เตือนคนไทยใช้'พาราเซตามอล’เกินขนาด ตะลึงจดทะเบียนถึง900ยี่ห้อ-กินกันจนมั่ว สปสช.เร่งให้ความรู้ก่อนถูกบริษัทยาหลอก

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 8 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 4663 ครั้ง

อย.เตือน‘พาราเซตามอล’ยาอันตราย

 

คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า ที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่มักมีความเข้าใจว่า “พาราเซตามอล” ซึ่งเป็นยาพื้นฐานที่สามารถหาซื้อได้ง่ายตามร้านขายยาทั่วไปนั้น เป็นยาที่สามารถรักษาได้ทุกอาการปวด และดูเหมือนจะไม่มีอันตรายใดๆ จึงทำให้ยาชนิดนี้กลายเป็นยาที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะการรักษาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่เกิดขึ้นกับร่างกาย แต่ในความเป็นจริง “พาราเซตามอล” ถือเป็นยาชนิดหนึ่งที่อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายผู้ใช้อย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งล่าสุด คณะกรรมการอาหารและยา (อย.)ออกมาเตือนผู้ที่นิยมใช้ยา “พาราเซตามอล” ในการรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยตัวเองว่า หากใช้ไม่ถูกวิธี อาจถึงขึ้นทำให้เกิดอาการตับวายและเสียชีวิตได้ในที่สุด

น.พ.พงศ์พันธ์ วงศ์มณี รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกมาเตือนคนไทยที่นิยมใช้ ยาพาราเซตามอล ในการรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยตัวเองอีกครั้ง เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาว่า พบว่าคนไทยจำนวนมากมักนิยมใช้ยาชนิดนี้ ซึ่งหาซื้อได้ง่ายตามท้องตลาด เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย โดยเฉพาะอาการปวดต่างๆ ด้วยตัวเอง เนื่องจากเข้าใจผิดว่า “พาราเซตามอล” จะสามารถรักษาอาการปวดได้ทุกชนิด ซึ่งถือว่าเป็นความเข้าใจผิดเป็นอย่างมาก เนื่องจากยาแก้ปวดแต่ละชนิดมีประสิทธิภาพในการรักษา และความปลอดภัยในการใช้ยาแตกต่างกัน

 

ระบุยาแก้ปวดมี 2 กลุ่มใช้ต่างกัน

 

น.พ.พงศ์พันธ์อธิบายว่า โดยทั่วไปในทางการแพทย์ จะมีการแบ่งยาแก้ปวดออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้ระงับปวดที่รุนแรงถึงรุนแรงมากที่สุด แต่ไม่มีฤทธิ์ลดไข้ เช่น มอร์ฟีน (morphine) ทรามาดอล (Tramadol) ซึ่งยากลุ่มนี้ จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง ใช้ระงับความเจ็บปวดที่รุนแรงจากอวัยวะภายใน เช่น ปวดนิ่วในไต ปวดกล้ามเนื้อหัวใจจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ปวดจากบาดแผลที่มีขนาดใหญ่ เช่น หลังการผ่าตัด การคลอดลูก โรคมะเร็ง จึงมักใช้กับคนไข้ในโรงพยาบาลหรือคลินิกเป็นส่วนใหญ่ และยากลุ่มนี้อาจก่อให้เกิดอาการข้างเคียงสูง โดยเฉพาะ ทรามาดอล (Tramadol) ซึ่งจะทำให้มีอาการคลื่นไส้ มึนงง อาเจียน กดระบบหายใจ อีกทั้งยังอาจมีอาการทางจิตประสาท เช่น อารมณ์แปรปรวน เฉื่อยชา ไม่กระตือรือร้น และหากได้รับยาเกินขนาดจะทำให้เกิดภาวะอื่นๆ ตามมา เช่น อาเจียน ระบบหัวใจและหลอดเลือดล้มเหลว ชักและระบบหายใจทำงานช้าลงจนถึงขั้นหยุดหายใจได้ ซึ่งถือเป็นยาอันตรายที่ต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์

 

เตือนใช้ยาผิดอาจทำให้ตายได้

 

สำหรับยาแก้ปวดอีกกลุ่มหนึ่งคือ กลุ่มยาแก้ปวดที่ใช้สำหรับอาการปวดไม่รุนแรง เช่น พาราเซตามอล แอสไพริน ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti-inflammatory drugs : NSAIDs) ซึ่งมีฤทธิ์แก้ปวด ลดไข้ และต้านการอักเสบ แต่ไม่ควรใช้ติดต่อกันนาน โดยเฉพาะยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เนื่องจากจะมีผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกาย ได้แก่ ระบบทางเดินอาหาร ทำให้คลื่นไส้ ปวดท้อง เป็นแผลบริเวณทางเดินอาหาร ระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้น อาจรุนแรงทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หลอดเลือดสมองอุดตัน ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้ง่วงซึม มึนงง ซึมเศร้า ระบบเลือด จะขัดขวางการเกาะกลุ่มของเกล็ดเลือด มีผลต่อการทำงานของไต โดยทำให้ไตบวม ระดับโปตัสเซียมและโซเดียมในเลือดสูงและไตวาย และมีผลต่อผิวหนัง โดยมีอาการผื่น คัน ผิวหนังพอง บางรายอาจมีการแพ้แสงแดดอีกด้วย นอกจากนี้ ยาพาราเซตามอลที่มีการใช้อย่างแพร่หลายนั้น หากใช้ยาเกินปริมาณที่แนะนำ อาจจะนำไปสู่การเกิดพิษต่อตับ จนนำไปสู่ภาวะตับวาย และเสียชีวิตในที่สุด

 

             “สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผู้บริโภคจะต้องใช้ยาตามวิธีใช้ที่มีการระบุไว้บนสลากอย่างเคร่งครัด ห้ามใช้เกินขนาด หรือใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน หรือเอกสารกำกับยา หรือแพทย์สั่ง เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย หรือเสียชีวิตได้ รวมทั้งไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างการใช้ยาแก้ปวด เพราะอาจเพิ่มอาการข้างเคียงของยามากขึ้น ทั้งนี้ หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา” น.พ.พงศ์พันธ์กล่าว

 

พาราฯในไทยขึ้นทะเบียนถึง 900 ชื่อ

 

จากข้อมูลของกองควบคุมยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่า ปัจจุบันในประเทศไทยมียาพาราเซตามอล มีชื่อการค้าขึ้นทะเบียนประมาณ 900 ชื่อ แบ่งเป็นชนิดเม็ด และแคปซูลประมาณ 600 รายการ แบ่งเป็นขนาด 500 มิลลิกรัม ประมาณ 500 ชื่อ และ อีก 80 ชื่อ มีขนาด 325 มิลลิกรัม นอกจากนี้ยังมียาชนิดน้ำอีกประมาณ 300 รายการ จากคำแนะนำของอย.ระบุว่า ไม่ควรกินพาราเซตามอล เกินกำหนดตามเอกสารยาที่ระบุ สำหรับขนาดเหมาะสมกับผู้ใหญ่ กิน 1 เม็ด 500 มิลลิกรัม ทุก 4 ชั่วโมง หรือ กิน 2 เม็ด 1,000 มิลลิกรัม ทุก 6 ชั่วโมง และไม่ควรกินเกินวันละ 8 เม็ด หรือ 4 กรัม ควรเว้นระยะห่างของการกินยาแต่ละครั้ง เพื่อให้ร่างกายเกิดการขับยา มิให้เกิดการสะสมเป็นอันตรายต่อตับ หากใช้พาราเซตามอล เกิน 5 วัน แล้วอาการปวดยังไม่ดีขึ้น ควรรีบไปพบแพทย์ และหยุดการใช้ยาทันที สำหรับการใช้ยาในเด็ก ควรลดขนาดยาลง โดยใช้ยาครั้งละไม่เกิน 10-15 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม หากไม่แน่ใจการใช้ยา ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเพื่อความปลอดภัย

นอกจากนี้ยังมีคำเตือนด้วยว่า การใช้พาราเซตามอลไม่เหมาะกับผู้ที่มีปัญหาการทำงานของตับที่ไม่สมบูรณ์ เช่น ผู้ที่ดื่มสุรามากจนตับเริ่มเสื่อม หรือมีการทำงานของตับที่เสื่อมลงจากการได้รับสารอะฟลาท็อกซินในอาหาร เคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ หรือใช้ยาอื่นที่มีพิษต่อตับร่วมกับพาราเซตามอล โอกาสเกิดพิษย่อมมีมากขึ้น เพราะอันตรายที่สำคัญที่สุดของพาราเซตามอล คือ การเกิดพิษต่อตับ และขอให้ระมัดระวังในการใช้ยาแก้ปวด แก้ไข้ และยารักษาโรคต่างๆ เพราะยามีทั้งคุณและโทษ หากร่างกายมีโรคประจำตัว ยิ่งต้องระวังเป็นพิเศษ

 

ใช้เกินขนาดเพราะขาดความรู้

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีการให้ข้อมูล และคำเตือนต่างๆ เกี่ยวกับการใช้ยาพาราเซตามอล ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่มองว่าเป็นยาพื้นฐาน ปลอดภัยไร้อันตรายแล้วก็ตาม แต่ปัญหาอุปสรรคส่วนใหญ่ในการใช้ยาอย่างถูกต้องนี้พบว่า เกิดจากปัญหาความไม่รู้ และการขาดการเผยแพร่ข้อมูลที่ชัดเจนแพร่หลาย รวมถึงการรณรงค์ที่เข้าถึงผู้ใช้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ที่มักจะอาศัยยาชนิดนี้ในการรักษาอาการเจ็บป่วยด้วยการซื้อหาใช้เอง แทนการรับคำปรึกษาจากเภสัชกร หรือ รักษาด้วยการพบแพทย์

 

นางบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวถึงประเด็นของการขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้ยาชนิดต่างๆ ของผู้บริโภคในระหว่างการเสวนาด้านการเข้าถึงยาขององค์การเภสัชกรรมเมื่อเร็วๆ นี้ โดยระบุว่า ประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาคือ การเข้าถึงเภสัชกรที่ค่อนข้างยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเภสัชกรที่อยู่ในสถานพยาบาลของรัฐ หรือโรงพยาบาลต่างๆ ที่มักจะไม่สร้างความคุ้นเคยให้กับประชาชนที่เข้าไปใช้บริการอย่างแท้จริง ทำให้เกิดความรู้สึกถึงความห่างไกล เกิดช่องว่างระหว่างกัน ในการอธิบายข้อบ่งใช้ยาชนิดต่างๆ จึงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ การเข้าถึงข้อมูลแบบกระท่อนกระแท่น จึงทำให้เกิดปัญหาความเข้าใจผิดในการใช้ยาชนิดต่างๆ

 

‘เภสัชกร’เป็นคนที่พบตัวยาก

 

                         “ชาวบ้านไม่รู้หรอกว่า ยาแต่ละชนิดจะใช้อย่างไร เวลาไปหาหมอ หมอก็จะสั่งยามาให้แล้วไปรับที่แผนกยาที่มีเภสัชกรอยู่ แต่บริเวณการจ่ายยาก็มักถูกจัดเป็นห้อง เป็นช่องกระจกที่ไม่สามารถพูดคุยกันได้อย่างเต็มที่จะพูดทีก็ต้องค่อยๆ ก้มลงไปถาม ได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง และในซองยาเองก็ไม่มีอะไรที่จะทำให้ผู้ป่วยแบบชาวบ้านๆ อย่างเราเข้าใจได้ ดังนั้นจึงถือว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา และเป็นต้นเหตุของการใช้ยาที่ผิด และเมื่อการเข้าถึงข้อมูลจากการใช้ยายุ่งยากแบบนี้ ชาวบ้านก็จะอาศัยการซื้อยาจากร้านขายยาใกล้บ้าน และเมื่อเคยใช้อย่างไรก็ใช้อย่างนั้น โดยเฉพาะพาราเซตามอล เมื่อเม็ดแรกยังไม่ดีขึ้น ก็จะกินซ้ำๆ หรือเปลี่ยนยี่ห้อใหม่ ที่มีส่วนผสมอื่นๆ เข้าไปจนกว่าจะดีขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายมาก” นางบุญยืนกล่าว

 

กินแบบเปลี่ยนยี่ห้อเพราะไม่หาย

 

นอกจากนี้อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและเป็นปัญหาสำคัญ ที่เกิดจากการไม่ได้รับข้อมูลการใช้ยาของประชานโดยทั่วไป ได้แก่ ความเชื่อที่ผิดของผู้ใช้ ที่เชื่อว่า ยาที่ราคาถูกมักจะมีคุณภาพไม่ดี รักษาไม่หาย เพราะไม่มีความรู้ถึงคุณสมบัติและชนิดของยา ในการรักษาโรคทำให้ต้องเสียเงินซื้อยาในราคาที่แพงกว่า หรือบางรายที่ใช้วิธีการซื้อยารักษาเอง ต้องได้รับยาที่เกินขนาด เพราะเข้าใจผิดว่ายาที่ใช้เป็นยาที่ต่างชนิดกัน โดยเฉพาะยา “พาราเซตามอล” ที่แม้จะนำออกมาขายหลายยี่ห้อ แต่ประชาชนส่วนใหญ่กลับเข้าใจว่ามีคุณภาพและสรรพคุณที่แตกต่างกัน และน่าจะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยบริโภคยาชนิดนี้เกินความจำเป็น

 

แนะสร้างเครือข่ายให้ความรู้เรื่องยา

 

“บางคนเข้าใจว่า ยาพาราเซตามอล ที่วางขายทั่วไปนี้คุณภาพต่างกัน อย่างยาขององค์การเภสัชกรรม ใช้แล้วไม่หาย แต่เมื่อไปซื้อยาพาราเซตามอลเหมือนกัน แต่เป็นอีกยี่ห้อหนึ่งที่มีส่วนผสมของยาแก้แพ้ มาใช้กลับรู้สึกดีขึ้น จึงคิดว่ายาทั้งสองชนิดเป็นคนละตัวกัน ก็เป็นสาเหตุที่ ทำให้ได้รับยาที่เกินขนาด และเสียเงินโดยใช่เหตุดังนั้นจะทำอย่างไรที่จะให้คนมีความรู้เรื่องนี้ และเข้าใจอย่างถูกต้อง” นางบุญยืนกล่าว พร้อมกับระบุด้วยว่า อีกประเด็นหนึ่งที่คิดว่าหากทำได้จะเป็นการเปิดโอกาสและเพิ่มช่องทางของการให้ความรู้เกี่ยวกับยาให้กับประชาชนมากขึ้นคือ การเพิ่มเครือข่ายด้านการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ยาชนิดต่างๆ ซึ่งคิดว่า องค์การเภสัชกรรมสามารถที่จะทำได้ภายใต้ความร่วมมือกับเครือข่ายผู้ป่วยต่างๆ และตนคิดว่าเป็นการทำ CSR ที่น่าสนใจและสนับสนุนให้องค์การเภสัชกรรมดำเนินการอย่างเต็มที่เพราะคิดว่าเป็นประโยชน์ต่อทั้งผู้ที่จำเป็นต้องใช้ยาเอง รวมถึงประชาชนโดยทั่วไปด้วย

 

สปสช.เน้นดูแลถึงตู้ยาที่บ้าน

 

ด้าน ภ.ญ.ปนัดดา ลี่สถาพรวงศา ผู้จัดการกองทุนยา เวชภัณฑ์ และวัคซีน สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แสดงความคิดเห็นในเรื่องเดียวกันว่า ที่ผ่านมาสปสช.และองค์การเภสัชกรรม ทำงานร่วมกันมานานแล้ว โดยเฉพาะประเด็นการเข้าถึงยา และการเข้าถึงข้อมูลการใช้ยาของผู้ป่วย ที่สปสช.จะต้องบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลระหว่างงบประมาณที่จำกัด จำนวนผู้ป่วย และปริมาณยาที่มีเพื่อให้เกิดการเข้าถึงยาอย่างมีคุณภาพที่สุด ซึ่งที่ผ่านมามีการให้ความรู้เรื่องยาให้กับประชาชนตั้งแต่การเดินเข้าไปดูตะกร้ายาที่บ้านของชาวบ้าน หรือยาที่อยู่ในตู้ยาในบ้าน เพราะยาแต่ละชนิดที่ประชาชนใช้ไม่ได้รับมาจากแพทย์อย่างเดียว แต่เป็นการซื้อหามาใช้เอง และขาดความรู้ความเข้าใจในยาที่จะต้องใช้ โดยเฉพาะยา พาราเซตามอล พบว่าส่วนใหญ่จะมีติดบ้านไว้เสมอ และมักใช้รักษาอาการปวดทุกชนิด ซึ่งถือเป็นความเข้าใจที่ผิด และข้อมูลสำคัญที่พบคือการเข้าใจว่า ยาพาราเซตามอลแต่ละยี่ห้อ มีคุณสมบัติการรักษาที่แตกต่างกัน เพราะเข้าใจว่ายาพาราเซตามอลนั้นรักษาอาการหวัดด้วย แต่เมื่อไปซื้อยาอีกยี่ห้อหนึ่งที่มีส่วนผสมของยารักษาอาการหวัดด้วย ก็รู้สึกว่าหายจากอาการเจ็บป่วย จึงเกิดความเข้าใจผิด

 

 

นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ชาวบ้านทั่วไปยินดีที่จะซื้อน้ำยาบางชนิด ที่มีราคาสูงเกินความเป็นจริง เพียงเพราะได้รับข้อมูลจากบริษัทยาว่า มีคุณสมบัติล้ำเลิศ แม้จะมีราคาแพงแต่ชาวบ้านก็ยอมซื้อ เพราะถูกสร้างค่านิยมผิดๆ ที่ว่า “ของดีจะต้องแพง” ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป

         “ดังนั้นสิ่งสำคัญคือทำอย่างไรที่จะต้องเผยแพร่ให้ประชาชนเข้าใจและได้รับข้อมูลเกี่ยวกับข้อบ่งใช้การใช้ยาให้ได้มากที่สุดเพื่อที่คนไทยจะไม่รับยาพาราเซตามอลที่เกินขนาด เพราะถือว่าเป็นอันตรายมากกว่าการจะได้ใช้ประโยชน์จากยากชนิดนี้” ภ.ญ.ปนัดดากล่าว

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: