ผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดฯ มีอะไรน่ากลัวนักหรือ

9 ก.พ. 2555


 

รัฐบาลไทยได้ใช้กลยุทธโยกโย้ถ่วงเวลาในการรับผู้สังเกตการณ์ชาว อินโดนีเซียที่จะให้เข้าไปดูเหตุการณ์ในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปะทะ ชายแดนด้านปราสาทพระวิหารจากเดือนกุมภาพันธ์มาจนบัดนี้ล่วงเลยเวลามากว่า 4 เดือนแล้ว และยังไม่มีทีท่าว่าผู้สังเกตการณ์เหล่านั้นจะมีโอกาสได้เข้าไปเหยียบ พื้นที่นั้นง่ายๆ

 

ท่าทีเช่นนี้ของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่กำลังจะหมด อำนาจไปเพราะผลแห่งการยุบสภาและการเลือกตั้งใหม่ ได้ทำลายภาพพจน์และเครดิตระหว่างประเทศของไทยลงไปอย่างมาก ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศซึ่งไม่รักษาคำพูดและกำลังจะกลายเป็นอุปสรรค สำคัญของกระบวนการสันติภาพตามแนวชายแดนไทยกัมพูชา

 

การไม่ยอมปฏิบัติ ตามพันธกรณีที่ได้ตกลงกันเอาไว้ ด้วยเหตุผลที่ไม่สามารถอธิบายได้อย่างชัดแจ้งนักเช่นนี้ จะทำให้เกิดความเสื่อมถอยของเกียรติภูมิระหว่างประเทศ ได้อย่างมาก

 

ไทย และกัมพูชาได้ตกลงกันเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนนัดพิเศษที่กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย ยอมรับผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียรวม 30 คนเข้าไปดูสถานการณ์ความตึงเครียดตามแนวชายแดน หลังจากที่ได้เกิดเหตุปะทะกันที่บริเวณชายแดนด้านนั้นระหว่างวันที่ 4-7 กุมภาพันธ์ 2554 เป็นเหตุให้ทหารและพลเรือนของทั้งสองฝ่ายเสียชีวิต 8 คนบาดเจ็บและต้องอพยพออกจากพื้นที่อีกเป็นจำนวนมาก รวมทั้งทรัพย์สินของประชาชนจำนวนหนึ่งได้รับความเสียหายด้วย

 

หลังจาก การปะทะ กัมพูชาได้เสนอเรื่องนี้เข้าสู่ทีประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาติ และคณะมนตรีฯได้เปิดประชุมในเรื่องนี้เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2554 โดยมีมติว่าให้ สมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรืออาเซียน ดำเนินการให้เกิด “การหยุดยิงถาวร” และให้ใช้กลไกทวิภาคีที่มีอยู่เพื่อแก้ปัญหาข้อขัดแย้งตามแนวชายแดน

 

อินโดนีเซีย ในฐานะประธานอาเซียน จะดำเนินการ 2 อย่างเพื่อให้เกิดการหยุดยิงถาวรให้ได้ กล่าวคือ ส่งผู้สังเกตการณ์เข้าไปประจำพื้นที่ใกล้กับจุดปะทะ และจะเปิดการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม และคณะกรรมการชายแดนทั่วไป ระหว่างสองประเทศเพื่อหาทางแก้ไขปัญหา

 

แต่นับจากวันนั้นถึงวันนี้การ ดำเนินการเพิ่งจะทำได้เพียงอย่างเดียวคือ การประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (Joint Boundary Commission – JBC) เมื่อวันที่ 7-8 เมษายน 2554 ที่เมืองโบกอร์ และการประชุมครั้งนั้นไม่ได้มีความคืบหน้าอะไรเลย เพียงแต่ได้ตกลงกันว่าจะเตรียมการสำรวจทางเทคนิคหลักเขตที่ 1-23 และเตรียมการสำหรับการทำภาพถ่ายทางอากาศเท่านั้น งานที่ค้างคาเกี่ยวกับสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ พิพาทบริเวณปราสาทพระวิหารไม่ได้แตะเลย

 

การประชุมคณะกรรมการชายแดน ทั่วไป (General Border Committee – GBC) ซึ่งมีรัฐมนตรีกลาโหมของทั้งสองประเทศเป็นประธานร่วมนั้นดำเนินการไม่ได้ เพราะฝ่ายไทยไม่ยอมไปประชุมที่อินโดนีเซีย ตั้งเงื่อนไขว่า การประชุมคณะกรรมการชุดนี้ครั้งต่อไปนั้นจะเป็นคิวของกัมพูชาจะต้องเรียก ประชุม และควรจะต้องประชุมในประเทศเจ้าภาพเท่านั้น ไม่ใช่ประเทศที่สาม

 

ส่วน ปัญหาเรื่องผู้สังเกตการณ์นั้น คาราคาซัง เรื่อยมา เพราะกองทัพไม่เห็นด้วยที่จะให้ผู้สังเกตการณ์ต่างชาติเข้าพื้นที่ จึงยังไม่ตอบรับอย่างเป็นทางการเพื่ออนุญาตให้คณะผู้สังเกตการณ์เข้าพื้นที่ ในขณะที่กัมพูชาตอบรับเกือบจะทันทีที่ร่างข้อเสนอ (Term of Reference) ว่าด้วยผู้สังเกตการณ์ส่งถึงกรุงพนมเปญ โดยไม่มีเงื่อนไขเลย

 

เมื่อการ ปฏิเสธอย่างสิ้นเชิงทำได้ไม่เต็มปาก เพราะเหตุที่ได้หลวมตัวตกลงเอาไว้แล้ว อีกทั้งข้อเสนอให้มีผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียก็เป็นข้อเสนอในเชิงเกทับ (Bluff) ที่ฝ่ายไทยได้เสนอขึ้นมาเอง เพื่อเกทับข้อเสนอให้มีผู้สังเกตการณ์ของอาเซียนเข้าพื้นที่ซึ่งเป็นของ กัมพูชา ฝ่ายไทยจึงใช้วิธีตั้งเงื่อนไขเพิ่มและถ่วงเวลา

 

แรกทีเดียว ฝ่ายไทยเสนอว่า ผู้สังเกตการณ์ไม่ควรจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่พิพาท 4.6 ตารางกิโลเมตรรอบปราสาทพระวิหาร และควรจะเอาร่างข้อเสนอหรือ TOR นี้ไปหารือกับฝ่ายกัมพูชาในการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไป แต่พอจะมีการประชุมคณะกรรมการดังกล่าวที่อินโดนีเซีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย คือ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ และบรรดาผุ้นำเหล่าทัพทั้งหลายกลับพากันยืนกรานว่าจะไม่ไปประชุมคณะกรรมการ นี้ในประเทศที่สาม

 

ระหว่างนั้นฝ่ายไทยก็พิจารณา TOR ไปเรื่อยๆ และขอปรับแก้ถ้อยคำเล็กๆน้อยๆ รวมแล้วมีการแก้ไขถึง 7 ครั้งด้วยกัน และร่างสุดท้ายเท่าที่ไทยยอมรับได้นั้น ความจริงก็ไม่ได้มีอะไรที่ควรแก่การวิตกกังวลเลยแม้แต่น้อย

 

ในร่างข้อ เสนอเท่าที่ได้เห็นนั้นมีทั้งหมดแค่ 4 หน้า 9 หัวข้อ 19 ย่อหน้า ในนั้นประกอบไปด้วย วัตถุประสงค์ องค์ประกอบ ฐานะ พื้นที่ บทบาทและความรับผิดชอบ การทำรายงาน การบริหาร ระยะเวลา และการเพิกถอน

 

วัตถุ ประสงค์สำคัญของการส่งผู้สังเกตการณ์เข้าพื้นที่คือ เพื่อช่วยเหลือ สนับสนุนคู่กรณี ป้องกันเหตุแห่งการปะทะทางทหาร โดยการสังเกตการณ์ ทำรายงานในเรื่องข้อร้องเรียนการปะทะ อย่างเป็นกลาง โดยปราศจากอคติใดๆ และส่งต่อให้กับประธานอาเซียน

 

ในร่าง TOR นั้นเขียนอย่างไว้อย่างชัดเจนว่า การดำเนินการของผู้สังเกตุการณ์นั้นจะไม่กระทบกระเทือนต่ออำนาจอธิไตย ความมั่นคง และ ประโยชน์สาธารณะใดๆของประเทศคู่กรณีเลย

 

อินโดนีเซียจะ ส่งผู้สังเกตการณ์ที่เป็นทั้งทหารและพลเรือนจำนวน 30 คนเข้าไปประจำการฝั่งละ 15 คนในพื้นที่ชายแดนของสองประเทศ กล่าวคือ ฝั่งไทย นั้นจะไปประจำอยู่ที่ สถานีอนามัยตำบลเสาธงชัย โรงเรียนบ้านภูมิซรอล สถานีอนามัยบ้านภูมิซรอล และ ที่ทำการเจ้าหน้าที่คุ้มครองป่าไม้อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหาร ส่วนฝั่งกัมพูชานั้นจะประจำ 3 จุดที่ คือ จักชเลง ตาเซม และมาคารา

 

ระยะเวลาประจำการเพื่อสังเกตการณ์ทั้งสิ้น 6 เดือนนับแต่วันที่ได้ประกาศยอมรับให้มีผู้สังเกตการณ์อย่างเป็นทางการ

 

คณะ รัฐมนตรีของไทยได้ตกลงยอมรับเงื่อนไขตามร่างข้อเสนอใน TOR ทั้งหมดแล้ว แต่ยังไม่ยอมส่งหนังสือตอบรับอย่างเป็นทางการ และตั้งเงื่อนไขใหม่ว่า กัมพูชาจะต้องถอนทหารออกจากปราสาทพระวิหาร พื้นที่โดยรอบ บริเวณ วัดแก้วสิกขาคิรีสวารา ตลาด และ ชุมชนบริเวณนั้นก่อน จึงจะอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์เข้าพื้นที่ได้ พร้อมทั้งเรียกร้องให้เอาเงื่อนไขการถอนทหารไปประชุมกันในคณะกรรมการชายแดน ทั่วไปหรือคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม

 

แน่นอนข้อเรียกร้องนี้ กัมพูชา ปฏิเสธทันควัน ด้วยเหตุว่าพื้นที่บริเวณนั้นเป็นของกัมพูชา เรื่องอะไรที่ไทยจะมาเรียกร้องให้ถอนทหารออกไป

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ สถานการณ์ก็เข้าสู่ทางตัน ทั้งสองฝ่ายไม่มีใครยอมประนีประนอม อินโดนีเซีย เสนอทางออกใหม่ ห้ามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตั้งเงื่อนไขให้อีกฝ่ายหนึ่งปฎิบัติก่อน โดยทำเป็นแพคเกจ เอาเรื่องผู้สังเกตการณ์ไปผูกรวมกับการประชุมคณะกรรมการชายแดนทั่วไปและคณะ กรรมาธิการเขตแดนร่วม แต่ดูเหมือนไม่มีการพูดเรื่องการถอนทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยเข้าใจว่า เรื่องนี้น่าจะมีการหารือกันในที่ประชุมคณะกรรมการชายแดน แต่เรื่องนี้ก็เป็นเพียงที่เข้าใจกันไปเอง เพราะอำนาจในการเรียกประชุมคณะกรรมการทั้งสองชุดคราวนี้อยู่ในมือกัมพูชา ซึ่งกัมพูชาอาจจะเป็นฝ่ายกำหนดได้ว่าจะมีการหารือในประเด็นดังกล่าวนี้หรือ ไม่ เรื่องนี้เป็นเกมที่ต้องชิงไหวชิงพริบกันต่อไป

 

หากพิจารณาโดย เนื้อหาแล้ว เรื่องการถอนทหารเป็นเรื่องที่มีอยู่แล้วในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม ซึ่งในนั้นจะต้องมีแผนบริหารจัดการชั่วคราวเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการ สำรวจและจัดทำหลักเขตแดน แต่นั่นจะต้องทำในสถานการณ์ปกติ ในสถานการเช่นนี้ไม่สามารถทำได้เพราะทุกฝ่ายจะนำมาเป็นเงื่อนไขเพื่อเอาชนะ คะคานกัน เพื่อผลประโยชน์ของการเมืองภายใน

 

ความจริงการอนุญาตให้ผู้ สังเกตการณ์ต่างชาติเข้าพื้นที่ก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออะไรทั้งสิ้น ในบางกรณีกองทัพก็เคยพาผู้ช่วยทูตทหารไปชมสถานที่อยู่แล้ว แต่กรณีกองทัพก็ยอมไม่ได้เพราะไม่ต้องการให้ “คนนอก” เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชา เพราะนั่นจะเป็นวางพื้นฐานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งกองทัพไทยไม่คุ้น ชิน ในขณะที่ฝ่ายกัมพูชานั้นเคยชินกับการให้บุคคลภายนอกเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับ กิจการภายในของตัวเองมาแต่ไหนแต่ไร แต่สิ่งที่กองทัพไทยทำโดยการบีบบังคับให้รัฐบาลเตะถ่วงเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ นั้นไม่น่าจะเป็นผลดีต่อชื่อเสียง เครดิต และภาพพจน์ของประเทศสักเท่าใดนัก

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: