เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย เป็นตัวแทนเครือข่ายประชาชน 14 องค์กรเข้าชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา จากกรณีเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2555 ได้ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ วุฒิสภา เรียกร้องให้ตรวจสอบกระบวนการจัดทำการเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป โดยเฉพาะความพยายามเร่งรัดนำร่างกรอบเจรจาเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และการประชุมรัฐสภา
นายอภิวัฒน์กล่าวว่า ทางเครือข่ายไม่ได้ค้านการเจรจา แต่ต้องการเห็นการเจรจาการค้าที่ได้ประโยชน์อย่างแท้จริง และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนและสังคม โดยมีข้อเรียกร้องใน 2 ประเด็นคือ 1.เรื่องขั้นตอน โดยก่อนที่จะมีการเจรจาหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ครม.จะต้องให้ข้อมูลและจัดรับฟังความเห็นของประชาชนก่อน จากนั้นจึงเสนอรายละเอียดกรอบการเจรจาต่อรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบ ตามที่มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ แต่การดำเนินการของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ที่ผ่านมาไม่เป็นไปตามนี้ และสุ่มเสี่ยงต่อการผิดรัฐธรรมนูญ
2.เรื่องเนื้อหา ซึ่งเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2555 ในการประชุม เพื่อพิจารณาเตรียมเปิดการเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศได้ทำเอกสารเสนอต่อรัฐบาลว่า ‘ควรกำหนดให้ไทยมีท่าทีการเจรจาที่ยืดหยุ่นและเสนอให้พิจารณารับเงื่อนไขข้อตกลงทางการค้าว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินไปกว่าความตกลงในองค์การการค้าโลก (TRIPs Plus)’ โดยอ้างว่าจะไม่มีผลกระทบต่อราคายาในปัจจุบัน อีกทั้งยังระบุว่าการคุ้มครองข้อมูลทดสอบยาที่จะส่งผลขยายอายุสิทธิบัตรของยาต้นแบบเกินกว่า 20 ปี ตามพ.ร.บ.สิทธิบัตรและข้อตกลงทริปส์ อาจมีผลให้ยาสามัญวางตลาดได้ช้าลงเพียง 5 ปี
ทั้งนี้ข้อเสนอดังกล่าวบิดเบือน เนื่องจากข้อเสนอจากสถาบันวิชาการหลายแห่งให้ข้อมูลตรงกันว่า ข้อผูกพันดังกล่าวเป็นการผูกขาดตลาด และส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติ โดยค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศจะเพิ่มขึ้นทุกปี และในปีที่ 5 จะมีผลกระทบมากกว่า 80,000 ล้านบาทต่อปี ทำให้ประเทศต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น และอาจส่งผลกระทบต่อระบบสาธารณะสุขของประเทศ หากรัฐบาลไม่มีเงินเพียงพอที่จะสนับสนุน นอกจากนั้นทั้งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข และกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็ได้ออกมาระบุตรงกันถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น
นายอภิวัฒน์กล่าวต่อถึงข้อเสนอซึ่งมีอยู่ 5 ข้อ ดังนี้ 1.ให้กรมเจรจาฯ ดำเนินการตามมติ ครม.เมื่อปี 2553 โดยนำผลการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนรายงานกลับไปยัง ครม.ก่อนการยกร่างกรอบการเจรจา และไม่ควรลัดขั้นตอนโดยให้ ครม.พิจารณาร่างกรอบฯ ทั้งที่ยังไม่มีการรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ 2.นำร่างกรอบการเจรจาไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ เช่นที่เคยทำเมื่อครั้งเริ่มเจรจาเอฟทีเอ อาเซียน-สหภาพยุโรป ก่อนเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
3.เปิดเผยเนื้อหาการทำขอบเขตการเจรจา (Scoping Exercise) ที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ไปทำกับสหภาพยุโรปก่อนหน้านี้ เพื่อให้ไม่สุ่มเสี่ยงกับการผิดรัฐธรรมนูญ หรืออย่างน้อยต้องเสนอให้กรรมาธิการฯ พิจารณา 4.รอผลการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพที่ องค์การอาหารและยา (อย.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) กำลังดำเนินการ ก่อนการเจรจาเอฟทีเอกับสหภาพยุโรป 5.เครือข่ายภาคประชาชนผู้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการฯ ยืนยันจุดยืนเดียวกับคณะนักวิชาการ 84 คน ที่ให้กำหนดกรอบเจรจาเอฟทีเอไทย-สหภาพยุโรปว่า ไม่รับข้อเรียกร้องที่เกินไปกว่าความตกลงทริปส์
ทั้งนี้เครือข่ายภาคประชาชนที่ร่วมทำหนังสือร้องเรียนต่อคณะกรรมาธิการฯ อีกทั้งยังยื่นเรื่องร้องเรียนคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภาผู้แทนราษฎร ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ 2.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ 3.มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ 4.เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก 5.ชมรมเพื่อนโรคไต 6.เครือข่ายเพื่อนมะเร็ง 7.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 8.มูลนิธิเภสัชชนบท 9.กลุ่มศึกษาปัญหายา 10.มูลนิธิชีววิถี 11.มูลนิธิบูรณะนิเวศ 12.มูลนิธิสุขภาพไทย 13.เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และ14.กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ