บริษัทฟ้องเรียกค่าเสียหายชาวบ้าน 200 ล้านบาท
จากกรณีปัญหาพิพาทแรงงานระหว่างสหภาพแรงงานชินเอ ไฮเทค กับบริษัท ชินเอ ไฮ-เทค จำกัด จ.นครราชสีมา สหภาพแรงงานได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง เพื่อขอรักษาสภาพการจ้างเดิม หลังจากบริษัทปรับแปลงการบริหารงานใหม่ และเลิกจ้างคณะกรรมการบริหารสหภาพฯ และขัดขวาง แทรกแซง การดำเนินกิจกรรมสหภาพฯ ตั้งแต่ ปีพ.ศ.2554 กระทั่งเหตุการณ์บานปลายและขยายวงกว้าง กระทั่งนำไปสู่การเลิกจ้างคณะกรรมการสหภาพแรงงานชินเอ โฮเทค ทำให้พนักงานออกมาเคลื่อนไหวยื่นข้อเรียกร้องทวงถามคำสัญญาจากนายจ้าง โดยเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2555 กลุ่มพนักงานบริษัท ชินเอ ไฮเทค จำกัด เดินทางมาปักหลักชุมนุม อยู่ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อนายจ้าง 2 ข้อ คือ 1.การรับพนักงานทั้งหมดกลับเข้าทำงานตามสัญญา
2.หากนายจ้างยืนยันจะไม่ให้กลับเข้าทำงาน ก็ให้นายจ้างเลิกจ้างและจ่ายค่าชดเชยตามสิทธิในกฎหมาย แต่ยังไม่ได้รับคำตอบจากนายจ้างแต่อย่างใด ล่าสุดมีหนังสือจากสำนักงานพันธเดชาธรรมทนายความ และธุรกิจ ลงนามโดยนายชัยรัตน์ ทัดเทียม ทนายความผู้รับมอบอำนาจ ส่งถึงพนักงานที่หยุดงานเพื่อมาชุมนุม โดยเรียกร้องค่าเสียหายจากการที่ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายต่อการผลิตสินค้า ชื่อเสียง และสูญเสียโอกาสในการทำธุรกิจจำนวน 200 ล้านบาท และให้นำเงินมาชำระคืนให้กับบริษัทภายใน 7 วัน มิฉะนั้นจะฟ้องร้องดำเนินคดีกับกลุ่มคนงานต่อไป
ครอบครัวคนงานเครียดหลังรู้ว่าถูกฟ้อง
นายเอกลักษณ์ พรหมพันธ์ใจ ประธานสหภาพแรงงานชินเอ ไฮเทค กล่าวว่า สำหรับหนังสือที่บริษัทฯ ส่งถึงพนักงานมีรายละเอียดว่า ตามที่ได้มีเพื่อนพนักงานอื่นๆ อีกจำนวนหลายคน ร่วมกันนัดหยุดงาน และหรือผละงานละทิ้งหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24-28 เมษายน 2555 อันเป็นการจงใจทำให้บริษัทนายจ้างได้รับความเสียหาย รายละเอียดตามที่ทราบดีอยู่แล้วนั้น จากการตรวจสอบความเสียหายที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากการกระทำดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 25-28 เมษายน2555 ทำให้บริษัทฯได้รับความเสียหายต่องานผลิตสินค้าที่บริษัทได้วางแผนไว้ เสียหายต่อชื่อเสียง เสียหายต่อการสูญเสียโอกาสในการทำธุรกิจ คิดเป็นเงิน 200,000,000 (สองร้อยล้านบาท) ดังนั้น ในฐานะทนายความผู้รับมอบอำนาจของบริษัทฯ ขอให้นำเงินจำนวน 200,000,000 (สองร้อยล้านบาท) มาชำระคืนให้แก่ บริษัทฯให้เสร็จสิ้นภายในกำหนด 7 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับหนังสือทวงถามฉบับนี้ หากพ้นกำหนดดังกล่าวข้างต้นแล้วผู้ได้รับหนังสือยังคงเพิกเฉยอยู่ ก็มีความจำเป็นที่ต้องดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป
“ผลจากหนังสือนี้สร้างผลกระทบต่อชีวิตของคนงานจำนวนมาก คือมีอยู่หนึ่งรายที่คุณแม่ช็อกเข้าโรงพยาบาล เมื่อรับจดหมายให้ชดเชยค่าเสียหาย และมีอีกหลายคนที่สามีขอหย่า หรือเรียกให้กลับเข้าไปทำงาน และพ่อแม่โทรมาสอบถามเรื่องความเป็นมา ซึ่งสร้างความปั่นป่วนให้กับครอบครัวคนงานอย่างมาก ไม่เข้าใจว่าทำไมสำนักงานทนายความจึงส่งหนังสือไปตามบ้านคนงาน เพราะคนงานไม่ได้อยู่ที่นั่นหากพ่อแม่คนงานช็อกเสียชีวิตใครจะรับผิดชอบต่อการสูญเสียของเขา ซึ่งประเด็นนี้ตนคงต้องปรึกษาหารือกับขบวนการแรงงาน เพื่อให้ช่วยจัดการให้ความเป็นธรรมต่อเราด้วย เพราะเราต้องการแค่เจรจากับนายจ้างของเราเพื่อช่วยกันหาทางออก เรายังเชื่อว่าหากได้คุยกับนายจ้างจะสามารถหาข้อยุติได้ เพราะเรามีแรงงานสัมพันธ์ที่ดีด้วยกันมาโดยตลอด” นายเอกลักษณ์กล่าว
นายเอกลักษณ์กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้นายจ้างจะเป็นคนดูแลและจัดสวัสดิการต่างๆ ให้กับพนักงาน โดยใช้แรงงานสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาโดยตลอด ใช้ท่าทีในการพูดคุยหารือกันเสมอ เพื่อช่วยกันแก้ไขปัญหา แต่วันนี้ไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นหลังเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ที่มีการจ้างผู้จัดการฝ่ายบุคคลใหม่เข้ามา มีการปรับเปลี่ยนบทบาทการทำงาน เพิ่มอำนาจหัวหน้า และมีการตรวจสอบคุณสมบัติของกรรมการสหภาพแรงงาน และการส่งหนังสือเวียนขอคืนสภาพการจ้างเดิม ทำให้เกิดความระส่ำระส่ายความไม่มั่นใจของคนงานที่ทำงานในบริษัท แต่อย่างไรพวกตนยังเชื่อมันในนายจ้างว่า ทุกอย่างมีทางออกหากมีการพูดคุยปรึกษาหารือร่วมกัน
งงถูกแจ้งจับเพิ่มคดีทำร้ายร่างกาย
ด้านนายภูมิพัฒน์ ขจรพบ หนึ่งในพนักงานที่ได้รับหนังสือเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าว กล่าวว่า ตนและเพื่อนอีก 3 คนได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาของสภ.เมืองนครราชสีมา เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2555 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช 2477 มาตรา 52 ด้วยเหตุที่ต้องหาว่า “ร่วมกันพยายามทำร้ายร่างกาย นายจรัญ คัมภิรานนท์” ซึ่งในความจริงตนกับเพื่อนๆ ไม่เคยรู้จักหน้าตาของคนที่อ้างว่าพยายามทำร้ายร่างกายเลยแม้แต่น้อย ขณะที่พวกตนพยายามที่จะขอแจ้งความกลับแต่ทางตำรวจยังไม่รับแจ้งความ จึงยังไม่ทราบจะทำอย่างไรนอกจากการไปรายงานตัว และปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว โดยพ่อแม่ของพวกตน เป็นผู้ที่รับหมายศาลไว้เช่นกัน สร้างความตกใจให้กับครอบครัวไม่น้อย เพราะไม่ทราบว่าลูกๆ ของพวกเขาทำผิดอะไร
ขณะที่นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) กล่าวว่า จากการที่ทางคนงานชินเอมาร้องทุกข์ และปรึกษาหารือกับทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย เพื่อให้เข้าไปช่วยเหลือนั้น จริงๆ ทางคสรท.ได้ทำงานร่วมกับทางสภาองค์การลูกจ้างยานยนต์แห่งประเทศไทย และได้รับหนังสือขอความช่วยเหลือแล้ว กำลังดำเนินการในการรับบริจาคข้าวสารอาหารแห้ง และงบประมาณในการให้ความช่วยเหลือพี่น้องคนงานชินเอ
“วันนี้ได้รับฟังข้อเท็จจริงจากคนงานแล้ว ดูเหมือนว่าทางนายจ้างจะว่าจ้างสำนักงานทนายความในการกระทำการแทนดังนี้ 1.มีการส่งจดหมายเวียนถึงคนงานเพื่อขอลดสวัสดิการทั้งหมด นำมาซึ่งการยื่นข้อเรียกร้องของคนงานที่มีถึง 35 ข้อด้วยจริงคือสภาพการจ้างเดิม มีข้อเรียกร้องใหม่ไม่กี่ข้อ 2.มีการใช้ความไม่รู้ของคนงานในการออกจดหมายขู่ว่าจะฟ้องเรียกค่าเสียหาย 200 ล้านบาท และการส่งหมายเรียกตัวผู้ต้องหา กรณีพยายามทำร้ายร่างกาย ไปตามบ้านเกิดของคนงาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิต และครอบครัวของคนงานอย่างมาก อันนี้ต้องมีคนรับผิดชอบต่อประเด็นดังกล่าว เพราะพ่อ แม่ คนงาน ส่วนใหญ่ไม่รู้กฎหมาย เมื่อเห็นข้อความต่างๆ ที่ดูเป็นทางการของสำนักงานฯ นำมาซึ่งความเสียหายต่อชีวิตครอบครัว การต่อสู้ของคนงานครั้งนี้เขาต้องการความเป็นธรรมสิ่งที่เคยได้เคยมี และเขายังเชื่อว่าเขากับนายจ้างสามารถที่จะพูดคุยกันได้ จึงคิดว่ากระทรวงแรงงานคงต้องหาทางช่วยให้คนงานได้พูดคุยกับนายจ้างแทนการพูดคุยผ่านตัวแทนที่ไม่มีอำนาจ” นายชาลีกล่าว
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ