แนะสปสช.ลดเผชิญหน้าสธ. สร้างสมดุลหมอ-ผู้รับบริการ ผู้เชี่ยวชาญตปท.ระบุทำให้ทั่วถึง-มาตรฐานเดียว กระจายอำนาจให้มากขึ้น

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 7 ก.พ. 2555 | อ่านแล้ว 2397 ครั้ง

 

จากกรณีกลุ่มต่างๆ ที่เสียผลประโยชน์จากการตั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสปสช. พยายามล้มหลักการสำคัญของสปสช. เพื่อให้กระบวนการทางการแพทย์และบริการ กลับมาอยู่ในมือของกระทรวงสาธารณสุขอีกครั้ง หลังจากต้องผ่องถ่ายออกไป จนปัจจุบันงบประมาณส่วนใหญ่กว่า 1.4 แสนล้านบาท ไปอยู่ในมือของสปสช. เพื่อบริหารจัดการนโยบาย 30 บาท รักษาทุกโรค ให้กับประชาชนกว่า 47 ล้านคน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขดูแลเพียงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเท่านั้น

 

ชี้ต้องสร้างสมดุล-ลดเผชิญหน้าสธ.

 

น.พ.พงษ์พิสุทธิ์ จงอุดมสุข ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวถึงปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างสปสช.กับผู้ให้บริการทั้งของภาครัฐและ เอกชน ซึ่งหน้าที่ที่ สปสช.จำเป็นต้องตระหนัก คือการสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการของประชาชน ผู้มีสิทธิที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กับผู้ให้บริการ

“ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณกับความต้องการของภาคประชาชนที่เพิ่มขึ้น เรื่อยๆ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ที่จะเกิดแรงกดดันผู้ให้บริการ ที่ต้องพยายามใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดการเผชิญหน้า”

อย่างไรก็ตามความพึงพอใจของผู้ให้บริการมีแนวโน้มดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวเพิ่มขึ้น ซึ่งช่วยลดแรงกดดันและการเผชิญหน้าลงโดยปริยาย นอกจากนี้ยังมีข้อเท็จจริงประการหนึ่งก็คือ แม้แรงกดดันจากค่าตอบแทนจะลดลง ก็หาได้ทำให้แรงกดดันจากภาระงานลดลงไม่ เนื่องจากภาพรวมของประเทศไทยมีแพทย์ไม่เพียงพอ ส่งผลให้แพทย์แต่ละคนต้องทำงานหนัก และกระทรวงสาธารณสุขก็ไม่สามารถจัดหาแพทย์ได้เพียงพอกับความต้องการ

“เรื่องนี้เป็นส่วนที่กระทรวงสาธารณสุขต้องดูแลนโยบาย สปสช.ไม่ได้แก้ปัญหาทุกอย่าง แต่ดูแลเพียงบางส่วน เพราะฉะนั้นสปสช.จึงต้องทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ เพื่อแก้ไขปัญหาที่อาจจะอยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของ สปสช.ด้วย” น.พ.พงษ์พิสุทธิ์กล่าว

 

ผู้เชี่ยวชาญตปท.แนะทำให้ทั่วถึง-มาตรฐานเดียว

 

ด้าน ดร.ทิมโมธี แกรนท์ เอแวนส์ หัวหน้าทีมผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศ ที่ศึกษาความสำเร็จและความท้าทายของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทย เสนอแนะว่า ประเทศไทยควรรักษาระบบหลักประกันสุขภาพไว้ และขยายการคุ้มครองให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันจำเป็นต้องลดความเหลื่อมล้ำระหว่างระบบสวัสดิการสุขภาพอื่นๆ โดยการทำให้มีมาตรฐานเดียว อีกทั้งสปสช.จะต้องใส่ใจการกระจายอำนาจให้มากขึ้น แม้ว่าภารกิจบางอย่างจำต้องใช้การบริหารงานแบบรวมศูนย์  แต่ในระดับพื้นที่จะต้องมีความยืดหยุ่นและเปิดพื้นที่ให้ผู้มีส่วนได้เสีย สามารถต่อรองกันได้ ส่วนกระทรวงสาธารณสุขจะช่วยเสริมความสำเร็จได้โดยการกระจายและจัดสรรบุคลากร อย่างเป็นธรรมแก่พื้นที่ต่างๆ

“ระบบหลักประกันสุขภาพฯ จะต้องเพิ่มความโปร่งใสและความรับผิดชอบต่อสังคม และที่สำคัญที่สุดคือต้องป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนของสมาชิกในคณะกรรมการ ทั้งยังควรเพิ่มบทบาทตัวแทนของภาคประชาสังคมและภาคชุมชน และควรแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่มิได้มาจากราชการเพิ่มขึ้นเพื่อให้ การตัดสินใจต่างๆ อิงกับข้อมูลหลักฐานมากขึ้นและป้องกันการแทรกแซงทางการเมือง” ดร.ทิมโมธีกล่าว

 

ผลวิจัยระบุหลักประกันสุขภาพช่วยลดความยากจน

 

นอกจากนี้มีข้อมูลจากงานวิจัยของสุพล ลิมวัฒนานนท์ วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร และภูษิต ประคองสาย จากสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กระทรวงสาธารณสุข รายงานไว้ในวารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปีที่ 5 ฉบับที่ 1 ม.ค.-มี.ค.2554 หัวข้อ “การลดความยากจนจากรายจ่ายด้านสุขภาพ :ผลลัพธ์ของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย” แสดงให้เห็นว่า ตลอด 10 ปีของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพิ่มคุณภาพชีวิตของคนในประเทศอย่างไร และคงเป็นเหตุผลสำคัญที่ก่อเกิดการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ สำหรับผู้มีอันจะกิน โรคภัยไข้เจ็บอาจเป็นสิ่งแปลกปลอมในชีวิตที่ปัดเป่าได้ไม่ยาก แต่สำหรับผู้มีรายได้น้อย การเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงของคนในครอบครัว อาจหมายถึงการล้มละลาย

สถิติในปี 2535 ก่อนการเกิดระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า 10 ปี พบว่า 10 เปอร์เซ็นต์ของครอบครัวที่ยากจนที่สุดของประเทศ ต้องเสียค่าใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาล 8.2 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ ขณะที่ 10 เปอร์เซ็นต์ ของครอบครัวที่ร่ำรวยที่สุด มีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพียง 1.3 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ข้อมูลข้างต้นพบว่า สำหรับคนจนแล้วค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลตกราว 1 ใน 10 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งตามเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO)และองค์ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ถือว่าเป็นเกณฑ์รายจ่ายที่สาหัส ถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัว โดยในปี 2543 คนไทยกว่า 9 แสนครอบครัวจาก 16 ล้านครอบครัวทั่วประเทศ ต้องเผชิญกับสภาวะเช่นนี้ อีกทั้งกว่า 2 แสนครอบครัว ที่เคยมีความเป็นอยู่เหนือเส้นความยากจน กลับตกอยู่ใต้เส้นความยากจน เมื่อต้องสู้รบปรบมือกับโรคภัยไข้เจ็บ โดยความยากจนจากรายจ่ายด้านสุขภาพนี้ พบมากถึง 86 เปอร์เซ็นต์ ในเขตชนบท และ 45 เปอร์เซ็นต์ เป็นครัวเรือนที่อยู่ในภาคอีสาน

กระทั่งปี 25456 เมื่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดขึ้นครอบคลุมทั้ง 76 จังหวัด พบว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของครอบครัวคนไทย เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายด้านอื่นมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ครอบครัวที่ต้องอยู่ใต้เส้นความยากจน เพราะค่าใช้ด้านสุขภาพ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปี 2551 ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถช่วยเหลือครอบครัวประมาณ 80,000 ครอบครัว ไม่ต้องยากจนลงด้วยค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ทั้งการเพิ่มสิทธิบริการต่างๆ อย่างต่อเนื่องยังช่วยให้จำนวนครอบครัวที่ยากจนจากค่ารักษาพยาบาล ลดลงเร็วกว่าการปล่อยให้เป็นไปตามแนวโน้มในอดีต เมื่อเปรียบเทียบกับ 11 ประเทศในทวีปเอเชีย ประเทศไทยจึงมีสัดส่วนความยากจนที่เกิดจากรายจ่ายด้านสุขภาพค่อนข้างต่ำ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: