นักวิชาการใต้อาสาขยาย เวที'จังหวัดจัดการตนเอง'

นูรยา เก็บบุญเกิด โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้ (DSJ) 7 พ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2172 ครั้ง

 

สภาประชาสังคมชายแดนใต้ จัดเวทีนโยบายสาธารณะชายแดนใต้จัดการตนเอง พลังการเมืองภาคประชาชนกำหนดอนาคตชายแดนใต้ โดยกลุ่มเป้าหมายในการจัดเวทีครั้งนี้ คือนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาในพื้นที่ จ.ยะลา

 

นายธนัติ ทองนุ่น ข้าราชการบำนาญ และอาจารย์พิเศษสถาบันราชภัฎยะลา กล่าวว่า การกำหนดรูปแบบการปกครองพิเศษ ต้องตอบสนองกับวีถีชีวิตของคนในพื้นที่ เนื่องจากในพื้นที่แห่งนี้มีศาสนาและวัฒนธรรมที่หลากหลายต่างกับพื้นที่อื่น และต้องดึงพ่อค้า นักธุรกิจ ข้าราชการ และคนทุกกลุ่มเป้าหมายมาเป็นแรงขับเคลื่อนด้วย การตั้งชื่อกิจกรรมการขับเคลื่อนจะต้องคิดให้มาก เพราะจะส่งผลต่อจิตวิทยาในการตัดสินใจเลือก และรับข้อเสนอของภาคประชาสังคม

 

นายธนัติกล่าวว่า การสื่อสารเป็นหัวใจของการพัฒนา ดังนั้นการขับเคลื่อนแนวคิดการจัดการตนเอง จึงต้องมีการสื่อสารที่ดี การให้ความรู้หรือให้การศึกษาเรื่องการจัดการตนเอง แก่ชนชั้นรากหญ้าให้มากขึ้นและกระทำอย่างต่อเนื่อง หลักใหญ่อยู่ที่จะทำอย่างไรให้ประชาชนสามารถจัดการตนเองได้ เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐไม่ได้ทำให้ประชาชนจัดการตนเองได้เลย

 

 

               “หลังจากเกษียณผมเป็นอาจารย์พิเศษ เพราะฉะนั้นหลังจากนี้ผมจะนำประเด็นการปกครองรูปแบบพิเศษนี้ไปบอกต่อนักศึกษา ผ่านครูอาสาสมัครและเครือข่าย กศน.ในพื้นที่ รวมถึงจะนำไปบอกต่อในชมรมผู้สูงอายุ จ.ยะลา ชมรมครู กศน.จ.ยะลา ชมรมมิตรบำรุง ชมรมเพื่อสุขภาพ และสภากาแฟ นอกจากนี้จะนำไปบอกต่อสมาคมศิษย์สถาบันรัชภาค ซึ่งมีศิษย์เก่า 7-8 แสนคน” นายธนัติกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลาคนหนึ่ง กล่าวว่า รูปแบบการกระจายอำนาจในปัจจุบัน มีอยู่แล้ว ซึ่งหากเปลี่ยนแปลงแล้วก็ไม่แน่ใจว่าจะทำให้เกิดผลดีหรือผลเสียกันแน่ การเปลี่ยนแปลงนี้ต้องส่งผลกระทบต่อกลุ่มผลประโยชน์เดิม เช่น สมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) หรือสมาชิกองค์การบริการส่วนท้องถิ่นในส่วนอื่นๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดความขัดแย้งตามมาอีกก็เป็นได้

 

 

                “ผมมองว่าการแก้ปัญหาชายแดนใต้ ให้มองว่าปัญหาอยู่ที่ไหนให้แก้ที่นั่น เช่น หลายคนบอกว่าปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกิดจากความอยุติธรรม ก็ต้องกลับกลับไปเรียกร้องความยุติธรรมกลับคืนมาให้ได้” นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฎยะลากล่าว

 

 

ผู้เข้าร่วมเวทีคนหนึ่งกล่าวว่า การให้ประชาชนมีบทบาทหรือมีส่วนร่วมในทางการเมืองการปกครองด้วย จะเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุด และควรนำบทบัญญัติศาสนาเข้ามาใช้ในการปกครองรูปแบบพิเศษด้วย เช่น การจัดตั้งกองทุนซากาต หรือกองทุนชารีอะฮ์ และหากมีการปกครองรูปแบบพิเศษจริงต้องดูแลให้ครอบคลุมทุกศาสนิกด้วย

 

นายอาซิ อาแวปูเตะ อาจารย์จากวิทยาลัยชุมชน กล่าวในที่ประชุมว่า ปัจจุบันการปกครองท้องถิ่นมีหลายระดับ มีนายกอบจ. นายกอบต. นายกเทศมนตรี ในระดับตำบลมีกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งยิ่งมีมากยิ่งเกิดปัญหาคอร์รัปชั่นมาก การตรวจสอบทำได้ยาก หากการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ มีนายกคนเดียวและมาจากการเลือกตั้งจะตรวจสอบง่ายกว่า อย่างไรก็ตามยังมีข้อกังวลว่า แม้จะมีการปรับโครงสร้างแล้ว แต่อาจจะได้คนหน้าเดิมเข้ามาบริหาร

 

ทั้งนี้นักวิชาการที่เข้าร่วมประชุมต่างอาสาที่จะนำแนวคิดจังหวัดจัดการตนเอง ในกรอบข้อเสนอของสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ไปขยายผลต่อให้กับนักศึกษาและเครือข่ายของตนเอง พร้อมกับเสนอให้มีการศึกษาให้รอบด้านมากขึ้น เช่น มีงานวิจัยที่เกี่ยวเนื่องมากขึ้น การประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารให้ความรู้กับประชาชนมากขึ้น เพื่อให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

 

ด้านนายมันโซร์ สาและ กรรมการสภาประชาสังคมชายแดนใต้ และผู้ประสานงานการประชุมครั้งนี้ กล่าวกับที่ประชุมว่า การจัดเวทีในวันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนจังหวัดจัดการตนเอง ที่จะมีเวทีระดมความคิดเห็น 200 เวที ในพื้นที่ 3 จังหวัด และการขับเคลื่อนแนวทางจังหวัดจัดการตนเอง ไม่ได้มีเพียงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น แต่ขณะนี้มีกว่า 40 จังหวัดที่กำลังขับเคลื่อน โดยแกนนำหลักมี 2 จังหวัด คือ เชียงใหม่มหานคร และปัตตานีมหานคร

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: