‘Book Re:Public’ สาธารณรัฐหนังสือ   คำตอบไม่รู้จบของ 'รจเรข วัฒนพาณิชย์' บนพื้นที่แลกเปลี่ยนกับความคิดที่แตกต่าง

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล ศูนย์ข่าว TCIJ 8 ก.ย. 2555 | อ่านแล้ว 3311 ครั้ง

ยามบ่ายกลางเดือนสิงหาคม กลางเวียงเชียงใหม่ ริมถนนเลียบคลองชลประทาน อุณหภูมิกำลังเหมาะแก่การสนทนา ผมก้าวเท้าเข้าสู่ ‘สาธารณรัฐ’ ที่เพิ่งก่อตั้งยังไม่ทันครบขวบปี เป็นสาธารณรัฐขนาดย่อม เนื้อที่ไม่ถึง 1 ไร่ มีประชากรของตนเองน่าจะไม่เกินโหล ส่วนใหญ่เป็นประชากรแฝงประเภทแวะเวียนมาเป็นครั้งคราวเหมือนผม เศรษฐกิจของสาธารณรัฐแห่งนี้พึ่งพิงสินค้านำเข้า-ส่งออกหลักๆ-‘หนังสือ’

 

             “เราไม่ได้ต้องการเป็นสาธารณรัฐแน่นอน อันนี้ต้องบอกไว้ก่อน” เจ้าของร้านออกตัวแต่เนิ่นๆ ฝ่ายความมั่นคงจะได้ไม่ต้องเหนื่อย

 

Book Re: Public ผมขอถือวิสาสะเรียกไทยๆ ว่า สาธารณรัฐหนังสือ เป็นร้านหนังสือใหม่เอี่ยม จริงๆ ก็ไม่ถึงกับใหม่เอี่ยมเพราะเปิดมาตั้งแต่ 22 ตุลาคมปีที่แล้ว แต่เมื่อพูดถึงสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ร้านหนังสือ อายุของสาธารณรัฐหนังสือยังถือว่าแบเบาะและยังต้องพิสูจน์ความแข็งแรงของช่วงขาในการยืนระยะอีกมาก เจ้าของร้านไม่ใช่ใครอื่น ผู้คนในแวดวงเอ็นจีโอ นักวิชาการ นักเคลื่อนไหว ศิลปิน โดยเฉพาะในเชียงใหม่รู้จักเธอดี รจเรข วัฒนพาณิชย์ หรือ อ้อย ชุมชนคนรักป่า อดีตเอ็นจีโอหัวเรี่ยวหัวแรงหลักของชุมชนคนรักป่า ผู้คอยหมั่นสื่อสารกับสังคมว่าการบริหารจัดการดูแลป่าชาวบ้านก็ทำได้ บางครั้งทำได้ดีกว่ารัฐด้วยซ้ำ เคลื่อนไหวผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชนมาหลายนาน แต่เพราะนักการเมืองไม่เข้าใจหรือระบบราชการหวงอำนาจหาทราบไม่ กฎหมายป่าชุมชนยังคงสถิตบนกระดาษและตำรารัฐธรรมนูญจวบจนปัจจุบัน

 

 

ร้านหนังสือบวกคาเฟ่ในตัว คือดินแดนแห่งความหวังและฝันและโรแมนติกของใครหลายคน-“ไม่หรอก มันก็คือการทำธุรกิจอย่างหนึ่งที่เหนื่อยกว่าธุรกิจอื่นด้วยซ้ำ” ฟังดูโหดร้าย แต่จริงที่สุด

 

ก่อนสถาปนาสาธารณรัฐหนังสือ กลุ่มผู้ก่อตั้งมีภาพอุดมคติชุดหนึ่งร่วมกัน แต่รสไม่หวาน แรงกระแทกจากสถานการณ์ทางการเมืองผลักดันให้เธอตั้งคำถามและบีบคั้นให้หาคำตอบ รจเรขยุติบทบาทความเป็น ‘อ้อย ชุมชนคนรักป่า’ ในปลายปี 2553 ปลายปี 2554 เธอได้คำตอบเป็นสาธารณรัฐหนังสือ พูดให้ถูกกว่านั้น มันคือกระบวนการค้นหาคำตอบ

 

 

                “ไม่เคยคิดทำธุรกิจร้านหนังสือเลย แต่มันมาจากช่วงที่เกิดเหตุการณ์ทางการเมือง เรารู้สึกว่าทำไมประเทศเราถึงไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยความรู้ งานวิจัยเรื่องการเมืองการปกครองไทยมีเยอะแยะ ที่ไม่ใช่แค่ตำราเรียนด้านเดียว แต่ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาขับเคลื่อนสังคมเลย จะบอกว่าเราขาดความรู้เหรอ เราไม่ขาด แต่มันไม่เคยถูกหยิบมาใช้ งานวิจัย งานวิทยานิพนธ์ที่มีก็อยู่บนหิ้ง”

 

เอาล่ะ เพื่อสุนทรียรสในการอ่าน ผมน่าจะใส่คำเตือน (หรือไม่?) ว่า เรื่องร้านหนังสือร้านนี้นอกจากจะไม่โรแมนติกแล้ว ยังมีทัศนะความเชื่อเรื่องการเมืองของเจ้าของร้านแฝงอยู่ด้วย ความขัดแย้งทางการเมืองไทยช่วงหกเจ็ดปีกัดเซาะความอดทนต่อความแตกต่างของผู้คนให้เปราะและบางลงไปมาก ก่อนไปกันต่อ ไม่ว่าคุณจะสีอะไร อาจจะดีกว่าถ้าลดโทนสีในหัวใจลง

 

1

 

รจเรขสารภาพความรู้สึกแปร่งแปลกที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 แม้เธอจะเป็นส่วนหนึ่งของการขับไล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ลึกๆ เธอคิดว่า พ.ต.ท.ทักษิณควรถูกโค่นล้มโดยประชาชน ไม่ใช่ทหาร แต่จุดพลิกผันที่เธอตัดสินใจเลือกเป็นเจ้าของกิจการร้านหนังสือคือเหตุการณ์ความรุนแรงกลางเมืองหลวงของประเทศเดือนพฤษภาคม 2553

 

                     “เราน่ะ โปรประชาธิปไตยมาตั้งนานแล้ว เลยรู้สึกว่าไม่ได้แล้ว สังคมยังขาดพื้นที่ที่จะมาดีเบตกัน คุยกัน มันต้องมี และเราคิดว่ามันต้องเป็นร้านหนังสือ มันจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้”

 

กว่าจะเคาะผ่านชื่อร้านได้ต้องใช้เวลาพอสมควร มันมาจากจุดยืนความต้องการสร้างพื้นที่พูดคุย ถกเถียง ประเด็นสาธารณะ ที่หักล้างกันด้วยเหตุผล มิใช่ด้วยความเกลียดชัง หรือมองเพียงว่า ‘ใคร’ เป็นผู้พูด เพราะรู้สึกว่าทุกสิ่งอย่างเกี่ยวข้องกับผู้คน เกี่ยวพันกับสาธารณะ RE ซึ่งมีความหมายว่าเกี่ยวข้อง เกี่ยวกับ จึงถูกตั้งเป็นแกน ใส่เครื่องหมายโคลอน : เข้าไป ตามด้วย Public ได้เป็นชื่อบ่อบอกตัวตนว่า ร้านหนังสือแห่งนี้คือพื้นที่พูดคุยเรื่องที่เกี่ยวกับสาธารณะ

 

หมวดหมู่หนังสือที่รจเรขและเพื่อนๆ เลือกวางบนชั้น ส่วนใหญ่ออกแนววิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทย สังคมวิทยา วัฒนธรรม มานุษยวิทยา เป็นหลัก เหมาะกับหนอน (หนังสือ) ตัวอ้วนและคอแข็ง เกิดกลุ่มเป้าหมายชัดเจนอย่างนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นักศึกษา คนรุ่นใหม่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

2

 

                   “ปลายปี 53 เราออกจากชุมชนคนรักษ์ป่า เราทนไม่ค่อยได้ที่เห็นเพื่อนเราบอกว่าทำงานเพื่อประชาชน แต่วางเฉยได้ยังไงที่มองเห็นประชาชนถูกฆ่าตายอยู่กลางเมือง แล้วเขาก็ไปปฏิรูปประเทศไทยกัน เราคิดว่าไม่ได้ มันไม่ใช่ช่วงที่จะต้องปฏิรูป มันต้องหาความจริงก่อน หลังเหตุการณ์ปี 2553 เราคิดอยู่ว่าจะทำอะไร แต่เราก็ไม่ได้มีทุนมากมาย ที่ร้านนี่ทุกอย่างเช่าหมด ด้วยความที่เราเป็นเอ็นจีโอมาก่อน เราเลยเขียนโครงการขอทุนทำกิจกรรม การจัดกิจกรรมต่างๆ ก็เป็นเงินขอทุน ส่วนที่เป็นธุรกิจก็ลงทุนกันเอง 4 คน ไม่มีเงินก็กู้ เอามาทำในส่วนที่เป็นร้านหนังสือและร้านกาแฟ”

 

สาธารณรัฐหนังสือจึงเป็นการผนวกรวมกันระหว่างนักธุรกิจและนักกิจกรรม แต่สถานะแรกยังห่างไกลความสำเร็จ

 

                  “รายรับจากการขายหนังสือเหรอ? ยังเลี้ยงตัวเองไม่ได้ ถ้าเราอยากจะทำร้านหนังสืออย่างเดียวคงไม่มาเช่าที่ขนาดนี้ แต่เราต้องการทำกิจกรรม จึงต้องหาสถานที่ที่รองรับกิจกรรมของเราได้ ถ้าต้องการรายได้จากการขายหนังสือ คงไปเช่าที่ที่เล็กกว่านี้ ค่าเช่าถูกกว่านี้ แล้วขายแต่หนังสืออย่างเดียว”

 

แต่ถ้าสถานะของนักกิจกรรม สาธารณรัฐหนังสือถือว่าออกตัวได้ดีและเริ่มสร้างแบรนด์ของตนได้ในแวดวงปัญญาชนคนเชียงใหม่และทั่วไป

 

ทุกวันนี้ รจเรขจึงบอกว่าเหนื่อยกับกิจกรรมมากกว่าธุรกิจหนังสือ เป็นความเหนื่อยคนละแบบ กิจกรรมกินเรี่ยวแรงและสมอง ส่วนร้านหนังสือ เหนื่อยทางใจมากกว่ายามเห็นรายรับและรายจ่าย เธอเปรยกึ่งบ่นว่า ถ้าเปิดร้านหนังสืออย่างเดียวค่าใช้จ่ายคงไม่สูงเท่านี้ ผลตอบแทนรูปตัวเงินยังไม่ชัด แต่ความพึงพอใจ ชัดเจน เป็นความเหน็ดเหนื่อยที่มาพร้อมความสุขและยอมรับได้

 

 

ยิ่งร้านหนังสือขนาดเล็กมีสภาพหายใจรวยรินกันทุกแห่งหน การสร้างบุคลิกเฉพาะตัวยิ่งเป็นเรื่องสำคัญ รจเรขเล่าว่า กิจกรรมคือตัวเสริมสำคัญที่ช่วยสร้างอัตลักษณ์และเพิ่มยอดขายให้สาธารณรัฐหนังสือ

 

“ร้านหนังสือขนาดเล็กต้องหาบุคลิกและกลุ่มเป้าหมายตัวเองให้เจอให้ได้ บุคลิกและหนังสือก็จะเป็นไปตามเจ้าของร้าน อย่างร้านเราเปิดเพราะเราสนใจสถานการณ์การเมืองตอนนี้ อยากให้คนสนใจสังคม การเมือง สนใจมนุษย์ มนุษย์ในแง่ที่เท่าเทียมกันนะ ไม่ใช่ในแง่โรแมนติก ร้านมันจึงออกมาเป็นแบบนี้และออกมาเป็นตัวกิจกรรม”

 

...มีลานจอดรถด้านหน้า รูปทรงและการออกแบบร้านสไตล์โมเดิร์น จัดแบ่งพื้นที่ให้โปร่งสบาย มีโต๊ะ-เก้าอี้สำหรับจิบกาแฟและอ่านหนังสือ ชาวบ้านเสื้อแดงเคยบ่นให้รจเรขฟังว่า มันดูหรูเกินไป ไม่กล้านั่ง เธอเข้าใจความรู้สึก แต่เธอยืนยันว่า รูปร่างหน้าตาร้านออกแบบเพื่อกลุ่มเป้าหมายชนชั้นกลาง นักเรียน นักศึกษา คนรุ่นใหม่ แวะเดินเข้ามาเลือกซื้อหนังสือและร่วมวงเสวนา

 

                    “ช่วงที่เกิดเหตุการณ์ เราจะเห็นชาวบ้านออกไปบนท้องถนนกันหมดแล้ว ขณะที่คนที่ไม่เข้าใจการเรียกร้องสิทธิของชาวบ้านคือชนชั้นกลางในเมือง เราเลยคิดว่าอยากจัดกิจกรรมตรงนี้ เราถึงอยู่ตรงนี้ มีการตกแต่งแบบนี้ เราอยากให้เด็กรุ่นใหม่ นักศึกษา เข้ามานั่งมาใช้พื้นที่ ซึ่งก็มีอยู่บ้าง เราคิดกันมาแล้วว่ากลุ่มเป้าหมายของเราเป็นใคร ถ้าเราอยากทำงานชุมชน ไม่ต้องเปิดร้านหนังสือ ทำที่แบบนี้ เป็นหนี้แบบหนี้ แค่เช่าที่เล็ก หาทุน พานักวิชาการลงพื้นที่ แต่เพราะเราคิดมาแล้ว มันจึงออกมาเป็นแบบนี้ เพราะเราคิดว่าคนชั้นกลางในเมืองที่ไม่เข้าใจเราจึงอยากให้คนได้เรียนรู้มากขึ้น”

 

อีกส่วนหนึ่ง เธอต้องการค้นหาคำตอบบางอย่างด้วยตัวเอง

 

 

 

3

 

สาธารณรัฐหนังสือยินดีต้อนรับเสื้อทุกสีที่ต้องการใช้พื้นที่จัดกิจกรรมหรือเสวนา รจเรขบอกว่าที่นี่เป็นสาธารณรัฐเสรี ไม่เคยปิดกั้น เอ็นจีโอเฉดเหลืองก็เคยมาจัดกิจกรรม กฎคือต้องถกเถียงกันด้วยเหตุผล มิใช่ด่าทอใส่กัน เธอเล่าว่าเคยเชื้อเชิญสีตรงข้ามมาร่วมดีเบต แต่ได้รับการปฏิเสธเพราะเกรงว่าจะโดน ‘ยำ’ กลางเวที

 

“เราก็ เฮ้ย ถ้าคุณมีเหตุผลที่ดีพอคุณจะกลัวอะไร”

 

ประสบการณ์ที่ผมพานพบ เวทีเสวนาทางการเมืองช่วงหลังๆ หัวข้อและวิทยากรเหมือนจะจำกัดกลุ่มผู้ฟังโดยอัตโนมัติว่าต้องการเสื้อสีใด  สภาวะคุกรุ่นทางอารมณ์แทบไม่อนุญาตให้ผู้เห็นต่างมีที่อยู่ที่ยืนหรือแสดงความเห็นได้เลย ซ้ำยังถูกโห่ไล่หรือข่มขู่ก็เคยเกิดขึ้นแล้ว เหตุผลที่ดีกว่าจะเพียงพอจริงหรือ? ผมท้วง

 

 

             “เราเห็นด้วยว่ามันไม่ง่าย แต่ก็ควรเริ่มต้นที่จะสร้างวัฒนธรรมการดีเบต เราต้องยอมแลกกับอะไรบางอย่างในช่วงเริ่มต้น ที่ผ่านมามันต้องค่อยๆ เป็นไป อยากให้ดีเบตกันดีๆ เออ ฉันยอมเหตุผลนี้ เรื่องนี้ไม่ยอม ทำไมก็ว่ากันไป แต่มันควรต้องมี ต้องทำ แต่เราต้องพัฒนาให้เก่งพอที่จะคุมมันได้ด้วย เคยคุยกับอาจารย์นิธิ (เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์) อาจารย์นิธิบอกว่าเวทีดีเบตตัวผู้ดำเนินรายการสำคัญมาก ต้องคุมให้อยู่

 

            “สถานการณ์การเมืองมันแบ่งคนไปแล้ว ส่วนมากคนที่เราทำงานด้วยตอนนั้น เขาก็อาจจะคิดอีกแบบหนึ่ง ทำให้เขาไม่กล้าเข้ามา แม้กระทั่งเพื่อนกัน เขากลัวติดสี กลัวจะถูกหาว่าเป็นแดง เราเคยได้ยิน หรือบางคนที่เราอยากเชิญมาพูด แต่เขาก็พูดว่า ถ้าไปคนจะหาว่าเขาเป็นคนเสื้อแดงหรือเปล่า เราก็คิดว่า อ้าว ถ้าคุณกลัวหรือติดเอง เราช่วยไม่ได้ มันเป็นทัศนคติของคน แต่คนที่เปิดกว้างจริงๆ เขาก็มา เพื่อนๆ สื่อมวลชนก็มีมา”

 

 

 

4

 

ผมถามเธอว่า เปิดสาธารณรัฐหนังสือมาเกือบขวบปี พบเจอคำตอบที่เพียรค้นหาหรือยัง

 

                           “เจอเรื่อยๆ จะบอกว่าเจอแล้ว สำเร็จรูปแล้ว มันบอกไม่ได้ เพราะเรื่องพวกนี้มันต้องอีกนาน โลกมันเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เมื่อ 20 ปีที่แล้วที่เริ่มทำงานเอ็นจีโอ เรารู้สึกว่านี่คือคำตอบของเราแล้ว คำตอบอยู่ที่หมู่บ้านอะไรก็ว่าไป แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ใช่ เมื่อโครงสร้างใหญ่มันกดทับอยู่ ชาวบ้านจนไม่ใช่จนเพราะโง่ จน เจ็บ เรารู้ว่ามันเป็นเพราะอะไร โลกาภิวัตน์เข้ามา ประเทศไทยเปลี่ยน หมู่บ้านเปลี่ยน เชียงใหม่เปลี่ยน เราต้องยอมรับ ถ้าเราไปแช่แข็งภาพที่เราอยากให้เป็นเอาไว้ มันก็จะไม่ไปไหน คำตอบเดิมๆ ชุดนั้นยังใช้ได้อยู่เหรอ คือคำถามของเรา ณ วันนี้เราก็ได้คำตอบส่วนหนึ่งว่า สิ่งที่เรามายืนอยู่ตรงนี้ จุดที่เราบอกว่าเราสนับสนุนการเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตย จะสีอะไรก็ช่าง แต่เป็นประชาธิปไตยในความหมายสากล ไม่ใช่แบบไทยๆ ตรงนี้ไม่ว่าคุณเป็นสีอะไร เราก็สีนั้นแหละ แต่บังเอิญมันเป็นสีแดง และเป็นสีแดงที่เราก็ไม่ได้เชื่อว่าสมบูรณ์แบบ และมีหลายระดับมาก บางคนก็เสรีนิยมมาก บางคนก็ประชาธิปไตยแค่เรื่องการเมืองเท่านั้น แต่ในแง่การใช้ชีวิตหรือทัศนคติยังอนุรักษ์นิยมอยู่เลยก็มี คุณยังเหยียดเพศอยู่เลย ซึ่งเราว่ามันไม่ใช่”

 

เธอยืนยัน สิ่งที่ทำมิใช่ตอบสนองโจทย์คนเสื้อแดง เพราะคนเสื้อแดงก็ยังต้องเรียนรู้ประชาธิปไตยในชีวิตประจำวันอีกมาก ประชาธิปไตยต้องอยู่ในทุก ๆ เรื่องของชีวิต นั่นเป็นสิ่งที่เธอเชื่อ เธอตั้งคำถามว่า ถ้าปกครองด้วยระบอบเผด็จการ แต่ทุกคนในสังคมเท่ากัน คนหลากหลายทางเพศอยู่ร่วมกันได้ เป็นเผด็จการไม่ดีกว่าหรือ

 

นอกจากประชาธิปไตยต้องกลมกลืนเป็นเนื้อเดียวกับชีวิตแล้ว ผู้คนในสังคมประชาธิปไตยยังต้องพร้อมตั้งคำถามเพื่อแสวงหาความจริง เพราะความจริงที่ควรจะเป็นกับความจริงที่เป็นจริงๆ ในสังคมไทยมักวิ่งสวนทางกันเสมอ

 

                       “ประเทศไทยจะเอาความจริงที่เป็นความจริงตามมาตรฐานหรือความเป็นจริง ยิ่งตอนนี้ยิ่งเอาเรื่องคนดี คนมีศีลธรรมมาพูด ยิ่งไปกันใหญ่เพราะยิ่งต้องเอาความจริงตามมาตรฐานมาพูดกัน แล้วสิ่งที่เป็นจริงๆ ไปซุกอยู่ไหนไม่รู้ ตามซอกตามหลืบ เด็กอายุ 15 เอากันในโรงหนัง จริงมั้ย จริง แต่เป็นหนังไม่ได้ ไม่ถูกต้อง คุณจะเอาความจริงแบบไหน”

 

 

5

 

“แล้วหนังสือจะช่วยให้ความจริงมีที่ทางในสังคมไทยมากขึ้นได้จริงๆ?”

 

               “เรายังมองในแง่ดีว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่ทำให้คนลุกขึ้นยืนด้วยสองขามากขึ้นและเปิดตา เปิดใจ มากขึ้น เราเองก็เคยอยู่ในลูปของคนดีมาก่อน หลอกตัวเองไป แต่เราต้องยอมรับและดูว่าสิ่งที่เป็นจริงนั้นจะมีอะไรรองรับเพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่ดีมากกว่าที่จะไปซุกมันไว้ ซึ่งเราเชื่อว่าหนังสือช่วยได้ อย่างน้อยที่สุดถ้าคนได้อ่านมัน มันก็เป็นการช่วยสร้างปัญญาขึ้นมา”

 

“แต่เอาเข้าจริงแล้ว หนังสือก็เป็นเพียงความจริงอีกชุดหนึ่ง”

 

“ใช่ แต่อย่างน้อยก็ให้คนได้อ่าน คุณจะอ่านหนังสืออะไรก็ได้ จะเชื่อแบบไหนก็ได้ มีคนพูดว่าหนังสือเป็นดาบสองคมนะ อยู่ที่ว่ามันเสนอความจริงชุดไหน แต่เราว่าคนอ่านหนังสือก็เลือกที่จะอ่านเหมือนกัน สมมติว่าถ้าเราไม่ชอบความคิดชุดนี้ เราก็ไม่ซื้อหนังสือเล่มนั้นมาอ่าน แต่เราควรตั้งคำถามว่า ถ้าเราเชื่อความคิดชุดนี้ แน่ใจหรือว่าเราเชื่อแบบนี้แล้วมันถูก เหมือนที่เรามายืนตรงนี้ เราก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเรามาถูกทางหรือเปล่า เราถึงต้องหาคำตอบให้ตัวเอง ถ้าอยากรู้ก็ต้องหาคำตอบ ไม่ว่าจะจากหนังสือ ผู้รู้ หรือช่องทางต่างๆ ที่สำคัญมันอยู่ที่ตัวคนว่าต้องการหาคำตอบหรือเปล่า คุณมีคำถามหรือเปล่า เราว่าคนถามกันน้อย แต่พร้อมที่จะเชื่อ เชื่อตามเพื่อน เชื่อตามผู้นำ แต่ไม่ค่อยมีคนถามว่ามันจริงหรือเปล่า มันไม่ได้อยู่ที่ว่าหนังสือตอบหรือไม่ตอบ มันอยู่ที่ว่าคุณมีคำถามอะไรในใจ คุณพร้อมที่จะหาคำตอบหรือเปล่า”

 

ข้อสรุปที่ได้-หนังสือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำตอบและเป็นเมล็ดพันธุ์แห่งคำถาม

 

 

 

6

 

ในวันที่สถานการณ์การเมืองไทยยังคงแหลมคม การถกเถียงถึงการปกครองในอุดมคติยังเข้มข้น ผู้คนยัง ‘อิน’ และพร้อมจะเป็นตัวละครหนึ่งทางการเมือง สาธารณรัฐหนังสือเฟื่องฟูไปตามกระแสการเมือง รจเรขถามออกมาดังๆ ว่า ถ้าอนาคต สถานการณ์การเมืองซบซาลง ก็บอกไม่ได้ว่าสาธารณรัฐหนังสือจะเป็นอย่างไร

 

                  “แต่ถ้าคนเห็นว่ายังควรมีอยู่ต่อไป เราอาจจะปรับในแง่ตัวกิจกรรม มีหนังสือที่หลากหลายขึ้นก็ได้ ถ้าเรายังอยากทำนะ”

 

นั่นเป็นเรื่องของอนาคต ปัจจุบัน สาธารณรัฐหนังสือยังมีชีวิตและชีวิตผู้คนในสาธารณรัฐหนังสือเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ทะเลาะกันวันเว้นวัน ไม่อ้อมค้อมเมื่อไม่เห็นด้วยกับความคิดใดความคิดหนึ่ง อัดกันด้วยเหตุผล และตัดสินด้วยเสียงข้างมาก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                       “เราไม่ได้เถียงเพราะเกลียดกัน แต่เถียงกันเพราะอยากเห็นสิ่งนี้ไปได้ด้วยดี แต่ถ้ามันยังดันทุรัง มันไม่ได้ หุ้นส่วนทุกคนใช้วิธีโหวต ถ้าโหวตแล้วแพ้ก็ต้องยอมรับ จะอ้างว่ามีความรู้มากกว่าไม่ได้ ไม่ว่าเสียงส่วนมากจะคิดยังไง มันก็เป็นช่วงที่ต้องเรียนรู้ไปด้วยตัวของเขาเอง ทุกช่วง ทุกการเปลี่ยนผ่านมีบทเรียนทั้งนั้น พวกเราที่มาอยู่ตรงนี้ก็มีบทเรียน”

 

เป็นกติกาท่าบังคับที่ประชาชนในสาธารณรัฐหนังสืออยากให้เกิดนอกสาธารณรัฐหนังสือ รจเรขบอกว่าไม่ได้คิดไกลขนาดว่าจะจำลองโลกในอุดมคติมาไว้ในโลกใบเล็กใบนี้

 

                     “แต่คงเพราะอย่างที่ว่านั่นแหละ มันเป็นสิ่งที่เราอยากเห็น มันคือการใช้ชีวิตของเรา เราก็ต้องศึกษาไปด้วย ในที่สุดแล้วที่ต่อสู้กันอยู่ไม่ใช่แค่เรื่องระบอบประชาธิปไตย แต่ทุกอย่างที่เราใช้ชีวิตอยู่ตอนนี้มันต้องเป็นประชาธิปไตยด้วย เป็นเรื่องการใช้ชีวิต ทุกสิ่งที่คุณเห็น สัมผัส หรือมีปฏิสัมพันธ์ด้วย คุณต้องเห็นทุกคนเท่ากัน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ไปด้วย”

 

รจเรขและเพื่อนพ้องจะก่อร่างสร้างพื้นที่สาธารณะแห่งการถกเถียงด้วยเหตุผลได้จริงหรือไม่ เธอจะค้นพบคำตอบที่ตามหาหรือไม่ ไม่รู้ หรือจริงๆ แล้ว มันไม่สำคัญอะไรเลย เพราะหนทางต่างหากคือคำตอบโดยตัวมันเอง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: