เปิดเทอมผู้แทนฯ-ไม่ถอย'พรบ.ปรองดอง' '11อรหันต์รัฐบาล'ปักธงลุยแก้รัฐธรรมนูญ พรรคฝ่ายค้านแจกโจทย์อภิปรายไม่ไว้ใจ

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 6 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2358 ครั้ง

วาระการเมือง วาระประเทศไทย ยังคงวนเวียนเรื่อง พระราชบัญญัติว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2550

 

ทำให้วาระของสมัยประชุมทั่วไปของสภาผู้แทนราษฎร(ส.ส.) ทั้ง 5 พรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรคฝ่ายค้าน และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต้องตั้งต้นจาก 2 วาระแห่งชาติดังกล่าว

 

ดังนั้นก่อนเปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 1 สิงหาคม 2555 วงประชุมของ 5 พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกพรรคฝ่ายค้าน จึงต้องกำหนดท่าที ก่อนเข้าสู่วาระจริง

 

ทั้งความเคลื่อนไหวของอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จึงยังอยู่ในกระแสข่าว 2 หัวข้อ คือ “ปรองดอง” และ “รัฐธรรมนูญ”

ในงานเลี้ยงพรรคร่วมรัฐบาล ภายใต้ชื่อ "รวมใจ ยึดมั่น ผลักดันประชาธิปไตย" ก่อนการเปิดสมัยประชุมจึงคลาคล่ำไปด้วยพวกนักการเมืองระดับ “ตัวจริง เสียงจริง” ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น  มีสมาชิกบ้าน 111 เข้าร่วมอย่างคึกคัก อาทิ นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย นายวราเทพ รัตนากร และนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา

 

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ในฐานะหัวหน้ากลุ่มวังบัวบาน ,นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล ผู้มีส.ส.ในครอบครอง 70 กว่ามือในเพื่อไทย

 

กลุ่มแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลมีทั้ง นายบรรหาร ศิลปอาชา ,นายชุมพล ศิลปอาชา หัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) นายภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง  ,นายชยุต ภุมมะกาญจนะ ส.ส.ปราจีนบุรี ชทพ.

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

พรรคชาติพัฒนา (ชพ.)นำโดยนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ ,น.พ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล หัวหน้าพรรค , ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

 

พรรคพลังชล มีทั้งครอบครัว “คุณปลื้ม” และนายสันต์ศักย์ งามพิเชษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังชล


จากนั้นจึงมีมติเรื่องวาระแก้ไขรัฐธรรมนูญ ถูกต่อยอดด้วยการตั้งกรรมการพรรคร่วมรัฐบาล 11 คน ประกอบด้วยพรรคเพื่อไทย 7 คน ตัวแทนพรรคพรรคชาติไทยพัฒนา 2 คน พรรคชาติพัฒนา 1 คน และพรรคพลังชล 1 คน

 

เพื่อดำเนินการ 3 แนวทาง คือ 1. แก้ไขรัฐธรรมนูญ อย่างเป็นระบบ 2. ชะลอการลงมติวาระ 3  และ 3. รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงการแก้ไข เน้นการสถาปนาหลักนิติรัฐ นิติธรรม ให้ปรากฏเป็นจริงในสังคม เพื่อให้สามารถบริหารและพัฒนาประเทศไปได้ตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา

 

คาดว่าคณะทำงานของพรรคร่วมรัฐบาล จะมีการนัดประชุมกันครั้งแรกภายในวันที่ 6-7 สิงหาคมนี้ เพื่อวางกรอบการทำงาน ของอรหันต์รัฐธรรมนูญฝ่ายรัฐบาล 11 คน และจะมีการเลือกประธานคณะทำงาน และวาระแรกที่จะพิจารณาคือ การศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

 

ส่วนวาระเรื่อง พ.ร.บ.ว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ อยู่ภายใต้การขับเคลื่อนของ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ของพรรคเพื่อไทย และทีมเฉพาะกิจ ที่ใกล้ชิดพ.ต.ท.ทักษิณ โดยมี วัฒนา เมืองสุข ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย และมีกระบอกเสียงส่วนตัว เป็น นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ

ผลที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมคือ การประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดพิเศษเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม ได้เลื่อนระเบียบวาระนำร่าง พ.ร.บ. 10 ฉบับขึ้นมาพิจารณาแทนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ฉบับที่.. พ.ศ. .... 

ซึ่ง  พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ในฐานะผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความปรองดองแห่งชาติ ฉบับที่.. พ.ศ. .... กล่าวว่าการถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดองออกไป ไม่มีความหมายอะไร เพราะยังเหลือกฎหมายปรองดองอีกจำนวน 3 ฉบับ ที่อยู่ในระเบียบวาระ

 

ส่วนกรณีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 ในวาระที่ 2   ขณะนี้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ จะประชุมอีกไม่กี่นัดก็จะส่งรายงานต่อสภาผู้แทนราษฎรได้ในสัปดาห์หน้า ทั้งนี้ ตามปฏิทินการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่ 2-3 ในวันที่ 15 สิงหาคมนี้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ระหว่างที่วาระของฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติกำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม มีความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ เข้ามาแบ่งซีน ด้วยวาระการเดินทางเข้าประเทศต่างๆ ที่มีนัยทางการเมือง อาทิ เขาจะเดินทางไปยังประเทศอังกฤษในช่วงวันที่ 3-4 สิงหาคม ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะใช้เวลาอยู่นานประมาณ 2 สัปดาห์ ก่อนเดินทางกลับมายังทวีปเอเชีย น่าจะเป็นประเทศจีน

 

อีกด้านเป็นความเคลื่อนไหวในขั้นสมาชิกวุฒิสภา กรณีนายสัก กอแสงเรือง ส.ว.ที่ถูกศาลฎีกา แผนกคดีเลือกตั้งมีคำสั่งให้เพิกถอนสิทธิการสรรหา ส.ว. ทำให้เขาอาจพ้นจากสมาชิกภาพ

 

และการช่วงชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภา มีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม 40 ส.ว.  ที่เลิกพึ่งบารมีนักการเมืองสายประชาธิปัตย์  เปลี่ยนไปต่อรองกับส.ว.สายเลือกตั้ง ที่สนิทสนมกับพรรคเพื่อไทย เพื่อหนุนคนที่กลุ่มตัวเองเสนอขึ้นเป็นประธานแทน

 

ทั้งนี้ จะมีการลงทะเบียนเพื่อเสนอชื่อบุคคลที่เหมาะสมเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกวุฒิสภาที่ สำนักงาน กกต.กำหนดเปิดรับการลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1-15 ส.ค.นี้

 

วาระของฝ่ายบริหาร คู่ขนานไปกับวาระพิเศษ ของฝ่ายค้านพรรคประชาธิปัตย์ ที่เตรียมยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยมีประเด็นที่พรรคเก็บข้อมูลไว้อย่างเป็นระบบ

 

 

มีแนวโน้มว่าพรรคประชาธิปัตย์ จะยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจเป็นรายบุคคล และเลือกอภิปรายนายกรัฐมนตรี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร คนเดียว แต่พ่วงประเด็นการบริหารในกระทรวงที่สำคัญ ทั้งในกระทรวงเศรษฐกิจและกระทรวงด้านความมั่นคง เน้นประเด็นและโครงการที่มีปมทุจริตเป็นสำคัญ อาทิ

โครงการจำนำข้าว 10 ล้านตัน, โครงการคืนภาษีรถคันแรกกว่า 3 หมื่นล้าน, โครงการเมกกะโปรเจกต์แก้ปัญหาน้ำท่วม 3.5 แสนล้านบาท เป็นต้น

 

ฝ่ายค้าน อาจจะชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวในโครงการรับจำนำข้าว ที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รมว.การคลัง เคยระบุว่า หากโครงการรับจำนำข้าวเสียหายหรือใช้เงินมากกว่าโครงการประกันรายได้ ในยุครัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์จะแสดงความรับผิดชอบนั้น ขณะนี้ตัวเลขจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ระบุว่าโครงการรับจำนำในฤดูที่ผ่านมา ต้องแบกรับภาระกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าโครงการประกันรายได้ที่ใช้งบฯ ราว 6 หมื่นล้านบาท

 

และกรณีราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะในภาคใต้ที่ราคายางพาราตกต่ำ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ รมช.เกษตรฯ ที่ขออนุมัติงบประมาณกว่า 3 หมื่นล้านบาท เพื่อพยุงราคายาง จะทำให้ราคาขึ้นมาที่ 104 บาท

 

 

นอกจากนี้ฝ่ายค้านยังได้ติดปลายนวม เรื่องความคืบหน้าในการดำเนินคดีกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ ในคดีฆ่าตัดตอนยาเสพติด 2,500 ศพ โดยให้นายกษิต ภิรมย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ทำหนังสื่อยื่นต่ออัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ รวมทั้งประธานศาลอาญาระหว่างประเทศ ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ไปแล้ว เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยเป็นการร้องศาลอาญาระหว่างประเทศ ในเรื่องนโยบายปราบปรามยาเสพติดในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ

 

วาระการเมืองสัปดาห์ที่สองของสมัยประชุมสภา สมัยนิติบัญญัติ  ยังคงกรุ่นด้วยเรื่องปรองดอง การแก้รัฐธรรมนูญ และการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

 

ทุกวาระล้วนเป็นคลื่นใต้น้ำ พร้อมจะพลิกคว่ำรัฐบาลได้ทุกระยะ หากเพลี่ยงพล้ำแม้แต่ก้าวเดียว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: