‘ไข้หวัดนก’กลายพันธุ์แพร่คนสู่คน สหรัฐฯสั่งห้ามเปิดเผยผลวิจัยดัตช์ หวั่นถูกดัดแปลงเป็น‘อาวุธชีวภาพ’

ทีมข่าวศูนย์ข่าว TCIJ 7 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 5089 ครั้ง

 

ใกล้ฤดูหนาวเข้ามาทุกที โรคชนิดหนึ่งที่แพร่ระบาดขึ้นมาเกือบทุกปี นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา คือ “ไข้หวัดนก” เป็นโรคที่ได้ชื่อว่า มีเชื้อที่มีความรุนแรงเป็นลำดับต้น ๆ ของบรรดาโรคระบาด ที่เป็นภัยคุกคามด้านการสาธารณสุขของเกือบทุกประเทศทั่วโลก แม้ว่าจะปัจจุบันจะมีวัคซีนป้องกัน และมียารักษา และมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แต่เรียกได้ว่าเผลอไม่ได้ เชื้อโรคชนิดนี้ก็ระบาดกลับมาอีกจนได้ ปัจจุบันความรุนแรงของการแพร่ระบาด ยังคงแพร่กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบด้านสุขภาพของประชากรโลก นำมาซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม สภาพแวดล้อม ฯลฯ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

 

ตื่นนักวิจัยดัชทช์ เผยผลวิจัยเชื้อไข้หวัดนกกลายพันธุ์

 

 

เชื้อไข้หวัดนก เป็นโรคที่เกิดจากไวรัสไข้หวัดใหญ่ รหัส เอช 5 เอ็น 1 (H 5 N 1) ที่พบในสัตว์ปีก พบในคนครั้งแรกช่วงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ประเทศอิตาลี เรียกกันว่า “ไข้หวัดสเปน” โดยระบาดไปทั่วโลก ทำให้คนเสียชีวิต 50-100 ล้านคนทั่วโลก และยังคงมีการระบาดเป็นรอบ ๆ จนถึงปัจจุบันทั่วโลกยังคงให้ความสำคัญ โดยเฉพาะข้อถกเถียงในแง่การกลายพันธุ์ การติดต่อต่อโรค ว่า หากเกิดการกลายพันธุ์โรคจะทวีความรุนแรง หรือทำให้เกิดการติดต่อได้ง่ายเพียงใด เพราะปัจจุบันแม้ว่าโรคจะรุนแรง แต่การติดต่อของโรคก็ยังมีความสามารถที่จำกัด

 

ล่าสุดทีมนักวิจัย จากอีราสมุส เมดิคอล เซนเตอร์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ ศึกษาเชิงลึกจนค้นพบ และประกาศว่า มีพันธุกรรม 5 ชนิดของไวรัส ที่เกิดการเปลี่ยนแปลง และทำให้เชื้อไวรัสมีความรุนแรงมากขึ้น ทีมวิจัยได้นำพันธุกรรม 5 ชนิดที่เปลี่ยนแปลงนี้ มาเปรียบเทียบกับโครงสร้างพันธุกรรมของไวรัส H5N1 พบว่า โครงสร้างพันธุกรรมมีการเปลี่ยนแปลงแบบเดียวกับพันธุกรรม 5 ชนิด ที่ทีมวิจัยค้นพบ ซึ่งเห็นได้ชัดว่า มีการกลายพันธุ์ไปเป็นเชื้อที่สามารถติดต่อได้ทางอากาศ ซึ่งทีมวิจัยนี้ยังยืนยันหนักแน่นว่า “การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างพันธุกรรมของเชื้อ H5N1 ที่พบนั้น ทำให้เชื้อ H5N1 สามารถแพร่กระจายไปได้ในอากาศ จากการไอ และจาม”

 

 

 

 

สหรัฐฯสกัด-หวั่นกลายเป็นอาวุธชีวภาพ

 

 

สำหรับงานวิจัยซึ่งถือว่ากำลังได้รับความสนใจอย่างมาก ของทีมวิจัยจากเนเธอร์แลนด์ชิ้นนี้ ศึกษาภายใต้สมมติฐานและข้อท้าทายที่ว่า “การกลายพันธุ์จะเกิดขึ้น ต่อเมื่อมีการผสมข้ามสายพันธุ์” เช่น จากสัตว์ปีกสู่คน จึงจะเกิดการกลายพันธุ์ได้ ทำให้มีฐานความคิดที่ว่า “ไข้หวัดนกจะระบาดใหญ่ไม่ได้” หรือ เป็นไปได้ยาก เพราะที่ผ่านมา มีการติดต่อจากคนสู่คนในวงแคบ

 

คณะนักวิจัยซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์จากประเทศเนเธอร์แลนด์ อังกฤษและสหรัฐอเมริกา ร่วมกันให้สัมภาษณ์ ถึงผลงานวิจัยของพวกเขา ที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการของต่างประเทศ เมื่อเดือนมิถุนายน 2555 เรื่อง “การแพร่กระจายเชื้อทางอากาศของเชื้อไวรัสไข้หวัดนก เอช 5 เอ็น1 (H5N1)” ในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่งที่เรียกว่า เฟอร์เรท (Ferret) ซึ่งมีระบบทางเดินหายใจคล้ายมนุษย์ โดยการตัดต่อตำแหน่งของพันธุกรรม ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่สำคัญ และนำไปสู่การติดต่อทางอากาศจากเฟอร์เรทกรงหนึ่ง ไปยังอีกกรงหนึ่งได้ ซึ่งปัจจุบันมีการติดตามเชื้ออย่างต่อเนื่อง

 

ทำให้ทราบว่า มีการเปลี่ยนแปลงในตำแหน่งพันธุกรรม ของเชื้อไวรัสแล้วประมาณ 2 ตำแหน่ง หมายความว่า หากเกิดการกลายพันธุ์ในตัวไวรัสเอง ไม่จำเป็นต้องผสมข้ามสายพันธุ์ ก็สามารถทำให้เชื้อสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ในวงกว้าง

 

อย่างไรก็ตามการออกมาให้ข้อมูลดังกล่าว ทำให้เกิดการถกเถียงกันในวงกว้างว่า งานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นเหมือนดาบสองคมหรือไม่ เพราะด้านหนึ่งอาจทำให้นำไปสู่การใช้ในทางที่ผิด คือ การนำความรู้นี้ไปดัดแปลงทำอาวุธชีวภาพ แต่อีกด้านก็แสดงให้เห็นว่า มนุษย์ไม่สามารถประมาทไวรัสได้ เพราะหากเกิดการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งพันธุกรรม 5 ตำแหน่ง เหมือนงานวิจัย ก็จะทำให้เกิดการระบาดแบบติดต่อจากคนสู่คน กระทั่งล่าสุดองค์กรที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติด้านชีววิทยา สหรัฐอเมริกา (NSABB) ได้ขอให้ทีมวิจัย ปรับแก้งานวิจัยในส่วนการค้นพบการแพร่กระจายทางอากาศของเชื้อ H5N1 เพราะเกรงว่าจะถูกกลุ่มผู้ก่อการร้ายนำไปใช้ เพื่อผลิตเป็นอาวุธชีวภาพ เป็นเหตุให้งานวิจัยชิ้นนี้ไม่สามารถตีพิมพ์เผยแพร่ได้

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

แพทย์ไทยชี้ กลายพันธุ์ คนสู่คน ยาก แต่ก็น่าห่วง

 

 

น.พ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข อธิบายว่า ปัจจุบันยังพบการระบาดไข้หวัดนกในสัตว์เกือบทุกปี ในหลาย ๆ ประเทศ  ไข้หวัดนก หรือไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ปีก มีชื่อภาษาอังกฤษว่า Avian Influenza หรือ Avian Flu โดยไวรัสจะมีสารพันธุกรรม 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ Hemagglutinin (H) และ Neuraminidase (N) ซึ่งสามารถแยกย่อยลงไปได้ H มีกลุ่มย่อย 1-16 และ N มีกลุ่มย่อย 1-9 การเรียกไวรัสจึงแยกตามสารพันธุกรรมที่พบ ใช้รหัสเป็นตัวกำกับ

 

กลุ่มไวรัสที่พบในคน จะเป็นกลุ่ม H 1, H 2, H 3 หากเป็นไวรัสที่พบในสัตว์ คือ H 5, H 7 ในกลุ่มไวรัสทั้งหมด ที่ทำให้เกิดความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มไวรัสที่อยู่ในสัตว์และข้ามมายังคน ดังนั้นเป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วงมาก คือ H 5 และ H 7 โดยเฉพาะ H 5 จะมีความรุนแรงมาก หากเกิดในสัตว์จะทำให้สัตว์ล้มตายจำนวนมาก และหากข้ามมาเกิดในคนจะทำให้เกิดการเจ็บป่วยที่รุนแรง โดยสถานการณ์ล่าสุดพบการระบาดของเชื้อ H 7 N 3 เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ในประเทศเม็กซิโก ทำให้ต้องฆ่าสัตว์ปีกจำนวนมาก แต่ยังไม่พบการติดเชื้อในคน

 

เชื้อไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่จะพบในสัตว์ก่อน เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของสารพันธุกรรมถึงจุดหนึ่ง ก็จะข้ามมาเกิดในคนได้ และหากเกิดการผสมกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ของคน ก็จะเกิดคุณสมบัติในการถ่ายทอดเชื้อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่ง เป็นทอด ๆ ได้ดีขึ้น และหากถึงจุดนั้น นับว่าน่าเป็นห่วงอย่างมาก

 

 

 

                   “กรณี H 5 N 1 ปัจจุบัน ก็ยังถือเป็นไข้หวัดในนก แม้จะทำให้เกิดการเจ็บป่วยในคนไปกว่า 300 คนทั่วโลก แต่เนื่องจากคุณสมบัติในการแพร่เชื้อ จากคนหนึ่งสู่คนหนึ่ง ไปสู่คนอื่น ๆ เป็นไปได้ยาก แม้ว่าจะมีความเป็นไปได้ แต่ยังถือว่าเป็นไปได้ยาก เพราะการถ่ายทอดเชื้อไม่ยั่งยืน ทำให้ยังไม่เรียกว่า เป็นไข้หวัดในคน แต่หากในอนาคตเชื้อ H 5 N 1 ปรับตัวทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้อย่างต่อเนื่อง ก็จะถูกเรียกชื่อใหม่ว่าเป็นไข้หวัดนกในคน เช่น กรณีของการเกิดไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ก็มีจุดเริ่มต้นจากสัตว์ปีก และพบสารพันธุกรรมของหมูผสม และสุดท้ายก็ทำให้เกิดในคน จนทำให้เกิดการแพร่เชื้อจากคนสู่คนอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นไข้หวัดในคน” น.พ.คำนวณกล่าว

 

 

เชื้อกลายพันธุ์ทุกขณะ แต่ยังไม่ถึงจุดแตกหัก

 

 

ไข้หวัดนก H 5 N 1 ยังถือเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต้องให้ความสนใจ แม้จะเกิดมาแล้วเป็นสิบปี แต่ยังไม่สามารถวางใจได้ว่า จะเกิดในสัตว์ปีกเพียงอย่างเดียว น.พ.คำนวณอธิบายว่า เนื่องจากทุกปียังพบคนติดเชื้อในประเทศต่าง ๆ เพียงแต่ยังไม่พบคนป่วยคนที่ 1 แพร่เชื้อให้คนที่ 2 และคนที่ 2 แพร่เชื้อไปยังคนที่ 3 และ 4 ได้อย่างเป็นวงจรต่อเนื่อง ที่ต้องสนใจประเด็นนี้ เพราะเมื่อใดที่การระบาดเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับว่าเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการระบาดใหญ่ขึ้นได้

 

 

                “ทางระบาดอธิบายว่า เชื้อไวรัสเป็นสิ่งที่เกิดการกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา ซึ่งเมื่อเชื้อกลายพันธุ์ถึงจุดหนึ่งก็จะเกิดคุณสมบัติการแพร่เชื้อจากคนสู่คนในวงกว้างได้ โดยปัจจุบันแม้การกลายพันธุ์จะเกิดขึ้นทุกขณะแต่ยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่จุดแตกหัก ที่จะทำให้เกิดการแพร่เชื้อในวงกว้างได้นั่นคือ สิ่งที่นักระบาดทั่วโลกจับตา และปัจจุบันมีการสรุปไว้ว่า คนสามารถรับเชื้อไวรัสจากสัตว์ได้ แต่สิ่งที่ต้องสนใจคือ เชื้อที่ได้รับนั้น สามารถแพร่ต่อจากคนสู่คนในวงกว้างได้หรือไม่

 

ดังนั้น ปัจจุบันองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงใช้คำว่า Non sustainable human to human หรือ การติดเชื้อเพียงแค่จากรุ่นที่ 1 ไปยังรุ่นที่ 2 กับเชื้อ H 5 N 1

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ระบุเชื้อติดต่อจากคนสู่คนยังอยู่ในวงแคบ แต่ต้องเฝ้าระวัง

 

 

“การติดต่อจากคนสู่คน” เกิดขึ้นได้ และพบว่ามีหลายเหตุการณ์ที่ไข้หวัดนก ติดต่อจากคนสู่คน ในกลุ่มครอบครัว โดยมีรายงานในประเทศเวียดนาม อินโดนีเซีย แม้กระทั่งประเทศไทยพบว่า มีการติดต่อจากคนสู่คน โดยส่วนมากจะเป็นคนที่อยู่ในครอบครัวสายตรง และเป็นผู้ที่ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ซึ่งประเทศไทยมี 1 กรณีที่เกิดการติดต่อจากคนสู่คน คือ ครอบครัวชาวกำแพงเพชร ที่ลูกป่วยจากการสัมผัสไก่ และแม่ได้เดินทางไปเฝ้าอย่างใกล้ชิด และกลับมาเสียชีวิตที่ จ.นนทบุรี และยังพบป้าของเด็กป่วยด้วยไข้หวัดนกอีก 1 ราย

 

น.พ.คำนวณอธิบายว่า การติดต่อจากคนสู่คน ไม่สำคัญเท่ากับการติดต่อจากคนสู่คนอย่างต่อเนื่อง โดยนักระบาดจะแยกแยะวิธีการติดต่อ เป็นระยะสัมผัสโดยตรง คือการสัมผัสผู้ป่วยในระยะรัศมี 1 เมตร โดยการติดต่อจากคนสู่คน ที่ผ่านมายังเป็นการติดต่อจากคนสู่คนในระยะสัมผัสโดยตรง คือมีการเข้าไปสัมผัสดูแลผู้ป่วยด้วยความใกล้ชิด อย่างกรณีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยพบว่า ระหว่างที่ลูกป่วยหนัก แม่ได้กอดลูกไว้ตลอดเวลาที่เฝ้าไข้ ทำให้มีโอกาสได้รับเชื้อโดยตรง แต่ยังไม่ใช่ลักษณะของการติดต่อจากคนสู่คนในวงกว้างแต่อย่างใด

 

ดังนั้นงานวิจัยของคณะนักวิจัยจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ร่วมกับอังกฤษและสหรัฐอเมริกา จึงเป็นการแสดงให้เห็นว่า หากไวรัสมีการกลายพันธุ์ด้วยตัวของมันเอง ก็จะทำให้เกิดลักษณะการระบาด ที่ทุกคนจะต้องเป็นกังวลขึ้นได้ จึงไม่ควรละเลยหรืออ่อนกำลังในการเฝ้าระวังโรค

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                     “ในงานวิจัยดังกล่าว นับเป็นการเปลี่ยนความรู้เก่า ที่เชื่อว่าการกลายพันธุ์จะเกิดจากการผสมพันธุ์ของสัตว์กับคนหรือสัตว์ต่างชนิดกัน ทำให้รู้ว่าไม่ต้องรอให้เกิดการผสมพันธุ์กันให้เป็นเชื้อตัวใหม่ ก็เกิดการกลายพันธุ์และการเป็นการระบาดใหม่ครั้งใหญ่ได้ ความรู้ของงานวิจัยครั้งนี้ จึงสำคัญตรงที่ว่า บางคนเบื่อหน่ายกับเรื่องนี้ บางคนฟันธง บางคนบอกว่าไม่มีโอกาสเป็นไปได้ ว่าเชื้อ H 5 N 1 ไม่มีทางเกิดการระบาดใหญ่ได้ เพราะมีการระบาดมาเป็น 10 ปีแล้ว เป็นเรื่องยากมาก งานชิ้นนี้จึงชี้ว่าประมาทไม่ได้ เพราะรู้กันอยู่ว่าพันธุกรรมของไข้หวัดนกเปลี่ยนแปลงแล้ว 2 ตำแหน่ง หากครบ 5 ตำแหน่ง ก็มีความเป็นไปได้เกิดขึ้น” น.พ.คำนวณกล่าว

 

 

ไทยไม่พบหวัดนกต่อเนื่อง 7 ปี

 

 

จากรายงานสถานการณ์การระบาดของไข้หวัดนก ขององค์การอนามัยโลก ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 10 สิงหาคม 2555 มีรายงานผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อไข้หวัดนก 30 ราย เสียชีวิต 19 ราย ในเดือนกรกฎาคม 2555 มีรายงานผู้ป่วยไข้หวัดนก 2 ราย ที่ประเทศอินโดนีเซีย

 

ส่วนประเทศไทย มีผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกในปี  2547-2555 จำนวน 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย แบ่งเป็น ปี 2547 พบผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนก 17 ราย เสียชีวิต 12 ราย จาก จ.สุพรรณบุรี 3 ราย สุโขทัย กาญจนบุรี กำแพงเพชร จังหวัดละ 2 ราย อุตรดิตถ์ ชัยภูมิ ลพบุรี ปทุมธานี ขอนแก่น นครราชสีมา ปราจีนบุรี และเพชรบูรณ์ จังหวัดละ 1 ราย ปี 2548 พบผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนก 5 ราย เสียชีวิต 2 ราย จากจ.กาญจนบุรี 2 ราย นครนายก นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร จังหวัดละ 1 ราย ปี 2549 พบผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนก 3 ราย เสียชีวิตทั้งหมด จากจ.หนองบัวลำภู พิจิตร และ อุทัยธานี

 

ปี 2550 ไม่พบผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย มีผู้ป่วยยืนยันจากประเทศลาวเข้ามารับการรักษาในประเทศไทย 1 ราย และ ปี 2551- 2555 ไม่พบผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย

 

 

กรมควบคุมโรคมั่นใจคุมได้ เพราะคนไทยมีความรู้มากขึ้น

 

 

น.พ.คำนวณกล่าวด้วยว่า การที่ประเทศไทยไม่พบผู้ป่วยติดต่อกันมา 7 ปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดจากสัตว์ปีกสู่คนได้ รวมทั้งควบคุมการแพร่ระบาดในสัตว์ได้ดีเช่นกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประชาชนมีความรู้มากขึ้น เมื่อสัตว์ปีกป่วยตาย ก็มีการแจ้งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตั้งทีมเข้าไปทำลายสัตว์ปีกเร็วขึ้น จากในอดีตที่ใช้เวลาเป็นเดือน เหลือเพียง 1-2 วัน ก็สามารถทำลายสัตว์ป่วยตายได้เรียบร้อย ทำให้โอกาสที่คนจะเข้าไปสัมผัสโรคน้อยลง

 

นอกจากนี้การเฝ้าระวังในคน ยังมีกระบวนการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการตรวจหาเชื้อสามารถ ทำได้ภายใน 24 ชั่วโมง นอกจากจะรักษาได้รวดเร็ว ยังป้องกันการติดต่อไปสู่ผู้อื่นได้ ซึ่งถือว่าจำเป็นต้องทำ เพราะหากปล่อยให้การแพร่เชื้อจากคนหนึ่งไปสู่คนอื่น ๆ ในทุกขณะเชื้อไวรัสจะมีการเปลี่ยนแปลงพัฒนาไปได้เรื่อย ๆ ส่วนการระบาดในประเทศอื่น ๆ ก็ยังพบว่าเริ่มจากการระบาดในสัตว์ปีกก่อนจะเกิดผู้ป่วย

 

 

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: