‘ผอ.เอแบคโพล’แนะเวทีการเมือง ลดปลุกระดม-สร้างประโยชน์ให้ปชช.

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 8 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1114 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยว่า การจัดเวทีปราศรัยของฝ่ายการเมืองกลุ่มต่างๆ ในขณะนี้ ยังไม่สามารถทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ของประเทศเห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นในเชิงนโยบายสาธารณะ ต่อคนส่วนใหญ่ทั้งประเทศ แต่ชาวบ้านส่วนใหญ่กลับเห็นว่าเป็นเพียงกลยุทธ์ทางการเมือง เพื่อแย่งชิงอำนาจ ฉวยโอกาสสร้างกระแสความได้เปรียบ และความอยู่รอดของตนเองหรือพวกพ้องเท่านั้น

 

จึงน่าเป็นห่วงในสถานการณ์การเมืองในขณะนี้ว่า อาจทำให้ประเทศไทยกลับไปสู่จุดตั้งต้นของการแสวงหากลุ่มผู้วางกรอบกติกาของบ้านเมือง (Framers) ซ้ำซาก จนอาจทำให้ การเมืองกลายเป็นแพะรับบาป ก่อให้เกิดความรังเกียจของสาธารณชน ต่อกลุ่มนักการเมือง ทั้งๆ ที่ "การเมือง" (Politics) เป็นกลไกสำคัญในระบอบประชาธิปไตย ที่เปิดโอกาสให้สาธารณชน มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ลดความขัดแย้งและนำไปสู่ความเจริญ และประเทศไทยในปัจจุบัน ก็ได้พัฒนามาไกลมากเกินกว่าที่จะถอยหลังหรือหยุดชะงัก จึงเสนอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในเวลานี้ และประชาชนทุกคนลองพิจารณาสถานการณ์จำลองและข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้

 

ประการที่ 1 สถานการณ์จำลองที่เป็นไปได้ส่วนหนึ่งคือ การจัดเวทีการเมืองของกลุ่มต่างๆ เวลานี้ มีแต่ประเด็นหลักๆ ไม่กี่ประเด็น เช่น เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่แก้ไข เรื่องหนุนการนิรโทษกรรมหรือไม่หนุน เรื่องต้องยึดตัวบทกฎหมายเอาคนผิดมาลงโทษ หรือต้องใช้หลักรัฐศาสตร์ เรื่องให้มีการถอนร่าง พ.ร.บ.ปรองดอง หรือไม่ จึงจะเห็นได้ว่า วาระสำคัญของแต่ละกลุ่มการเมือง มีแต่เรื่องเชิงอำนาจและความอยู่รอดของคนเฉพาะกลุ่ม แต่ไม่เห็นเวทีการเมืองใด ที่จะสามารถสร้างกระแสให้สาธารณชนถกเถียงกันเรื่องเชิงนโยบายสาธารณะ เพื่อประโยชน์ของชาวบ้านโดยส่วนใหญ่ทั้งประเทศ

 

ประการที่ 2 ฝ่ายการเมืองและผู้มีอำนาจฝ่ายต่างๆ น่าจะ “ลด” ระดับการปลุกระดมให้เกิดความขัดแย้งในหมู่ประชาชนลง แต่ “เพิ่ม” ระดับของการปลุกกระแสผ่านการจัดเวทีการเมืองให้สาธารณชนหันมาพูดคุยเชิงเหตุผล เรื่องนโยบายสาธารณะ เช่น ควรจะให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สามารถออกกฎหมายเองได้หรือไม่ ในเรื่องการเงินการธนาคาร การบริหารจัดการทรัพยากรท้องถิ่นของตนเอง กรรมสิทธิ์ของชาวบ้านในเรื่องที่ทำกิน การจับปรับผู้ฝ่าฝืนทำผิดกฎจราจรในชุมชน เป็นต้น เมื่อประเด็นเหล่านี้เกิดขึ้นเป็นกระแสที่สาธารณชนสนใจ ก็จะทำให้เกิดการมีส่วนร่วมวิพากษ์วิจารณ์ และหาเหตุผลสนับสนุนฝ่ายการเมืองของกลุ่มต่างๆ ตามระบอบประชาธิปไตยต่อไป

 

ประการที่ 3 ฝ่ายรัฐบาล หน่วยงานราชการ และองค์กรอิสระ น่าจะหันมาเอาจริงเอาจังในการปฏิรูปปัญหาสำคัญของประเทศในเวลานี้ หันมาสร้าง “เสาหลัก” ของบ้านเมือง ให้เป็นที่ไว้วางใจของสาธารณชนต่อ ประสิทธิภาพ (Effectiveness) ความคุ้มค่าคุ้มทุนงบประมาณภาษีของประชาชนในการพัฒนาประเทศ (Efficiency) และการวางตัวบุคคลที่เป็น รัฐมนตรี ข้าราชการหัวหน้าหน่วย และเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงของแต่ละหน่วยราชการและองค์กรอิสระ ที่สามารถตอบสนองความต้องการ และป้องกันแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของสาธารณชนได้ เป็นที่ยอมรับในความรับผิดชอบ และความน่าเชื่อถือในความเป็นผู้นำ แต่ละสถานการณ์ปัญหาของบ้านเมือง (Accountability) และทำทุกอย่างด้วยความโปร่งใส ให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบแกะรอยเม็ดเงินงบประมาณ จากส่วนกลางสู่มือประชาชนแต่ละท้องถิ่น ได้อย่างเปิดเผย (Transparency)

 

ประการที่ 4 ศูนย์บำบัดฟื้นฟูผู้เสพติดอำนาจทางการเมือง (The Center for Power Addicts and Politics Abuse Rehabilitation, PAPA-Rehab) น่าจะกลายเป็นพื้นที่ที่จำเป็น สำหรับสังคมเครือข่ายนักการเมืองไทยในเวลานี้ เพื่อให้กลุ่มนักการเมือง หรือผู้เตรียมตัวเป็นนักการเมือง ได้เข้ารับการบำบัดฟื้นฟูและเตรียมความพร้อมผลิตนักการเมืองที่ดีให้กับบ้านเมืองด้วย

 

“ตัวยาและเครื่องมือทางการเมืองแพทย์การเมืองที่ทันสมัย” โดยตัวยาสำคัญ ได้แก่เนื้อหาสาระของความเป็นผู้นำ (Leadership) นวัตกรรมการบริหารจัดการเชิงนโยบาย (Innovation in Policy Management) การกำหนดนโยบายสาธารณะ การประยุกต์ใช้จริยธรรมทางการเมือง และการติดตามประเมินผล ในขณะที่เครื่องมือทางการแพทย์ คือการสร้างแบบจำลองสถานการณ์ทางการเมือง (Political Simulation) และการเข้าร่วมศึกษาค้นคว้าวิจัย เพื่อทำให้ผู้ที่กำลังเสพติดอำนาจทางการเมือง กลายเป็นนักการเมืองที่ดีมีคุณภาพ ทำเพื่อความสุขในอุดมการณ์ของตนเอง และประโยชน์สุขของสาธารณชนในระบอบประชาธิปไตยต่อไป

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: