พื้นที่สวนป่าคอนสาร ในเขตป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม บริเวณชุมชนบ้านบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ถูกพลิกฟื้นให้สมบูรณ์ขึ้นอีกครั้ง ด้วยการนำร่องเปิดหมู่บ้านเกษตรอินทรีย์ขึ้นมาเป็นแห่งแรกของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ภายหลังจากที่ถูกองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) เข้าดำเนินการปลูกสร้างสวนป่า เพื่อปลูกยูคาลิปตัส กินพื้นที่กว่า 4,401 ไร่ ทับที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านมากว่า 30 ปี
ในวันที่ 16-17 กรกฎาคม 2555 ชาวบ้านชุมชนบ่อแก้วจะมีพิธีเปิด “หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์” อย่างเป็นทางการในงาน “3 ปี บ่อแก้ว เส้นทางสู่ชุมชนเกษตรกรรมอินทรีย์” เพื่อก้าวไปสู่ชุมชนเกษตรอินทรีย์ และนำมาซึ่งสิ่งที่ดีในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหาร เนื่องในวาระครบรอบ 3 ปี การก่อตั้งชุมชนของเกษตรกรผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกิน
นายนิด ต่อทุน ประธานโฉนดชุมชนบ้านบ่อแก้ว กล่าวว่า ชุมชนบ่อแก้ว ถือกำเนิดขึ้นมา เมื่อวันที่ 17 ก.ค.2552 จากการรวมตัวของชาวบ้านผู้ประสบปัญหาสูญเสียที่ดินมาเป็นเวลานานกว่า 30 ปี ได้พร้อมใจกันเข้ามาปักหลัก ยึดพื้นที่ในสวนป่าคอนสาร และตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ของตัวเองขึ้นมา เพื่อเรียกร้องให้ได้พื้นที่ทำกินเดิมของตนเอง ที่ถูกอ.อ.ป.ยึดไปกลับคืนมาดังเดิม และด้วยความหวังว่าจะได้รับการช่วยเหลือในเรื่องที่ดินทำกินจากภาครัฐ ในการที่รัฐบาลจะร่วมแก้ไขปัญหาให้ ด้วยความถูกต้องและเป็นธรรมต่อไป
นายนิดกล่าวถึงการต่อสู้อันยาวนานของชุมชนว่า ก่อนหน้านี้ชาวบ้าน ได้รวมตัวกันคัดค้าน อ.อ.ป.นับแต่เริ่มเข้ามาดำเนินโครงการ เมื่อปี 2521 รวมทั้งเรียกร้องให้ยกเลิกการปลูกสร้างสวนป่าคอนสาร และคืนสิทธิในที่ดินทำกินให้กับชาวบ้านผู้เดือดร้อน แต่ อ.อ.ป.ก็ยังคงเข้าดำเนินโครงการมาจนถึงปัจจุบัน
เดิมพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม ถูกประกาศเป็นเขตป่าสงวนแห่งชาติ ปี 2516 ครอบคลุมเนื้อที่ของ ต.ทุ่งพระ ต.ทุ่งนาเลา ต.ทุ่งลุยลาย จ.ชัยภูมิ รวม 290,000 ไร่ กระทั่งมีการปลูกสร้างสวนป่าสวนป่าคอนสารและมีการบังคับ ข่มขู่ คุกคาม รวมถึงการใช้กลไกกระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกิน
ชาวบ้านหลายครอบครัวต้องถูกอพยพออกจากพื้นที่ทำกินเดิม บ้างไปอาศัยอยู่กับญาติ บางครอบครัวแตกสลาย กลายเป็นแรงงานรับจ้างเพราะไม่มีที่ดินหลงเหลือ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตเกษตรกร และนำมาสู่ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างอ.อ.ป.กับชาวบ้าน
ในส่วนของคดีความนั้น เมื่อวันที่ 27 ส.ค.2552 อ.อ.ป.ได้ใช้กระบวนการทางกฎหมาย ฟ้องขับไล่ชาวบ้าน 31 คน ออกจากพื้นที่ จนนำไปสู่การดำเนินคดีกล่าวหาชาวบ้านเป็นผู้บุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ กระทั่งศาลจังหวัดภูเขียว นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดี ในวันที่ 21 ธ.ค.2554 โดยยืนตามศาลชั้นต้นว่า ชาวบ้านมีความผิดฐานบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ พร้อมมีคำสั่งให้ชาวบ้าน ที่ถูกดำเนินคดีพร้อมบริวาร ออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน นับจากมีคำสั่งศาล แต่ชาวบ้านยืนยันจะปักหลักอยู่ในพื้นที่ทำกินเดิมของบรรพบุรุษ ด้วยจากชาวบ้านมีหลักฐาน ร่องรอย การถือครองที่ดินที่ชัดเจน มาแต่ปี 2494
นายนิดกล่าวด้วยว่า แม้จะได้รับการรับรองจากคณะทำงานที่ประกอบด้วยผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งหัวหน้าสวนป่าคอนสารที่ได้ลงมาตรวจสอบในพื้นที่ว่า ชาวบ้านได้ทำประโยชน์มาก่อน ที่จะมีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติ และตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่า ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากการปลูกสร้างสวนป่าจริง พร้อมมีมติให้ยกเลิกสวนป่าคอนสาร และนำพื้นที่มาจัดสรรให้กับชาวบ้าน โดยทุกขั้นตอนจะมี อ.อ.ป.มาร่วมตรวจสอบด้วยทุกครั้ง แต่ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวกลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ ในทางปฏิบัติ อีกทั้งปัจจุบัน คดีความชาวข้อพิพาทเรื่องที่ดินของชาวบ้าน ยังถูกแขวนไว้ในชั้นการพิจารณาของศาลฎีกา
ประธานโฉนดชุมชนบ้านบ่อแก้วกล่าวว่า กว่า 3 ปีที่ผ่านมา แม้จะต้องต่อสู้เพื่อการทำอยู่ทำกินโดยผจญความบีบคั้นของข้อกฎหมายและคดีความ แต่ชาวบ้านที่นี่ก็ได้มีการพัฒนาที่อยู่อาศัยควบคู่ไปกับการจัดทำกิจกรรมช่วงที่ผ่านมาโดยตลอด เช่น ทำการผลิตปลูกพืช ผัก สวนครัว เพื่อเลี้ยงชีพในรูปแบบเกษตรอินทรีย์ โดยไม่ใช้สารเคมีใดๆ
นอกจากนั้นยังมีการจัดสร้างโรงธนาคารเมล็ดพันธ์, ศูนย์เมล็ดพันธุกรรม, ร้านค้าชุมชน ทั้งๆ ที่ยังไม่มีไฟฟ้า และน้ำประปา ซึ่งขณะนี้ชาวบ้านได้วางท่อน้ำ เพื่อสูบน้ำจากลำห้วยโปร่งเข้าตามบ้านต่างๆ เพื่อใช้ในการอุปโภค บริโภค ขณะเดียวกันได้ทำแทงก์น้ำ เพื่อเป็นที่พักกักเก็บน้ำในการเกษตร และบริโภค และทำโรงอบสมุนไพร โรงปุ๋ยหมัก เป็นการต่อไป
“การจัดการบริหารต่างๆ ในบ่อแก้ว ชาวบ้านได้ร่วมแรงและรวมใจกัน รวมทั้งได้รวบเงินเท่าที่กำลังจะหากันมาได้ ส่วนหนึ่งได้รับการสมทบจากผู้มีจิตศรัทธา ทั้งหมดทั้งมวลนี้ ถือเป็นการพัฒนาการที่มีขึ้นตามลำดับ เพื่อการดำเนินชีวิตบนผืนดินของตัวเองอย่างยั่งยืน ในรูปแบบการบริหารจัดการที่ดินแบบส่วนรวม โดยการพึ่งพาตนเองของชาวบ้าน” ประธานโฉนดชุมชนบ้านบ่อแก้วกล่าว
สำหรับ พิธีเปิด “บ้านบ่อแก้ว หมู่บ้านเกษตรอินทรีย์” ด้วยการก้าวไปสู่ชุมชนเกษตรอินทรีย์โดยปราศจากสารเคมี หรือมลพิษอื่นใด เพื่อนำไปสู่สิ่งที่ดีในด้านเศรษฐกิจ สุขภาพ และสร้างความมั่นคงทางอาหาร ในแนวทางการจัดการทรัพยากรและที่ดิน ในรูปแบบโฉนดชุมชน อันเป็นแนวทางหลัก ในการจัดการของชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชน ให้มีความมั่นคง และยั่งยืน ตกทอดไปถึงลูกหลานนั้น
น.ส.วิชชุนัย ศิลาศรี ผู้ประสานงานการจัดเวที 3 ปีบ่อแก้ว กล่าวว่า เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน ร่วมกับองค์กรแนวร่วมต่างๆ กำหนดจัดงาน “3 ปี บ่อแก้ว เส้นทางสู่ชุมชนเกษตรกรรมอินทรีย์” ขึ้น เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สรุปบทเรียนเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดิน และการพัฒนาระบบเกษตรกรรมอินทรีย์ รวมทั้งเพื่อเป็นการรณรงค์ และส่งเสริมแนวคิดระบบเกษตรกรรมอินทรีย์ ในพื้นที่เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน นอกจากนั้นยังนำเสนอช่องทาง มาตรการแก้ไขปัญหาที่ดิน และทรัพยากร ต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ส่วนรูปแบบและเนื้อหาของการจัดงาน จะมีการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบเวทีด้านวิชาการ และการจัดการนิทรรศการที่ดินและระบบเกษตรกรรมอินทรีย์ เวทีแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมพื้นบ้าน การเยี่ยมชมกระบวนการผลิต และวิถีชีวิตชุมชนบ่อแก้ว และมีการออกร้านสินค้า ของที่ระลึก แลกเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์และพันธุกรรมพื้นบ้านด้วย
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ