ในห้วงเวลากว่าเดือนที่ผ่านมา นอกจากข่าวสถานการณ์อุทกภัยที่ทวีวิกฤตขึ้นตรงนั้นตรงนี้ โพลหลายสำนักสำรวจพบตรงกันว่า คนไทยเครียดและเป็นทุกข์มากขึ้น จากการเสพข่าวสารและความเดือดร้อนจากน้ำท่วม คนไทยส่วนข้างมากยอมรับว่า จำเป็นต้องติดตามข่าวสารจากสื่อทุกช่องทางมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน การรับสื่อมากขึ้นก็ทำให้ตนเครียดมากขึ้น เพราะหวั่นวิตกถึงความรุนแรงของสถานการณ์ตามที่สื่อแข่งกันรายงาน
ช่วงวิกฤติมหาอุทกภัยครั้งนี้ยังพบว่า มีสถานการณ์ทางการเมืองเข้ามาสอดแทรกเบนความสนใจของคนไทยเกี่ยวกับการขอพระ ราชทานอภัยโทษที่ทางรัฐบาลดำเนินการพิจารณาร่างกฎหมายพระราชกฤษฎีกาขอพระราช ทานอภัยโทษ โดยมีหนังสือพิมพ์หลายฉบับพาดหัวข่าวสร้างความสนใจ อาทิ “ทักษิณบังคับในหลวง”จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 16 พ.ย.54 หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 16 พ.ย. 54 “ครม.ไฟเขียวพ.ร.ฎ.อภัยโทษ ทักษิณได้ลุ้น” เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้สะท้อนจุดยืนการเลือกข้างของสื่อที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริงทั้ง หมด จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมไทยต้องรู้เท่าทันสื่อ
จากการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา นั้น จะเห็นว่ามีการรายงานข่าวโดยอ้างความเห็นจากแหล่งข่าวเกี่ยวกับข้อมูลการขอ พระราชทานอภัยโทษ โดยมีส่วนเกี่ยวพันกับรายชื่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ผู้ต้องหาหนีโทษคดีทุจริตที่ดินรัชดา ว่าจะได้รับพระราชทานอภัยโทษในร่าง พ.ร.ฎ.ฉบับนี้ด้วย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์รุจน์ โกมลบุตร อาจารย์ประจำสาขาวิชาหนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ คณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์แก่ศูนย์ข่าว TCIJ โดยตั้งข้อสังเกตถึงการพาดหัวข่าวในลักษณะดังกล่าวว่า “โดยแท้จริง ข่าวคือการรายงานข้อเท็จจริง แต่หนังสือพิมพ์บางฉบับ เอาเหลี่ยมของข้อเท็จจริงบางอย่างมาเป็นประเด็นที่ไม่มีน้ำหนัก ฉะนั้นตัวอย่างการพาดหัวข่าวข้างต้น จึงเป็นเพียงแค่การแสดงจุดยืนของกองบรรณาธิการข่าวเท่านั้น ไม่ใช่การสร้างข้อเท็จจริง”
เกิดอะไรขึ้นกับลักษณะการพาดหัวข่าวของหนังสือพิมพ์ในปัจจุบัน
มีข้อสังเกตอยู่ 3 ประการในการพาดหัวข่าวที่กล่าวมาข้างต้น ประการแรก บรรณาการข่าวจะดึงเอาเนื้อข่าวที่คิดว่าสำคัญที่สุดขึ้นมาเป็นหัวข้อข่าว เป็นการชูประเด็นที่ตัวบรรณาธิการข่าวอยากให้เป็นเท่านั้น แต่ไม่ได้ใช้ข้อเท็จจริงที่มีอยู่ในเนื้อข่าวจริง ประการที่สอง ตัวผู้สื่อข่าวทำการบ้านน้อยในการหาข้อมูลที่จะทำข่าวเรื่องนั้นๆ เช่น การปล่อยให้ประชาชนสงสัยเรื่องพระราชกฤษฎีกา เช่น ครม.ต้องประชุมลับไหม ต้องเข้ารับโทษก่อนไหม สามารถตัดเรื่องทุจริตและยาเสพติดออกได้ไหม แต่ถ้าหาข้อมูลหรือสัมภาษณ์ผู้ที่รู้จริงเกี่ยวกับเรื่องพระราชกฤษฎีกาก่อน ที่จะทำข่าว ก็จะช่วยให้ประเด็นกระจ่างได้ ประการสุดท้าย ผู้บริโภคถูกทำให้เข้าใจว่าข่าวคือการรายงานข้อเท็จจริง ในขณะที่บทความคือการสะท้อนมุมมองหรือแนวคิดของผู้เขียน ดังนั้น จึงอยากให้มองอีกมุมหนึ่งว่าข่าวบางทีมันอาจไม่ใช่ข้อเท็จจริง แต่มันคือ ‘การประกอบสร้างข้อเท็จจริง’ ขึ้นมาของกองบรรณาธิการข่าว ด้วยคติความเชื่อหรือเป้าหมายทางการเมืองของตนเอง จึงทำให้ข่าวออกมามีทิศทางที่แตกต่างกันออกไป แม้ว่าจะมีข้อเท็จจริงชุดเดียวกัน เช่น ประเด็นพระราชกฤษฎีกาเหมือนกันแต่เนื้อข่าวต่างกัน เช่น สื่อหนึ่งเสนอประเด็นว่าช่วยทักษิณเพื่อความยุติธรรม หรืออีกสื่อเสนอว่าใช้จังหวะทีเผลอแอบช่วยทักษิณ หรืออีกสื่อเสนอว่าประเทศชาติปั่นป่วนเพราะรัฐบาลกำลังทำในสิ่งที่ขาดนิติ รัฐ หรืออีกสื่อเสนอว่าเป็นเรื่องของรัฐมนตรีอ่อนหัดที่แอบนำข้อมูลลับไปบอกสื่อ หรือบางสื่อบอกว่าไม่ต้องรับโทษก่อนก็ได้เพราะถือเป็นปีมหามงคล ซึ่งน่าสังเกตว่าสื่อกำลังนำเสนอเรื่องเดียวกันหรือไม่
การแข่งขันทางธุรกิจและการแข่งความเร็วของสื่อในปัจจุบัน ทำให้ลดประสิทธิภาพการรายงานข่าวด้วยหรือไม่
เป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว เพราะการทำงานข่าวภายใต้ข้อจำกัดของเวลา บวกกับการพัฒนาเทคโนโลยีทางการสื่อสาร จะกระตุ้นให้สื่อต้องรีบเร่งทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สื่อบางค่ายให้นักข่าวส่งข่าวสำหรับหนังสือพิมพ์ด้วย ส่งข่าวมัลติมีเดียด้วย เขียนบล็อกด้วย แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือความผิดพลาด และการเสนอข้อมูลที่ผิดเพี้ยน เช่น การรายงานสดสถานการณ์น้ำท่วม ผู้สื่อข่าวจะเลือกรายงานมุม(ภาพ)หรือบริเวณที่มีน้ำท่วมขังจำนวนมาก แต่อีกมุมหนึ่งกลับแห้งสนิท แต่ก็เพื่อต้องการดึงดูดความสนใจจากผู้ชม
ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ มักจะเลือกรายงานมุมที่มีน้ำท่วมรุนแรง และลุยเข้าไปถึงบ้านผู้เดือดร้อน แต่ดูเหมือนเพื่อสร้างความตื่นเต้น ดึงดูดความสนใจ
อย่างที่พูดมาแล้วว่า การรายงานข่าวของสื่อมวลชนในปัจจุบันต้องแข่งขันกับเวลาและต้องทันเหตุการณ์ ทำให้มีลักษณะการสร้างข่าวแบบเรียลลิตี้มากขึ้น แต่การนำเสนอข่าวไม่ควรจะไปถึงขั้นการประกอบสร้างข้อเท็จจริงขึ้นเอง เพราะจะทำให้ข้อเท็จจริงมีปัญหา จากการนำอารมณ์ส่วนบุคคลเข้ามาใส่ในเนื้อข่าว และปฏิเสธไม่ได้ว่าการแข่งขันของสื่อมวลชนในปัจจุบันตั้งอยู่บนพื้นฐานความ ต้องการของตลาด ฉะนั้น การทำงานของสื่อมวลชนเอง ก็เป็นการทำงานเชิงพาณิชย์ และมากกว่านั้นคือการแสดงจุดยืนทางการเมือง
ถึงเวลาที่จะกระตุ้นให้ตระหนักถึงจรรยาบรรณของสื่อ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว สื่อก็ทำงานรับใช้ชนชั้น คติ และความเชื่อของตนเอง แม้ว่าสื่อจะประกาศว่าตนเป็นกลางก็ตาม จึงเสนอให้ผู้สื่อข่าวหาแหล่งข่าวจากหลายๆ แหล่งข่าวแล้วนำมาถ่วงดุลกันก็จะช่วยให้ความเชื่อนั้นเจือจางลงได้ และจรรยาบรรณของสื่ออาจจะอยู่ที่ว่าต้องรู้เท่าทันคติหรืออคติของตนว่า ตนทำงานอยู่บนความเชื่ออะไร และควรจะถ่ายทอดข้อเท็จจริงออกมาอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้การทำงานมีน้ำหนักมากขึ้น
ผู้บริโภคข่าวหรือผู้รับสารควรมีวิจารณญาณในการรับสื่ออย่างไร
ปัญหาคือ ผู้บริโภคถูกทำให้เข้าใจว่าข่าวนั้นคือข้อเท็จจริง ฉะนั้น ต้องให้ผู้บริโภครู้ว่าข่าวคือการประกอบสร้างข้อเท็จจริงอย่างที่กล่าวมา ข้างต้น และต้องไม่คาดหวังว่า นักข่าวหรือสื่อเป็นผู้รู้ความจริงทุกอย่าง ต้องไม่คิดว่าคนทำงานข่าวจะให้แต่ข่าวสารที่ยอดเยี่ยม
ถ้าผู้บริโภคคิดว่าสิ่งที่สื่อมวลชนทำมันผิดจรรยาบรรณหรือกฎหมาย ก็ต้องฟ้อง หรือใช้กลไกทางวิชาชีพ โดยเรียกร้องต่อสมาคมนักข่าวหรือสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เพื่อให้เกิดการตรวจสอบการทำงานของสื่อได้
ต้องสร้างกลไกในการรับสารแก่ผู้บริโภคข่าวอย่างไรเพื่อให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) มากขึ้น
จำเป็นต้องมีกลไกบางอย่างเข้ามาช่วยให้กระบวนการการรู้เท่าทันสื่อเร็ว ขึ้น เช่น โรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาทางนิเทศศาสตร์ ต้องสอนให้รู้เท่าทันสื่อ แม้จะเป็นประเด็นที่ใหม่มากในบ้านเรา คือเพิ่งเข้ามาไม่ถึง 20 ปี และตำราการรู้เท่าทันสื่อมีน้อยมากที่เป็นตำราภาษาไทย โรงเรียนทางนิเทศศาสตร์ตอนนี้ทำงานอยู่บนแรงจูงใจทางธุรกิจ ที่ต้องการสร้างบัณฑิตสายนิเทศศาสตร์หรือวารสารศาสตร์เพื่อป้อนสู่ตลาด วิชาชีพการพาณิชย์ ทำให้มีแต่นักนิเทศศาสตร์หรือนักวารสารศาสตร์ที่เก่งด้านเทคนิค แต่ไม่มีใครสอนให้รู้เท่าทันสื่อ อีกทั้งหน่วยงานต่างๆ ควรจะเข้ามามีบทบาทช่วยเร่งกระบวนการเรียนรู้ตรงนี้ ได้ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) หรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้เท่าทันสื่อของสังคมให้เร็วขึ้น ทั้งโดยการรณรงค์และการสร้างองค์ความรู้
การสร้างพลังทางสังคมมีผลต่อการเรียนรู้เท่าทันสื่อมากน้อยแค่ไหน
พลังทางสังคมก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่สำคัญมากต่อการเรียนรู้เท่าทันสื่อ ในประเทศไทยก็มีพลังทางสังคมสะท้อนออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ กรณีจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (บริษัทค่ายเพลง) ที่ก่อนหน้านี้ต้องการเข้าซื้อหุ้นในบริษัทมติชน แต่กลุ่มมติชนเอง ทั้งนักข่าว บรรณาธิการข่าว นักเขียน ผู้อ่านมติชน รวมตัวและเรียกร้องให้แกรมมี่ถอนตัวออกจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในมติชน สุดท้ายแกรมมี่ก็ขายหุ้นมติชนคืน แต่ถ้าแกรมมี่ได้ถือหุ้นมติชนต่อไป ก็จะไม่มีใครทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้นดูเหมือนว่าแกรมมี่ได้ถือหางขั้วอำนาจทาง การเมืองอยู่ ดังนั้น การสร้างกลุ่มบุคคลหรือพลังทางสังคมก็เพื่อสร้างการเรียนรู้ร่วมกันและหวัง ให้เกิดการรู้เท่าทันสื่อมากขึ้น โดยในขณะที่เราเรียนรู้ปรากฏการณ์ทางสังคม เราก็ต้องออกแบบสภาพแวดล้อมทางสังคมไปด้วยกัน
หลายปีที่ผ่านมา เรามีกลุ่มพลังทางสังคม แต่ขัดแย้งแบ่งแยกกัน
แม้ว่าประเทศไทยจะมีกลุ่มขั้วอำนาจหลายฝ่าย และเชื่อว่ายิ่งเกิดความขัดแย้งยิ่งดี เพราะยิ่งได้เรียนรู้สิ่งใหม่ แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือ ประการแรกเราไม่ค่อยทะเลาะกันอย่างอารยะ (คำพูดของอาจารย์ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์) ประการที่สอง สื่อมีข้อจำกัดในการรายงานข้อเท็จจริง ประการสุดท้าย ถ้าผู้รับสารเชื่อในความปรองดอง อยากให้ผู้รับสารตรวจสอบตัวเอง โดยให้ประเมินจากพฤติกรรมมากกว่าคนที่ทำ เช่น หากเรารับไม่ได้กับการทุจริตถุงยังชีพของรัฐบาลนี้ เราก็ต้องรับไม่ได้กับการทุจริตปลากระป๋องของรัฐบาลก่อน หรือหากเรารับไม่ได้กับการตายกลางเมือง ๙๑ ศพ เราก็ต้องรับไม่ได้กับนโยบายปราบปรามยาเสพติดที่นำไปสู่การฆ่า ๒,๕๐๐ ศพของรัฐบาลในอดีตด้วย ปัญหาความขัดแย้งทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากเรามักยึดติดกับบุคคลมากกว่าสิ่งที่เขาทำ และถ้าผู้รับสารพร้อมที่จะเปิดรับข้อมูลใหม่ จงอย่ายึดมั่นถือมั่นกับความเชื่อที่ตนมีอยู่ เพราะถ้าเรามีความเชื่อของเราอยู่แล้ว เราจะเปิดรับข้อมูลบางด้านและปิดรับข้อมูลที่แตกต่าง ปัญหาคือเรารับข้อมูลอยู่ด้านเดียว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ