ชาวบ้านฟ้อง 'กฟผ.-ทส.-ครม.'  จี้หยุดซื้อไฟฟ้า'เขื่อนไซยะบุรี'

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 7 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2276 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2555 ที่ศาลปกครองกลาง ถ.แจ้งวัฒนะ ชาวบ้านจากเครือข่ายประชาชนไทย 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ประมาณ 70 คน ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ลงนามในสัญญาซื้อพลังงานไฟฟ้าจากบริษัท ไซยะบุรี พาวเวอร์ จำกัด ในประเทศลาว โดยมีผู้ฟ้องคดี 37 คน และผู้สนับสนุนให้ฟ้องคดี 1019 คน ซึ่งประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มน้ำโขงในประเทศไทย ได้แก่ เชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อำนาจเจริญ มุกดาหาร อุบลราชธานี ทั้งนี้ผู้ถูกฟ้องคดีนอกจาก กฟผ.แล้วยังประกอบด้วย คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กระทรวงพลังงาน และคณะรัฐมนตรี โดยข้อกล่าวหา คือ ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ว่าด้วย การปฏิบัติตามข้อตกลงแม่น้ำโขง การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร

 

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานเครือข่ายอนุรัษ์ทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม ลุ่มน้ำโขง-ล้านนา หนึ่งในผู้ฟ้อง กล่าวว่า สำหรับประเด็นในการฟ้องร้อง เครือข่ายเห็นว่า กฟผ. และหน่วยงานอื่นที่มีหน้าที่ทำการตัดสินใจเกี่ยวกับพลังงาน ได้ปล่อยให้กฟผ.ทำสัญญาสำคัญ โดยไม่ได้ทำตามหน้าที่ของตนในการ แจ้งข้อมูล และปรึกษาหารือกับสาธารณะ และไม่ทำการประเมินผลกระทบทางสังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพ จึงถือเป็นการละเมิดสิทธิตามที่ได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญไทย และกฎหมายอื่นๆ

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                 “สัญญาซื้อไฟฟ้าเขื่อนไซยะบุรี ไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เรื่อง การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารและกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เรื่องสิทธิชุมชน การวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และการรับฟังความคิดเห็น และความผูกพันของรัฐต่อกติการะหว่างประเทศ ขณะที่ระดับภูมิภาค โครงการนี้ไม่ปฏิบัติตามข้อกฎหมายของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ทั้งๆ ที่เป็นโครงการที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ประชาชน และความมั่นคงของชาติว่าด้วยเรื่องดินแดน” นายนิวัฒน์กล่าว

 

 

นายอิทธิพล คำสุข หนึ่งในผู้ฟ้องจากจ.หนองคาย กล่าวว่า จากประสบการณ์ ทำให้ชาวบ้านคาดได้ว่าโครงการเขื่อนไซยะบุรีในลาว จะก่อความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่รุนแรง สร้างความเสียหายระบบนิเวศแม่น้ำโขง พันธุ์ปลา การประมง วิถีชีวิต และสุขภาพของชุมชนริมโขง โดยเขื่อนแห่งนี้จะเป็นเขื่อนแรกในชุดเขื่อน 11 เขื่อน บนแม่น้ำโขงตอนล่าง ซึ่งมีการทำข้อมูลเรื่องผลกระทบไว้มากมาย และสรุปได้ว่าชาวบ้านเดือดร้อนแน่ รัฐบาลอื่นๆ ในประเทศตามลำน้ำโขง และผู้เชี่ยวชาญทั้งไทยและต่างชาติก็เห็นว่าจำเป็นต้องมีการศึกษาเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดนมากขึ้น

 

น.ส. ส.รัตนมณี พลกล้า หัวหน้าทีมทนายความฟ้องร้องครั้งนี้ กล่าวว่า โครงการเขื่อนไซยะบุรีนี้ ถือว่าริเริ่มและดำเนินการโดยหน่วยงานในประเทศไทยทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งชาวบ้านที่คาดว่าจะได้รับความเดือดร้อนได้ทำทุกวิถีทางที่จะให้มีการยุติหรือทบทวนโครงการตลอดมา เนื่องจากเห็นว่ากระบวนการในการดำเนินโครงการไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

               “ในคำฟ้องขอศาลพิจารณาพิพากษาว่า โครงการสัญญาซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนไซยะบุรี ของกฟผ. เป็นโครงการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และให้มีคำสั่งให้ยกเลิกโครงการดังกล่าวเสีย และให้มีคำพิพากษา ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งห้าปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ กฎหมาย และมติของรัฐบาล รวมทั้งการแจ้งข้อมูลและการเผยแพร่ข้อมูลอย่างเหมาะสม การรับฟังความคิดเห็นอย่างเพียงพอและจริงจัง และการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ทั้งในฝั่งไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอันตรายข้ามพรมแดน ก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ เกี่ยวกับการจัดซื้อไฟฟ้าจากโครงการเขื่อนไซยะบุรี” น.ส.ส.รัตนมณีกล่าว

 

ทนายความกล่าวว่า เขื่อนไซยะบุรีจะส่งผลกระทบต่อมนุษย์ และทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ทั้งในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้านในลุ่มน้ำโขง แต่ไม่ปรากฏว่าหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลไทยจะดำเนินการใด ๆ จึงเห็นช่องทางของศาลเป็นที่พึ่งหนึ่ง ที่จะนำมาซึ่งความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมได้ จึงร่วมฟ้องศาล

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: