‘อุรัก ลาโว้ย’ เซ่นไหว้บรรพบุรุษครั้งแรกรอบ 50 ปี
เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว ที่ยายแย๊ะ อาบัง หรือ อาบัง ทะเลรุ่งโรจน์ หญิงชราชาวเล อุรัก ลาโว้ย วัย 80 ปี ไม่ได้กลับมาเคารพหลุมฝังศพของพ่อแม่ และบรรพบุรุษอีกหลายคน ที่ฝังอยู่ในสุสานริมชายหาดเกาะเฮ จ.ภูเก็ต ที่อยู่อาศัยเดิมของตระกูลชาวเล อุรักลาโว้ยมายาวนานกว่า 100 ปี หลังจากต้องอพยพหนีภัยโรคอหิวาตกโรคที่ระบาดรุนแรงทั่วเกาะ ไปอาศัยอยู่กับญาติพี่น้องชาวเล ที่หาดราไวย์ บนฝั่งเกาะภูเก็ต โดยไม่รู้ว่าการจากไปครั้งนั้น ทำให้พวกเขาไม่มีโอกาสกลับมาอาศัยเกาะแห่งนี้ เป็นแหล่งทำมาหากินได้เหมือนเดิมอีก
หลังการหนีภัยโรคระบาดของชุมชนชาวอุรักลาโว้ย จากเกาะเฮไปไม่นานนัก นายทุนได้เข้าอ้างสิทธิ์ครอบครองที่ดินทั่วทั้งเกาะเฮ พร้อมแสดงเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดิน และสั่งห้ามชาวอุรัก ลาโว้ย กลับเข้ามาอาศัยทำมาหากิน หรือ ทำพิธีกรรมต่างๆ บนเกาะเฮ อีกต่อไป จากนั้นจึงเริ่มก่อสร้างรีสอร์ท ที่พักเพื่อบริการนักท่องเที่ยว โดยสร้างเป็นอาคารเพิงพัก ร้านอาหารแบบถาวร ด้วยการโบกปูนทับลงบนพื้นที่ป่าริมชายหาด ซึ่งในอดีตชาวบ้าน ใช้เป็นสุสานฝังศพญาติพี่น้อง และบรรพบุรุษตั้งแต่เริ่มตั้งรกรากอยู่ที่เกาะแห่งนี้ โดยเชื่อว่ามีศพชาวอุรักลาโว้ย ถูกฝังอยู่มากกว่า 200 ศพ
นอกจากสุสานบนเกาะเฮที่ถูกรุกรานจากนายทุนแล้ว ยังมีสุสานในจ.ภูเก็ต อีก 4 แห่ง ที่ถูกรุกรานด้วยเช่นกัน คือ เกาะนาน หาดพรแม่ สุสานเด็กคลองหลาวโอน และด้านหลังชุมชนหาดราไวย์ เหลือเพียงสุสานหาดมิตรภาพขนาด 2 ไร่ ที่เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมผืนสุดท้าย ของชาวอุรักลาโว้ย 2,063 คน
นายทุนอ้างมีเอกสารสิทธิ์-ห้ามชาวเลกลับเกาะ
การกลับมาของยายอาบัง และชาวบ้าน อีกกว่า 20 ชีวิตครั้งนี้ จึงสร้างความดีใจให้กับพวกเขาไม่น้อย หญิงชรามุ่งหน้าไปเคารพศพของผู้เป็นพ่อ ณ จุดฝังศพในสุสานที่จำได้แม่นยำ เพราะเคยปลูกต้นมะพร้าวและต้นมะขามไว้เป็นสัญลักษณ์ ก่อนเริ่มตั้งวงทำพิธีเซ่นไหวตามความเชื่อ พร้อมนำภาพวาดของนายอาหงิน และ นายดาไว๊ย ซึ่งชาวอุรัก ลาโว้ย เชื่อว่าเป็นต้นตระกูลบรรพบุรุษ มาตั้งรอทำพิธี เพื่อทำความเคารพตามพิธีกรรมของชาวอุรัก ลาโว้ย หลังจากที่ไม่เคยได้ทำพิธีมายาวนานหลายสิบปี
“พวกเราอพยพจากเกาะไป เพราะมีโรคห่าระบาด ชาวบ้านล้มตายกันวันละหลายคน มีมากสุดคือ 5 คน ตอนนั้นฉันเพิ่งอายุ 14 ปี ไม่มีใครกล้าอยู่ ทุกคนต้องออกไปอาศัยญาติพี่น้องอยู่ที่หาดราไวย์ เพราะกลัวจะติดโรคระบาด แต่หลังที่โรคหายไปแล้ว ไม่มีโรค เมื่อจะกลับมาที่นี่ เขาก็บอกว่าอยู่ไม่ได้แล้วเพราะเป็นที่ดินของคนอื่น” ยายอาบังเล่าผ่านล่ามรุ่นหลาน เพราะไม่สามารถพูดภาษาไทยได้เหมือนกับชาวเลอุรักลาโว้ยรุ่นใหม่ พร้อมเล่าต่อว่า เมื่อก่อนชาวเลมีพื้นที่อาศัยตั้งเป็นชุมชนชาวเลบนเกาะเฮ ตั้งบ้านเรือนเป็นแนวยาวตลอดริมชายหาด ทำมาหากินด้วยการออกเรือทะเล ทำประมง มีวิถีชีวิตเหมือนชาวเลทั่วไป มีประเพณีวัฒนธรรม และภาษาเป็นของตัวเอง โดยมีพื้นที่ริมหาดท้ายหมู่บ้านเป็นสุสานสำหรับการฝังศพญาติพี่น้อง และมักจะกลับมาทำพิธีเซ่นไหว้เมื่อถึงเทศกาลสำคัญ ๆ ของชาวเล รวมถึงการละเล่น “รองเง็ง” ที่จะจัดขึ้นให้กับวิญญาณบรรพบุรุษ ตามความเชื่อ ซึ่งการกลับมาในรอบ 50 ปีของชาวเล ครั้งนี้ ชาวบ้านได้เตรียมการแสดงชุดนี้มาด้วย และเริ่มการละเล่นทันทีที่พิธีกรรมทางการเซ่นไหว้เสร็จสิ้นลง
สลดนักท่องเที่ยวขากถุยใส่หลุมศพบรรพบุรุษ
การเต้นรองเง็ง 13 เพลงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เสียงดนตรีเรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวจีนกลุ่มหนึ่ง ให้เดินมามุงดูไม่น้อย บางคนขยับแข้งขาตามไปด้วย ก่อนที่จะเดินจากไป บางคนโยนขวดน้ำและขากถุยลงบนพื้น โดยไม่รู้ว่าพื้นที่แห่งนี้ คือสุสานของชาวบ้านในอดีต เพราะพื้นที่เกือบทุกจุดบนเกาะเล็กๆ แห่งนี้ ถูกแปรสภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปเกือบหมดแล้ว ร้านค้า ร้านอาหาร และจุดบริการต่าง ๆ ผุดขึ้นจากการทำธุรกิจของผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดินและมีเอกสารสิทธิ์ สภาพของสุสานจึงไม่หลงเหลือให้เห็น มีเพียงกองขยะกองเล็กกองน้อย และร่องรอยของโครงสร้างคอนกรีตที่สร้างทับหลุมฝังศพ ที่หากเดินผ่านคงไม่รู้ว่า ใต้พื้นดินแห่งนั้นมีศพบรรพบุรุษชาวเลถูกฝังอยู่ และที่สำคัญชาวบ้านเล่าว่า กระดูกของบรรพบุรุษจำนวนมาก ถูกนายทุนที่อ้างเป็นเจ้าของเกาะขุดเอาไปฝังรวมกัน และทำพิธีตามความเชื่อ เพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคต่อการทำธุรกิจท่องเที่ยวของเกาะแห่งนี้ ซึ่งนับว่าเป็นการลบหลู่บรรพบุรุษชาวเลเป็นอย่างยิ่ง
การเข้ามาของกลุ่มนายทุน ซึ่งชาวอุรักลาโว้ย บนเกาะเฮไม่เคยเห็นหน้า และไม่รู้ว่าเป็นใครมาจากไหน เป็นสิ่งที่ยังค้างคาใจพวกเขาอยู่ เพราะก่อนหน้านี้ชาวบ้านเคยใช้ชีวิตอยู่บนเกาะอย่างอิสระ ทำมาหากินด้วยการออกทะเล หาปู ปลา หอย ทรัพยากรที่แสนอุดมสมบูรณ์ เพียงเพื่อนำไปแลกข้าวปลา อาหาร และสิ่งจำเป็นอื่นๆ กับผู้คนบนฝั่ง แต่เมื่อต้องหลบหนีภัยโรคระบาดออกไป จนกลับมาอีกครั้งก็กลับถูกคนจากที่อื่นมาอ้างสิทธิ์ ว่าเป็นเจ้าของที่ดินริมทะเลไปแล้ว ความสวยงามที่เคยเป็นแหล่งทำมาหากินเลี้ยงชีพของชาวเล ก็กลับกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่มีคนมากหน้าหลายตาเข้ามาเยือน แต่ชาวเลอย่างพวกเขากลับไม่มีที่ให้ยืนบนแหล่งทำมาหากินเดิม
นายทุนฮุบที่ดินทั่วภูเก็ต-ปปช.ระบุทุจริตอันดับ 1
“โดยปกติแล้ว ชาวบ้านจะไม่กล้าลอยเรือเข้ามาใกล้ชายหาดนี้นัก เพราะมักจะถูกยิงปืนขู่ หรือไม่ก็มีชายฉกรรจ์ขับเรือเร็วออกไปไล่ไม่ให้เข้ามาใกล้ แม้กระทั่งนำคนมาส่งก็ไม่สามารถทำได้ ดังนั้นจึงไม่มีกล้านำเรือเข้ามาที่เกาะ ยกเว้นการเดินทางเข้ามากับเรือของหน่วยงานภาครัฐ เพราะนายทุนและสมุนจะไม่กล้ามาตอแยด้วย การขึ้นเกาะเฮของกลุ่มชาวบ้านโดยเรือยนต์ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐครั้งนี้ ทำให้เบาใจได้ว่า เราจะสามารถทำพิธีโดยไม่มีอันตรายใด ๆ จากการเข้ามาทำพิธีบนเกาะเฮ” สนิท แซ่ซั่ว ผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลราไวย์ จ.ภูเก็ต ลูกหลานชาวเลอุรัก ลาโว้ยรุ่นใหม่ กล่าว ระหว่างนำคณะสื่อมวลชนสำรวจพื้นที่สุสานบรรพบุรุษบนเกาะเฮ
ปัญหาการแย่งชิงที่ดินไปจากชาวเลในจ.ภูเก็ต เป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดมานาน หลังนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวบนเกาะภูเก็ต พื้นที่อยู่อาศัยเดิมของชาวบ้านถูกออกโฉนดทับ และถูกเจ้าของโฉนดไล่รื้อ ทำให้ไม่มีที่ทำมาหากิน และทำพิธีกรรมตามความเชื่อ จนเกิดปัญหาฟ้องร้องอย่างต่อเนื่องตลอดมา การต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมระหว่างนายทุนกับชาวบ้าน ซึ่งเป็นชาวเล ที่ยังขาดความรู้ ทำให้หลายกรณีชาวบ้านต้องพ่ายแพ้ จนต้องกลายเป็นผู้ที่ไม่มีที่ทำกิน แม้จะเป็นผู้ที่อยู่อาศัยบนแหล่งทำมาหากินเดิมนี้มายาวนานตั้งแต่รุ่นปู่ย่า ก่อนเกิดการออกโฉนดเหล่านี้เสียอีก ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 ที่ผ่านมาคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) เคยออกมาระบุว่า การทุจริตในการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน เกิดขึ้นที่จ.ภูเก็ต เป็นอันดับ 1 ของประเทศ
“สิ่งที่เราจะต้องทำเพื่อให้เกิดการยอมรับให้ได้คือ การสืบค้นหาความจริงเกี่ยวกับความเป็นมาของชาวเล อุรัก ลาโว้ย และบรรพบุรุษในอดีต เพื่อยืนยันว่าพวกเรามีตัวตน และเป็นเจ้าของที่ดินริมทะเลเหล่านี้มานานกว่าการเข้ามาของกลุ่มนายทุน ที่ต่างเข้ามาแย่งทรัพยากรเหล่านี้ออกไปจากชาวบ้าน และไล่รื้อพวกเราออกไปเรื่อย ๆ สุสานเก่าบนเกาะเฮ ก็เป็นหนึ่งในตัวอย่างของความเป็นมาเหล่านี้ ที่มีให้เห็นเป็นจริง แม้ว่าปัจจุบันเราจะเข้าไปทำพิธีกรรมอะไรไม่ได้อีกแล้วก็ตาม” สนิทเล่าถึงในความพยายามรวมตัวกันต่อสู้กับกลุ่มนานทุน ที่พยายามเข้ามาไล่รื้อชุมชนของพวกเขา เพื่อหาผลประโยชน์บนเกาะภูเก็ตแห่งนี้
หาหลักฐานการตั้งรกรากเดิมสู้เอาที่ดินคืนจากนายทุน
ปัจจุบันการค้นหาความเป็นมาของชุมชนอุรัก ลาโว้ย โดยเยาวชนรุ่นใหม่ ทำให้พบหลักฐานที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น มีการบันทึกไว้ว่า มีกลุ่มชาวเลอาศัยอยู่ในพื้นที่นี้ตั้งแต่ช่วงยุคหิน (3,000 ปี) จนกระทั่งประมาณช่วงรัชกาลที่ 3 ที่มีกฎหมายกำหนดให้กลุ่มชาวเลที่เร่ร่อนอยู่ต้องขึ้นมาอยู่บนฝั่งที่ทำให้เกิดการตั้งถิ่นฐานที่แน่นอน โดยอพยพจากบริเวณเกาะเฮ และย้ายมาอยู่บริเวณหาดราไวย์ เมื่อประมาณ 100 กว่าปีแล้ว ดำรงชีพด้วยการออกทะเลหาปลา ปลูกต้นมะพร้าวบ้านยกสูงพื้นปูด้วยฟากไม้ไผ่ ฝาบ้านใช้ไม้ไผ่หลังคามุงด้วยจากมะพร้าว ใช้เปลือกต้นเสม็ดแช่น้ำมันยางจุดไฟ ออกทะเลหาปลา หรือทำไร่
นอกจากนี้จากการสืบค้นข้อมูลยังพบทะเบียนบ้านเลขที่ 38 ต.ราไวย์ ที่พบว่า นางเปลื้อง ซึ่งมีชื่อระบุว่าเกิดเมื่อปี พ.ศ.2445 ซึ่งหากมีอายุถึงปัจจุบัน จะมีอายุถึง 120 ปี เป็นหลักฐาน ยืนยันได้ว่า ชาวเลอุรัก ลาโว้ย ไม่ได้เป็นคนกลุ่มใหม่ที่เพิ่งมาจับจองที่อยู่อาศัยแต่มีชุมชน และวิถีชีวิตยาวนานมาแล้ว ขณะเดียวกัน ยังมีหลักฐานระบุด้วยว่า เมื่อปี พ.ศ.2456 ตั้งโรงเรียนวัดสว่างอารมณ์ ปี พ.ศ.2480 ทางราชการได้สนับสนุนงบประมาณก่อสร้างอาคารเรียน 1 หลัง ต่อมาทรุดโทรม ในปี พ.ศ.2497 ประชาชนได้รวบรวมเงินสร้างอาคารเรียน และใช้อยู่ในปัจจุบัน และยังพบหลักฐานสำคัญเป็น วีดีทัศน์ การเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมเยียนราษฎรชุมชนชาวเลหาดราไวย์ ในปี พ.ศ.2502 ขณะนั้นมีบ้านชาวเลอาศัยอยู่ประมาณ 40 ครัวเรือน เป็นหลักฐานที่ยืนยันอีกชิ้นหนึ่งว่า ชุมชนชาวเลหาดราไวย์ อยู่มาก่อนมีการออกเอกสารสิทธิ์ของเอกชนในปี 2508
สู้คดีแพ้แล้ว 2 รายให้รื้อออก ที่เหลือถูกฟ้องไล่ยกชุมชน
อย่างไรก็ตามแม้จะมีการต่อสู้ ด้วยการค้นหาหลักฐาน เพื่อยืนยันความเป็นตัวตนบนพื้นที่อาศัยริมหาดราไวย์ แต่ปัจจุบันชาวชุมชนราไวย์ 2,000 กว่าคน ประมาณ 244 หลังคาเรือน ยังกำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก จากกรณีที่เอกชนรุกไล่ที่ดิน อ้างเอกสารสิทธิเมื่อปี 2508 และออกโฉนดที่ดินได้ เมื่อปี 2514 โดยขับไล่ชาวเลออกจากพื้นที่ มีการฟ้องร้องต่อศาลตั้งแต่ปี 2552 จำนวน 10 ราย ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ชาวเล 2 ราย รื้อถอนขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดิน ส่วนอีก 8 ราย อยู่ระหว่างดำเนินคดี
ที่สำคัญกลุ่มเอกชนที่อ้างว่ามีเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว กำลังทยอยฟ้องร้องชาวบ้านทั้งชุมชน ให้ออกจากพื้นที่ไปด้วย เพื่อนำที่ดินริมหาดราไวย์แห่งนี้ ไปจัดสร้างเป็นโรงแรมขนาดใหญ่ ทำให้ขณะนี้ชาวเล ราไวย์ หรือ ชาวอุรัก ลาโว้ย จำนวนมากกำลังเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะนอกจากความพยายามในการฟ้องร้องเพื่อไล่รื้อชุมชนแล้ว ชาวบ้านที่อยู่อาศัยขาดแคลนสาธารณูปโภค สภาพชุมชนแออัด ตกสำรวจ ไม่มีบัตรประชาชน ไม่สามารถสร้างห้องน้ำและปลูกสร้างสิ่งใด ๆ ได้อีกต่อไป
ถูกบีบทั้งจากนายทุนและหน่วยงานรัฐ
“ขณะนี้ถึงแม้ชาวบ้านประมาณ 130 หลังคาเรือน ที่มีทะเบียนบ้านก็ไม่สามารถขอน้ำประปาและไฟฟ้าใช้ได้ รวมทั้งถูกคัดค้าน เนื่องจากไม่มีโฉนดที่ดิน ต้องอาศัยซื้อน้ำประปาและไฟใช้ แพงกว่าที่อื่น 3 เท่า ไม่มีงบพัฒนาชุมชนถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่มีห้องน้ำใช้ เพราะไม่สามารถต่อเติมที่อยู่อาศัยได้ ในชุมชนมีต้นมะพร้าวสูงเยอะมาก เคยล้มทับบ้านหลายหลังคาเรือน แม้หากยืนต้นตายก็ตัดไม่ได้ และไม่มีสิทธิ์โค่น บ่อน้ำสาธารณะถูกไล่กลบตลอดเวลา รวมทั้งพื้นที่สุสานและพิธีกรรมถูกเอกสารสิทธิ์ทับ และกำลังจะถูกก่อสร้างทับสุสาน ขณะเดียวกัน และต้องออกหาปลาไกลขึ้น ดำน้ำลึกขึ้น อันตรายมากขึ้น ซึ่งปัญหานี้เราก็ไม่รู้ว่าจะช่วยเหลือตัวเองได้อย่างไรต่อไป เพราะเราเชื่อว่าพวกเราอยู่ที่นี่มานาน แต่กลับต้องถูกไล่ให้ไปอยู่ที่อื่น ไม่มีที่ดิน หรือทะเลที่จะให้อยู่อีกต่อไป” สนิทระบุ
นอกจากนี้ยังพบว่า มีสุสานชาวเลและพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเลในย่านอันดามันเกือบ 20 แห่ง ถูกเอกชนนำไปออกเอกสารสิทธิ เพราะส่วนใหญ่เป็นชายหาดสวยงามและที่ดินมีราคาสูง โดยห้ามชาวเลเข้าไปใช้สุสานและพื้นที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ อาทิ สุสานบนเกาะเฮ สุสานบนเกาะเปลว สุสานแหลมตุ๊กแก พื้นที่พิธีกรมชุมชนราไวย์ จ.ภูเก็ต สุสานชาวเลบนเกาะพีพี สุสานชาวเลบนเกาะลันตา พื้นที่พิธีกรรมโต๊ะบาหลิว จ.กระบี่ สุสานปาวีป สุสานทุ่งหว้า สุสานบ้านน้ำเค็ม จ.พังงา เป็นต้น
จากการบุกรุกถือครองที่ดินของเอกชนหลายราย ทำให้ปัจจุบันโรงแรมรีสอร์ท และสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งที่อยู่ริมทะเล สร้างทับอยู่บนสุสานเก่าแก่ของบรรพบุรุษชาวเล ซึ่งหลายคนเชื่อว่า เป็นสิ่งไม่เป็นมงคล
ต่อสู้มาแล้วหลายวิธีแต่การแก้ปัญหายังไม่คืบ
ก่อนหน้านี้ ในปี 2553 คณะอนุกรรมการตรวจสอบการออกหนังสือแสดงสิทธิ์ในที่ดิน บริเวณชุมชนชาวเล 3 ชุมชนในภูเก็ต มีมติโดยสรุปให้สำนักแก้ไขปัญหาบุกรุกที่ดินของรัฐ สำนักงานปลัดกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอความอนุเคราะห์อ่านแปลภาพถ่ายทางอากาศ ในพื้นที่ชุมชนชาวเล มอบหมายให้กรมที่ดินหรือเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต นำสารบบภาพถ่ายทางอากาศตรวจสอบตามลำดับเหตุการณ์ก่อนหลัง มอบหมายให้กรมพัฒนาที่ดินตรวจสอบข้อมูลภาพถ่ายทางอากาศ ตั้งแต่ปีเริ่มต้น จนถึงปีปัจจุบัน มอบหมายให้เครือข่ายชุมชนฯ รวบรวมข้อมูลประวัติของชุมชน อ.เมืองภูเก็ต และเจ้าพนักงานที่ดินภูเก็ต สรุปข้อมูลการเข้าอยู่อาศัยของราษฎรในพื้นที่ ฯลฯ รวมทั้ง นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย
นอกจากนี้ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ ยังมีข้อเสนอแนวคิดเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลว่า ชาวเลเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในพื้นที่อันดามัน กำลังเผชิญกับปัญหาวิกฤตด้านสังคมและวัฒนธรรม ไม่มีความรู้ด้านกฎหมาย มักถูกเอาเปรียบและถูกฉ้อโกงเสมอ ดังนั้นชาวเลจึงเป็นกลุ่มเปราะบางที่สังคม จะต้องปกป้องคุ้มครองให้สามารถเข้าถึงสิทธิต่างๆ จึงเสนอให้สร้างเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษของชาวเล เพื่อคุ้มครองทั้งที่อยู่อาศัย ที่ทำกินดั้งเดิม การฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรม และคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมายาวนาน และหลีกเลี่ยงการอพยพโยกย้ายชุมชนออกจากพื้นที่เกาะและชายฝั่ง
ที่ดินภูเก็ตแพงขึ้น 200 เปอร์เซ็นต์ ทำให้แก้ปัญหายากขึ้น
ต่อมาในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้มีมติคณะรัฐมนตรี เห็นชอบในหลักการแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล ตามแนวทางจัดทำพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชาวเล และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำแผนไปปฏิบัติ ประกอบด้วย การสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย การให้ชาวเลสามารถประกอบอาชีพประมงหาทรัพยากรตามเกาะต่างๆ ได้ โดยผ่อนปรนพิเศษในการใช้อุปกรณ์ดั้งเดิมของกลุ่มชาวเล รวมถึงการสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูวิถีชีวิตและวัฒนธรรม แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้ามากนัก ขณะที่ในช่วงปี พ.ศ.2554 ข้อมูลจากสำนักงานธนารักษ์ จ.ภูเก็ต ที่ได้กำหนดราคาที่ดินทั่วทั้งจังหวัด ระหว่างเดือนมกราคม 2551 ถึงเดือนธันวาคม 2554 พบว่า มีราคาประเมินเพิ่มสูงขึ้นกว่า 100-200 เปอร์เซนต์ โดยเฉพาะพื้นที่ต.ราไวย์ ราคาที่ดินเฉลี่ยไร่ละ 5,500,000 บาท หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 178 เปอร์เซนต์ ทำให้การแก้ปัญหาที่ดินทำได้ยากขึ้น
นักกฎหมายแนะรวมกลุ่มให้ข้อมูลศาลดีกว่าสู้เดี่ยว
ด้านนายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ทับที่ดินของชาวบ้าน จนกลายเป็นการต่อสู้กันในกระบวนการยุติธรรมว่า แนวทางการต่อสู้ที่สำคัญคือ ชาวบ้านจะต้องรวมตัวกันเป็นกลุ่ม ให้เป็นปึกแผ่น เพื่อร่วมกันให้ข้อมูล ให้คำอธิบายต่อศาล และพิสูจน์ว่าพื้นที่บริเวณนี้ เป็นชุมชนชาวเลที่อยู่อาศัยกันมาดั้งเดิม โดยมีจุดประสงค์สำคัญคือการใช้ประโยชน์ร่วมกัน โดยไม่ได้มุ่งหวังที่จะครอบครองเป็นกรรมสิทธ์ของผู้หนึ่งผู้ใดคนเดียว แต่ที่ผ่านมาได้พิจารณาจากคำพิพากษาเห็นว่า ไม่ได้มีการร่วมกันเป็นพยาน เพื่อพิสูจน์ให้ศาลเห็นในเนื้อหาข้อมูลที่หนักแน่น ทำให้การต่อสู้อ่อน เพราะศาลจะพิจารณาจากหลักฐานข้อมูลเท่านั้น ดังนั้นแนวทางสำคัญของการต่อสู้ชาวบ้านจึงควรร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งมากกว่านี้
เชื่อขอเพิกถอนโฉนดทับสุสานได้
ในส่วนของพื้นที่สุสานของบรรพบุรุษชาวเลที่ถูกบุกรุก นายกิตติศักดิ์แสดงความคิดเห็นและเสนอแนะว่า ตามกฎหมายแล้ว สุสานและพื้นที่ประกอบพิธีกรรม เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ ซึ่งเอกชนไม่สามารถถือกรรมสิทธิ์หรือนำไปออกโฉนดได้ หากมีการออกโฉนดทับสุสาน และสามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นการออกโฉนดทับพื้นที่สาธารณะ ประชาชนที่มีสิทธิ์ใช้สถานที่นั้นสามารถขอให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดนั้น ไม่ว่าจะออกโฉนดนั้นมานานเท่าใดก็ตาม โดยเรื่องนี้เคยมีคำพิพากษาที่ จ.เชียงใหม่ กรณีที่มีการอ้างกรรมสิทธิ์ในที่ดินและเปิดร้านค้าบริเวณแนวกำแพงเมือง โดยทางการขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิแม้จะออกมานาน เพราะเดิมทีฐานกำแพงเมืองกว้าง ในที่สุดศาลก็ได้ตัดสินให้มีการเพิกถอน หรืออย่างกรณีสุสานจีนที่สีลม กรุงเทพฯ ก็เช่นเดียวกัน และ กรณีสุสานของชาวเลนั้น ชาวเลก็ควรยื่นเรื่องให้กรมที่ดินเพิกถอนโฉนดหรือเอกสารสิทธิ เพราะพื้นที่ดังกล่าว ถือว่าเป็นสาธารณประโยชน์ หากกรมที่ดินไม่ยอมดำเนินการก็สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้เช่นกัน
แนะชาวบ้านชี้ให้ศาลเห็นวิถีชีวิตชุมชนแทนพิสูจน์จากตัวอักษร
ขณะที่ ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ประธานมูลนิธิชุมชนไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาชาวเลเป็นกลุ่มชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่มานาน และตนก็เชื่อจากข้อมูลหลักฐานที่มีการนำมาชี้แจง แต่เมื่อเอกชนออกเอกสารทับที่ดินทำมาหากิน ก็ไม่ได้ต่อสู้อะไร เพราะโดยพื้นฐานของชาวเลอุรัก ลาโว้ย เป็นคนที่สุภาพ ไม่ต้องการมีเรื่องราวกับใคร จึงยอมที่จะถูกเอาเปรียบเรื่อยมา อย่างไรก็ตามในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคใหม่สมัยใหม่แล้ว การที่จะมีชีวิตอยู่รอด ทุกคนจะต้องต่อสู้เมื่อถูกเอาเปรียบ แต่ต้องเป็นการต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมาย ในกรณีนี้ตนเห็นว่า ชาวบ้านอาจฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอให้เพิกถอนโฉนด หรือเอกสารสิทธิ์ตามที่ถูกนำมากล่าวอ้าง
ดังนั้นการเก็บข้อมูลเรื่องประวัติชุมชนจึงสำคัญมาก เพื่อจะนำไปใช้เป็นหลักฐานในการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม เช่นเดียวกับเรื่องสุสาน ก็ต้องนำหลักฐานมายืนยันเช่นกัน และการเดินทางมาในทิศทางนี้ น่าจะเป็นแนวทางการต่อสู้ที่ถูกต้อง แต่ก็ต้องมีน้ำหนักของหลักฐานที่เชื่อถือได้ เพื่อพิสูจน์ให้ศาลได้เห็น ซึ่งโดยปกติแล้วในการพิจารณาของศาลจะดูจากเอกสารหลักฐาน ตีความตามตัวอักษร ดังนั้นชาวบ้านจะต้องชี้ให้ศาลเห็นถึงความสำคัญของชุมชน วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ที่มีชีวิตชีวามากกว่าการตีความเพียงตัวอักษรอย่างเดียว เรื่องนี้เป็นเรื่องของความเป็นธรรม ดังนั้นทำอย่างไรให้มีการพิพากษาตามความเป็นธรรมมากกว่าตัวอักษร ซึ่งบางทีการสร้างกระแสจึงมีความจำเป็น เพราะหากคำพิพากษาไม่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมก็จะเสียหายกับผู้พิพากษาเอง
‘ชาวเล’ ชาติพันธุ์ที่ถูกเอาเปรียบ
ชาวเล เป็นชื่อเรียกกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเรือและใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายกับท้องทะเลมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน หรือบางครั้งใช้คำว่า “ ชาวน้ำ ” (sea people หรือ sea gypsy) งานศึกษาวิจัยพบว่า ชาวเลเป็นชนเผ่าพื้นเมืองในทะเลอันดามันที่อาศัยมายาวนานประมาณ 300-500 ปี โดยเคยเดินทางและทำมาหากินอย่างอิสระบริเวณชายฝั่งทะเลและเกาะแก่งต่างๆ ทั้งในประเทศไทย อินโดนีเซีย พม่า อินเดีย แต่หลังจากมีการแบ่งเส้นแดนระหว่างประเทศต่างๆ ชัดเจนขึ้นทำให้ชาวเลต้องปักหลักตั้งถิ่นฐานในแต่ละประเทศ โดยมีกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเล 3 กลุ่ม คือ มอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย แม้ว่าจะมีภาษาและวัฒนธรรมคล้ายคลึงกัน แต่หากพิจารณาในรายละเอียด จะพบความแตกต่างที่ทำให้คนภายนอกสังเกตได้หลายประการ อาทิ ด้านภาษา กลุ่มอูรักลาโว้ยมีภาษาที่แตกต่างกับกลุ่มอื่นค่อนข้างมาก ขณะที่ภาษาของมอแกนและมอแกลนมีส่วนคล้ายคลึงกัน มีคำศัพท์ที่เหมือนกันเป็นส่วนใหญ่ และสามารถสื่อสารกันพอรู้เรื่อง รูปแบบเรือดั้งเดิมของมอแกน มอแกลน และอูรักลาโว้ย ก็แตกต่างกัน และพิธีกรรมก็แตกต่างกัน มอแกลนและอูรักลาโว้ยตั้งหลักแหล่งถิ่นฐานค่อนข้างถาวร และมีการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปค่อนข้างมาก จนในปัจจุบันมักถูกเรียกขานว่า “ไทยใหม่” มอแกน หรือ ยิปซีทะเล เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเรือและใช้ชีวิตแบบเรียบง่ายกับท้องทะเลมาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน
ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์นี้สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ
1.มอแกน ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่ หมู่เกาะสุรินทร์ เกาะพระทอง จ.พังงา และเกาะเหลา เกาะพยาม จ.ระนอง
2. มอแกลน ที่อพยพตนเองมาตั้งถิ่นฐานบนพื้นราบ (ซึ่งมอแกนเรียกว่า “ออลัง ตามัม”) ปัจจุบันชนกลุ่มนี้จะอาศัยอยู่ในบริเวณพื้นที่บ้านหินลาด ต.ท้ายเหมือง จ.พังงา และบางส่วนก็อยู่ที่ บ้านทุ่งหว้า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา
3.อูรักลาโว้ย ซึ่งมีวิถีชีวิตคล้ายคลึงกับกลุ่มมอแกน และกลุ่มมอแกลน แต่จะมีวัฒนธรรมด้านรากภาษาที่แตกต่างกันพบได้ที่ชุมชนหาดราไวย์ ชุมชนสะปำ จ.ภูเก็ต และชุมชนบ้านสังกาอู้ อ.เกาะลันตา จ.กระบี่
ปัจจุบันชุมชนชาวเลอาศัยใน 5 จังหวัดอันดามัน คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ และสตูล จำนวน 41 ชุมชน มีประชากรจำนวน 17,485 คน พื้นที่ทำกินของชาวเล คือทะเล ทั้งชายฝั่งทะเล หาดทราย หาดหิน แนวปะการัง และป่าซึ่งเป็นป่าชายเลน ป่าชายหาด ป่าดงดิบ การดำรงชีวิตแบบดั้งเดิม อยู่กับท้องทะเลเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลไม่ค่อยได้ติดต่อและสัมพันธ์กับชีวิตในสังคมเมืองมากนัก จึงทำให้เกิดปัญหาถูกเบียดขับจากการพัฒนา
ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา ชาวเลต้องประสบปัญหาซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบอีกหลายกลุ่ม คือ การไร้รัฐและการถูกปฏิเสธสิทธิขั้นพื้นฐาน การขาดความมั่นคงในที่อยู่อาศัย การถูกกีดกันออกจากสิทธิในการใช้และเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ การถูกผลักเข้าสู่กิจกรรมที่ผิดกฎหมายและการทำงานที่เสี่ยงอันตราย การเข้าถึงและการได้รับบริการรักษาพยาบาล การขาดความมั่นใจและภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม และการถูกดูแคลนจากบุคคลที่ไม่เข้าใจในวิถีวัฒนธรรมแบบ “ชาวเล” ฯลฯ
ปัญหาที่ชาวเลประสบอยู่ในปัจจุบันมีหลายด้าน ในแต่ละพื้นที่มีรายละเอียดและความเข้มข้นของปัญหาแตกต่างกันไป ซึ่งปัญหาในภาพรวมเกิดจากการพัฒนาการท่องเที่ยวและการประกาศเขตอนุรักษ์ของรัฐ ส่งผลกระทบต่อที่ทำกินดั้งเดิมของชาวเล จากข้อมูลสำรวจพบว่า มีชุมชนชาวเลที่ไม่มีความมั่นคงในที่ดิน 25 แห่ง มีพื้นที่สุสานและพื้นที่ประกอบพิธีกรรมถูกรุกราน 15 แห่ง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ