แนะ‘มาบตาพุด’เปิดเวทีสื่อสารความเสี่ยง ดึงโรงงาน-ชาวบ้าน-นักวิชาการเปิดข้อมูล เดินหน้าลดขัดแย้ง-แก้ปัญหาสวล.-สังคม ผู้เชี่ยวชาญญี่ปุ่นชี้ต้องเริ่มจัดผังเมืองใหม่

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 7 มี.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3567 ครั้ง

 

ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ปัญหามลพิษที่เกิดจากการพัฒนาอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงมาโดยตลอด ในประเด็นที่แตกต่างกันออกไป รวมไปถึงงานวิจัยต่างๆ ด้วย แต่ดูเหมือนว่าปัญหาที่มีอยู่ไม่ได้ลดลง ในทางกลับกันกลับเพิ่มมากขึ้น

 

ข้อมูลล่าสุดจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ซึ่งเริ่มดำเนินโครงการศึกษาและเฝ้าระวังผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ที่อาจเกี่ยวเนื่องกับมลพิษอุตสาหกรรมพบว่า ประชาชนในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงกำลังประสบกับปัญหาน้ำบ่อตื้น ซึ่งเป็นแหล่งน้ำใช้สอยของชาวบ้านมีค่าโลหะหนักสูงเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะสารหนู สารตะกั่ว และปรอท ในขณะที่ผลจากการตรวจสุขภาพในปีงบประมาณ 2554 ของสาธารณสุขจังหวัดระยอง พบชาวบ้านที่มีอาการป่วยและมีการสะสมของโลหะหนักในร่างกาย ที่คล้ายคลึงและแตกต่างกัน

 

ข้อมูลที่ตรวจพบแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงเบื้องต้น ระหว่างมลพิษอุตสาหกรรม และการเจ็บป่วยของประชาชนในพื้นที่ อย่างไรก็ตามยังไม่มีการยืนยันชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ในพื้นที่หรือผู้ประกอบการเอง ถึงการเชื่อมโยงนี้

 

ดังนั้นหน่วยงานที่ทำงานในพื้นที่มาบตาพุด ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) โดยสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ มูลนิธิบูรณะนิเวศ โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยความร่วมมือจากศูนย์วิจัยเปิดเพื่อการศึกษาโรคมินามะตะ มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง ประเทศญี่ปุ่น ทดลองใช้เวทีการสื่อสารความเสี่ยงขึ้น เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาและแสวงหาทางออกในเรื่องนี้ ภายใต้ชื่อ “เวทีการสื่อสารความเสี่ยงเพื่อสุขภาพคนมาบตาพุด”

 

 

นักวิชาการญี่ปุ่นลุยมาบตาพุดดูมลพิษ

 

ดร.ทาคาชิ มิยะคิตะ อาจารย์ด้านสังคมและสวัสดิการ คณะสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยคุมาโมโตกักกุเอ็ง ประเทศญี่ปุ่น ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาโรคมินามาตะ ทำงานเรื่องโรคมินามาตะมาเป็นเวลานาน เคยเดินทางมาประเทศไทยหลายครั้ง และลงพื้นที่มายตาพุดเพื่อศึกษาและเก็บข้อมูล รวมทั้งพูดคุยกับชาวบ้านในชุมชน ที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับมาบตาพุดมาโดยตลอด ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ถึงประสบการณ์ในการทำงานเกี่ยวกับมลพิษที่มินามาตะ และแนวทางในการแก้ปัญหา ซึ่งทางออกหนึ่งที่เป็นบทเรียนจากมินามาตะคือ การสื่อสารความเสี่ยงว่า ระหว่างพื้นที่มาบตาพุดและมินามาตะ มีทั้งสิ่งที่เหมือนกันและแตกต่างกัน สิ่งที่เหมือนกันของทั้งสองพื้นที่คือ สภาพแวดล้อมที่เป็นหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ มีประชาชนประมาณ 8,000 คน อยู่ริมทะเล แต่อาจจะมีแตกต่างกันที่สภาพสังคม และผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่นอาการของผู้ป่วย

 

ดร.มิยะคิตะกล่าวว่า ส่วนที่แตกต่างกันคือ ต้นตอของปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งมินามาตะได้รับสารพิษคือ สารปรอทมาจากโรงงานเดียวคือ โรงงานชิสโสะ ในขณะที่มลพิษที่มาบตาพุดเกิดจากโรงงานกว่า 200 แห่ง เป็นนิคมอุตสาหกรรม ส่วนที่สองประเทศเหมือนกันคือ ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นมาจากนโยบายของรัฐบาลเหมือนกัน

 

สำหรับบริษัทชิสโสะ ซึ่งเป็นโรงงานที่ปล่อยสารปรอทและทำให้เกิดปัญหา เป็นโรงงานเคมีแห่งเดียวในมินามาตะ ระยะแรกผลิตปุ๋ย ต่อมาขยายกิจการตามแผนพัฒนาอุตสาหกรรมเคมีของประเทศญี่ปุ่น ของเสียจากโรงงานถูกปล่อยลงอ่าวมินามะตะ ผ่านระบบกำจัดน้ำเสียของโรงงาน มลภาวะเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้เกิดโรคมินามาตะจากสารปรอทที่โรงงานปล่อยทิ้ง

 

ชี้แรงงานแฝงสร้างปัญหาสังคม-สิ่งแวดล้อม

 

ดร.มิยะคิตะกล่าวว่า ปัญหามลพิษที่เกิดในมาบตาพุดซับซ้อน และหาสาเหตุได้ยากกว่าที่มินามาตะ เนื่องจากโรคมินามาตะกลไกที่เกิดขึ้นไม่ซับซ้อน มาจากโรงงานปล่อยน้ำเสียที่มีสารปรอท ชาวบ้านกินปลาจากลำน้ำที่มีสารปรอททำให้เกิดโรค ซึ่งเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นที่เกิดเรื่องนี้

 

ในขณะที่มาบตาพุดเป็นมลพิษทั้งทางอากาศและน้ำเสีย ซึ่งสารพิษที่ลงสู่ลำน้ำและทำให้น้ำเสียนั้น มีที่มาจากหลายโรงงาน ส่งให้เกิดผลกระทบในวงกว้างไปถึงน้ำบาดาลที่ชาวบ้านใช้ และประเด็นที่สำคัญที่เกิดขึ้นในมาบตาพุด และเป็นปัญหาใหญ่คือ แรงงานแฝงในพื้นที่ ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาสำคัญ

 

จากเดิมที่เคยลงพื้นที่มาบตาพุดมีประชากรประมาณ 8,000 คน แต่ปัจจุบันมีมากถึง 200,000 คน  ซึ่งเป็นคนที่ย้ายมาจากที่อื่น และแรงงานเหล่านี้ทำให้เกิดปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม  ซึ่งปัญหานี้ไม่พบที่มินามาตะ ซึ่งในมินามาตะ แม้ว่าพนักงานจะเพิ่มจาก 10,000 คน เป็น 50,000 คน แต่คนงานจะเป็นคนในพื้นที่ทั้งหมด ไม่ได้ย้ายมาจากที่อื่น ในขณะที่มาบตาพุดเป็นคนมาจากที่อื่น

 

กว่าญี่ปุ่นจะยอมรับ ‘มินามาตะ’ ใช้เวลาถึง 50 ปี

 

นักวิชาการจากประเทศญี่ปุ่นกล่าวต่อว่า สิ่งที่ชาวบ้านมาบตาพุดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องทำใจในการต่อสู้เรื่องนี้คือ การใช้ระยะเวลาในการแก้ไขปัญหา เพราะโรงงานในมินามาตะเกิดปัญหาขึ้นเมื่อ ค.ศ.1908  แต่ครั้งแรกที่ชาวบ้านไปพบแพทย์ เนื่องจากป่วยเป็นโรคที่หาสาเหตุไม่ได้ เมื่อปี 1956 ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากโรงงานเปิดดำเนินการเกือบ 50 ปี  และในปี 1968 รัฐบาลญี่ปุ่นจึงจะยอมรับว่า โรคที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากสารปรอทที่ปล่อยจากโรงงานชิสโสะ ซึ่งใช้เวลา 12 ปี

 

และในระหว่างที่แพทย์หาสาเหตุของโรคอยู่ โรงงานก็ไม่ได้ถูกสั่งปิดดำเนินการ และยังปล่อยน้ำเสียลงในลำน้ำต่อไป ซึ่งหมอที่รักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลรู้ปัญหาที่เกิดขึ้น แต่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลออกมา และในปัจจุบันยังมีความขัดแย้งระหว่างชาวบ้านกับรัฐบาลอยู่ ซึ่งเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ศาลที่ญี่ปุ่นเพิ่งตัดสินว่า ผู้ป่วยเป็นโรคมินามาตะ ใช้เวลาประมาณ 20 ปี และรัฐบาลต้องจ่ายเงินชดใช้ มาบตาพุดนั้นมีส่วนที่คล้ายกับมินามะตะ คือมาบตาพุดเพิ่งได้กำหนดให้เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม หลังจากที่ปัญหาเกิดมาเป็นสิบปี

 

แนะปรับผังเมืองโรงงานอยู่ร่วมกับชุมชน

 

จากประสบการณ์การทำงานในพื้นที่มินามาตะมาตลอด 30 ปี ดร.มิยะคิตะระบุว่า โรคต่างๆ ที่เกิดจากมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดยังไม่ร้ายแรงมากนัก ดังนั้นชุมชนมาบตาพุดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการป้องกันไม่ให้ปัญหา คือโรคต่างๆ ลุกลามและร้ายแรงไปมากกว่านี้ อย่างไรก็ตามตนในฐานะคนนอกพื้นที่ อาจจะไม่รู้ดีเท่ากับคนในพื้นที่ ว่ามีคนป่วยมากหรือน้อย ซึ่งคนป่วยควรจะรีบรักษาแต่ต้น

 

นักวิชาการจากญี่ปุ่นได้ย้อนกลับไปเล่าให้ฟังถึงสัญญาณจากพื้นที่มินามาตะ ที่ส่อว่ามีอันตรายเกิดขึ้นคือ มีปลาตายลอยขึ้นมาเหนือผิวน้ำ นกที่มากินปลาก็ตายไปด้วย ซึ่งหากแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นคงไม่ทำให้ประชาชนป่วยมากเหมือนในปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ตามดร.มิยะคิตะกล่าวถึงสิ่งที่ควรคำนึงถึงในการแก้ปัญหาคือ ในพื้นที่มาบตาพุดยังมีคนในพื้นที่ที่ทำงานอยู่ในโรงงาน ซึ่งได้รับประโยชน์จากโรงงาน ดังนั้นการแก้ปัญหาคือ จะทำอย่างไรให้ประชาชนในพื้นที่และโรงงานอยู่ด้วยกันได้อย่างสงบสุข แต่ต้องคำนึงถึงชีวิตของชาวบ้านด้วย

 

เมื่อถามถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา หลังจากลงไปศึกษาในพื้นที่ ดร.มิยะคิตะเสนอว่า ต้องศึกษาเรื่องของผังเมืองให้ดีคือ ควรแบ่งสัดส่วนให้ชัดเจนระหว่างชุมชนและโรงงาน และมีพื้นที่กันชนตรงกลางด้วย ซึ่งที่เห็นนี้ยังมีพื้นที่ที่ทับซ้อนกันอยู่ ไม่มีการแยกชัดเจนระหว่างโรงงานและชุมชน บางพื้นที่แทบจะอยู่ด้วยกันเลย อันตรายมาก และเรื่องผังเมืองน่าจะเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายปกครอง ซึ่งเอกสารของสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติมีการพูดถึงเรื่องผังเมืองอยู่ด้วย

 

 

จัดเวทีเปิดข้อมูล-พูดความจริง-เดินหน้าแก้ปัญหา

ดร.มิยะคิตะกล่าวว่า จากการพูดคุยกับชาวบ้านในมาบตาพุดพบว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากโรงงาน ซึ่งเวทีการสื่อสารความเสี่ยงจะมีประโยชน์กับชาวบ้าน โดยแต่ละฝ่ายจะนำข้อมูลที่ตนเองมีมาบอกเล่ากันในเวทีเพื่อช่วยกันแก้ปัญหา

 

“ที่มินามะตะ ชาวบ้านในพื้นที่ไม่เคยรู้ว่าพื้นที่ตนเองเป็นอย่างไร ปล่อยให้เป็นหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้เกิดปัญหาขึ้น ดังนั้นสิ่งสำคัญคือ ชุมชนต้องรู้จักพื้นที่ตนเอง คนในพื้นที่ควรรับรู้เรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตนเอง รวมทั้งหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือรัฐบาลซึ่งมีบทบาทสำคัญ และโรงงานควรนำข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาแบ่งปันกัน ให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับรู้ ที่มินามะตะในตอนแรกที่เกิดปัญหา ผู้ป่วยไม่รู้สาเหตุ ชุมชนไม่กล้าพูด เพราะไม่แน่ใจว่าโรคที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากโรงงานจริงหรือไม่ ต่อมาแม้ชาวบ้านจะรู้ว่าโรคที่เกิดขึ้นมาจากสารปรอทจากโรงงาน แต่ยังไม่กล้าพูดเพราะกลัวตกงาน ซึ่งปัญหาที่มินามะตะ ไม่ต่างจากมาบตาพุดที่ประเทศไทย ตรงที่ว่าโรงงานไม่เปิดเผยข้อมูลเรื่องผู้ป่วยหรือสารพิษกับชุมชน ทำให้ไม่สามารถเจรจากันได้”

 

ดร.มิยะคิตะกล่าวต่อว่า ปัจจัยสำคัญของเวทีสื่อสารความเสี่ยงคือ การแบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น สาธารณสุข โรงพยาบาล เทศบาล และชุมชน ต้องนำข้อมูลที่มีมาบอกเล่าผ่านเวที  ข้อต่อไปคือ ให้ข้อมูลเป็นตัวสร้างความไว้วางใจ คือทุกฝ่ายต้องพูดความจริง โดยเฉพาะโรงงาน เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา สุดท้ายต้องช่วยกันลดความเสี่ยงเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมกับหาทางออก เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข

 

ช่องทางใหม่ทำให้ทุกคนพูด-ลดความขัดแย้ง

 

ด้าน น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานวิจัยปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุดมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวว่า หลังจากทำงานในพื้นที่มาบตาพุดมากว่า 10 ปี พบว่า ไม่ว่าจะทำงานมากขนาดไหน มีงานวิจัยออกมาจำนวนมาก แต่ปัญหามลพิษในมาบตาพุดกลับไม่ลดลง ตรงกันข้ามปัญหากลับเพิ่มมากขึ้น พร้อมๆ กับจำนวนโรงงานขยายตัวเพิ่มมากขึ้น จึงพยายามมองหาว่าช่องว่างในการแก้ปัญหาอยู่ตรงส่วนไหน ก็พบว่าเวทีการสื่อสารความเสี่ยง น่าจะเป็นวิธีหนึ่งในการหาทางออก ให้กับปัญหาที่เกิดขึ้น  โดยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็น ในประเด็นปัญหาหลักโดยเฉพาะเรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เพื่อหาทางออกร่วมกัน

 

 

“เป้าหมายของการสื่อสารความเสี่ยงคือ มีเวทีให้ทุกฝ่ายได้ถกเถียง แลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อพิจารณาและตัดสินใจบนหลักฐานและข้อมูลที่เป็นจริง สำหรับเวทีการสื่อสารความเสี่ยงเพื่อคนมาบตาพุด  ที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก คณะนักวิชาการจากประเทศญี่ปุ่นให้ความเห็นว่า เป็นเวทีที่ดี ชาวบ้านมาบตาพุดกล้าพูดมากกว่าชาวบ้านที่มินามาตะ ซึ่งที่มินามะตะหากใครแสดงความคิดเห็น แม้จะไม่ได้ทำงานในโรงงาน แต่มีญาติทำงานอยู่ก็อาจจะถูกไล่ออกจากงานได้ ซึ่งมีผลในทางเศรษฐกิจของครอบครัวมาก นอกจากนี้นักวิชาการจากญี่ปุ่น ให้ความเห็นด้วยว่า ในเรื่องสุขภาพชาวบ้านได้ผลตรวจจากหมอที่ลงไปตรวจในพื้นที่แล้ว ควรจะมีการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะหากไม่รีบรักษาจะทำให้อาการเป็นมากขึ้นในอนาคต” น.ส.เพ็ญโฉมกล่าว

 

ดร.มิยะคิตะกล่าวในตอนท้ายว่า การใช้เวทีสื่อสารความเสี่ยง ที่ให้ทุกฝ่ายนำความจริงมาพูด วิธีนี้อย่างเดียวคงไม่พอในการแก้ไขปัญหาหรือจะให้รัฐบาลยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น คงต้องใช้อีกหลายวิธีควบคู่กันไปในการแก้ปัญหาด้วย เช่นที่มินามาตะมีการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์มินามาตะ สำหรับให้คนจากที่อื่นเข้าไปดูงาน และพยายามให้มีเวทีเพื่อชาวบ้านจะได้พูดคุยและทำกิจกรรมร่วมกันด้วย

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: