ศาลฎีกาสั่งจำคุกชาวบ้านรุกที่ดินลำพูน ทนายชี้สู้เพราะออกเอกสารสิทธิ์ไม่ถูกต้อง จี้รัฐแก้ปัญหาที่ดินกระจุกตัวในมือนายทุน

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 7 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2844 ครั้ง

ศาลฎีกาสั่งจำคุกรุกที่ดินลำพูน ยกฟ้อง 2 ผู้ต้องหา

 

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 6 มิ.ย. ศาลจังหวัดลำพูน อ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีบุกรุกที่ดินที่อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เมื่อปี 2540 ซึ่งจำเลยเป็นชาวบ้านจำนวน 3 ราย โดยน.ส. ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายจำเลยจากสภาทนายความ ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ  ว่า  ศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง นายรังสรรค์ แสนสองแคว และนายสืบสกุล กิจนุกร เนื่องจากไม่มีประจักษ์พยานเห็นว่าจำเลยอยู่ในที่ดิน การที่จำเลยเป็นตัวแทนไปร่วมในการเจรจาก็ไม่เป็นการกระทำความผิดตามกฎหมาย ส่วนนายประเวศ ปันป่า ถูกลงโทษจำคุก 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในข้อหาบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา แต่ไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ 2484  เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีไม้ต้องห้าม มีเพียงไม้มะม่วง 20 ต้น จึงไม่ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.ป่าไม้

น.ส. ส.รัตนมณีกล่าวว่า  จำเลย ที่ 4 และ 5 คือนายรังสรรค์และนายสืบสกุลนั้น ศาลชี้ว่าไม่มีประจักษ์พยานที่เกิดเหตุ และอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุ 10 กิโลเมตร และไม่เคยเห็นเข้าไปยังที่เกิดเหตุ พยานได้รับฟังเพียงคำบอกเล่าเท่านั้น จึงไม่มีความผิด และศาลชี้ด้วยว่าจำเลยทั้ง 2 คน เป็นเพียงผู้เจรจาที่ศาลากลางจังหวัดลำพูน ไม่ได้ทำผิดตามกฎหมาย แต่กระทำการตามสิทธิที่มีอยู่ของบุคคลทั่วไป ในการเรียกร้องสิทธิในด้านต่างๆ ส่วนของจำเลยที่ 2 คือ นายประเวศ ศาลวินิจฉัยไปตามข้อเท็จจริง โดยศาลเห็นประจักษ์พยานในแปลงเดียว จึงตัดสินจำคุก 1 ปี

 

อย่างไรก็ตามในประเด็นตามข้อกฎหมาย ศาลฎีกาไม่ได้วินิจฉัยและศาลอุทธรณ์ไม่ได้ชี้ คือตามประมวลกฎหมายที่ดิน ที่ดินที่เป็นที่นส.3 หากถูกทิ้งร้าง ภายใน 1 ปี หรือที่ดินที่มีโฉนดที่ดินถูกทิ้งร้างไว้ 10 ปี รัฐต้องเรียกคืน ซึ่งรัฐไม่เคยดำเนินการในเรื่องนี้ ดังนั้นที่ดินในประเทศไทยจึงกระจุกตัวอยู่กับกลุ่มคน แต่ไม่กระจายไปถึงเกษตรกร ทั้งนี้เมื่อประชาชนมีปัญหาเรื่องที่ดิน รัฐมีหน้าที่ต้องปฏิรูปที่ดิน กระจายการถือครองที่ดินให้กับประชาชน ซึ่งคดีการบุกรุกที่ดินลำพูนนี้ ศาลวินิจฉัยตามประเด็นคดีอาญา ไม่มีการนำข้อมูลเบื้องหลังที่ทำให้เกิดกระบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิในที่ดินทำกินมาร่วมพิจารณาด้วย  ซึ่งต้องการให้ศาลชี้ประเด็นเช่น นี้แต่ศาลไม่ได้เขียนไว้ในคำพิพากษา

นอกจากนี้ ประเด็นที่อยากจะนำเสนอเบื้องหลังการต่อสู้คดีนี้คือ จำเลยต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในที่ดิน เมื่อได้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมของการครอบครองที่ดินเกิดขึ้น

“ชาวบ้านเหล่านี้ต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในที่ดิน ลุงแดงไม่ได้สู้เพื่อครอบครองที่ดิน แต่ลุงแดงเห็นความไม่เป็นธรรมในการครอบครองที่ดิน อยากจะให้สังคมเข้าใจประเด็นนี้มากขึ้น ว่าเขาไม่ได้เป็นผู้กระทำผิด แต่ทำเพื่อความเป็นธรรม”

ส่วนกรณีที่องค์กรเอกชนระหว่างประเทศ ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ และมีการยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีนั้น  น.ส. ส.รัตนมณีกล่าวว่า การเคลื่อนไหวขององค์กรระหว่างประเทศ  ทำให้คดีนี้ได้รับความสนใจจากคนในสังคมมากขึ้น เนื่องจากคดีที่ดินลำพูนมีการดำเนินการมานานถึง 15 ปี คนในสังคมอาจจะลืมไปแล้ว แต่องค์กรเอกชนระหว่างประเทศทำให้คนในสังคมหันมามองสนใจประเด็นนี้ รวมถึงเป็นการส่งสัญญาณถึงรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินในประเทศไทยด้วย

 

ร้อง‘ยิ่งลักษณ์’หยุดดำเนินคดี

 

อย่างไรก็ตามก่อนการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันนี้ คดีดังกล่าวที่ได้รับความสนใจจากองค์กรพัฒนาเอกชนในต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยตัวแทนเครือข่ายวิจัยปฏิบัติการที่ดินสากล (Land Research Action Network: LRAN) เป็นเครือข่ายขององค์กรและนักเคลื่อนไหวทางสังคม ที่ทำการศึกษาวิจัยวิเคราะห์ปัญหาที่ดินและการปฏิรูปที่ดินทั่วโลก พร้อมด้วยเอ็นจีโอนานาชาติ 58 องค์กร นักวิชาการ 11 คน สมาชิกรัฐสภา 2 คน ผู้นำทางศาสนา 1 คน พร้อมด้วยเครือข่ายและองค์กรพัฒนาเอกชนไทย 18 องค์ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ระงับการดำเนินคดีกับประชาชนที่เข้าร่วมในปฏิบัติการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปที่ดิน และให้ความสำคัญต่อการกระจายการถือครองและการปฏิรูปที่ดิน ตลอดจนแก้ปัญหาความขัดแย้งเรื่องที่ดินอย่างเป็นธรรม เพื่อเป็นหลักประกันวิถีการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนของเกษตรกรรายย่อยทั่วประเทศด้วย

 

วอนตุลาการอย่าหนุนละเมิดสิทธิ

 

นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย (Asian Human Rights Commission: AHRC) ยังได้ทำหนังสือร้องเรียนเร่งด่วนล่าสุด ลงวันที่ 4 มิถุนายน 2555 เรียกร้องให้ร่วมสังเกตการณ์การฟังคำพิพากษาคดี เกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน และนักต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน ที่ศาลจังหวัดลำพูน โดยระบุว่า ข้อกังวลเกี่ยวกับการฟ้องร้องคดีเหล่านี้ ได้แก่ มีความร่วมมือกันระหว่างเจ้าของที่ดิน (ซึ่งลงทุนซื้อที่ดินไว้เฉยๆ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์) กับหน่วยงานของรัฐ เพื่อขัดขวางไม่ให้ชาวบ้านสามารถเข้าถึงที่ดินทำกินเพื่อเลี้ยงชีพ โดยอ้างบทความเกี่ยวกับขบวนการสิทธิที่ดิน ซึ่งนายรังสรรค์ แสนสองแคว เคยให้ความเห็นว่า สาเหตุหลักคือ เพราะเกษตรกรเราไม่มีที่ทำกิน ถึงมีก็มีไม่เพียงพอ อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ ที่ดินที่นายทุนซื้อไว้ แล้วปล่อยทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ ซึ่งมีสองลักษณะคือ ที่ดินที่ปล่อยทิ้งร้างไม่ทำประโยชน์ เป็นที่ดินซื้อเพื่อเก็งกำไร และที่ดินที่ซื้อแล้วเขาเอาโฉนดไปเข้าธนาคาร จนเกิดกลายเป็นหนี้เน่าเสีย

อย่างไรก็ตามคดีดังกล่าวยังเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน ของความพยายามที่จะใช้อำนาจตุลาการ เพื่อข่มขู่และคุกคามชุมชน และผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ให้ความสนับสนุนต่อชาวบ้าน ซึ่งเรียกร้องสิทธิของตน ซึ่งเมื่อเดือนตุลาคม 2554 ศาลฎีกามีคำสั่งลงโทษนางจินตนา แก้วขาว นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิของตนและสิทธิชุมชน ซึ่งเป็นการต่อต้านโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ คำตัดสินของศาลสร้างผลกระทบอย่างชัดเจนต่อสิทธิของพลเมือง ที่จะจัดตั้งและปกป้องชุมชนและผลประโยชน์ของตน แม้ว่าข้อกล่าวหาจะคลุมเครือก็ตาม

นอกจากนี้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย ได้เตือนให้องค์กรตุลาการของไทย ทราบถึงสิทธิของบุคคลที่จะรวมตัวประท้วง และสิทธิของชุมชนซึ่งพึงได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 องค์กรตุลาการจึงมีหน้าที่คุ้มครองสิทธิตามรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่สร้างความชอบธรรมให้กับการละเมิดสิทธิ พร้อมทั้งเรียกร้องรัฐบาลไทยและองค์กรตุลาการให้ยุติคดีความต่างๆ ต่อนักเคลื่อนไหว และชาวบ้านในกลุ่มปฏิรูปที่ดินโดยทันที

 

จากคดีที่ดินลำพูนสู่นโยบายโฉนดชุมชน

 

สำหรับเหตุการณ์การบุกรุกที่ดินจ.ลำพูน กระทั่งนำมาซึ่งการจับกุมดำเนินคดี คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล กระทั่งถึงชั้นศาลฎีกาในวันนี้ เกิดขึ้นเมื่อปี 2540 โดย นายประเวศน์ ปันป่า อายุ 64 ปี ชาวบ้านจากบ้านพระบาท อ.ป่าซาง จ.ลำพูน นายรังสรรค์ แสนสองแคว อายุ 56 ปี ชาวบ้านจากบ้านไร่ดง ต.น้ำดิบ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน ซึ่งผลักดันการปฏิรูปที่ดินระดับชุมชน ปัจจุบันเป็นประธานสหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนป่าซาง จำกัด และนายสืบสกุล กิจนุกร เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนที่เชียงใหม่ ซึ่งเคยทำงานกับสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และสนับสนุนขบวนการสิทธิที่ดินระหว่างปี 2545-2547 ทั้ง 3 คนเป็นจำเลยในคดีหมายเลขดำที่ 1531, 1371 / 2545, 2546 คดีหมายเลขแดงที่ 2699, 2700/2549

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า มีความผิดฐานละเมิดกฎหมายหลายข้อ ทั้งในส่วนการบุกรุก และการทำลายทรัพย์สินส่วนบุคคล และการชักนำและสนับสนุนให้บุคลอื่นกระทำตาม ลงโทษจำคุก 6 ปี ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนว่า มีความผิด และไม่ลดโทษ สำหรับนายประเวศน์ แต่ได้ลดโทษสำหรับกรณีนายรังสรรค์และนายสืบสกุลเหลือเพียงจำคุก 4 ปี

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน จ.ลำพูน มีเกษตรกรและผู้นำขบวนการ 22 คน ที่ถูกศาลพิพากษาในคดีที่ดินลำพูน โดย 20 คน มาจากบ้านท่าหลุก ต.หนองล่อง กิ่งอ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน อีก 2 คน มาจากบ้านดงขี้เหล็ก ต.ศรีเตี้ย อ.บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน ทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2553 หลังถูกจำคุกอยู่ 6 เดือน ส่วนจำเลยอีก 10 คน ยังคงถูกดำเนินคดีในศาลชั้นต้น โดย 8 คน มาจากบ้านแพะใต้ กิ่งอ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน และ 2 คน มาจากบ้านไร่ดง ต.น้ำดิบ อ.ป่าซาง จ.ลำพูน

 

ชาวบ้านบุกรุก-นายทุนแจ้งจับกว่าพันคดี

 

นายไพจิตร ศิลารักษ์  ผู้ประสานงานขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม ลำดับเหตุการณ์กรณีคดีที่ดินลำพูน ว่า ปัญหาเรื่องที่ดินของชาวบ้าน ในแถบอ.บ้านโฮ่ง อ.ป่าซาง และกิ่งอ.เวียงหนองล่อง ถูกนายทุนแย่งชิงและบุกรุกที่ดินทำกิน และที่ดินสาธารณะประโยชน์ของชุมชน ปัญหาการกระจุกตัวของการถือครองที่ดินโดยไม่มีการทำประโยชน์ของนายทุนรายใหญ่ และปัญหาการถูกแย่งชิงสิทธิการได้ที่ดินภายใต้โครงการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมของรัฐ  ชาวบ้านจึงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหา ด้วยการยื่นหนังสือร้องเรียน การชุมนุมกดดัน แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากภาครัฐ สุดท้ายชาวบ้านจึงรวมกลุ่มเข้าบุกยึดที่ดิน และเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนายทุน ที่ถูกปล่อยทิ้งร้าง ซึ่งการเข้าบุกรุกที่ดินของชาวบ้านครั้งนั้น ชาวบ้านถูกจับกุมและฟ้องร้องดำเนินคดีกว่า 1,000 คดี

อย่างไรก็ตามกรณีดังกล่าว ส่งผลให้รัฐบาลสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2547 ได้ประกาศขึ้นทะเบียนเกษตรกรที่ไร้ที่ดินทำกิน มีผู้มาลงทะเบียนกว่า 1 ล้านคน แต่รัฐบาลไม่ได้ดำเนินการสานต่อนโยบายดังกล่าวแต่อย่างใด

กระทั่งปี 2553 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นำข้อเสนอของภาคประชาชน ที่เรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” นำไปสู่การออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พร้อมกับตั้งคณะกรรมการประสานงานจัดให้มีโฉนดชุมชนขึ้น และต่อมาในปี 2554 รัฐบาลได้ออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันบริหารจัดการธนาคารที่ดิน ทำให้ความขัดแย้งเรื่องที่ดินได้รับการผ่อนคลายลง

ต่อมาปี 2554 ภาคประชาชนได้ผลักดันพรรคเพื่อไทย ให้บรรจุแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ดินไว้ในนโยบายของรัฐบาล กระทั่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นำไปแถลงต่อรัฐสภา ประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาล ข้อ 5.4 สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำ ในการใช้ประโยชน์ที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งดูเหมือนสถานการณ์ความขัดแย้งเรื่องที่ดินจะมีทางออกที่ดีขึ้น

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: