‘รถคันแรก-ตั๋วออนไลน์’ทำทัวร์ไทยเจ๊งอื้อ จองท่องเที่ยว-เดินทางเองไม่ต้องง้อบริษัท สภาอุตฯเชื่อฟื้นรายได้2ล้านล้านทันปี58

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 7 ก.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2607 ครั้ง

ตามที่รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายหวังจะสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว ทั้งตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติและชาวไทย ให้ได้ 2 ล้านล้านบาท ภายในปี 2558 จาก 1.21 ล้านล้านบาท ในปี 2554 คิดเป็นการเติบโต 13.4 เปอร์เซนต์ต่อปี โดยแบ่งเป็นเป้าหมายจากรายได้จากนักท่องเที่ยวภายในประเทศ 5.5 แสนล้านบาท และจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.45 ล้านล้านบาท ซึ่งในส่วนของรายได้จากนักท่องเที่ยวภายในประเทศ ต้องเพิ่มจาก 4.3 แสนล้านบาท ในปี 2554 หรือเพิ่มเฉลี่ยปีละ 6.35 เปอร์เซนต์ ขณะที่รายได้นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ ตั้งเป้าว่า ในปี 2558 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 26.16 ล้านคน จากเดิม 19.2 ล้านคน หรือต้องขึ้นเฉลี่ยปีละ 16.8 เปอร์เซนต์ และหวังจะให้มีรายจ่ายในการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจาก 4,187 บาท ต่อคนต่อวัน เป็น 5,310 บาทต่อคน โดยขณะนี้ได้เร่งดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สภาอุตฯท่องเที่ยวมั่นใจทำรายได้ตามเป้ารัฐบาล

 

 

นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นถึงความเป็นไปได้ต่อนโยบายการเพิ่มรายได้ดังกล่าวว่า ในส่วนของภาคเอกชน โดยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ซึ่งมีสมาชิกเป็นสมาคมผู้ประกอบการที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากทั่วประเทศ ได้หารือร่วมกัน โดยประเมินสถานการณ์การท่องเที่ยวในภาพรวมทั้งหมดแล้ว ทุกฝ่ายเชื่อมั่นว่า จะสามารถทำรายได้จากการท่องเที่ยวได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ คือ 2 ล้านล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมารัฐบาลและกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา มีการออกนโยบายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวด้านต่าง ๆ พร้อมสนับสนุนอนุมัติโครงการพัฒนาหลายโครงการ ในการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและเร่งการเติบโตของรายได้จากการท่องเที่ยว มุ่งให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ของการเป็นแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพสูง โดยเฉพาะแนวทาง 3 ประการ คือ การวางแผนพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในภูมิภาค การพัฒนาคุณภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรให้มีเพียงพอและมีมาตรฐาน ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่น ก็น่าจะเป็นส่วนส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น ทั้งในระดับการท่องเที่ยวภายในประเทศและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

 

 

ชี้รัฐ-เอกชน ต้องทำงานประสานกัน

 

 

ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เพิ่มรายได้จากนักท่องเที่ยวได้ รัฐบาลจะต้องแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของแบรนด์ประเทศไทย ภายใต้การดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการสามารถทำการตลาดเชิงรุกในการดึงดูดนักท่องเที่ยวในกลุ่มตลาดบนได้ ซึ่งจะช่วงเร่งการเจริญเติบโตด้านค่าใช้จ่ายต่อคนต่อวันของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้ได้ตามที่รัฐบาลตั้งไว้คือ จาก 4,187 เป็น 5,310 บาท ในปี 2558 ในขณะเดียวกันอัตราระยะการพักคาดว่าน่าจะสูงขึ้นจาก 9.64 วันในปี 2554 เป็น 10.44 วันในปี 2558 ด้วยเช่นกัน

 

                   “ตอนนี้เกิดเหตุการณ์หลายอย่างที่กระทบการภาคการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการบุกรุกที่ดินของโรงแรมบางแห่ง หรือการขึ้นราคาค่าเข้าอุทยานแห่งชาติ ที่ได้ประกาศขึ้นไปแล้ว ซึ่งต้องเข้าใจว่า ที่ผ่านมาบริษัททัวร์ได้ขายราคาเดิม ให้กับนักท่องเที่ยวไปแล้ว ซึ่งเรื่องนี้เราอยากขอให้ภาครัฐประสานกับภาคเอกชนเพื่อให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน ตอนนี้เราได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอเข้าพบกับท่านรัฐมนตรี เพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหาดังกล่าว” นางปิยะมานกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

เชื่อ 4 นโยบายหลัก ช่วยภาคท่องเที่ยวเพิ่มรายได้เข้าประเทศ

 

 

นางปิยะมานกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาในส่วนของผู้ประกอบการภาคเอกชน ได้ทำงานร่วมกับรัฐบาลอย่างใกล้ชิด และทราบว่า รัฐบาลเองมีความพยายามที่จะส่งเสริมเรื่องการท่องเที่ยว โดยมีการออกนโยบายสำคัญหลายอย่าง โดยเฉพาะการสนับสนุนโครงการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว ประกอบด้วย

 

1.การฟื้นฟูและปรับปรุงแหล่งท่องเที่ยวจำนวน 100 แห่งทั่วประเทศภายในปี 2558 โดยมีแหล่งท่องเที่ยวจำนวน 29 แห่งที่ได้สั่งเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2556

2.การพัฒนาและขยายศักยภาพด้านการเดินทาง ทั้งทางอากาศ ทางบก และทางน้ำ โดยเร่งดำเนินการก่อสร้าง ทางวิ่งที่ 3 และ ที่พักผู้โดยสารที่ 2 ของบสนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิให้แล้วเสร็จในปี 2559 พร้อมๆ ไปกับการพิจารณาทางวิ่งที่ 4 รวมถึงเร่งแผนพัฒนาการใช้สนามบินดอนเมือง สนามบินอู่ตะเภาให้เต็มศักยภาพ การขยายสนามบินนานาชาติภูเก็ตและเชียงใหม่ และปรับปรุง 36 สนามบินทั่วประเทศ เพื่อรองรับเที่ยวบินใหม่ ๆ ทั้งในและต่างประเทศ การพัฒนาเส้นทางเดินรถ อีกทั้งการพัฒนาท่าเรือภูเก็ต เพื่อรองรับการเติบโตของเรือสำราญขนาดใหญ่ เพื่อให้โครงข่ายการคมนาคมมีความสอดคล้องกับโครงการ ASEAN connectivity ด้วย

 

3.การพัฒนาผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยว โดยจัดให้เข้าสู่ระบบมาตรฐานและพัฒนาคุณภาพ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มร่วมกับกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 

4.พัฒนาทรัพยากรบุคคล โดยจัดทำมาตรฐานตำแหน่งงานสำหรับบุคลากรด้านท่องเที่ยวให้ครบในทุกตำแหน่ง โดยตั้งเป้าในปี 2556 ให้ได้ 100 ตำแหน่งงานก่อน และมุ่งพัฒนาคนให้ได้ตามมาตรฐาน โดยจะจัดอบรมแรงงานภาคท่องเที่ยวปีละ 100,000 คน ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ดันรัฐสร้างแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เป็นจุดขายดึงคนรับเออีซี

 

 

                 “สภาการท่องเที่ยวฯ จะดำเนินการผลักดันรัฐบาล ให้เร่งรัดฟื้นฟูพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีอยู่แล้วควบคู่ไปกับการจัดการและส่งเสริมแหล่งท่องเที่ยวกลุ่ม 8 กลุ่ม เช่น กลุ่มท่องเที่ยว Active Beach กลุ่มท่องเที่ยวอันดามัน, Royal Coast กลุ่มอารยธรรมล้านนาภาคเหนือตอนบน เป็นต้น ซึ่งจะให้ออกมาเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด เพื่อให้เกิดความสมดุลของการท่องเที่ยว ในเรื่องรายได้และการใช้ทรัพยากร ในขณะเดียวกัน ขอให้รัฐบาลพิจารณาเร่งรัดการลงทุนด้านแหล่งท่องเที่ยวขนาดใหญ่ โดยให้เอกชนลงทุนและรัฐบาลให้การสนับสนุน เช่น  ASEAN Family Thame Park ขนาดใหญ่ เพื่อเป็นจุดพักของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในช่วงของการเปิด AEC หรือการสร้างคชอาณาจักร และปรับปรุงส่งเสริมถนนราชดำเนินให้เป็นถนนท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งรัฐบาลรับไว้และกำลังดูเรื่องความเป็นไปได้ว่า จะสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน โดยสำหรับเป้าหมายรายได้รวมจากการท่องเที่ยวในปี 2555 นี้ อยู่ที่ประมาณ 1.34 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 10.74 เปอร์เซนต์ โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติประมาณ 21 ล้านคน จากที่ 7 เดือนแรกได้มาแล้ว 12.4 ล้านคน” นางปิยะมานกล่าว

 

 

ชี้ปัญหาเยอะตัวแปรสำคัญทำรายได้ไม่เข้าเป้า

 

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าในภาพรวม สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จะมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการผลักดัน เพื่อสร้างรายได้ในภาคท่องเที่ยวให้ได้ตามเป้าหมายที่รัฐบาลวางไว้ แต่สำหรับองค์กรในภาคส่วนต่าง ๆ  ดูเหมือนจะยังไม่มั่นใจนักว่า จะสามารถสร้างรายได้ตามเป้าหรือไม่ เนื่องจากปัจจัยหลากหลายที่แตกต่างกันไป ของแต่ภาคอุตสาหกรรม ทั้งประเด็นการปัญหาเรื่องของภาวะเศรษฐกิจโลก ,การเมืองภายในที่ยังไม่นิ่ง,การสร้างซับพลาย ที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการ การพัฒนาที่ไร้ทิศทาง รวมไปถึง เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่ล้วนแต่เป็นตัวแปรสำคัญ ที่อาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านรายได้ที่ไม่เป็นไปตามเป้า

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นายศิษฏิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ปัญหาสำคัญคือเรื่องของสถานการณ์บ้านเมือง และการเมืองภายในประเทศ ที่ยังไม่มีความมั่นใจว่า จะทำให้เกิดปัญหาขึ้นอีกหรือไม่ เพราะที่ผ่านมาการเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ ภายในประเทศเป็นปัญหาหลักที่ส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงไป และตลาดการท่องเที่ยวซบเซาอยู่นาน ซึ่งหากไม่มีปัญหาอื่นๆ โดยเฉพาะการเมืองเข้ามากระทบ เชื่อว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจากประมาณ 19 ล้านคน ขึ้น เป็น 26 ล้านคนในปี 2558 ได้ตามเป้าหมาย โดยขณะนี้กลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามามาก และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นมาก คือกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งปัจจุบันเดินทางออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศ ถึงประมาณ 80 ล้านคนต่อปี แต่มาประเทศไทยเพียง 1.7 ล้านคน น่าจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นอีกมาก หากได้รับการสนับสนุนในเรื่องการยกเว้นการขอวีซ่า ในขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวยุโรป ที่ประสบปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้จำนวนยังไม่ได้เพิ่มขึ้น หรือลดลงอย่างชัดเจน ในขณะที่กลุ่มนักท่องเที่ยวอื่นๆ ก็ยังมีเข้ามาอยู่เรื่อย

 

 

เอเย่นต์ทัวร์ซึม ขาดรายได้เพราะคนจองทางเน็ต-เที่ยวเอง

 

 

               “ตอนนี้ที่เราไม่สามารถชี้เรื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวได้มาก เพราะขณะนี้ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวจะเดินทางเอง เที่ยวเอง โดยผ่านการจองทางออนไลน์ อินเตอร์เน็ต โดยไม่ผ่านบริษัททัวร์ ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการแทบจะไม่ค่อยได้ให้บริการนักท่องเที่ยวเลย ทำให้รู้สึกว่าคนมาน้อย แต่จริง ๆ แล้วมีแขกเข้ามาพอสมควร ในส่วนของบริษัททัวร์เองก็ต้องปรับตัวว่าจะทำอย่างไร โดยเฉพาะบริษัทเล็กๆ ที่ตอนนี้ทยอยปิดตัวไปจำนวนมาก เพราะไม่สามารถหารายได้จากการให้บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งกลุ่มนี้จะใช้การจองมาทางอินเตอร์เน็ต ใช้ทั้งโรงแรมแบบแพงหรือถูก แตกต่างกันไป แล้วก็เดินทางเองทั้งหมด” นายดิษฎิวัชรกล่าว

 

 

เชื่อ‘รถคันแรก’หนุนคนไทยเที่ยวมากขึ้น

 

 

ขณะที่ในภาคของการท่องเที่ยวภายในประเทศนั้น นายยุทธชัย สุนทรรัตนเวช นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน) กล่าวว่า ปัจจุบันตัวเลขของนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านผู้ประกอบการ บริษัทท่องเที่ยว เหลืออยู่เพียง 15 เปอร์เซนต์เท่านั้น ส่วนอีก 85 เปอร์เซนต์ เป็นการเดินทางท่องเที่ยวเองทั้งหมด ซึ่งในปีหน้าคาดว่าการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ของนักท่องเที่ยวภายในประเทศ จะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น เพราะได้รับปัจจัยทางบวกหลายอย่าง ทั้งในเรื่องของความสะดวกทางเทคโนโลยีที่นักท่องเที่ยวสามารถดำเนินการเองได้ด้วยตัวเอง หรือนโยบายของรัฐบาล เช่น รถคันแรก ที่จะทำให้การเดินทางด้วยตัวเองเพิ่มมากขึ้น แต่จะผ่านมาทางผู้ประกอบการน้อยลง ที่อาจจะมองดูว่าเป็นไปในเชิงบวก แต่สำหรับผู้ประกอบการเองยอมรับว่าได้รับผลกระทบอยู่พอสมควร

 

นายยุทธชัยกล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้ตัวเลขการเดินทางเพิ่มมากขึ้น ได้มีการวิเคราะห์ไว้ 2-3 ประเด็น เรื่องแรกเป็นเรื่องของโครงการรถยนต์คันแรก ที่ทำให้คนมีรถยนต์เป็นของตัวเองเพิ่มมากขึ้นในปีนี้สูงถึง 100,000 คัน และอาจจะเพิ่มเป็น 200,000 คันในปีหน้า ดังนั้นเมื่อมีรถแล้ว ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องขับรถเที่ยว ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการเดินทางระยะใกล้ ตลาดหลักได้แก่ จังหวัดชายทะเลตะวันออก, ชายทะเลตะวันตก หรือจังหวัดภาคอีสานตอนล่าง ขณะเดียวกัน มีการคาดการณ์ว่า ในปีหน้าราคาน้ำมันจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะความต้องการใช้ในยุโรปและจีนลดลง ทำให้ผู้มีรถยนต์ไม่ห่วงเรื่องน้ำมัน และจากปัญหาเศรษฐกิจยุโรป ที่ทำให้ยอดการส่งออกของประเทศไทยน้อยลง จะส่งผลกระทบมาถึงงบประมาณการท่องเที่ยวของคนไทยด้วย น่าจะทำให้การเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศของคนไทยลดน้อยลง และหันกลับมาเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ถือว่าเป็นอานิสงก์ที่ภาคท่องเที่ยวภายในประเทศจะได้รับมา

 

 

สิ้นหวังรถไฟไทย ขนคนเที่ยวไม่ได้

 

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมองว่าทิศทางการเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศ มีแนวโน้มสดใส แต่นายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ มองว่า มีเพียงปัจจัยหลักเรื่องโครงการรถยนต์คันแรกเท่านั้น ที่ช่วยส่งเสริม แต่หากมองในภาพรวมเรื่องของการขนส่งสาธารณะเขากลับมองว่า การขนส่งหลัก ๆ ในประเทศไทยยังคงจะต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยให้การเคลื่อนย้ายนักท่องเที่ยวได้จำนวนมากขึ้น และน่าจะมั่นคงกว่าการมีโครงการรถยนต์คันแรกเพียงอย่างเดียว

 

 

                “ในส่วนของการขนส่งสาธารณะ การเดินทางทางอากาศ ปัจจุบันคิดว่าไม่น่าจะทำให้ตัวเลขการเดินทางเพิ่มขึ้นมากนัก เพราะไม่ได้มีการเพิ่มสายการบิน หากจะเพิ่มสัดส่วนการท่องเที่ยวจากการขนส่งทางรถไฟ ขณะนี้ก็ดูเหมือนว่าจะอยู่ในสภาพที่สิ้นหวัง เพราะไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น เป็นการเดินทางที่ติด ๆ ขัด ๆ มาบ้างไม่มาบ้าง และพร้อมจะหยุดวิ่งทุกเส้นทางที่เกิดอุทกภัย ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การซื้อตู้โบกี้เพิ่มร่วม 100 ตู้ ยังไม่มีความคืบหน้า เพราะถ้าทำได้จะทำให้เพิ่มการเดินทาง เพิ่มขึ้นเนื่องจากการขนส่งทางรางสูงสุด แต่เราก็ทำไม่ได้สักที”

 

 

โรงแรมพ้อเจอพิษกันเมืองเล่นจนขึ้นราคาไม่ได้

 

 

ด้าน น.ส.ศุภวรรณ ถนอมเกียรติภูมิ อุปนายกสมาคมโรงแรมไทยด้านการตลาด กล่าวถึงปัญหาในภาคการโรงแรมในประเทศไทยขณะนี้ว่า ปัจจุบันสิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญของภาคการโรงแรมคือเรื่องของการห้ำหั่นกันเรื่องราคาค่าห้องพักที่พบว่ามีการลดราคาลงมามาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นผลมาจากสภาวะทางการเมืองภายในประเทศและภาวะเศรษฐกิจโลก ทำให้ราคาห้องพักของโรงแรมในประเทศไทยปรับต่ำลงจนเกือบต่ำสุด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน โดย ปัจจุบันพบว่า ราคาห้องพักของไทยมีราคาอยู่ที่ประมาณ 97 เหรียญสหรัฐ ในขณะที่ราคาห้องพักของสิงคโปร์อยู่ที่ประมาณ 230 เหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นราคาที่แพงกว่ากันเกือบครึ่งหนึ่ง ทั้งๆ ที่เทียบมาตรฐานแล้วประเทศไทยไม่ได้ด้อยกว่าที่อื่น

 

 

โรงแรมผิดกฎหมายผุดแข่งจนต้องหั่นราคา

 

 

นอกจากปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองแล้ว ในภาคของอุตสาหกรรมโรงแรม ยังมีเรื่องของจำนวนโรงแรมใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นมาก ทำให้มีห้องพักมาก แต่มีโรงแรมเพียง 25-30 เปอร์เซนต์ เท่านั้นที่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย ที่เหลืออีกว่า 80 เปอร์เซนต์ ไม่มีใบอนุญาต ทำให้มีความแตกต่างกันเรื่องของมาตรฐาน และต้นทุนการผลิต โรงแรมที่มีต้นทุนไม่สามารถปรับราคาขึ้นได้ มีการแข่งขันด้านราคาอย่างสูง อย่างไรก็ตามคาดว่าตั้งแต่ปี 2555 นี้ราคาจะดีขึ้น เพราะโดยปกติแล้วราคาห้องพักโรงแรมมักจะปรับขึ้น ปีละ 10-12 เปอร์เซนต์  ในปี 2554 ไม่ได้มีการปรับขึ้นเลย แต่ขณะนี้ได้มีการปรับขึ้นราคาขึ้นไปบ้างแล้วอย่าต่ำ 10 เปอร์เซนต์ สำหรับฤดูกาลท่องเที่ยวที่จะถึงนี้ และคาดว่าจะปรับขึ้น เพื่อยกระดับราคาที่พักโรงแรมให้สอดคล้องกับความเป็นจริง พร้อมกับการแข่งขันในระดับโลก ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้รวมจากการท่องเที่ยวของประเทศ เนื่องจากรายได้ค่าที่พักคิดเป็น 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมด

 

                          “รายได้ท่องเที่ยวมาจากค่าห้องพัก 30 เปอร์เซนต์ โดยปีที่ผ่านมารายได้ห้องพักอยู่ที่ 360,000 ล้านบาท ถ้าจะทำให้รายได้ท่องเที่ยวรวมถึง 2 ล้านล้านบาทในปี 2558 ต้องมีรายได้มาจากค่าห้องพัก 600,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 66 เปอร์เซนต์จากปัจจุบัน เท่ากับว่าตั้งแต่ปีนี้โรงแรมต้องขึ้นราคาห้องพัก 15-18 เปอร์เซนต์ โดยปัจจุบันโรงแรมเริ่มขึ้นราคาบ้างแล้ว ครึ่งปีแรกขึ้น 8-10 เปอร์เซนต์ นอกจากนี้ต้องขยายวันพักนักท่องเที่ยวจากเดิมอยู่ที่ 3-4 วัน นักท่องเที่ยวเดินทางเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวพื้นที่ใกล้เคียง เช่น มากรุงเทพฯ ไปเที่ยวต่อจ.สมุทรสงคราม เป็นต้น”

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: