้องร้องข้อหาหลอกลวง และฉ้อโกงกันโดยถ้วนหน้า ในโฉมหน้าของนักฉ้อโกงคนจนที่ไร้ซึ่งการคุ้มครองใดๆ กลไกภาครัฐต่างๆ กลับยังคง ให้การสนับสนุนบริษัทเหล่านี้ในการนำพาหรือสั่งนำเข้าเกษตรกรที่ยากจนให้เดินทางมายังยุโรปกันต่อไป”
การต่อสู้ของคนงานเก็บเบอรี่ในสวีเดนยังไม่จบ, ธันวาคม 2553
ลำดับขั้นตอนการหาคนงาน
เมื่อหมดฤดูกาล บริษัทที่ฟินแลนด์จะต้องทำรายงานรายได้ของคนเก็บเบอร์รี่ให้กระทรวงต่างประเทศ และยื่นความจำนองของโควต้าคนเก็บเบอร์รี่ในฤดูกาลถัดไป โดยสถานทูตจะดูว่ามีคนขาดทุนกันมากน้อยแค่ไหน และบริษัทมีคำอธิบายว่าอย่างไรบ้าง ทุกบริษัทต้องพยายามทำให้ยอดการขาดทุนในรายงานน้อยที่สุด เพื่อจะได้รับโควต้าในปีต่อไป
ในระหว่างการตระเวนพูดคุยกับสาย หัวหน้า และคนงาน เมื่อปี 2553 มีการพูดถึงกันว่า แต่ละบริษัทจะมีวิธีการทำบัญชีแสดงตัวเลขค่าใช้จ่ายต่ำเกินจริง และการจ่ายเงินสูงเกินจริง โดยรวมจำนวนเงินที่ต้องจ่ายค่าบริการต่างๆ ให้กับตัวแทนในประเทศไทย และทีมงานที่ถูกนำมาดูแลคนงานเข้าไปด้วย จึงทำให้ยอดเฉลี่ยรายได้สูงขึ้น แต่การจ่ายจริงจะไปกระจายต่อจากบัญชีที่เมืองไทย ซึ่งไม่ได้มีการรายงานโดยละเอียด ซึ่งเป็นเพียงคำกล่าว ที่ยังไม่เห็นมีการทำรายละเอียดการตรวจสอบเรื่องนี้ที่ชัดเจน เพื่อยืนยันถึงคำกล่าวนี้ ซึ่งจะทำได้ก็ต้องดูทั้งยอดเงินเข้าบัญชีจริง และเงินจ่ายให้คนงานจริงที่เมืองไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากในการตรวจสอบ
ขั้นตอนการจัดหาคนเก็บเบอร์รี่ที่พอแบ่งได้อย่างสังเขปคือ
1.ธันวาคมถึงกุมภาพันธ์ บริษัทแปรรูปและส่งออกเบอร์รี่ (5-6 บริษัท) และบริษัทเก็บและขายเบอร์รี่ (4-5 บริษัท) ยื่นความจำนงขอโควต้าใหม่ (สถานทูตจะอนุมัติประมาณเดือนมีนาคม)
2.บริษัทจะแจ้งรายชื่อตัวแทนบริษัทไปยังสถานฑูตที่ประเทศเพื่อเป็นผู้ติดต่อเรื่องการยื่นขอวีซ่าให้คนงาน
3.นับตั้งแต่ฤดูกาลเก็บยังไม่สิ้นสุด ตัวแทนบริษัทจะเชิญชวนคนเก็บให้มาใหม่ และในเดือนพฤศจิกายน ถึงธันวาคม จะเริ่มเปิดประชาสัมพันธ์อีกรอบ พร้อมทั้งให้สายเริ่มหาคนงาน
4.กุมภาพันธ์ เริ่มประเมินในระดับหนึ่งถึงจำนวนคนเก็บ เริ่มระดมเงินค่าใช้จ่าย โดยในปัจจุบัน บริษัทผ่านทางตัวแทนนายหน้าจะอำนวยความสะดวกด้วยการหาเงินกู้หรือคำประกันเงินกู้ให้
5.ขั้นตอนที่ 5-6 จะทำไปด้วยกันคือ หาคน และเจรจาเงินกู้และการเตรียมเงินต่างๆ
6.เดือนมิถุนายน ฝึกอบรมโดยบริษัทและกระทรวงแรงงานครึ่งวัน
7.ต้นเดือนกรกฎาคม คนงานที่มาเก็บสตอเบอร์รี่ตามฟาร์มระหว่างรอฤดูเก็บเบอร์รี่เริ่มออกเดินทาง
8.ปลายเดือนกรกฎาคม คนงานทั้งหมดทยอยออกเดินทาง
9.สิ้นเดือนกันยายนและต้นเดือนตุลาคม คนงานทยอยเดินทางกลับ
ค่าใช้จ่าย
ตัวเลขค่าใช้จ่ายนี่เป็นปัญหามากพอสมควร เพราะเงินร้อยหรือสองร้อยยูโร (ห้าพันหรือแปดพันบาท) มีความหมายต่อเส้นการขาดทุนและกำไร โดยเฉพาะเมื่อต้องทำตัวเลขเหล่านี้ให้หน่วยงานรัฐรับทราบด้วย เพราะถ้าเวลาลงเป็นเอกสารถึงหน่วยงานรัฐระบุว่า ต้นทุนคนงานคนละ 3,200 ยูโร จึงมีความหมายมาก เพราะเส้นแบ่งการขาดทุน จะถูกปรับลงมาจากตัวเลขจริงมาเป็นค่าเฉลี่ย 3,200 ยูโร
ฝ่ายตัวแทนและบริษัทเบอร์รี่ก็จะพยายามแทงตัวเลขค่าใช้จ่ายให้ต่ำ โดย(อาจจะ) ไม่รวมค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่นๆ ไว้ในรายงานให้กับรัฐทั้งหลาย
จากการคุยกับคนงานจำนวนมาก และคำนวณจากค่าใช้จ่ายจริงที่รู้กันอยู่แล้ว (โดยเฉพาะที่แคมป์) ชัดเจนว่าค่าใช้จ่ายจริงแต่ละคนจะไม่ต่ำกว่า 3,500 ยูโร ซึ่งตัวแปรสำคัญคือ 1.การเสียค่านายหน้าเยอะกว่าปกติ เพราะถูกสายกินหลายทอด 2.ค่าน้ำมันรถวิ่งหาป่าเบอร์รี่ที่ต้องจ่ายเอง 3.ค่าใช้จ่ายในการเตรียมการมา ทั้งซื้ออุปกรณ์ ยา และอาหารแห้ง และ 4.ค่าใช้จ่ายเรื่องอาหารเสริม เครื่องดื่ม และบัตรโทรศัพท์ที่ฟินแลนด์และสวีเดน ซึ่งแน่นอนว่า แพงกว่าค่าครองชีพที่เมืองไทยหลายเท่า
นอกจากนี้ก็ยังมีตัวแปรเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอยู่ในระดับ 40 บาทต่อยูโร ไม่ใช่ 45-46 ยูโร เช่นเมื่อสี่ห้าปีที่ผ่านมา)
นั่นหมายความว่าตัวเลขคนที่กลับบ้านมือเปล่า อาจจะลดลงเป็นจำนวนสูงเป็นร้อยเป็นพันคนได้ทีเดียว .. นี่เป็นมายาภาพ เรื่องค่าใช้จ่าย รายได้ และการรายงานรัฐ อีกเรื่องหนึ่งที่รัฐจำต้องรู้เท่าทัน
โดยเฉพาะเมื่อเริ่มมีการวางเป้าหมายว่ายอดรับได้ว่าไม่เสียหายไม่ให้ควรเกิน 10-20% การปรับลดตัวเลขต่ำกว่าจริง 300 ยูโร ก็จะลดจำนวนผู้สูญเสียได้เยอะ (ในกรณีปีที่มีการเสียหายเยอะ และเก็บไม่ได้ตามเป้าคุ้มทุน)
ระบบฟินแลนด์
การเจรจาต่อรองเพื่อกดดันให้กลุ่มสมาคมและอุตสาหกรรมผู้ซื้อเบอร์รี่ ร่วมรับผิดชอบดูแลคนงานเก็บเบอร์รี่ยังคงมีอยู่ต่อเนื่อง เมื่อสวีเดนปรับสู่วิถีสัญญาการจ้างงาน มีเงินเดือนแน่ชัด แต่ที่ฟินแลนด์ยัง ใช้ระบบ “วีซ่านักท่องเที่ยวนายจ้างตัวเอง” อยู่ ทั้งๆ ที่ความจริงทุกคนก็รู้ว่าคนงานเก็บเบอร์รี่เหล่านี้ ไม่มีใครเป็นนายจ้าง และก็ไม่ได้เป็นนักท่องเที่ยวด้วย
ทั้งนี้สถานทูตฟินแลนด์จะกำหนดวีซ่า ให้แต่ละบริษัทที่ฟินแลนด์ที่ขอมาและอนุมัติให้ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้เกิดกรณีความเสียหาย ทางรัฐบาลฟินแลนด์ได้มีมาตรการและเงื่อนไขให้บริษัททำตาม อาทิ เรื่องการเตรียมการเรื่องที่พัก รถยนต์ และการจัดเก็บค่าบริการและค่าหัวคิว รวมทั้งระบบประกันสุขภาพและอุบัติเหตุต่างๆ
ระบบนี้ยอมรับว่าความเสี่ยงเป็นของคนเดินทางมาเก็บเอง เพราะถือว่ามาเก็บเบอร์รี่ป่า อาหารสาธารณะที่ใครๆ ก็เก็บได้ แม้ว่าจะตระหนักกันมากขึ้นเรื่อยๆว่า มันมีปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะเมื่ออาหารสาธารณะอยู่ในพื้นที่ส่วนบุคคล ก็นำมาซึ่งปัญหาการเก็บไม่ได้ และส่งผลถึงปัญหากับคนท้องถิ่น และการต่อต้านจากสมาคมคนเก็บเบอร์รี่ท้องถิ่นไปด้วย
จนมีการออกกฎระเบียบเข้มงวดกับคนเก็บเบอร์รี่ชาวต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเรื่องการไม่เก็บในพื้นที่ส่วนบุคคลใกล้บ้านเรือน การเปิดปิดประตูเมื่อเข้าไปยังเขตกวางเรนเดียร์ และในปี ปี 2555 คนงานเก็บเบอร์รี่ต่างชาติ จะไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บ cloud berry (หมากเหลือง) เนื่องจากเป็นเบอร์รี่ป่าที่มีราคาแพงและคนท้องถิ่นเก็บกันมาก
ทั้งนี้หมากเหลืองถือเป็นรายได้ที่สำคัญสำหรับหลักประกันว่า จะไม่ขาดทุน และแม้ว่าการจัดเก็บจะยากลำบาก คนเก็บเบอร์รี่ต่างต้องการเก็บหมากเหลืองกันทั้งนั้น
สหภาพคนทำงานต่างประทศ และนักการเมืองที่ห่วงใยปัญหาค้าแรงงาน สหภาพแรงงาน นักกิจกรรมเยาวชน นักวิชาการ ศิลปินที่ฟินแลนด์ จึงผลักดันมาต่อเนื่องให้ธุรกิจเบอร์รี่ร่วมรับผิดชอบความเสี่ยงด้วยการ จ่ายค่าเดินทางให้คนเก็บเบอร์รี่ หรือจัดบริการที่พัก อาหารและรถยนต์ให้คนงานโดยไม่คิดมูลค่า
แต่การเจรจาก็ยังไม่มีข้อยุติ
กระนั้นก็ตามสื่อและสาธารณชนที่ฟินแลนด์ ติดตามปัญหาคนเก็บเบอร์รี่มากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคนงานไทยเสียหายจากฟินแลนด์ จนต้องตัวกันประท้วงเรียกร้องความรับผิดชอบจากสมาคมผู้ค้าเบอร์รี่ในปีนี้ ก็แน่นอนว่า จะได้รับการสนับสนุนและหนุนช่วยจากสหภาพแรงงานและสาธารณชนที่นี่ อย่างแน่นอน
บริษัทรับซื้อเบอร์รี่ 6 บริษัท ได้ลงนามข้อตกลงเกี่ยวกับฤดูกาลเก็บเบอร์รี่ปีนี้ ซึ่งเป็นข้อตกลงให้คนเก็บเบอร์รี่ระมัดระวังไม่เข้าไปรบกวนการล่าและไล่ตอนฝูงกวางเรนเดียร์ บริษัทจะสั่งห้ามคนเก็บเบอร์รี่ไม่ให้เข้าไปอยู่ในเส้นทางเรนเดียร์ และสอนให้คนเก็บเบอร์รี่ให้ความเคารพต่ออุตสาหกรรมเรนเดียร์ อาทิ ปิดประตูเข้าป่าเรนเดียร์ทุกครั้ง ให้เก็บเบอร์รี่ใกล้จากบ้านประชาชน ตลอดจนห้ามเก็บ cloud berry (หมากเหลือง) และห้ามวิ่งบนถนนที่เป็นเส้นทางส่วนบุคคล
ทั้งนี้เพื่อป้องกันการทะเลาะเบาะแว้ง ระหว่างคนงานเก็บเบอร์รี่และเจ้าถิ่น ซึ่งปีที่แล้วคนเก็บเบอร์รี่มาจากไทยและยูเครน (New rules for foreign berry-pickers in Lapland)
ระบบสวีเดน
ด้วยขนาดของคนเก็บเบอร์รี่สูงกว่าที่ฟินแลนด์ และมีคนงานประท้วงจนเป็นปัญหาทุกปี สหภาพ ภาคประชาชนและรัฐบาล จึงเจรจากับสมาคมพ่อค้าเบอร์รี่ได้สำเร็จ ให้หันมาใช้ระบบสัญญาจ้างงานแทนระบบการให้บริษัทไทยนำคนงานเข้ามาเก็บเบอร์รี่ตามข้อผ่อนปรนพิเศษเรื่องการจ้างงาน
ระบบสัญญาจ้างงานเริ่มนำมาใช้ครั้งแรกในปี 2553 ซึ่งสหภาพแรงงานคอมมูนอลของสวีเดนต้องร่วมแสตมป์รับรองสัญญาของแต่ละบริษัทด้วย โดยสัญญาจะระบุระยะเวลา เงินเดือน และชั่วโมงการทำงานสัปดาห์ละ 40 ชั่วโมง แต่ไม่มีรายละเอียดเรื่องการจ่ายเงินล่วงเวลา โดยคนงานจ่ายค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาและอยู่กินด้วยตัวเอง
ถ้าเป็นไปตามเงื่อนไขสัญญาและเงินเดือน เดือนละ 80,000 บาท คนงานจะไม่เหลือเงินเก็บบ้านเกินสองหมื่นบาท
ถือว่าไปทำงานและไปเที่ยวสวีเดน
แต่ความเป็นจริง ไม่มีคนเก็บเบอร์รี่คนใดยอมไปทำงานด้วยสัญญานี้ เพราะพวกเขาก็รู้ว่าจะไม่มีเงินเหลือ บริษัทต่างๆ จึงทำสัญญาฉบับสองระหว่างกันเอง หรือทำสัญญาปากเปล่ากับคนเก็บเบอร์รี่ว่า ถ้าเก็บได้ตามเป้าแล้ว จะคำนวณเงินให้ตามกิโลกรัมที่เก็บได้เกิน หรือไม่ก็บอกว่า จะรับซื้อเบอร์รี่ที่เก็บได้ในช่วงวันหยุดและคำนวณเป็นเงินเพิ่มเติมจากเงินเดือน
แต่กรณีของคนงานลอมโจ้แบร์ 156 คนในปี 2553 ได้แสดงให้เห็นว่า สัญญาปากเปล่าเหล่านี้ไม่ได้ปฏิบัติตาม และเมื่อความเสียหายเกิดขึ้น พวกคนงานก็ยังต้องรับภาระความเสียหายเอง
ในวิถีสัญญานี้ นายหน้าชาวไทยบอกว่า บริษัทที่นำคนงานไปทั้งไทยและสวีเดน ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะได้เบอร์รี่มากขึ้น และจ่ายน้อยลง และคนงานก็ยังเป็นผู้รับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่อยู่เหมือนเดิม
สัญญานี้จึงไม่สะท้อนความจริงของอุตสาหกรรมและกระบวนการทำงานของคนงาน และทำให้คนงานเก็บเบอร์รี่เก่าและเก่งที่คุ้นเคยกับสวีเดน จะเริ่มหันมาเดินทางไปกับเครือญาติมากขึ้น หรือหันเหทิศทางมายังฟินแลนด์
แต่ระบบสัญญาแบบสวีเดน จะมีประโยชน์กับคนที่ไม่เคยเก็บเบอร์รี่มาก่อนเช่นกัน เพราะถ้าเก็บไม่ได้ เก็บไม่เก่ง ก็จะไม่ขาดทุนเป็นแสนเหมือนอดีตที่ผ่านมา อาจจะขาดทุนหมื่นสองหมื่นบาท หรือเสมอตัว
คนงาน 156 คนที่ถูกนายจ้างเชิดเงินหนีไปหมด จนต้องประท้วงเพื่อค่าจ้างค้างจ่าย, ตุลาคม – ธันวาคม 2553
สภาพการทำงานเก็บเบอร์รี่ป่า (กลางเดือนกรกฎาคม – สิ้นเดือนกันยายน)
เดือนกรกฎาคม – คนงานที่มาเก็บสตอเบอร์รี่จะถูกส่งไปยังฟาร์มต่างๆ โดยทำอาหารกินเอง และได้ค่าแรงตามจำนวนกิโลกรัมที่เก็บได้ หรือรับค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน แต่รายได้ก็ขึ้นอยู่กับขนาดฟาร์ม ไม่แน่นอน และด้วยต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเอง ทำให้งานนี้เป็นงานเสริมรายได้จากเบอร์รี่ป่า
กลางเดือนกรกฎาคมถึงสิ้นเดือน เป็นช่วงเก็บลักกะ หรือที่คนงานไทยเรียกหมากเหลือง และภาษาอังกฤษ เรียกว่า cloud berry ซึ่งเป็นการเก็บที่ยากลำบากมากที่สุด ต้องเก็บด้วยมือ ต้องใส่บู๊ต และมุ้งคลุมหัวกันยุงเดินลุยหนองเก็บตลอดวัน (ยุงเขตเหนือของฟินแลนด์ขึ้นชื่อมากในความชุมและร้าย และจะจู่โจมแบบฝูงผึ้ง -คนที่แพ้มากๆ ถึงขนาดต้องเข้าโรงพยาบาลกันทุกปี) ด้วยความยากลำบากในการหาแหล่งและเดินเก็บ ทำให้จะได้จำนวนกันไม่มากนักต่อวัน ราคาซื้อต่อกิโลกรัมจึงสูงที่สุด จะตกอยู่ที่ 8-10 ยูโร/ก.ก. วันหนึ่งเก็บกันได้ไม่กี่กิโล) ช่วงนี้คนงานจะออกจากแคมป์ตั้งแต่ตีสองและกลับเข้าแคมป์ห้าทุ่มเที่ยงคืน (จะเป็นช่วงที่พวกเขาพักผ่อนน้อยมาก)
สัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคม จนถึงกลางเดือนกันยายน จะเป็นช่วงฤดูกาลเก็บบลูเบอร์รี่ที่เป็นที่รู้จักกันดี ซึ่งที่ฟินแลนด์เรียกว่า มูสติกา และคนงานไทยเรียกหมากดำ นับตั้งแต่คนงานไทยมาเก็บเบอร์รี่ป่าเป็นลำเป็นสัน ราคาบลูเบอร์รี่จะอยู่ระหว่าง 1.5 -2.3 ยูโร/กก. ช่วงนี้คนงานจะออกจากแคมป์ประมาณตีสามตีสี่ และกลับเข้าแคมป์สี่ห้าทุ่ม คันล่าสุดที่กลับเข้าแคมป์ที่ผู้เขียนประสบด้วยตัวเองคือห้าทุ่มครึ่ง (และได้เห็นพวกเขาออกจากแคมป์ตอนตีสี่)
พอต้นเดือนกันยายนจนถึงสิ้นสุดฤดู ก็จะเริ่มเก็บ Lingon berry ฟินแลนด์เรียก ปุลักกะ และคนงานไทยเรียกหมากแดง ราคาซื้อจะอยู่ระหว่าง 80 เซ็นต์-1.3 ยูโร/กก. เป็นเบอร์รี่ที่มีเยอะที่สุด และเก็บจำนวนกิโลกรัมต่อวันได้สูงสุด
ช่วงนี้อากาศจะหนาวเย็นและเริ่มสว่างช้า คนงานจะออกจากแคมป์ตี 5 หรือ 6 โมงเช้า สายสุด 7 โมงเช้า และช่วงทุ่มหรือสองทุ่มก็ทยอยกลับแคมป์
พอปลายเดือนกันยายน ก็เริ่มหนาวมาก บางปีหิมะตก ก็จะไม่ค่อยมีให้เก็บแล้ว นอกจากคนทรหดจริงๆ
คนงานจะทยอยเดินทางกลับบ้าน ในช่วงปลายเดือนกันยาและตลอดสัปดาห์แรกของเดือนตุลาคม
คนงานกลุ่มนี้นำโดยคนเก็บเก่า คนที่เคยได้เงินกลับบ้านปีละหลายหมื่น แต่ในปี 2553 ทั้งทีมขาดทุนทุกคนและยังต้องกลับไปใช้หนี้ค่านายหน้าอีกคนละหมื่นหรือสองหมื่นบาท
(อ่านต่อตอนจบ พรุ่งนี้)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ