แกนนำเหยื่อไฟใต้วอนรัฐเยียวยาเท่าจนท.รัฐ ครอบคลุมคดีความมั่นคง-ตากใบ ครู 3 จว.โอดตายได้ชดเชยแค่ 9 แสน เผย 8 ปี เด็กกำพร้ากว่า 4 พัน

เหมือนแพร ศรีสุวรรณ ศูนย์ข่าว TCIJ 7 ก.พ. 2555 | อ่านแล้ว 2793 ครั้ง

 

สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 10 ม.ค. อนุมัติงบประมาณ 2,000 ล้านบาท ตามที่คณะกรรมการประสานและติดตามผลการดำเนินงานตามข้อเสนอของคณะกรรมการ อิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป. โดย มีนายยงยุทธ วิชัยดิษฐ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย เป็นผู้เสนอนั้น ทำให้มีผลการจ่ายเงินชดเชยเยียวยาผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการ เมือง ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์รัฐประหารวันที่ 19 ก.ย.2549 ไปจนถึงเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 รวมไปถึงผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาค ใต้ รายละ 7.75 ล้านบาท เพื่อมุ่งหวังให้เกิดการปรองดองเกิดขึ้น

ขณะเดียวกันสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลับทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และไม่มีทีท่าว่าจะทะเลาลงเลย ดังเช่นเหตุการณ์ล่าสุด ทหารรุมยิงรถกระบะอีซูซุ สีบรอนซ์เงิน ต้องสงสัยเป็นผู้ก่อความไม่สงบที่ ต.ปุโละปุโย อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ทำให้ชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพ นั้น ขณะที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สั่งการให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ตรวจสอบข้อเท็จจริงหากเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ก็จะให้มีการเยียวยาชดเชยให้กับผู้ได้รับผลกระทบด้วย

 

วอนชดเชยเหยื่อไฟใต้-จนท.รัฐเหมือนกัน

 

นางโสรยา จามจุรี แกนนำเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้ ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า กรณีการจ่ายเงินชดเชยเพื่อเยียวยาทางการเมือง ควรใช้หลักเกณฑ์เดียวกันกับผู้ได้รับผลกระทบในการชุมนุมเรียกร้องความเป็น ธรรมในเหตุการณ์ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต 85 คน  หรืออาจจะใช้หลักเกณฑ์เดียวกัน ขยายการเยียวยาให้ครอบคลุมไปยังผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงใน พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เกิดจากความผิดพลาดของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เช่นเดียวกับเหตุการณ์ล่าสุดที่ จ.ปัตตานี ที่มีการยิงชาวบ้านเสียชีวิต 4 ศพ ด้วย

นางโสรยากล่าวว่า ทั้งนี้งบประมาณอาจจะมากเกินกว่าที่รัฐจะเยียวยาได้ ขณะที่ประเด็นที่ควรปรับเงื่อนไขควรปรับในประเด็นความเท่าเทียมระหว่างผู้ ได้รับผลกระทบที่เป็นบุคคลธรรมดา และผู้ได้รับผลกระทบที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ เนื่องจากการเยียวยาที่ได้รับแตกต่างกันมาก เพราะกรณีประชาชนเสียชีวิต ได้รับเงินเยียวยา 100,000 บาท กรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐได้รับ 500,000 บาท ซึ่งควรจะให้เท่าเทียมกัน เนื่องจากเจ้าหน้าที่รัฐจะได้รับสิทธิพิเศษมากกว่าประชาชนอยู่แล้ว แต่โดยพื้นฐานในการชดเชย ต้องให้เกิดความเท่าเทียมกัน ส่วนสิทธิพิเศษจากหน่วยงานต่างๆ ถือว่าเจ้าหน้าที่รัฐได้รับมากกว่าประชาชนก็ได้รับเพิ่มอีก

 

ผู้ต้องสงสัยที่ถูกคุมขัง-ปล่อยตัวก็ควรเข้าข่ายด้วย

 

แกนนำเครือข่ายผู้หญิงภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพชายแดนใต้กล่าวต่อว่า ในฐานะที่ทำงานด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ขอเสนอความเห็นให้ผู้ที่ถูกควบคุมในคดีด้านความมั่นคงด้วยกฎอัยการศึก เช่น ถูกควบคุมตัว 7 วัน จากพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และถูกปล่อยตัวกลับมา ต้องถือว่าบุคคลเหล่านั้นเป็นผู้บริสุทธิ์ ควรจะมีการชดเชยเยียวยาคนกลุ่มนี้ด้วย รวมถึงผู้ได้รับผลกระทบจากคดีความมั่นคง ในกรณีประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิ อาญา) กลายเป็นผู้ต้องสงสัย หรือผู้ต้องหา ถูกควบคุมตัว ซึ่งต่อมาอัยการสั่งไม่ฟ้องหรือแม้แต่ศาลยกฟ้อง ให้ถือว่า บุคคลเหล่านี้ต้องได้รับการชดเชย โดยยึดหลักให้นับวันที่ถูกควบคุมตัว หรือวันที่ถูกจำกัดอิสรภาพต้องมีการเยียวยาด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาถึงตัวเลขเด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตั้งแต่ปี 2547-2554 พบว่า มีจำนวนเด็กกำพร้าสูงถึง 4,455 คน  ขณะที่สตรีเป็นหม้ายมากถึง 2,295 คน  ทั้งนี้ยังมีนักเรียนเสียชีวิต 40 คน บาดเจ็บอีก 171 คน ด้วย

 

ครูใต้โอดรัฐตั้งเกณฑ์เยียวยาแตกต่างกันมาก

 

ขณะที่จำนวนครู บุคลากรทางการศึกษา และนักเรียน นักศึกษาที่ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชาย แดนภาคใต้ เว็บไซต์ www.deepsouthwatch.org รายงานว่า ปี 2554 มีจำนวนสูงถึง 490 ราย ขณะผู้มีทรัพย์สินเสียหาย ด้านทรัพย์สิน จำนวน 547 ราย ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการมี “กองทุนเสมาห่วงใยร้อยใจสู่สันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้”  มีงบประมาณจากการรับบริจาค 7 ปี 5 เดือน ได้จ่ายเงินชดเชยให้กับครูและบุคลากรทางการศึกษาแล้วถึง 12 ล้านบาท โดยกำหนดอัตราเยียวยาแยกเป็น ผู้เสียชีวิตรายละ 50,000 บาท บาดเจ็บรายละ 2,000 -20,000 บาท  ได้ให้การช่วยเหลือไปแล้ว 505 ราย  ซึ่งปัจจุบันเงินทุนดังกล่าวใกล้หมดแล้ว

นายบุญสม ทองศรีพลาย ประธานสมาพันธ์ครู 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยศูนย์ข่าว TCIJ ว่า ครูที่เสียชีวิต ได้รับการเยียวยาจากสำนักนายกรัฐมนตรีรายละ 500,000บาท แต่ในส่วนของกองทุนเสมาฯ จะได้รับเพียง 50,000 บาท ซึ่งเบ็ดเสร็จแล้วกรณีที่ครูหรือบุคลากรทางการศึกษาเสียชีวิตจะได้รับเงินชด เชยเพียง 700,000-900,000 บาทเท่านั้น หากเทียบการชดเชยตามมติครม.เมื่อวันที่ 10 ม.ค.2555 ให้กับคนอีกกลุ่มจะเห็นว่าแตกต่างกันมาก ทางสมาพันธ์ครูก็ไม่ขัดข้อง แต่รัฐบาลต้องดูแลความเป็นธรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมาจากความอ่อนแอของรัฐ ที่ไม่สามารถดูแลประชาชน ครู บุคลากรทางการศึกษาและนักเรียนได้ นอกจากนี้ยังมีบุคคลากรทางการศึกษารายหลายที่ยังทุพพลภาพ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อีกจำนวนหนึ่งด้วย

 

“ครูที่ทำหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาทำงานด้วยใจบริสุทธิ์ ไม่มีเรื่องอื่นแอบแฝงไม่เหมือนหลายกลุ่มที่กำลังดำเนินการกันอยู่ขณะนี้ ประเด็นนี้รัฐบาลต้องชี้แจงประชาชนให้ได้ ต้องมีความชัดเจน  ขอเรียกร้องให้มีการทบทวนเรื่องการเยียวยา รอดูว่ารัฐบาลจะให้ความเป็นธรรมกับการสูญเสียของครูมากน้อยแค่ไหน ปัจจุบันนี้ครูและบุคลากรทางการศึกษาเสียชีวิตแล้วถึง 155คน”  ประธานสมาพันธ์ครู 3จังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: