อุบลฯร้องศาลปกครองเพิกถอนใบอนุญาตโรงไฟฟ้าชีวมวล ส่งผลกระทบสวล.-แย่งน้ำชาวบ้าน

สดใส สร่างโศก 8 มี.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1948 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลปกครองอุบลราชธานี ตัวแทนชาวบ้านบ้านคำสร้างไชย และบ้านใกล้เคียง จาก 5 หมู่บ้าน ต.ท่าช้าง ต.บุ่งมะแลง อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี กว่า 100 คน ที่ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชีวมวล (แกลบ) ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด นำโดย นายทองคับ มาดาสิทธิ์ ยื่นหนังสือต่อศาลปกครอง ขอให้มีคำสั่งให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ถอดถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน ของบริษัท บัวสมหมายไบโอแมส จำกัด ที่ตั้งอยู่บริเวณบ้านคำสร้างไชย หมู่ 17 ต.ท่าช้าง อ.สว่างวีระวงศ์ เพราะเป็นการออกใบอนุญาตโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

นายทองคับ มาดาสิทธิ์ เปิดเผยว่า มาขอความเป็นธรรมจากศาลปกครองเพราะ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)และ อีก 5 หน่วยงาน คือ กรมโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี อุตสาหกรรมจังหวัดอุบลราชธานี องค์การบริหารส่วนตำบลท่าช้าง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 17 บ้านคำสร้างไชย ต.ท่าช้าง ร่วมกัน ออกใบอนุญาตฯ ให้บริษัท บัวสมหมายไบโอแมส โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจาก กระบวนการออกใบอนุญาตไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 67 และ มาตรา 289 คือ เริ่มตั้งแต่การประชุมในหมู่บ้านที่ชาวบ้านไม่มีส่วนร่วม และ อบต.ท่าช้างไม่มีการเปิดเผยข้อมูล ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของชาวบ้าน ก่อนการดำเนินโครงการ

อีกทั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่ปกป้องสิทธิผู้ใช้พลังงานและชุมชนท้องถิ่น ซึ่ง กกพ.อ้างว่า ได้ออกใบอนุญาตตามความเห็นของกรมโรงงาน และ พ.ร.บ.กรมโรงงาน 2535 ซึ่ง กฎหมายดังกล่าวที่ใช้วินิจฉัย ไม่ให้ความเป็นธรรมต่อชุมชนที่ตั้งรกรากมานานนับร้อยปี มีโครงสร้างและความสัมพันธ์ของชุมชนที่เหนียวแน่น มีจารีต วัฒนธรรม ประเพณี มีประวัติศาสตร์ มีทรัพยากรธรรมชาติดิน น้ำ ป่า ที่ชาวบ้านได้พึ่งพาในการดำรงชีพเลี้ยงครอบครัวและชุมชน ซึ่งชาวบ้านได้ร้องคัดค้านต่อกกพ.มานานถึง 4 ปี แต่กกพ.กลับยืนยันไม่ยอมเพิกถอดใบอนุญาต

นายบุญชู สายธนู ตัวแทนชาวบ้านบ้านคำสร้างไชย กล่าวว่า ชาวบ้านต้องการให้เพิกถอนใบอนุญาตที่ให้แก่บริษัทบัวสมหมายฯ และให้ฟื้นฟูสภาพสิ่งแวดล้อมโดยปรับสภาพดินของบริเวณสระน้ำที่ทำขึ้นให้กลับคืนสู่สภาพเดิม เพราะนับตั้งแต่โครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าวเริ่มดำเนินการ โดยการขุดบ่อน้ำประมาณ 15 ไร่ มาถมที่บริเวณ 155 ไร่ ได้สร้างผลกระทบในชุมชนมาตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน คือเกิดความขัดแย้งในชุมชนด้านความคิดและการแย่งน้ำในการทำการเกษตรจากการขุดบ่อน้ำของบริษัทฯ ทำให้ปริมาณน้ำในสระน้ำที่ชาวบ้านที่ขุดเอง และในหนองน้ำธรรมชาติมีปริมาณน้ำลดลงอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งปีที่ผ่านมาแม้จะย่างเข้าสู่ฤดูฝน และมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง ยังส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำซับที่ใช้ในการเกษตรไม่เพียงพอต่อการทำนาปี ชาวบ้านขาดน้ำทำนาปรัง รวมเนื้อที่ 97 ไร่ 26 งาน และมะม่วงหิมพานต์ที่กำลังติดดอกเกิดความเสียหาย ยังส่งผลกระทบต่อน้ำประปาบาดาลของหมู่บ้าน

นายบุญชูกล่าวด้วยว่า สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ว่า หากมีการสร้างโรงไฟฟ้าจริง ชาวบ้านต้องเกิดปัญหาแย่งน้ำกับบริษัทอย่างแน่นอน และมีแนวโน้มว่าเหตุการณ์จะดำเนินไปเช่นนั้น ซึ่งตัวแทนบริษัทฯ ได้แจ้งต่อชาวบ้านในที่ประชุมระดับจังหวัดเมื่อวันที่ 1 ก.พ.2554 ว่า การใช้น้ำเพื่อประกอบกิจการโรงงานจะไม่มีการสูบน้ำจากแม่น้ำมูลมาใช้ แต่น้ำที่จะใช้มาจากการขุดบ่อบาดาลเท่านั้น ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดไปจากเงื่อนไขการอนุญาตให้ประกอบกิจการ ตามแบบ ร.ง. 4 อีกทั้งขนาดของบ่อของบริษัทฯ ก็ใหญ่กว่าที่แจ้งต่อกรมโรงงานอีกด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลปกครองได้รับเอกสารหลักฐานจากชาวบ้าน เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีสิ่งแวดล้อม โดยศาลจะแจ้งให้ชาวบ้านทราบว่า ศาลจะมีความเห็นให้ดำเนินการต่อไปอย่างไรภายใน 30 วัน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: