แนวเขตโฉนดชุมชนทับเขือยังวุ่น อุทยานฯ-ชาวบ้านตกลงกันไม่ได้

ปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ ศูนย์สื่อสังคมภาคใต้ 7 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 1821 ครั้ง

เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ศูนย์ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ชุมชนทับเขือ-ปลักหมู ต.ช่อง อ.นาโยง จ.ตรัง น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมอนุกรรมการฯ ประกอบด้วย นายประสาท มีแต้ม นายแสงชัย นายแสงชัย รัตนเสรีวงษ์ และนายวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี ลงพื้นที่ตรวจสอบหลังจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดร้องเรียนว่าเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ตัดฟันแปลงยางชาวบ้านในชุมชนทับเขือ-ปลักหมู ซึ่งอยู่ในระหว่างการดำเนินการโฉนดชุมชน

โดยมี นายทัศพันธ์ พงษ์เภตรา ผู้อำนวยการสำนักงานโฉนดชุมชน สำนักนายกรัฐมนตรี นายธิติ กนกทวีฐากร  ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายสมชัย แสงแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า นายสุรเชษฐ์ วันดีเรืองไพศาล หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด นายสมนึก พุฒนวล นายบุญ แซ่จุ่ง นางกันยา ปันกิตติ กรรมการเครือข่ายปฏิรูปเทือกเขาบรรทัด ชาวบ้านในเครือข่ายฯ และเจ้าหน้าที่อุทยานฯ  กว่า 200 เข้าร่วม

นายทัศพันธ์ชี้แจงว่า ชุมชนทับเขือ-ปลักหมู ผ่านมติคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) แล้วอยู่ในระหว่างการเตรียมการประกาศออกโฉนดชุมชน คาดว่าภายในระยะเวลาอันใกล้นี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน

ด้านนายสมนึกให้ข้อมูลว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2555 เวลาประมาณ 14.30 น.นายสมชัย แสงแก้ว หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า พร้อมเจ้าหน้าที่กว่า 50 นาย เข้ารื้อถอนทำลายแปลงยางพาราของชาวบ้านทับเขือ-ปลักหมู จำนวน 15 ไร่ อยู่ในเขตเสนอขอโฉนดชุมชน 7 ไร่

ด้านนายสมชัยยืนยันว่า ตนเองพร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ได้เข้าทำลายรื้อถอนแปลงยางพาราจำนวน 15 ไร่ เมื่อวันที่ 30 มี.ค.จริง แต่พื้นที่ดังกล่าวอยู่นอกเขตเสนอขอโฉนดชุมชน อีกทั้งแปลงยางของนายณรงค์ รอดรักษ์ 3.2 ไร่ และนายเรวัตร รักษ์ทองจันทร์ 3.8 ไร่ ที่นำกำลังเจ้าหน้าที่ฯ เข้าฟันทำลายนั้นเคยถูกดำเนินคดีมาตั้งแต่ปี 2552

จากนั้นเวลา 11.00 น. คณะอนุกรรมการสิทธิชุมชน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ลงพื้นที่แปลงยางที่ถูกฟันทำลาย ด้วยการเดินตรวจวัดพิกัด GPS ที่ชาวบ้านส่งถึงสำนักงานโฉนดชุมชน ร่วมกันทั้งเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และชาวบ้าน ปรากฏว่าจุดที่ 22 มีการทำสัญลักษณ์ต้นไม้เป็นเลข 24 ซึ่งนายสมชัย ยืนยันว่า ตนและเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ไม่ได้ร่วมเดินตามพิกัดนี้ จึงต้องร่วมกันตรวจวัดพิกัดจากจุดที่ 19 จุดที่ 20 จุดที่ 21 จุดที่ 23 จุดที่ 24 และจุดที่ 25 โดยเครื่องหมายสัญลักษณ์ จุดที่ 23 จุดที่ 24 หายไป แต่จากการตรวจการตรวจวัดพิกัด GPS ตรงกับตัวเลขที่ชาวบ้านส่งเรื่องถึงโฉนดชุมชน

นายประสาทกล่าวว่า จากการตรวจวัดพิกัด GPS แสดงว่า ต้นไม้ที่ทำสัญลักษณ์เลข 24 น่าจะเป็นจุดที่ 22 และพื้นที่แปลงยางที่ถูกฟันอยู่ในเขตดำเนินการเพื่อขอโฉนดชุมชน

ขณะที่นายสมชัยแย้งว่า ต้นไม้ที่ทำสัญลักษณ์เลข 24 ตนไม่ได้ร่วมเดินแนวเขตด้วย ดังนั้นชาวบ้านน่าจะทำขึ้นเอง แปลงยางที่ตนและเจ้าหน้าที่ฟันอยู่นอกเขตดำเนินการโฉนดชุมชน ตัวเลขพิกัด GPS ที่ชาวบ้านอ้าง กับที่ตนร่วมเดินแนวเขตด้วยนั้น คนละตัวเลขพิกัดกันกับที่อุทยานฯ มี ทั้งนี้จะส่งตัวเลขพิกัด GPS ให้น.พ.นิรันดร์ อีกครั้ง

 

                    “หัวหน้าสมชัย บอกว่าจะส่งตัวเลขพิกัด GPS ของอุทยานฯ อีกครั้งเนื่องจากเป็นคนละตัวเลขพิกัดกันที่ชาวบ้านอ้าง หลังจากนี้ผมจะตรวจสอบอีกครั้งว่าตัวเลขพิกัด GPS ของชาวบ้านกับของอุทยานฯ ของใครถูกต้องกันแน่ และผมจะลงพื้นที่บ้านหาดสูงในกรณีเจ้าหน้าที่อุทยานตัดฟันสะพานชาวบ้านในโอกาสต่อไป” น.พ.นิรันดร์กล่าว

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: