จ่อรื้อ 30 บาทคืนร.พ.-รวม 3 กองทุน ‘วิทยา’ติงคิดให้ดี หวั่นพังทั้งระบบ หมอชนบทจวกชาวบ้านทุกข์ซ้ำ แนะตั้งบอร์ดสปสช.ยึดธรรมาภิบาล

เหมือนแพร ศรีสุวรรณ ศูนย์ข่าว TCIJ 7 ก.พ. 2555 | อ่านแล้ว 2343 ครั้ง

 

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดเสวนาในกิจกรรมราชดำเนินเสวนา หัวข้อ “ทางแพร่งระบบหลักประกันสุขภาพ ภายใต้รัฐบาลยิ่งลักษณ์” เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาคือ นายวิทยา บูรณศิริ รมว.สาธารณสุข ประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ อดีตรมว.สาธารณสุข น.พ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท นายนิมิตร์ เทียนอุดม คณะกรรมการบริหารสปสช. (บอร์ด) เข้าร่วมเสวนา

 

บิ๊กสธ.จ่อฟื้น 30 บาทรักษาทุกโรค

 

นายวิทยากล่าวถึงระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่จะมีการย้อนกลับไปใช้นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคว่า กรณีที่หลายคนห่วงเรื่องการเก็บเงินค่ารักษาพยาบาล 30 บาทนั้น เป็นประเด็นที่พัฒนามาไกลแล้ว เรื่องนี้มีข้อมูลอยู่แล้วว่า ใครต้องจ่ายหรือไม่ต้องจ่าย ซึ่งถือว่าไม่ใช่สาระสำคัญ แต่ที่สำคัญคือ การเก็บ 30 บาทแล้วจะเอาไปทำอะไร เช่น ผู้ป่วยฉุกเฉินระบบส่งต่อ เป็นต้น และยอมรับว่าทุกวันนี้ระบบสาธารณสุขประสบปัญหาขาดทุนมาพอสมควร สิ่งที่ได้รับผลกระทบคือ กรอบอัตรากำลังของบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่เพียงพอ ซึ่งจะมีการพูดคุยกับทางคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน  (ก.พ.) ส่วนกรณีที่ระบบไปไม่ได้บริหารขาดทุนนั้นขอแจ้งว่า เพื่อให้ประชาชนจะได้รับการบริการอย่างดี โดยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางในท้องถิ่นชนบท โดยแชร์กลุ่มผู้ป่วยและให้มีการส่งยารักษาโรคในบางโรคทางไปรษณีย์ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดัน  ส่วนสิทธิที่ประชาชนจะได้รับคือ การลดต้นทุนในการเดินทางไปพบแพทย์  ทั้งนี้ประชาชนต้องได้รับการบริการทางสาธารณสุขอย่างเต็มที่

“เรื่องยกเลิกหรือเดินหน้า 30 บาทรักษาทุกโรคหรือไม่นั้น เป็นเรื่องของอนาคตเป็นเรื่องของการบริหาร เก็บ 30 บาทไปแล้วจะทำอย่างไร ผมทราบดีว่าทุกคนเป็นห่วงเรื่องยารักษาโรค ยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นห่วงสุขภาพคนไทย ไม่อยากให้คนไทยกินยาเกินความจำเป็น ขอเน้นว่าเรื่องบัญชียาหลัก หรือหลักประกันสุขภาพในความหมายของรัฐบาล เรามุ่งเน้นป้องกันดูแลตั้งแต่ทารกจนโต ไม่สนับสนุนให้ใช้ยาเกินความจำเป็น ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้กำชับว่า เรื่องนี้ต้องชัดเจน มีมาตรฐานดูแลประชาชนทั้งประเทศต้องมีสิทธิ และได้รับบริการที่มีมาตรฐานที่เดียวกัน” นายวิทยากล่าว

ยันดูแลไม่ให้บอร์ดสปสช.เกิดความขัดแย้ง

 

นายวิทยากล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีหลายฝ่ายกังวลว่า จะถูกคณะกรรมการบริหารสปสช.หลอกใช้ ขอยืนยันว่าตนมีความมั่นใจในคณะทำงานดังกล่าว และพร้อมแก้ไขหากมีปัญหาการทำงานภายใน จะไม่ปล่อยให้เกิดการกดดัน หรือความเปราะบางต่างๆ ในองค์กร ถือเป็นปัญหาที่ตนคำนึงอยู่ตลอด ไม่ถึงขนาดทางตัน หรือทางสามแพร่ง จะขณะนี้คำนึงถึงประเด็นที่ว่า ทำอย่างไรจะให้ประชาชนเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข อย่าคิดเป็นประเด็นข้อขัดแย้ง นอกจากนี้กรณีการแก้ไขพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มาตรา 41 ในวันที่ 6 ก.พ.นั้น จะมีการเสนอต่อรัฐสภา และทางคณะกรรมการบริหารสปสช.จะเป็นผู้พิจารณา

 

‘จุรินทร์’ ชี้รวม 3 กองทุนไม่ช่วยร.พ.พ้นขาดทุน

 

ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฏ์ อดีตรมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน ตั้งข้อสงสัยถึงการยุบรวมกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า, กองทุนข้าราชการ และกองทุนประกันสังคม ให้เหลือเพียงกองทุนเดียวว่า เป็นการส่งสัญญาณจากนายกรัฐมนตรี ในช่วงที่เดินทางไปให้นโยบายกับกระทรวงสาธารณสุข ขณะเดียวกันมองว่า กรณีของคณะกรรมการบริหารสปสช.มีปัญหา แต่ถือเป็นโอกาสดีที่รัฐบาลมีจุดยืนที่ชัดเจนต่อเรื่องนี้ อยากให้รัฐบาลพิจารณาให้รอบคอบ เพราะหากยุบรวมทั้ง 3 กองทุนจะทำให้พังทั้งระบบ จึงอยากให้รัฐบาลทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งนี้มองว่าระบบการรักษาฟรีตามพ.ร.บ.ประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่มีอยู่ถือว่าดีอยู่แล้ว หากกลับไปใช้ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็ถือว่าจะเป็นการถอยหลังลงคลอง ย้อนยุคกลับไปสู่จุดเดิมถือว่ารัฐบาลไม่มีเหตุผลเพียงพอในการดำเนินการ เรื่องนี้

ส่วนประเด็นที่รัฐบาลมองว่า การเปิดโอกาสให้คนรักษาฟรี แล้วจะทำให้ยอดการใช้บริการด้านสาธารณสุขสูงขึ้นนั้น หากพิจารณารายงานประจำปีของสปสช.จะพบว่า มีจำนวนผู้ป่วยที่เข้ามาใช้บริการเพิ่มขึ้นจากเดิม 115 ล้านครั้ง เป็น 120 ล้านครั้ง  ประเด็นนี้จึงไม่ช่วยให้โรงพยาบาล พ้นจากการขาดทุนได้เลย โดยเฉพาะโรงพยาบาลในสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขณะที่รายได้จากส่วนนี้อยู่ที่ปีละประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งไม่ครอบคลุมภาระค่าใช้จ่ายจริงประมาณปีละ 30,000 ล้านบาท ดังนั้นจะเห็นว่านอกจากไม่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายแล้ว ในทางตรงกันข้ามกลับเป็นการสร้างภาระให้กับคนจน จึงอยากให้รัฐบาลกำหนดมาตรฐานกลางในการรักษา รวมไปถึงมาตรฐานกลางในการบริหารจัดการทั้ง 3 กองทุนด้วย

 

วิทยาหนุนควรคิดให้รอบคอบชี้อาจพังทั้งระบบ

 

นายวิทยากล่าวเสริมว่า ตนคิดว่าควรพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ เพราะหากรวมเป็นระบบเดียวกันจะเกิดความเสียหายอย่างมาก และอาจจะพังทั้งหมด ต้องไม่ลืมว่าที่มาของแต่ละกองทุนมีความแตกต่างกัน เช่น กองทุนข้าราชการ การที่รัฐให้สวัสดิการกับข้าราชการมากก็เพราะข้าราชการมีฐานเงินเดือนต่ำมาก เมื่อเทียบกับเอกชน ส่วนกองทุนประกันสังคม เกิดจากการจ่ายเงินสมทบทุนทั้ง 3 ส่วน คือ จากนายจ้างส่วนหนึ่ง จากผู้ประกันตนส่วนหนึ่ง และเงินอุดหนุนจากภาครัฐส่วนหนึ่ง ฉะนั้นสิทธิประโยชน์จะแตกต่างกัน อย่างไรก็ตามผู้ที่ไม่ได้อยู่ใน 2 กองทุนข้างต้นก็สามารถเข้ารับการรักษาได้ฟรีอยู่แล้ว เพียงนำบัตรประจำตัวประชาชนมายื่นเพื่อขอเข้ารับการรักษา นี่คือระบบสวัสดิการที่รัฐจัดให้ ขณะเดียวกันหากจะยุบรวมหรือไม่ ก็ควรจะกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำ

แนะตั้งบอร์ดสปสช.ควรยึดหลักธรรมาภิบาล

 

ทางด้าน น.พ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า ขอบิณฑบาตผู้ที่จะมาเป็นคณะกรรมการบริหารสปสช. (บอร์ด) เพราะการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่ผ่านมา กลไกดังกล่าวเริ่มบิดเบี้ยว หรือมีกลุ่มวิชาชีพที่เคยต่อต้านระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในอดีต เข้ามาดำรงตำแหน่ง จึงไม่อยากให้กรรมการเข้ามาครอบงำความคิด คิดว่าคณะกรรมการที่เข้ามาเป็นตัวแทนในการให้บริการประชาชนจะต้องชี้แนะผล ประโยชน์ให้ประชาชน ไม่ใช่บุคคลที่เข้ามาเพื่อแสวงหาผลประโยชน์หรือกำไร  คิดว่าประเด็นนี้กระทรวงสาธารณสุขควรคำนึงถึงหลักธรรมาภิบาล

 

จวกเก็บ 30 บาทคิดถึงหัวใจชาวบ้านบ้าง

 

น.พ.เกรียงศักดิ์กล่าวต่อถึงแนวคิดการกลับไปใช้ระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคว่า ไม่อยากให้ถอยหลังเข้าคลอง การที่ผู้บริหารสปสช.มีความคิดว่า การจัดเก็บค่าบริการเพื่อลดจำนวนผู้ใช้บริการด้านสาธารณสุขอย่างไม่ยั้งคิด หรือการใช้บริการโรงพยาบาลอย่างไม่บันยะบันยัง ถือว่าเป็นความคิดที่แคบ ไม่เข้าใจรากฐานของประชาชนในการเข้ารับการบริการสุขภาพ เพราะผู้ป่วยไม่ได้มีเพียงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันก็มีค่าใช้จ่าย ค่าเดินทางเพิ่มขึ้นด้วย นอกจากนี้ผู้ป่วยยังขาดรายได้ในวันที่ป่วยด้วย จึงคิดว่าการเก็บค่ารักษาพยาบาล 30 บาท ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการใช้บริการสาธารณสุขได้

“อยากให้รัฐบาลคิดถึงหัวใจชาวบ้านบ้าง รัฐบาลไม่จำเป็นต้องมานั่งเก็บเงิน 30 บาท เพื่อมาทำร้ายชาวบ้านหรอกครับ การเก็บเงิน 30 บาท เป็นการกีดกันคนจน ซึ่งไม่มีผลกับคนรวยหรอก เงินที่เก็บได้ไม่คุ้มเสีย ผู้ที่ออกบัตร 30 บาท ก็คือผู้กุมชะตาชีวิตชาวบ้าน และถือว่าเป็นคนกำหนดว่าชาวบ้านคนนั้นเป็นคนจนหรือคนรวย ถ้าชาวบ้านไม่มีเงินจ่าย โรงพยาบาลก็ต้องไปทะเลาะกับประชาชน ดังนั้นจะขอบิณฑบาตโดยจะทำหนังสือถึงโรงพยาบาลชุมชนทุกแห่ง เรียกร้องไม่ให้เก็บเงินค่ารักษาพยาบาลจากประชาชน” น.พ.เกรียงศักดิ์กล่าว

บอร์ดขวางแนวคิดองค์กรทำให้งานไม่เดิน

 

นายนิมิตร์ เทียนอุดม คณะกรรมการบริหารสปสช. กล่าวว่า ปัจจัยหลักคือการเมืองไม่เคยเข้ามาแทรกแซงกระบวนการแต่งตั้งบอร์ดสปสช.เลย ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด หากเทียบกับรัฐวิสาหกิจอื่นๆ สปสช.นับว่าปลอดจากเรื่องนี้ จึงเป็นกลไกที่ดี แต่ขณะนี้เป็นทางแพร่งหรือทางตันที่เราต้องมาร่วมกันหาทางออก ซึ่งตลอดเวลา 10 ปี ที่หลายประเทศให้ความชื่นชมไทย เพราะเห็นว่ามีความก้าวหน้า และความมีประสิทธิภาพของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เป็นกลไกที่ดีและมีจริยธรรม แต่ปัจจุบันเห็นว่าการแต่งตั้งบอร์ดสปสช. มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนใหม่ คนที่เข้ามาเป็นกลุ่มแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่พยายามปลุกปั่นให้แพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนกลัวความผิดจากการรักษาคนไข้ ส่งผลกระทบให้ที่ผ่านมา มีการส่งต่อผู้ป่วยมาก ซึ่งตนไม่สามารถยอมรับและทำงานร่วมกันได้

“ทางแพร่งที่ผ่านมาคือการไม่แทรกแซง ถ้าคนที่มาบริหารตรงนี้ไม่เท่าทันการเมืองของหมอ แทนที่จะเป็นคนเล่น อาจจะกลายเป็นคนถูกหลอกให้มาชนกับประชาชน ทั้งหมดนี้คือประเด็นที่ทำให้ตลอดระยะเวลา 5-6 เดือนของบอร์ดชุดนี้ไม่ไปไหน เพราะฉะนั้นเรื่องสำคัญคือจะทำอย่างไรที่เราจะตั้งกติกาเพื่อนำไปสู่การเดิน หน้าได้ เราจะกลับไปตั้งต้นกันใหม่เรื่องการตั้งกรรมการที่มีคุณภาพ ถ้าเรากลับไปสู่ตรงนั้นได้ งานคงเดินหน้าได้” คณะกรรมการบริหารสปสช.กล่าว

 

รองเลขาฯสปสช.ชี้สิ่งสำคัญคือการเข้าถึง-เท่าเทียม

 

น.พ.ประทีป ธนกิจเจริญ รองเลขาธิการสปสช.  เปิดเผยกับศูนย์ข่าว TCIJ หลังจากฟังเสวนาว่า ประเด็นหลัก 30 บาทรักษาทุกโรคควรดำเนินการต่อไป ส่วนประเด็นการยุบรวมทั้ง 3 กองทุนถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องพิจารณา และมองว่าหากยุบรวมเหลือเพียงกองทุนเดียวอาจจะก่อให้เกิดปัญหา ขณะเดียวกันการแก้ไขปัญหาที่ดำเนินมาแล้วกว่า 3 ปี ก็ต้องผลักดันต่อ ทางสปสช.ต้องรับลูกต่อ ประเด็นความเท่าเทียมถือว่าสำคัญมาก การแยกเป็นกองทุน 3-4 กองทุนคงไม่สำคัญเท่ากับการทำอย่างไรให้ระบบการบริการสาธารณสุขมีมาตรฐาน โดยคำนึงสิทธิประโยชน์พื้นฐานในการรักษาพยาบาล และระบบการบริการสาธารณสุข ซึ่งทั้ง 2 ระบบจะเท่าเทียมหรือไม่ขึ้นอยู่กับผู้ที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าจะมีเม็ดเงินที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการมีนโยบายเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร ทั้งนี้นอกจากการทำให้สิทธิประโยชน์ใกล้เคียงกันแล้ว ต้องมีโอกาสในการเข้าถึงการให้บริการเหล่านั้นด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: