หลังจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้จัดวางยุทธศาสตร์ตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และได้ดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงแก้ไขแผนแม่บทตามที่ได้อนุมัติร่าง ซึ่งจะมีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในเดือนมีนาคมนี้
ศูนย์ข่าว TCIJ สัมภาษณ์ พ.อ.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์(กสท. ) ภายหลังจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ และร่างตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ว่า ขั้นตอนที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ เป็นการรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงแผนแม่บท และส่วนที่มีความเข้าใจผิด หรือนำเสนอข้อมูลมาแล้ว คิดว่าหากในแผนแม่บทเดิมที่ดีกว่า จะมีการอธิบายถึงสาเหตุที่ไม่มีการแก้ไขและนำขึ้นเว็บไซต์ของกสท. ซึ่งทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นได้ และสามารถโต้แย้งได้ หากไม่มีเหตุผลใดที่จะโต้แย้งได้ ทางคณะกรรมการก็จะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา
“เรารับฟังความคิดเห็นอย่างครบถ้วนและรอบด้าน ไม่ใช่รับฟังเป็นพิธีการ เรามีการเผยแพร่ให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น หากมีความจำเป็นต้องพิจารณาเพิ่มเติมก็จะดำเนินการ ก่อนหน้ามีการรับฟังความคิดเห็นในหลายเวที เช่นเวทีรับฟังความคิดเห็นจากองค์กร เครือข่ายผู้บริโภค โดยทางคณะกรรมการต้องการความคิดเห็นที่หลากหลายมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”
ถาม : ข้อคิดเห็นในเรื่องอะไรที่มีผู้แสดงความเป็นห่วงที่สุด
พ.อ.นที : เรื่องระยะเวลาการคืนคลื่นความถี่ โดยเฉพาะในส่วนของการคืนคลื่นความถี่กิจการวิทยุกระจายเสียง ที่กำหนดให้ดำเนินกิจการได้ไม่เกิน 5 ปี และกิจการโทรทัศน์ไม่เกิน 10 ปี ซึ่งเป็นกรอบสูงสุดในการคืนคลื่นความถี่ในกรณีที่หน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรเดิมไม่ได้กำหนดระยะเวลาไว้ เพราะมีภารกิจหน้าที่จำเป็น รวมถึงประโยชน์สาธารณะต้องประกอบกิจการต่อไป ทั้งนี้ทั้งนั้นระยะเวลาดังกล่าวถือเป็นระยะเวลาสูงสุด ใครจะเป็น 5 ปี 4 ปี หรือ 3 ปี นั้น ทางคณะกรรมการจะเป็นผู้กำหนดระยะเวลาอีกครั้งโดยใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาว่าใครควรจะดำเนินการเท่าไหร่
ถาม : ประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงกันมากคือการคืนคลื่นความถี่ระยะเวลา 5 ปี 10 ปี ซึ่งผู้ประกอบการแต่ละรายได้ระยะเวลาไม่เท่ากันตรงนี้จะอธิบายอย่างไร
พ.อ.นที : บางคนบอกว่าระยะเวลายาวเกินไป บางคนบอกว่าระยะเวลาสั้นเกินไป บางหน่วยงานก็บอกว่า ควรจะเป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งกฎหมายกำหนดให้การออกใบอนุญาตดำเนินกิจการได้ไม่เกิน 7 ปี สำหรับกรณีกิจการกระจายเสียง ซึ่งกรณีกิจการโทรทัศน์ มีระยะเวลาดำเนินการสูงสุด 10-15 ปี นั้น ในเมื่อมีความจำเป็นต้องใช้งานคลื่นความถี่ก็ควรได้รับสิทธิตามใบอนุญาตประกอบกิจการ ซึ่งอีกส่วนต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ได้แสดงความคิดเห็นให้กำหนดระยะเวลาให้สั้นลงเป็น 3 ปี สำหรับกิจการกระจายเสียง และ10 ปี ในกิจการโทรทัศน์ ถือเป็นความคิดเห็นในแต่ละภาคส่วน ซึ่งคณะกรรมการจะนำไปพิจารณาและตัดสินหาเหตุผลที่ดีที่สุด
“ผมคิดว่าข้อโต้แย้งต่างๆ จะถูกนำไปพิจารณาแทบทั้งสิ้น เพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะและสิ่งที่เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติ ผมขอย้ำว่า แม้ว่าเราจะอนุญาต 3 ปี 5 ปี หรือ 7 ปี การประกอบกิจการต้องเข้าสู่กรอบตามกิจการที่อยู่ในพระราชการประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เพราะถ้าหน่วยงานของรัฐเหล่านั้นจำเป็นที่ต้องบริการสาธารณะ เข้าอยู่ในประเภทที่ต้องบริการสาธารณะ กฎหมายการประกอบกิจการกำหนดไว้ว่า ไม่สามารถมุ่งแสวงหาประโยชน์ในทางธุรกิจได้ ต่อให้ได้ระยะเวลา 3 ปี 5 ปี 10 ปี ก็แล้วแต่ ต้องเข้าสู่กรอบการประกอบกิจการตามกฎหมายการประกอบกิจการ”
ถาม : สถานีวิทยุและสถานีวิทยุโทรทัศน์ที่ดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ที่ไม่มีระยะเวลาในการดำเนินการ เช่น ช่อง 9 ช่อง 5 ต้องเข้าสู่กรอบการพิจารณาขอใบอนุญาตเช่นเดียวกันหรือไม่
พ.อ.นที : ใช่ครับ ต้องเข้าสู่กรอบดังกล่าว พูดง่ายๆว่า หากเข้าสู่แผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ ของกสทช. ก็ต้องเข้าสู่กรอบนี้ ถ้าเป็นคลื่นวิทยุก็ไม่เกิน 5 ปี ถ้าเป็นโทรทัศน์ก็มีอายุการดำเนินการได้ไม่เกิน 10 ปี แต่หากดูแผนแม่บทในกิจการโทรทัศน์ก็จะมีแผนแม่บทเสริมเพิ่มขึ้นมาอีก ขึ้นอยู่กับภารกิจขององค์กรเหล่านั้น เพื่อเป็นไปตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ มาตรา 82 และมาตรา 83
ถาม : สถานีวิทยุโทรทัศน์ทั้งหลายต้องเข้าไปชี้แจงถึงเหตุผล อย่างช่อง 5 และช่อง 7 เป็นสัมปทานของกองทัพบก และอสมท. ซึ่งมีช่อง 9 และช่อง3 โดยปล่อยให้สัญญาสัมปทานกับเอกชนเช่าตรงนี้จะทำอย่างไร
พ.อ.นที : ในกรณีแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ แบ่งเป็น 1.หน่วยงานราชการที่ได้รับคลื่นความถี่ไปแล้วประกอบกิจการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งได้แก่ ช่อง 5 ช่อง 11 หรือช่อง 9 2.กลุ่มที่ได้รับสัญญาสัมปทานจากภาครัฐ คือ ช่อง 3 และช่อง 7 กล่าวคือ ช่อง3 ได้รับสัญญาสัมปทานจาก อสมท. ส่วนช่อง 7 ได้รับสัญญาสัมปทานจากกองทัพบก ในกรณีของผู้ที่ประกอบกิจการด้วยตนเองนั้น จะเข้าสู่ข้อที่ 3 ของยุทธศาสตร์ ที่ระบุว่า
ในกรณีที่ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ไปโดยไม่กำหนดระยะเวลา ต้องมาบอกรายละเอียดที่เกี่ยวข้อง การใช้คลื่นความถี่ ความจำเป็นของหน่วยงานเหล่านั้น
หลังจากนั้นทางกสทช.จะเป็นผู้พิจารณากำหนดเวลาว่า ควรจะได้รับการประกอบกิจการระยะเวลาเท่าไหร่ ในแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ ได้กำหนดระยะเวลาไว้ ถ้าเป็นวิทยุกระจายเสียง ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม มีภารกิจ มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดก็ไม่เกิน 5 ปี ถ้ากรณีของโทรทัศน์ก็ไม่เกิน 10 ปี นั้นคือสิ่งที่เขียนไว้ในแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ แต่ในแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ระบุไว้คือ สิ่งแรกที่กสทช.ต้องทำคือ กำหนดกฎ กติกาในการพิจารณาระยะเวลาในการดำเนินการให้กิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อลดดุลยพินิจของกรรมการ พูดง่ายๆคือ กฎเหล่านั้นต้องบังคับใช้กับทุกคนไม่ว่าจะเป็น ช่อง 9 ช่อง 5 ช่อง 11 ก็ต้องเข้าสู่กติกาอันเดียวกัน พิจารณาในรูปแบบเดียวกัน ซึ่งแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ระบุว่า ภายใน 6 เดือนกฎ กติกาเหล่านั้นจะต้องเสร็จเรียบร้อย และภายใน 6 เดือนต่อจากนั้นจะต้องเห็นผลอย่างเป็นรูปธรรมในการตัดสิน
ส่วนคนกลุ่มที่ 2 คือ ผู้ได้รับสัญญาสัมปทานจากภาครัฐ อย่างกรณีช่อง 3 และช่อง 7 ในแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ กำหนดไว้ว่า ใครก็ตามที่ได้รับสัญญาสัมปทานจากภาครัฐ ต้องนำรายละเอียดสัญญาสัมปทานต่างๆมาให้กสทช. ดำเนินการพิจารณา เมื่อพิจารณาเสร็จเรียบร้อย ถ้าสัญญาสัมปทานถูกต้องตามกฎหมาย กฎหมายก็คุ้มครองสัญญาสัมปทานโดยการออกใบอนุญาต ตามกรอบของสัญญาสัมปทานเหล่านั้น หลังจากนั้นจะได้ปฏิบัติประกอบกิจการตามใบอนุญาต แต่เป็นการประกอบกิจการตามสัญญาสัมปทานที่ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ
“เขาจะได้รับใบอนุญาตแต่เป็นไปตามสัญญาสัมปทาน เราจะเห็นว่ากฎหมายมุ่งที่จะเปลี่ยนผ่านในกิจการ โดยเปลี่ยนจากระบบสัญญาสัมปทานเดิม มาสู่ระบบในการออกใบอนุญาต แต่ยังคุ้มครองสัญญาสัมปทานและสิ่งที่เป็นสัญญาระหว่างรัฐกับเอกชน เรื่องการให้ใบอนุญาตให้เป็นไปตามกรอบสัญญาสัมปทาน”
ถาม : ใบอนุญาตดำเนินกิจการจะเป็นไปตามอายุของสัมปทานใช่หรือไม่ อย่างไร
พ.อ.นที : สมมุติว่า สัญญาสัมปทานเหลือ 8 ปี อายุของใบอนุญาตดำเนินการก็เหลือ 8 ปี เมื่อสิ้นสุดสัญญาก็ต้องคืนคลื่นความถี่ให้กสทช. ส่วนหลักในการพิจารณาจะพิจารณาถึงระยะเวลา ความจำเป็นตามแผนแม่บทบริหารคลื่นความถี่ ซึ่งส่วนสัญญาสัมปทาน กสทช.ต้องตรวจสอบสัญญาสัมปทาน
ถาม : สถานีวิทยุโทรทัศน์แต่ละช่องต้องเข้ามาขอใบอนุญาตทุกๆ 10 ปี ใช่หรือไม่
พ.อ.นที : ไม่ใช่ เป็นเพียงช่วงเปลี่ยนผ่าน ทีวีแต่ละช่องสิ่งที่ต้องทำคือ ต้องเอาสัญญาสัมปทานรวมถึงรายละเอียดการใช้คลื่นความถี่มาชี้แจงกับกสทช. ตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด หลังจากนั้นเมื่อมีการพิจารณาแล้ว หากจำเป็นต้องใช้งานคลื่นความถี่ ทางกสทช.จะออกใบอนุญาตให้ เช่น ใบอนุญาตครั้งที่ 1 ไม่ว่าจะด้วยภารกิจการใช้งาน ความจำเป็น ทางกสทช.จะออกใบอนุญาตให้ไม่เกิน 10 ปี แต่หลังจากระยะเวลา 10 ปี หากหน่วยงานนั้นเป็นหน่วยงานที่ประกอบกิจาการบริการสาธารณะ มีความจำเป็นต้องใช้คลื่นความถี่นั้นอยู่ก็สามารถเข้ามาขอใบอนุญาตประกอบกิจการได้อีก และเป็นไปตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ซึ่งกำหนดระยะเวลาในการประกอบกิจการได้ไม่เกิน 7 ปี สำหรับคลื่นวิทยุ และสำหรับสถานีโทรทัศน์มีอายุไม่เกิน 15 ปี แต่กรอบที่เขียนไว้ 5 ปี และ 10 ปี เป็นเพียงกรอบที่ใช้สำหรับระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน กรณีที่มีการอนุญาตถ้ามีความจำเป็น ครั้งที่ 1 ไม่เกิน 5 ปี ในกรณีสำหรับวิทยุกระจายเสียง และไม่เกิน 10 ปี ในกรณีโทรทัศน์
ถาม : ช่อง 5 และ ช่อง 3 กรณีที่มีอายุสัญญาสัมปทานยาวนานนับ 30 ปีจะทำอย่างไร ต้องออกใบอนุญาตใหม่หรือไม่
พ.อ.นที : กรณีช่อง 3 เป็นการทำสัญญาสัมปทานของรัฐ เข้ากรอบสัญญาสัมปทานของรัฐ ทางกสทช.จะเข้าไปตรวจสอบว่า เป็นไปตามสัญญาสัมปทานหรือไม่ แล้วออกใบอนุญาตให้ไปตามสัญญาสัมปทาน ในกรณีช่อง 5 ช่อง 11 และช่อง 9 ดำเนินโดยหน่วยงานของรัฐ ก็ต้องเข้ามาชี้แจงถึงความจำเป็นในการประกอบกิจการ และออกใบอนุญาตให้ ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่เกิน 10 ปี
ถาม : ขณะนี้มีสถานีวิทยุและสถานีวิทยุโทรทัศน์จำนวนเท่าไหร่ ที่เข้ามาขอใบอนุญาตจากกสทช.
พ.อ.นที : วิทยุกระจายเสียงมีทั้งหมด 500 สถานี สำหรับสถานีวิทยุโทรทัศน์มี 4 สถานีที่เป็นฟรีทีวี ได้แก่ ช่อง 5 ช่อง 9 ช่อง 11 และสถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทยพีบีเอส ส่วนอีก 2 สถานีที่ดำเนินการเองที่เป็นสัญญาสัมปทาน คือ ช่อง 3 และช่อง 7 ส่วนโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และวิทยุชุมชนจะเป็นไปตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งสิ่งแรกที่ต้องทำ คือ การออกมาตรการชั่วคราวเพื่อให้ดำเนินการต่อไปและเข้าสู่การออกใบอนุญาต ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ ซึ่งกิจการกระจายเสียงแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.วิทยุกระจายเสียงชุมชน 2.กิจการบริการสาธารณะ 3.กิจการบริการธุรกิจ
ถาม : มีแนวโน้มการแบ่งโซนคลื่นวิทยุกระจายเสียง ตามคำเรียกร้องของสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติหรือไม่
พ.อ.นที : มีแนวโน้มจะพิจารณาต่อไป แต่ขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังไม่มี ส่วนกิจการเคเบิ้ลทีวี หรือโทรทัศน์ดาวเทียม ซึ่งไม่ได้ใช้คลื่นความถี่ จะมีการพิจารณาในการออกใบอนุญาตต่อไป เพราะการออกใบอนุญาตถือเป็นจุดเริ่มต้นในการนำกิจการเหล่านี้ให้มีการออกใบอนุญาต รวมไปถึงความสะดวกในการกำกับดูแล
ท้ายที่สุดบทสรุปในการออกใบอนุญาตซึ่งว่าด้วยการกำหนดระยะเวลาในการดำเนินกิจการกระจายเสียงที่มีอายุสั้นๆ 5 ปี ในขณะที่กิจการโทรทัศน์เบื้องต้นมีอายุ 10 ปี ส่วนสถานีโทรทัศน์ที่ได้รับสัญญาสัมปทานจากภาครัฐ การขอใบอนุญาตประกอบกิจการก็ขึ้นอยู่กับอายุที่ระบุไว้ในสัญญาสัมปทาน ที่แน่ๆ ช่อง 5 ช่อง 9 และช่อง 11 ก็ต้องขอใบอนุญาตทุกๆ 10 ปี
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ