เสียงจากแดนใต้ ‘ปาติเมาะ’ ชำแหละปัญหา ‘ความรุนแรง-แม่ม่าย-เด็กกำพร้า-ยาเสพติด-เงินเยียวยา’ถึงเวลาผู้หญิงนำหน้าถามหาสันติภาพ

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 7 ก.พ. 2555 | อ่านแล้ว 4110 ครั้ง

 

ความรุนแรงตลอด 8 ปี ใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ บ่มเพาะความเกลียดชัง กรีดบาดรอยแผลในใจ และสร้างความเศร้าโศกแก่ชีวิตอื่นๆ มากกว่าชีวิตที่สูญเสียไป คือผลพวงแห่งความคับแค้น ที่ดูจะไม่มีวี่แววจบสิ้น เมื่อผู้ชายคนหนึ่งสิ้นสุดชีวิตลง โศกนาฏกรรมลำเค็ญของหญิงและเด็กผู้อยู่หลังก็เปิดฉาก

 

ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace) ผู้ที่ได้รับรางวัล “บุคคลผู้มีผลงานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2554” จากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ผู้หญิงคนหนึ่งที่คนในครอบครัวต้องสังเวยชีวิตแก่ความรุนแรง แต่ยังคงตั้งหน้าตั้งตาทำงานในพื้นที่เพื่อสร้างเวทีให้แก่ผู้หญิงมุสลิมได้ ลุกขึ้นมามีบทบาทเพื่อเยียวยากันและกัน และสร้างสันติสุขให้กลับคืนสู่แผ่นดินของพระเจ้า

 

ปาตีเมาะร่วมสนทนากับศูนย์ข่าว TCIJเปิดเผยปัญหา 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผ่านแง่มุมของผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่า เป็นตัวแทนของผู้หญิงในพื้นที่ ที่เสียงของพวกเธอแทบไม่เคยมีความสำคัญเลยต่อการแก้ไขปัญหาในบ้านของตัวเอง

เมื่อบทสนทนาจบลง จะพบว่าผู้หญิงใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรง ต้องแบกหามอะไรไว้บนบ่า ที่ถูกค้ำจุนด้วยหัวใจอันเจ็บปวด แต่แข็งแกร่งดวงนั้นบ้าง

  ปาตีเมาะ เปาะอิแตดาโอะ นายกสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ (We Peace)

 

‘ผู้หญิง’คือผู้แบกรับภาระ

 

งานที่ปาติเมาะทำอยู่คือการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้หญิงที่สามี เสียชีวิต จากเหตุการณ์ความไม่สงบ ให้ความรู้ข้อมูลด้านกฎหมาย คอยประสานความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ และลงพื้นที่พูดคุยเพื่อให้กำลังใจ ไต่ถาม สร้างความเชื่อมั่นในศักยภาพแก่ผู้หญิง ทั้งยังจัดกิจกรรมกับเด็กๆ และเยาวชนที่เป็นกำพร้า ทว่า งานของปาติเมาะเหมือนจะหนักหนาขึ้นทุกขณะจากจำนวนผู้เสียชีวิตที่สูงขึ้น เรื่อยๆ

 

“ผู้ชายเสียชีวิตใน3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตอนนี้ประมาณ 5 พันกว่าคน แต่บางครั้งผู้ชายคนหนึ่งไม่ได้มีภรรยาคนเดียว แต่ผู้ชายบางคนมีภรรยา 3-4 คน สถิติหญิงหม้ายจึงทบขึ้นเป็น 2 เท่าตัว บางคนก็มีลูก 4 คน ห้าคน สถิติของเด็กกำพร้าอีกตั้งเท่าไหร่ ยกตัวอย่างที่บ้านมีหลานที่เป็นกำพร้า 14 คน คิดดูว่าผู้ชายคนหนึ่งที่เสียชีวิตจะมีเด็กกำพร้าเพิ่มขึ้นสักเท่าไหร่ และเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ บาดแผลของเด็กไม่มียาตัวใดสมานได้ แต่กลับเน่าเฟะขึ้นเพราะซึมซับความรุนแรงตลอดเวลา เดี๋ยวคนตายที่นั่น ระเบิดที่นี่ พ่อฉันตายแล้ว อ้าว พ่อของเธอก็ตายอีก แล้วก็ไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นฝีมือของใคร ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ เพราะฉะนั้นยิ่งคนอยู่อย่างไม่มีความหวัง มันยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงและน่ากลัวมากขึ้น” ปาติเมาะกล่าว

 

ปัจจัยด้านศาสนา วัฒนธรรม และความเชื่อในพื้นที่ กลับเป็นส่วนหนึ่งที่เพิ่มความซับซ้อนแก่สถานการณ์ ปาติเมาะกล่าวว่า หลักศาสนาอิสลามอนุญาตให้ผู้ชายสามารถมีภรรยาได้มากกว่าหนึ่งคน ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าจะต้องมีความสามารถเลี้ยงดูภรรยาทุกคนได้ หากโลกของความจริงหาได้เป็นดังที่ศาสนาบัญญัติไม่ มีผู้หญิงจำนวนหนึ่งตัดสินใจแต่งงานใหม่ เป็นภรรยาคนที่สองหรือสาม เพื่อต้องการที่พึ่งและลดภาระจากการต้องดูแลลูกตามลำพัง แต่สภาพสังคมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ผู้ชายจำนวนมากยังหลงใหลกับร้านน้ำชาและนกกรงหัวจุก หลายกรณี (มิใช่ทุกกรณี) ผู้ชายจึงกลับเป็นภาระของฝ่ายหญิงเสียเอง

ลูกชายในเรือนจำกับความหวังของหญิงชรา

ปาตีเมาะยังเล่าถึงหญิงชราวัย 78 ปีคนหนึ่ง ที่ลูกชายคนเดียวของเธอถูกจับขังอยู่ในเรือนจำมา 3 ปีแล้ว โดยที่เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ลูกชายโดนข้อหาอะไร คดีคืบหน้าไปถึงไหน สิ่งที่เธอทำได้คือการรับจ้างตัดกล้วย สะสมเงินไปเยี่ยมลูกชายที่เรือนจำพร้อมกับข้าว โดยมีความหวังว่า สักวันลูกชายจะได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงจิตใจ

มันน่าแปลกตรงที่ว่าผู้หญิงคนนี้ชื่นชมตัวเจ้าหน้าที่มาก คือ 3-4 วัน เขาถึงได้กินข้าวครั้งหนึ่ง เพราะไม่มีเงินซื้อข้าวสาร แต่เวลามีน้ำท่วม ทหารมักจะเอาข้าวสารไปแจก ก็ได้ข้าวสารนี้มาประทังชีวิต เธอบอกว่ามีชีวิตอยู่รอดได้ทุกวันนี้ เพราะข้าวสารของทหาร ผู้หญิงคนนี้เชื่อมั่นว่าลูกเขาบริสุทธิ์ และสักวันเจ้าหน้าที่รัฐจะให้ความเป็นธรรมกับลูกของเขา เขารอ แต่ก็ไม่ได้โกรธแค้นเจ้าหน้าที่ที่จับลูกเขาไป

 

“เราถามว่าเวลาไปเยี่ยมลูกแต่ละครั้งคุยอะไรกับลูกบ้าง เขาพูดคำเดียวว่า ยังไงแม่ก็จะยังไม่ตาย จะรอลูกออกจากเรือนจำให้ได้ก่อน แล้วแม่ค่อยตาย เขามีกำลังใจดีมาก แต่คำพูดก็หดหู่มาก เขากอดเราแล้วบอกว่าอยากวิงวอนเจ้าหน้าที่ให้ปล่อยลูกเขาเร็วๆ เพราะลูกเขาไม่ได้ทำผิด”

 

ยาเสพติดระบาดถึงเด็กอนุบาล

 

เวลา 8 ปี เด็กๆ ที่ผ่านการสูญเสียค่อยๆ เติบโตสู่วัยหัวเลี้ยวหัวต่อ ต่างเก็บงำบาดแผลไว้ภายในและดูดซับความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ปาติเมาะเกรงว่าเด็กกลุ่มนี้สุ่มเสี่ยงจะถูกชักจูงเข้าไปสู่วังวนของ สถานการณ์ได้ง่าย ไม่ว่าจากกลุ่มใด ซึ่งจะยิ่งนำพาเข้าสู่เขาวงกตแห่งปัญหาที่ไร้ทางออก ไม่เพียงเท่านั้น ยาเสพติดยังเป็นปัญหาที่ซ้อนทับและเพิ่มความซับซ้อนให้สาหัสทวีคูณ

 

“ตอนนี้เด็ก 70-80 เปอร์เซ็นต์ในพื้นที่ติดยาเสพติดหมดแล้ว ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีน้อยมากที่บ้านที่มีเยาวชนชายจะไม่ติดยาเสพติด เยาวชนหญิงก็มียังมีบางส่วนที่ไม่ติดยา แต่ก็เริ่มที่จะใช้ยาเสพติดแล้ว ยกตัวอย่างหมู่บ้านตัวเอง 80 เปอร์เซ็นต์ ติดยาเสพติดหมดแล้ว เริ่มจากน้ำกระท่อม เป็นยาบ้า เฮโรอีน แล้วมันก็เป็นแบบเดลิเวอรี่ ไม่ต้องกลัวใครแล้ว ส่งถึงบ้าน คุณสามารถเสพยาได้อย่างเปิดเผย กลุ่มเหล่านี้พอเริ่มมีการใช้ยามากขึ้น ใครจะจ้างให้ทำอะไรก็ทำ แยกไม่ออกแล้วระหว่างความผิดกับความถูก อะไรก็ตามที่ทำแล้วได้เงิน ทำแล้วรู้สึกเป็นฮีโร่ ทำได้หมด ที่น่ากลัวที่สุด คือเด็กอนุบาลเริ่มติดแล้วนะคะ”

ปัญหาเริ่มจากในบ้าน-พ่อคือตัวอย่าง

 

ปาติเมาะเล่าว่า ด้วยความเป็นผู้หญิง ภรรยาไม่ต้องการให้สามีออกไปเสพยาข้างนอก เมื่อใดก็ตามที่ฝ่ายชายเริ่มติดน้ำกระท่อม ก็ต้องออกไปหาเสพนอกบ้าน ตามมาด้วยการลักขโมยเพื่อหาเงินมาซื้อเสพ ผู้เป็นภรรยาจึงขอเลือกเป็นคนต้มน้ำกระท่อมให้เสียเอง ดีกว่าจะไปก่อเรื่องราวนอกบ้าน หมดเงิน ก็ออกไปกรีดยาง แล้วละลายเงินส่วนหนึ่งกับน้ำกระท่อม ไม่ต้องเอ่ยถึงว่า ลูกๆ ที่ต้องเห็นพ่อตนเองเสพยาจะไม่เลียนแบบรอยทางที่ทิ้งไว้

ตั้งคำถามแบบไร้เดียงสากลับไปยังปาตีเมาะว่า ยาเสพติดมากมายมาจากไหน

 

“มันเป็นปัญหาที่คน 3จังหวัดถามมาตลอด แต่ก็ไม่เคยมีใครตอบได้เลย ทั้งๆ ที่ด่านของเจ้าหน้าที่รัฐก่อนจะเข้าไปถึง 3จังหวัดชายแดนภาคใต้มีเป็นร้อยด่าน แต่ทำไมยาเสพติดจึงเล็ดลอดเข้าไประบาดในทุกพื้นที่ได้ ทำไมไม่สามารถจัดการได้ มันเป็นไปไม่ได้ที่ลูกบ้านติดยาถึงขนาดนี้แล้ว แต่ผู้นำชุมชนจะไม่รู้ว่าใครเอาเข้ามาขาย แต่เขาก็ไม่กล้าพาตัวเองเข้าไปเสี่ยงชีวิต”

เป็นคำถามที่ไร้คำตอบและไม่แน่ใจว่าจะมีใครกล้าตอบ

 

4 ศพหนองจิก-เงินชดเชย 7.5 ล้าน ชนวนปัญหาไม่สิ้นสุด

 

ถามเลยไปถึงกรณีล่าสุด ความตายของชาวบ้าน 4 รายในอ.หนองจิก จ.ปัตตานี จากคมกระสุนของทหารพราน และประเด็นเงินชดเชยที่มีวงเงินสูงสุดถึง 7.5 ล้านบาท และนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย และประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ระบุว่า การจ่ายเงินชดเชยแก่ผู้เสียชีวิตจะไม่รวมกรณีกรือเซะ ตากใบ เนื่องจากมีคณะกรรมการเฉพาะกิจที่มี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมว.ยุติธรรมเป็นประธาน ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้กำลังก่อเค้าปัญหาลูกใหญ่

 

กรณีแรก ปาตีเมาะกล่าวชัดถ้อย เหตุการณ์นี้ทำให้ฝ่ายรัฐสูญเสียความไว้วางใจที่เพียรสร้างมาตลอด

 

“มันไม่เป็นธรรมเลยสำหรับชาวบ้าน เราเชื่อว่าเป็นฝีมือของรัฐแน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ มันไม่ชอบธรรมเลยที่รัฐใช้วิธีแก้ปัญหาโดยกระทำกับผู้บริสุทธิ์เหล่านี้ ที่ผ่านมาชาวบ้านกี่ร้อยกี่พันศพแล้วที่ต้องเป็นเหยื่อความรุนแรงที่เกิด ขึ้น แต่ 4 ศพนี้มันชัดเจน คนในพื้นที่ก็พยายามหาแนวร่วมอยู่แล้ว เมื่อไหร่ก็ตามที่มีเชื้อปะทุขึ้นมาก็จะยิ่งลุกฮือออกมา แล้วกรณีนี้ภาครัฐเสียพื้นที่ทางการเมืองอย่างมาก ทั้งที่ผ่านมารัฐพยายามสร้างความเข้าใจ สร้างความไว้เนื้อใจ จนประชาชนเชื่อใจในระดับหนึ่งแล้ว แม้จะไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อทำแบบนี้ ความไว้วางใจที่เคยมีให้แก่รัฐ มันล่มสลายไปหมดเลย แล้วกว่าคุณจะฟื้นฟู สร้างความไว้วางใจขึ้นมาใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วคนก็อาจจะไม่เชื่อ” ปาติเมาะกล่าว

 

กรณีที่สอง เงิน 7.5 ล้านบาท ปาติเมาะเห็นด้วยว่ารัฐต้องเยียวยา แต่ก็กังวลด้วยว่า เงินจะนำพาความขัดแย้ง ความรุนแรงสู่ชุมชนในมุมที่รัฐนึกไม่ถึง

ปาติเมาะตั้งข้อสังเกตว่า ประเด็นเงินชดเชยเริ่มต้นจากคนเสื้อแดง จึงมีการเคลื่อนไหวว่ารัฐจะเลือกปฏิบัติหรือไม่ จนเกิดเหตุการณ์ที่หนองจิก รัฐจึงต้องการแสดงความรับผิดชอบ แต่การไม่รวมกรณีกรือเซะ ตากใบ และไอปาแยร์ กลับจะยิ่งทำให้คนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมลุกขึ้นมาแสดงความไม่พอใจ ยังไม่นับรวมกรณีเหตุการณ์รายวันอื่นๆ อีก

 

“ถ้ารัฐจะแสดงความจริงใจ รัฐต้องจ่ายทุกกรณีที่เสียชีวิตในสามจังหวัด แต่ถ้าคุณไม่จ่าย คุณก็อย่าจ่ายเลย เพราะเงินมันเป็นประเด็น เป็นตัวจุดเชื้อ จุดชนวน แล้วคนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมละ คิดดูสิ 4 พันกว่าศพ ผู้หญิงหม้ายอีกกี่พันคน เด็กกำพร้าอีกกว่าหมื่นคน คนที่พร้อมจะลุกฮือขึ้นมา และรู้สึกว่าถ้ารัฐจริงใจจะแก้ปัญหาคุณก็ต้องสร้างความเท่าเทียมให้แก่คนใน พื้นที่สามจังหวัดด้วย ไม่ใช่แค่ในบางกรณีหรือบางเหตุการณ์”

ชี้เงินล้านยิ่งทำให้ไฟใต้ระอุขึ้น

 

และหากรัฐยินยอมจ่ายเงินชดเชย โจทย์สำคัญก็คือเงินจะถึงมือชาวบ้านเต็มจำนวนหรือไม่ แล้วเงินล้านที่ทั้งชีวิตของชาวบ้านไม่เคยแตะต้องจะสร้างผลกระทบอะไรตามมา ยังเป็นสิ่งที่ไม่มีใครตอบได้

 

“อยู่ดีๆ คุณเอาเงิน 7.5 ล้านบาทไปให้ มันเยอะมากนะ คิดอย่างเล่นๆนะ บอกแฟนว่าเวลาไปม็อบที่ไหนไปเลย (หัวเราะ) อย่างน้อยบาดเจ็บคุณก็ได้แล้ว เราเชื่อว่าจะยิ่งทำให้คนก่อความรุนแรงมากขึ้นเพราะอยากได้เงิน มันจะยิ่งแก้ปัญหาได้ยากขึ้น ถามว่า ไปม็อบแล้วบาดเจ็บเล็กๆ น้อยๆ กับชีวิตนี้ที่ไม่เคยเห็นเงินล้าน เอามั้ย เราเอาอยู่แล้ว เพราะชาวบ้านเขารู้สึกว่ามันเป็นเงินมหาศาล ทุกวันนี้จ่าย ไม่จ่ายก็เป็นปัญหาอยู่แล้ว คนที่เสียชีวิตที่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากกลุ่มแนวร่วมรัฐจ่ายอยู่แล้ว แต่รายที่คลุมเครือ สรุปไม่ได้ มันจะทำให้คนมีความโกรธแค้น รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติ แบบนี้มันไม่จบง่ายๆ” ปาติเมาะกล่าว

 

ผู้หญิงต้องออกหน้า-ร้องหาสันติภาพ

 

อย่างไรก็ตาม ในมุมสวยงามอันน้อยนิดของความรุนแรงใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ผู้หญิงผู้เป็นเหยื่ออธรรมตระหนักถึงบทบาทและพลังของตนที่จะนำสันติสุข กลับคืน

 

“เหตุการณ์ความรุนแรงตั้งแต่ปี 2547 มันเป็นภาวะกดทับ สะสม ทำให้ผู้หญิงต้องแบกรับทุกอย่าง พอสามีเสียชีวิต ถูกจับ หรือบาดเจ็บ คนที่ไปประสานงานไม่ว่าจะเป็นการขอรับความช่วยเหลือ ขอความเป็นธรรม การติดต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ล้วนแต่เป็นภาระหน้าที่ของผู้หญิงทั้งสิ้น ผู้หญิงคือผู้แบกรับภาระของครอบครัวทั้งหมด”

สิ่งนี้ยิ่งกระตุ้นให้ผู้หญิงต้องลุกขึ้นมาแก้ปัญหา เมื่อผู้ชายไม่กล้ารวมตัวเพราะเกรงว่าจะถูกเพ่งเล็งจากเจ้าหน้าที่รัฐ จากเดิมที่บทบาทของผู้หญิงไม่ถูกยอมรับในชุมชน บางครอบครัวต้องหย่าร้างเพราะฝ่ายชายไม่พอใจที่ภรรยาออกมาทำกิจกรรมเคลื่อน ไหวก็มีให้เห็น แต่ปัจจุบันผู้ชายเริ่มหันมาให้การสนับสนุน ขณะที่ในส่วนของภาครัฐ ปาตีเมาะก็เรียกร้องให้เปิดพื้นที่แก่ผู้หญิงมากขึ้น

 

“ก่อนที่กลไกรัฐจะเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงมีส่วนร่วม คุณต้องเปิดให้ผู้หญิงมีพื้นที่ที่จะทำงานก่อน ไม่ใช่บอกว่าเปิดแล้ว แต่ผู้หญิงไม่ยอมรับเอง ทุกวันนี้ไม่ว่าจะเป็นกรรมการหมู่บ้าน กรรมชุมชน หรือเวลาจัดประชาคม ถ้าคุณไม่ระบุว่าต้องมีสัดส่วนผู้หญิงเข้ามานั่งด้วยเท่าไหร่ มันก็ไม่มีโอกาสที่ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมได้ คุณต้องเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงก่อนถึงจะทำให้ผู้หญิงกล้าลุกขึ้นมามีบทบาท มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ทุกวันนี้ กลไกลของรัฐไม่ได้ตระหนักเรื่องนี้เลย”

ปาตีเมาะเชื่อมั่นเต็มเปี่ยมว่า ผู้หญิงจะเป็นผู้นำในการแก้ปัญหาความรุนแรงได้ในอนาคต เนื่องจากวัฒนธรรมครอบครัวในภาคใต้ที่ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญค่อนข้างสูง

“ผู้หญิงสามารถคุยกับลูก กับสามี กับเพื่อนบ้านได้ ผู้ชายคุยกับลูกไม่ได้นะคะ เพราะชอบชี้นำ ยึดความคิดของตัวเองเป็นหลัก ลูกไม่ได้ถูกเลี้ยงดูด้วยเหตุและผล แล้วเด็กจะต่อต้าน เด็กถูกเลี้ยงดูโดยแม่มาตลอด ลูกกับพ่อมีความห่างเหิน พ่อก็อยู่แต่ร้านน้ำชา โดยบทบาทของคนใน 3จังหวัด ความอบอุ่นและความใกล้ชิดไม่ค่อยมี แต่แม่จะคอยประคับประคองใกล้ชิดลูกตลอดเวลา”

 

ในเดือนพฤษภาคมนี้ จะมีการรวมตัวของผู้หญิงใน 3จังหวัดชายแดนภาคใต้ เดินทางมาทำพิธีละหมาดฮายัจน์ที่รัฐสภา เพื่อเรียกร้องสันติภาพ ปาตีเมาะเชื่อว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวครั้งสำคัญ ที่แสดงให้เห็นพลังของผู้หญิง

 

“ที่ผ่านมามีแต่กลุ่มผู้ชายที่ออกมาเรียกร้อง แต่ครั้งนี้ผู้หญิงจะทิ้งลูก ทิ้งสามีไว้ที่บ้านเพื่อมาขอความเป็นธรรม ขอสันติภาพ อย่างน้อยรัฐบาลต้องฟังเราบ้าง เราเจ็บปวดขนาดไหน ที่ผ่านมาไม่เคยมีใครสนใจอย่างแท้จริง และถ้าพูดตามหลักการอิสลามแล้ว มันก็คือบทบาทหน้าที่หนึ่งของมนุษย์ที่ต้องรับผิดชอบปัญหาสังคม ไม่ใช่แค่รับผิดชอบความเป็นภรรยาและแม่เท่านั้น” ปาตีเมาะกล่าวทิ้งท้าย

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: