ภาพโดย Bandita Hari
จากกรณีกรมอุทยานฯ เดินหน้าตัดถนนกันแนวเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง ในพื้นที่สวนยาง และป่าหัวสวน (หย่อมป่าในพื้นที่ชุมชน) ในพื้นที่บ้านยูงงาม หมู่ 1 ต.โพรงจระเข้ อ.ย่านตาขาว บ้านลำพิกุล บ้านลำขนุน หมู่ 4 และหมู่ 8 ต.นาชุมเห็ด อ.ย่านตาขาว และ ต.ช่อง อ.นาโยง ระยะทาง 15 กม.กว้างประมาณ 5 เมตร ขณะนี้ดำเนินการไปแล้วในระยะทางประมาณ 5 กม.โดยเจ้าหน้าที่ไม่เปิดเผยข้อมูลวัตถุประสงค์และรายละเอียดของโครงการ เพียงบอกชาวบ้านว่าตัดถนนเพื่อตรวจป่า ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด ขณะที่ตัดผ่ากลางสวนยางของชาวบ้าน
เมื่อวันที่ 10 พ.ค.54 ตัวแทนเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัดพร้อมด้วยชาวบ้านในพื้นที่ ได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านการดำเนินการดังกล่าวต่อ นายคม ไชยภักดี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด เนื่องจากห่วงว่าการกระทำดังกล่าวจะกระทบต่อทรัพยากรและวิถีชีวิตของชุมชน และก่อนหน้านี้ได้ยื่นหนังสือต่อนายไมตรี อินทุสุต ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง เมื่อวันที่ 6 พ.ค.54 ขอให้ผู้ว่าฯ มีคำสั่งเป็นหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ยุติการก่อสร้างถนนหรือ กระทำการใดๆ ในพื้นที่ทันที พร้อมให้ชี้แจงวัตถุประสงค์ รวมทั้งรายละเอียดโครงการแก่เครือข่ายฯ เป็นหนังสือภายใน 15 วัน เพื่อให้ชุมชนได้รับรู้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง และสามารถกำหนดแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน
ทั้งนี้ ข้อมูลของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด ระบุว่า การดำเนินการของกรมอุทยานฯ ไม่มีการชี้แจง หรือเปิดโอกาสให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุประสงค์และ รายละเอียดของโครงการ ขณะที่ตัดถนนผ่านที่ดินทำกินดั้งเดิมของชุมชน โดยพื้นที่โครงการส่วนหนึ่งอยู่ในพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านยูงงาม, บ้านลำพิกุุล และบ้านลำขนุน ซึ่งคณะกรรมการประสานงานโฉนดชุมชน ได้คัดเลือกให้พื้นที่โฉนดชุมชนบ้านลำขนุน เป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนตามนโยบายรัฐบาล และทางเครือข่ายได้เสนอให้สำนักงานโฉนดชุมชนคัดเลือกพื้นที่โฉนดชุมชนบ้านลำ พิกุลและบ้านลำขนุน เป็นพื้นที่นำร่องโฉนดชุมชนด้วย
นอกจากนี้ การไถดันปรับพื้นที่บนเชิงเขาและเนินเขา ซึ่งเป็นพื้นที่สูงจึงจะส่งผลต่อระบบนิเวศน์ของดิน สายน้ำ และพื้นที่ป่า หากมีฝนตกหนักดินและหินที่ถูกไถจะไหลลงสู่ลำห้วยทำให้ลำห้วยตื้นเขิน ทิศทางน้ำจะเปลี่ยนและอาจทำให้เกิดดินถล่ม น้ำป่าไหลหลากลงมา จะส่งผลกระทบต่อชาวบ้านหลายสิบชุมชน ในพื้นที่ 3 อำเภอ คือ อ.นาโยง อ.ย่านตาขาว และอ.ปะเหลียน รวมทั้งตัวเมืองตรังซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มด้านล่าง
การตัดถนนไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ อีกทั้ง ยังทำให้ชาวบ้านหลายรายต้องสูญเสียพื้นที่สวนยาง อีกทั้งยังมีข้อกังวลด้วยว่า หากเป็นการตัดถนนเพื่อกันแนวเขตป่าแล้ว ชาวบ้านจะยังสามารถเข้าไปทำกินในพื้นที่สวนยาง ซึ่งถูกกันแนวเขตเป็นป่าได้อีกหรือไม่
ทั้งนี้ วันที่ 11 พ.ค.54 ข่าวสดออนไลน์ รายงาน ข่าวว่า นายคม ชัยภัคดี หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ได้ลงพื้นพบปะกลุ่มชาวบ้านที่ออกมาเคลื่อนไหว พร้อมชี้แจงว่า กรณีนี้เกิดมาจากความเข้าใจผิด ซึ่งโครงการตัดถนนในครั้งนี้ ดำเนินการโดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ มีขนาดกว้าง 4 เมตร ระยะทาง 15 กิโลเมตร เป็นลักษณะเส้นทางลำลอง ด้วยการใช้รถแทรกเตอร์เปิดหน้าดิน เพื่อให้รถยนต์ผ่านเข้าไปได้ และตัดขึ้นในช่วงรอยต่อระหว่างเขตป่าไม้กับเขตชาวบ้าน จึงมีต้นไม้ใหญ่น้อยมาก และส่วนใหญ่จะมีสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม
นายคม กล่าวด้วยว่าการตัดถนนสายนี้เพื่อเป็นการแบ่งเขตพื้นที่ให้ชัดเจน และเพื่อความสะดวกในการเดินทางของชาวบ้าน หรือการทำงานของเจ้าหน้าที่ ล่าสุดสามารถตัดถนนได้แล้ว 5 กิโลเมตร ในพื้นที่ ต.โพรงจรเข้ แต่เมื่อตัดเพิ่มมาได้แค่ 200 เมตร ในพื้นที่ ต.นาชุมเห็ด และเตรียมจะตัดต่อไปในพื้นที่ ต.ช่อง อีก 5 กิโลเมตร กลับถูกกลุ่มชาวบ้านร้องเรียนไปถึง ผวจ.ตรัง จึงจำเป็นต้องชะลอโครงการ และเข้าไปทำความเข้าใจในพื้นที่ ทั้งๆ ที่ก่อนเริ่มดำเนินการ ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็เข้าใจกันดีแล้ว
ส่วนข้อกังวลว่าการตัดถนนจะสร้างปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมนั้น เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัดขอยืนยันว่า ทุกอย่างอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่วิศวกร กรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นอย่างดี โดยเลือกดำเนินการเฉพาะในเส้นทางที่จำเป็น และมีผลกระทบน้อยที่สุด ฉะนั้นขอให้กลุ่มอนุรักษ์เกิดความสบายใจได้ ขณะที่เรื่องสิทธิ์ในการทำกินของชาวบ้านก็ยังเป็นปกติ ไม่มีการนำเรื่องนี้มาอ้างเพื่อเปลี่ยนแปลงสิ่งใด พร้อมเชื่อว่าหลังจากทำความเข้าใจในครั้งใหม่แล้ว ทุกอย่างคงจะสามารถดำเนินการต่อไปได้
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ