‘สวนดุสิตโพล’ชี้ปชช.ไม่เข้าใจ ศาลรธน.ไต่สวนแก้รัฐธรรมนูญ

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 8 ก.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1433 ครั้ง

จากกรณีศาลรัฐธรรมนูญไต่สวน กรณีมีผู้ร้องว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยอ้างว่าผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 68 ถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง เป็นประเด็นสำคัญต่อการเมืองไทยและส่งผลต่อเสถียรภาพของการเมือง เพื่อเป็นการสะท้อนความคิดเห็นของประชาชนโดยเฉพาะผู้ที่ติดตามข้อมูลข่าวสารการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ

 

เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทุกสาขาอาชีพในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 1,389 คน (เป็นผู้ที่ติดตามการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ1,176 คน ผู้ที่ไม่ได้ติดตาม 213 คน) ระหว่างวันที่ 6 - 7 กรกฎาคม 2555 สรุปผลดังนี้

 

1.การติดตามข่าวการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญของประชาชน ผลการสำรวจอันดับ 1 ติดตามอยู่บ้าง 34.99 % เพราะอยากฟังข้อมูลจากทั้ง 2 ฝ่าย จะได้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น, สื่อต่างๆ มีการนำเสนออย่างต่อเนื่อง, มีผลต่อสถานการณ์บ้านเมือง ฯลฯ

อันดับ 2 ไม่ค่อยได้ติดตาม 28.29 % เพราะไม่สะดวก ต้องทำงาน, ดูบ้างไม่ได้ดูบ้าง, รอฟังคำตัดสินในวันที่ 13 ก.ค. ฯลฯ อันดับ 3 ติดตามโดยตลอด 21.38 % เพราะอยากรู้ข้อเท็จจริง, รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศเกี่ยวข้องกับของคนไทยทุกคน ไม่ใช่เพียงแค่นักการเมืองเท่านั้น ฯลฯ อันดับ 4 ไม่ได้ติดตามเลย 15.34 % เพราะเบื่อ ไม่ชอบ ไม่สนใจการเมือง มีแต่การทะเลาะเบาะแว้ง หาเรื่องโจมตีกันไปมา ฯลฯ

 

ในกรณี ผู้ที่ติดตามการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ 1,176 คน สวนดุสิตโพล ได้สอบถามความคิดเห็น ตั้งแต่ข้อ 2 - 5 ปรากฎผลดังนี้

 

2.ประชาชนที่ติดตามการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับประโยชน์จากการติดตามการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ คืออันดับ 1 ได้รับรู้ข้อเท็จจริงและเห็นท่าทีของทั้งผู้ร้องและผู้ถูกร้อง/ มีความเข้าใจเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญมากขึ้น 63.22 % อันดับ 2 ได้รับรู้ขั้นตอนและกระบวนการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ 21.24 % อันดับ 3 มีข้อมูลเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น /ผลกระทบหลังจากการพิจารณาเสร็จสิ้นลง 15.54 %

 

3.ประชาชนที่ติดตามการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ คิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ถือว่าเป็นการล้มล้างการปกครองตามมาตรา 68 หรือไม่ อย่างไร อันดับ 1 ไม่แน่ใจ 45.93 % เพราะยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องนี้มากพอ ไม่ทราบวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ, ต่างคนก็ต่างความคิดกันไป, รอฟังคำตัดสินจากศาลรัฐธรรมนูญดีกว่า ฯลฯ

อันดับ 2 ไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 68 29.66 % เพราะเป็นเพียงการแก้ไขบางมาตราเท่านั้น ไม่มีเนื้อหาที่ระบุว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง, คิดว่าเป็นเรื่องที่ผู้ร้องตีตนไปก่อนไข้, เป็นการทำตามสัญญาที่รัฐบาลได้ให้ไว้กับประชาชน ฯลฯ

อันดับ 3 เป็นการล้มล้างการปกครอง ตามมาตรา 68 24.41 % เพราะเหตุผลประกอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญยังไม่มีน้ำหนักพอ เป็นการทำเพื่อผลประโยชน์และช่วยเหลือพวกพ้องมากกว่า ฯลฯ

 

4.จากที่มีการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญประชาชน ที่ติดตามการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญคิดว่า “สภาพการเมืองไทย” ณ วันนี้ เป็นอย่างไร อันดับ 1 ยังคงมีแต่การทะเลาะเบาะแว้งแตกแยกมุ่งแต่การเอาชนะคะคานกัน/เห็นแก่ประโยชน์และพวกพ้อง 46.88 % อันดับ 2 การพิจารณาคดีนี้ต้องอาศัยความยุติธรรม และความเด็ดขาด / ศาลรัฐธรรมนูญแต่ละท่านเป็นที่พึ่ง และเป็นความหวังของประชาชน 29.46 %

อันดับ 3 สภาพการเมืองที่ย่ำแย่มาจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของนักการเมือง ใช้อำนาจในทางที่ผิดการคุกคามจากนักการเมือง 9.82 % อันดับ 4 การเมือง ณ วันนี้มีความเกี่ยวข้องโยงใยแทบจะทุกเรื่อง พยายามที่จะเข้าไปแทรกแซงในทุกหน่วยงาน แม้กระทั่งกระบวนการยุติธรรมก็ไม่เว้น 8.04 % อันดับ 5 การตัดสินครั้งนี้ อาจส่งผลให้ประชาชนมีการชุมนุม หรือเกิดการเคลื่อนไหวทางการเมือง 5.80 %

 

5.ประชาชนที่ติดตามการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญ คิดว่าทิศทางการเมืองไทยหลังจากการไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญแล้ว จะเป็นอย่างไร อันดับ 1 เหมือนเดิม 59.49 % เพราะยังคงมีเรื่องผลประโยชน์และความขัดแย้งทางการเมืองอยู่, การเคลื่อนไหว ชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มต่างๆยังมีให้เห็น ฯลฯอันดับ 2 แย่ลง 26.06 % เพราะถึงแม้การตัดสินจะสิ้นสุดลง เชื่อว่าเรื่องนี้ยังคงมีการถกเถียงกันไม่จบสิ้น, ยังมีอีกหลายประเด็น ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขและยังเป็นปัญหาที่ค้างคาอยู่, เห็นได้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งมีความรุนแรงมากขึ้น ฯลฯอันดับ 3 ดีขึ้น 14.45 % เพราะถึงแม้ว่าผลจะออกมาอย่างไร ทุกคนต้องยอมรับและเคารพในการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ, ต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ของตนเองต่อไปเพื่อเป็นการพิสูจน์ผลงานให้ประชาชนได้เห็น ฯลฯ

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: