เครือข่ายผู้หญิงฯ จี้ถามเงินตั้งกองทุนพัฒนาสตรี หลัง ‘ยิ่งลักษณ์’ รับปากดูแลเอง หลายกลุ่มหวั่นไม่มีส่วนร่วม-เหลวเหมือนกองทุนหมู่บ้าน

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 7 ก.พ. 2555 | อ่านแล้ว 2897 ครั้ง

 

ทวงถามเงินกองทุนพัฒนาสตรี

 

หลังจากรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บริหารประเทศมากว่า 5เดือนมีกลุ่ม องค์กร ฯลฯ ภาคประชาชนมากมายที่ย้อนกลับมาทวงถามถึงคำมั่นสัญญาต่างๆ ที่พรรคเพื่อไทยเคยให้ไว้เมื่อครั้งหาเสียงเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3กรกฎาคม 2554ว่า หากได้เข้ามาบริหารประเทศแล้ว จะดำเนินการต่างๆมากมาย

หนึ่งในกลุ่มต่างๆ นั่นคือ เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย ที่เปิดเวทีทวงถามความคืบหน้าของ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่ พรรคเพื่อไทยกำหนดเป็นนโยบายให้จังหวัดละ 100 ล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้หญิงไทยได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิต เพราะทุกวันนี้จากสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2553พบว่า  ประเทศไทยมีประชากร  65.9 ล้านคน เป็นผู้หญิง 33.6 ล้านคน ผู้ชาย 32.3 ล้านคน มีผู้หญิงประมาณ   21 ล้านคนอยู่ในภาคชนบท ที่เหลืออยู่ในเขตเทศบาล ชุมชนเมือง จากผู้หญิงที่อยู่ในภาคชนบททั้งหมดเป็นแรงงานที่มีงานทำเพียง 16 ล้านคน และเป็นหญิงที่มีรายได้น้อยถึงเกือบ 6 ล้านคน โดยในกลุ่มที่ยังมีรายได้น้อยนี้ เกือบ 4 ล้านคน ที่รับจ้างทำงานอิสระ และสมควรได้รับการส่งเสริมบทบาทและพัฒนาคุณภาพชีวิต ขณะที่ผู้หญิงเป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ผู้หญิงไทยจำนวนมากยังยากจน และต้องแบกรับภาระในครัวเรือน ถูกเลือกปฏิบัติในการได้รับโอกาสพัฒนาศักยภาพในทุกด้าน

‘ยิ่งลักษณ์’เคยรับปากจะดูแลกองทุนเอง

 

ที่ผ่านมากลุ่ม องค์กร ที่ทำงานด้านผู้หญิงได้พยายามต่อสู้เพี่อก่อตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีมาโดย ตลอด  กระทั่งรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับหลักการและกำหนดเป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล  อย่างไรก็ตาม 5เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนต่อการก่อตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี มีเพียงข่าวทางสื่อมวลชนว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะขอดูแลกองทุนสตรีดังกล่าวด้วยตนเอง และให้หน่วยงานภาครัฐ อาทิ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่กำกับดูแล

 

ร่างกฎหมายกองทุนทั้ง 2ฉบับยังไม่คืบหน้า

 

ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล  ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย  กล่าวถึงการเกิดขึ้นของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีว่า เป็นนโยบายที่สภาสตรีแห่งชาติ เสนอให้พรรคการเมืองต่างๆ ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพรรคเพื่อไทยนำนโยบายนี้ไปเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียงของพรรค โดยระบุว่าจะจัดสรรกองทุนนี้จังหวัดละประมาณ 100 ล้านบาท  เพื่อตั้งกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีดังกล่าว หลังจากพรรคเพื่อไทยได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแล้ว นโยบายดังกล่าวได้ถูกบรรจุไว้เป็นหนึ่งในนโยบายของรัฐบาล เรื่องการสนับสนุนบทบาทของสตรีไทยในการมีส่วนร่วม และนโยบายความมั่นคงของชีวิต โดยจะสนับสนุนบทบาทของสตรีไทยในการมีส่วนร่วมพัฒนาประเทศอย่างเสมอภาค ด้วยการดึงศักยภาพผู้หญิงในด้านต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง  มีการปรับปรุงกฎหมายที่คุ้มครองสตรีที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัว

 

ที่สำคัญคือเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย เสนอจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาบทบาทสตรีไทย ในร่างกฎหมาย 2 ฉบับคือ  ร่างพ.ร.บ.กองทุนส่งเสริมการพัฒนาบทบาทและคุณภาพชีวิตสตรีแห่งชาติ พ.ศ..... และ ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมโอกาสและความเสมอภาคระหว่างเพศ (ฉบับประชาชน) พ.ศ.... เนื่องจากเกรงว่า หากร่าง พ.ร.บ.ฉบับใดฉบับหนึ่งไม่ผ่านการพิจารณา กองทุนนี้ก็จะยังคงอยู่ในกฎหมายอีกฉบับหนึ่งต่อไป แต่ดูเหมือนว่าร่าง พ.ร.บ.กองทุนส่งเสริมการพัฒนาบทบาทและคุณภาพชีวิตสตรีแห่งชาติ พ.ศ..... จะมีความคืบหน้ามากกว่า โดยคณะอนุกรรมาธิการด้านสตรี ในคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคมและกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส วุฒิสภา และสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีการยกร่างกฎหมายดังกล่าว โดยมีการรับฟังความเห็นจากเครือข่ายองค์กรสตรีไปแล้ว 2 ครั้ง แต่ยังไม่มีความคืบหน้าจากคณะผู้ยกร่างฯ ว่า ขณะนี้ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนใด และจะนำเข้าสู่สภาเพื่อพิจารณาออกเป็นกฎหมายใช้บังคับได้เมื่อใด

เตือนอย่าให้เหลวแบบ ‘กองทุนหมู่บ้าน’

                    

ดร.สุธาดากล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามแม้ว่าความคืบหน้าของกองทุนบทบาทสตรีจะยังไม่มีความคืบหน้า แต่เครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทยมองว่า นโยบายกองทุนพัฒนาสตรี ไม่ควรเป็นเพียงนโยบายประชานิยม เพื่อหาคะแนนเสียงก่อนการเลือกตั้งหรือเป็นการตอบแทนคะแนนเสียงที่ได้รับมา เท่านั้น แต่รัฐบาลควรมีความจริงใจกับการตั้งกองทุนนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้หญิงไทยอย่างแท้จริง

เครือข่ายพลิกโฉมประเทศไทย จึงขอเสนอต่อรัฐบาลว่า กองทุนฯนี้ควรจะเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งเสริมโอกาส และบทบาทของผู้หญิงเพื่อความเสมอภาคและความเป็นธรรม ส่วนการบริหารจัดการกองทุนฯ ควรจะบริหารโดยตั้งคณะกรรมการที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วน เช่น เครือข่ายองค์กรภาคประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นักวิชาการ สื่อมวลชน และองค์กรภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบทบาทของผู้หญิง โดยคณะกรรมการจะมีหลายระดับ ตั้งแต่ ระดับชุมชน ตำบล อำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ  และการบริหารต้องอยู่บนหลักการกระจายอำนาจ โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยใช้กลไกคณะกรรมการเครือข่ายจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คอยกำกับดูแล

 

                 “กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจะต้องไม่ซ้ำรอยกองทุนหมู่บ้าน ที่ไม่ได้ทำให้หมู่บ้านพัฒนาขึ้น ตรงกันข้ามประชาชนในหมู่บ้านกลับเป็นหนี้เพิ่มขึ้น และยังสร้างความแตกแยกในชุมชนด้วย” ดร.สุธาดากล่าว

 

เน้นปลอดการเมือง-ตั้งกก.ตรวจสอบการใช้เงิน

 

นอกจากนี้ในเวทีสาธารณะ “เสียงของผู้หญิงต่อกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี” มีตัวแทนผู้หญิงจากกลุ่มต่างๆทั่วประเทศ มาร่วมเสนอความคิดเห็นจำนวนมาก ซึ่งตัวแทนผู้หญิงส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ต้องปราศจากการแทรกแซงจากรัฐบาล  รัฐบาลควรจะจัดสรรเงินกองทุนลงสู่ชุมชน  และให้กลุ่มผู้หญิงในชุมชนได้บริหารจัดการเอง ภายใต้เงื่อนไข กติกา ที่ทุกคนสามารถยอมรับและเข้าถึงเงินกองทุนได้ และต้องมีกลไกติดตามการใช้เงิน และระบบตรวจสอบ เพื่อกองทุนนี้จะถูกใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิงอย่างแท้จริง

 

ผู้หญิงหลากหลายขอร่วมดูแลกองทุนเอง

 

อย่างไรก็ตามนอกจากตัวแทนกลุ่มผู้หญิงทั่วประเทศจะเสนอความคิดเห็นแล้ว ยังเสนอตัวเพื่อขอมีส่วนร่วมดูแลกองทุนเองด้วย อาทิ หน่อแอริ ผู้แทนจากเครือข่ายผู้หญิงชาติพันธุ์ภาคเหนือ ในฐานะของชนกลุ่มน้อย เรียกร้องสิทธิให้ตัวแทนกลุ่มผู้หญิง 10ชนเผ่า มีโอกาสเข้าไปนั่งบริหารกองทุนฯ เพื่อผู้หญิงชนเผ่าจะไม่ถูกมองข้าม และสามารถเข้าถึงกองทุนนี้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต เช่นเดียวกับเครือข่ายผู้หญิงพิการ ที่ขอให้ตัวแทนจากผู้หญิงพิการได้เข้าไปมีส่วนร่วมบริหารกองทุนด้วย

ขณะที่องค์กรเครือข่ายผู้หญิงจากภาคต่างๆ เช่น เครือข่ายผู้หญิงยุติความรุนแรงภาคใต้ ชมรมผู้หญิงไทยจังหวัดสุรินทร์ เสนอให้กองทุนนี้พัฒนายกระดับให้ผู้หญิงเข้มแข็ง พึ่งพิงตัวเอง และยั่งยืน และที่สำคัญต้องเป็นเครื่องมือให้เกิดความเปลี่ยนแปลง

ด้าน จันทวิภา อภิสุข ผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์  เอ็นจีโอที่ทำงานกับผู้หญิงขายบริการ กล่าวว่า กองทุนนี้ต้องไม่มีกฎเกณฑ์ในการเข้าถึงยากนัก โดยเฉพาะกับกลุ่มผู้หญิงขายบริการที่อาจจะแตกต่างไปจากผู้หญิงธรรมดา อยากจะให้ผู้หญิงเหล่านี้ได้มีส่วนร่วมกับกองทุนเพื่อพัฒนาอาชีพ เลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต

นอกจากปัญหาปากท้อง ความเหลื่อมล้ำและการถูกลืมจากสังคมของผู้หญิงแล้ว ปัญหาความรุนแรงที่ผู้หญิงได้รับยังไม่เลือนหายไปจากสังคม และนับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นนั้น

อุบล ร่มโพธิ์ทอง ผู้แทนจากมูลนิธิผู้หญิง กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาความรุนแรงในผู้หญิงยังมีอยู่ และมีโอกาสเกิดขึ้นได้กับผู้หญิงทุกกลุ่ม ซึ่งตัวเลขข้อมูลของผู้หญิงที่ได้รับความรุนแรงยังมีอยู่ จึงเสนอให้กองทุนนี้สนับสนุนให้องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านยุติความรุนแรง ในผู้หญิง เพื่อไม่ให้ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อความรุนแรงอีก

ขณะที่ผู้แทนจากกลุ่มผู้หญิงทำงานบ้าน ขอมีส่วนร่วมในกองทุนนี้ เพื่อรับความรู้ด้านกฎหมาย เนื่องจากกลุ่มผู้หญิงทำงานบ้านมักจะถูกรังแก ข่มเหงจากนายจ้าง บางครั้งถูกข่มขืน แต่ไม่กล้าแจ้งตำรวจเพราะไม่รู้กฎหมาย

นักวิชาการแนะใช้เงินหวยตั้งกองทุนช่วยสาธารณะ

 

นอกจากนี้ในเวทีดังกล่าว ดร.ธีรารัตน์  พันทวี วงศ์ธนะเอก นักวิชาการที่ทำงานวิจัยด้านการจัดการรายได้จากการพนันในต่างประเทศ มูลนิธิสดศรี– สฤษดิ์วงศ์ ได้นำเสนองานวิจัย ว่า ในต่างประเทศ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น มีการนำเงินจากการพนันมาใช้เพื่อกิจการสาธารณะประโยชน์ ซึ่งเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องใหม่ของประเทศไทย และยังไม่เคยมีการพูดถึงซึ่งตนเห็นด้วยหากรัฐบาลจะนำเงินจากกองสลากกินแบ่ง รัฐบาล มาจัดสรรเพื่อสาธารณประโยชน์ ซึ่งถือว่ากิจการของกองสลากฯนั้น เป็นกิจการที่หารายได้ถึงปีละหลายหมื่นล้านบาท  ซึ่งเป็นรายได้จากการพนันที่ถูกกฎหมายที่เกิดจากความเต็มใจที่จะจ่ายของผู้ ซื้อ เมื่อกองสลากฯสนับสนุนให้เกิดการพนัน ซึ่งถือเป็นอบายมุขที่ก่อให้เกิดปัญหาสังคมมากมาย แม้จะไม่ส่งผลโดยตรงรุนแรงเหมือนการพนันประเภทอื่นๆ ก็ตาม  ก็ควรจัดสรรเงินในสัดส่วนที่เหมาะสมมาเพื่อชดเชยคืนให้กับสังคมด้วย

และแม้ข้อมูลจากกองสลากฯ จะระบุว่า มีการจัดสรรให้กับกิจกรรมเพื่อสังคมร้อยละ 3ของรายได้ของกองสลากฯ ซึ่งปีหนึ่งๆ กองสลากจะใช้เงินเพื่อกิจการสาธารณประโยชน์กว่า 100ล้านบาท แต่ยังหาคำตอบที่ชัดเจนไม่ได้ว่าทำไมกองสลากต้องปันเงินเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น ทั้งที่สามารถจัดสรรให้ได้มากกว่านั้นได้และสัดส่วนดังกล่าวได้นำไปจัดสรร ให้ใครบ้าง ใช้หลักเกณฑ์อย่างไร และเพื่อสาธารณประโยชน์จริงหรือไม่ขณะเดียวกันกลุ่มผู้ด้อยโอกาสต่างๆ ในสังคม ยังขาดแคลนงบประมาณที่จะเข้าไปเยียวยา ช่วยเหลือ จึงควรกำหนดการจัดสรรรายได้จากกองสลากฯ เพื่อสังคมให้ชัดเจน เพียงพอ เหมาะสม หลากหลาย ทั่วถึง และตรวจสอบได้ เหมือนกับบางประเทศที่จะนำเงินจากการพนันที่ถูกกฎหมาย มารณรงค์เพื่อให้คนเลิกเล่นการพนัน หรือนำไปช่วยในสาธารณประโยชน์อย่างอื่นในประเทศ โดยให้ประชาชนช่วยกันออกเสียง

อย่างไรก็ตามขณะที่ความคาดหวังและข้อเสนอท้วมท้นจากกลุ่มผู้หญิงทั่ว ประเทศ  แต่ในความเป็นจริงยังไม่มีเสียงตอบรับจากรัฐบาลในเรื่องนี้ ถึงแม้จะเป็นนโยบายหนึ่งในการหาเสียงเมื่อครั้งเลือกตั้งที่ผ่านมาก็ตาม และจำนวนเงินที่มากถึงจังหวัดละ 100 ล้านบาท แต่รัฐบาลจะกล้าอนุมัติงบประมาณ เพื่อกองทุนนี้หรือไม่ซึ่งต้องรอดูกันต่อไป

 

ขอบคุณภาพจาก Google

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: