ระบบเกษตรพันธสัญญา ได้แทรกซึมเข้าสู่ระบบเกษตรกรรมไทยมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน เห็นได้ชัดนับตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฯ ที่ได้ส่งเสริมให้มีการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน และส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยว และการเลี้ยงปศุสัตว์เชิงพาณิชย์
แต่คำถามที่เกิดขึ้นในหมู่เกษตรกรและความรับรู้ของคนทั่วไป คือ ทำไมลูกหลานเกษตรกรไม่อยากเป็นชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ หรือคนเลี้ยงสัตว์ สภาพความเป็นอยู่และวิถีชีวิตของเกษตรกรเลวร้ายมากเพียงไรถึงทำให้เกิดภาวะ ถดถอยของแรงงานในภาคเกษตรสิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัด คือ เกษตรกรไทยกับปัญหาหนี้สินและความยากจน
ผู้ที่สนับสนุนระบบเกษตรพันธสัญญา มักหยิบยกประเด็นการสร้างรายได้ที่แน่นอนของระบบพันธสัญญา ที่เกิดจากการตกลงกันระหว่างบรรษัทธุรกิจเกษตรกับเกษตรกรรายย่อยมาเป็นหลัก ฐานยืนยันว่า การมีสัญญารับซื้อผลผลิตอย่างชัดเจนในแต่ละรอบการผลิตเป็นการประกันรายได้ ที่ชัดเจนให้กับเกษตรกร
และหยิบตัวเลขราคารับซื้อกับต้นทุนที่ลงไปในแต่ละรอบมาคิดผลกำไร ว่าแต่ละรอบเกษตรกรขายได้ราคามากกว่าต้นทุนที่ลงไปในแต่ละรอบ
ซึ่งวิธีการมองระบบเกษตรพันธสัญญาแบบผิวเผิน ก็จะเห็นเพียงว่าเกษตรกรได้รับเงินทุกรอบการผลิต จนเมื่อเครือข่ายนักวิชาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรในระบบพันธสัญญาได้ ลงพื้นที่ทำวิจัยทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ (โครงการวิจัยครอบคลุมทั้ง พืชเศรษฐกิจ เช่น อ้อย ข้าวโพด ผัก และสัตว์เศรษฐกิจ เช่น หมู ไก่ ปลา ลงพื้นที่ภาคเหนือ อีสาน และภาคกลาง มีเกษตรกรที่เข้าร่วมทำวิจัยไทบ้านกว่า 15 กลุ่ม รวมแล้วเกินกว่า 200 คน)
กลับได้ค้นพบว่า ในความเป็นจริงมีสิ่งทีอำพรางซ่อนเร้น ซึ่งถูกกระบวนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของบรรษัทและแนวร่วมปกปิดไว้นานนับสิบๆ ปี อยู่หลายประการ
ประการแรกเกษตรกรในระบบเกษตรพันธสัญญามิได้นำต้นทุนแอบแฝง เข้ามาคำนวณเป็น "ต้นทุนการผลิตที่แท้จริง"
เกษตรกรมักจะคำนวณต้นทุนการผลิตจากสิ่งที่ตนออกเงิน หรือกู้หนี้ยืมสินมาทำการผลิต และเห็นอย่างชัดเจน เช่น ค่าเมล็ดพันธุ์ ตัวอ่อน ปุ๋ย ยา วิตามิน ฯลฯ แต่มิได้คิดค่าแรงของตัวเอง เช่น ทำการเลี้ยงสัตว์ 4 เดือน จนขายได้เงินหลังจากหักต้นทุนแล้ว 100,000 บาท โดยใช้แรงงานตนและคนในครอบครัวรวม 4 คน เท่ากับ ค่าจ้างของคน 4 คน ตกเดือนละ 5,140 บาท/คน ซึ่งน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำหากออกไปรับจ้างทั่วไป
นี่ยังไม่รวมการไม่คิดค่าน้ำ ค่าไฟ ที่ต้องเสียไปในแต่ละวันอีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้นจากการเข้าสู่วงจรเกษตรพันธสัญญา เช่น หากเอาชีวิตของตนไปทำอย่างอื่น หรือเอาไปให้คนอื่นเช่าทำแทน จะเป็นเงินเท่าไหร่ที่คนเสียโอกาสไป
และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ค่าเสื่อมโทรมของสุขภาพกายที่ต้องอยู่กับสภาพโรงเรือนและไร่นา ที่เต็มไปด้วยสารเคมี และสุขภาพจิตที่อยู่ในภาวะเครียดสะสมจากความเสี่ยงที่ตนต้องแบกรับเป็นเวลานาน
ประการต่อมาสังคมต้องมาร่วมแบกรับผล กระทบต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย ที่เกิดจากการทำเกษตรพันธสัญญาอย่างมากมายมหาศาล เทือกเขาและยอดดอยทางภาคเหนือได้เปลี่ยนเป็นทุ่งข้าวโพดพันธสัญญาสุดลูกหู ลูกตา ไร่อ้อย คือ สิ่งที่รุกคืบเข้าครอบคลุมที่ราบสูงแถบอีสาน กระชังปลาวางเรียบรายเต็มสองฝั่งลำน้ำมูลและชี กลิ่นขี้หมูขี้ไก่ที่รบกวนและเป็นชนวนความขัดแย้งของหลายชุมชน
สิ่งเหล่านี้มิได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เกิดขึ้นจากการผลักดันของบรรษัทโดยมีรัฐหลับตาข้างหนึ่งปล่อยให้เกิด เหตุการณ์เหล่านี้ โดยมิได้คำนึงถึงการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน เกษตรกรบนที่สูงย้ำว่าถ้าปลูกข้าวโพดกับบรรษัทเจ้าหน้าที่รัฐไม่มายุ่ง แต่ถ้าทำไร่หมุนเวียนตามวิถีของชนเผ่ามักถูกจับถูกห้ามเสมอ
ประการถัดมาระบบ เกษตรพันธสัญญาเป็นกระบวนการทำธุรกิจที่คิดค้นขึ้นมาโดยบรรษัท เพื่อผลกำไรสูงสุดของบรรษัท ซึ่งมิใช่สิ่งที่เลวร้ายแต่อย่างใด เพียงแต่มิได้ตั้งเป้าหมายอยู่ที่คุณภาพชีวิตของเกษตรกร สิ่งที่ปรากฏในทุกขั้นตอนของเกษตรกรพันธสัญญาตั้งแต่เริ่มปลูก/เลี้ยง จนถึงขาย จะเห็นการ "ผลักภาระความเสี่ยง" ไปให้เกษตรกรแบกรับฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ หรือราคาที่ผันผวนของราคาสินค้าเกษตรที่แปรผันตามกลไกตลาด
และเมื่อมีผลประโยชน์บรรษัทก็จะ "ขูดรีด" ทุกสิ่งที่ตนสามารถกระทำได้ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการกำหนดราคารับซื้อ วันที่จะไปจับหรือเก็บเกี่ยว หรือมาตรฐานสินค้า ซึ่งในหลายกรณีปรากฏการณ์ฉ้อฉล เช่น การโกงน้ำหนัก โกงมาตรฐาน หรือบังคับให้เกษตร กรใส่ยา ให้อาหาร หรือสารเคมีที่เกินความจำเป็น แต่บรรษัทได้กำไรจากการขายของเหล่านี้
สิ่งที่สำคัญอีกประการคือ คุณภาพชีวิตของผู้บริโภค กระแสความตื่นตัวเรื่อง "กินอะไรเป็นอย่างนั้น" หรือ "การกินอาหารเป็นยา" ได้ชี้ให้เห็นวิถีแห่งจิตวิญญาณที่เชื่อมโยงกับอาหารการกิน แต่อาหารที่เราซื้อหาได้ในปัจจุบันโดยเฉพาะตามร้านสะดวกซื้อ หรือร้านอาหารต่างๆ มักถูกกำหนดมาตรฐานโดยบรรษัทธุรกิจเกษตร ที่เน้นการเก็บได้นาน รูปร่างหน้าตาสวยงามน่ากิน ขนาด ฯลฯ ที่ไม่เกี่ยวพันอะไรกับการทำให้อาหารสะอาด
กลับกันการทำให้อาหารมีลักษณะเช่นว่านำมาซึ่งมฤตยูในรูปของสารเคมีรูปแบบต่างๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรงและเรื้อรัง
นอกจากนี้ราคาอาหารที่พุ่งกระฉูดโดยที่รัฐบาลทำอะไรไม่ได้ ก็เนื่องจากบรรษัทธุรกิจเกษตรมีอำนาจเหนือสายพานการผลิต ช่องทางการตลาด เรื่อยมาจนถึงปากผู้กิน ผ่านระบบเกษตรพันธสัญญานั่นเอง หากรัฐไม่เข้ามาแทรกแซงก็ควบคุมราคาไม่ได้
ประการสุดท้ายเหตุผลที่ไม่มีเกษตรกร จากระบบเกษตรพันธสัญญาคนใดมาปรากฏตัวในสื่อสาธารณะ ก็เนื่องจากเครือข่ายของบรรษัทได้ลงลึกถึงท้องถิ่น มีหลายกรณีที่เกษตรกรให้ข้อมูลด้านลบของเกษตรพันธสัญญา แล้วโดนมาตรการลงโทษจากบรรษัท เช่น ไม่เอาตัวอ่อนมาให้เลี้ยง ไม่มาจับสัตว์ตามที่สัญญาไว้ หรือเลวร้ายกว่านั้น ก็ยกเลิกสัญญาทั้งที่เกษตรกรได้ลงทุนสร้างโรงเรือนไปเป็นสิบล้านก็มี
การรวมกลุ่มของเกษตรกรในระบบพันธสัญญาถูกสลายด้วยตัวระบบและวิธีการผลิต ที่เกษตรกรต้องทุ่มเทเวลาแทบทั้งหมดของตนไปในโรงเรือนและไร่นาของตนเอง และต้องทำตัวเป็นลูกไร่ที่ดีของบรรษัท จนไม่สามารถทำกิจกรรมกลุ่มร่วมกับผู้อื่นได้ จนเกิดปรากฏการณ์ "เกษตรกรรมไร้ญาติ" ทำให้การรวมกลุ่มต่อรองเป็นไปได้ยากมาก บางกลุ่มรวมตัวได้บรรษัทก็ใช้สายสัมพันธ์ที่มีกับรัฐเข้าไล่บี้
ดังกรณีผู้ปลูกข้าวโพดเมล็ดพันธุ์ที่ถูกสารวัตรเกษตรอายัดเมล็ด พันธุ์จำนวนมากเกินจำเป็น จนทำให้เกิดความเสียหาย เพราะกลุ่มสหกรณ์ส่งไปขายดีจนแย่งตลาดเมล็ดข้าวโพดของบรรษัท
บทความชิ้นนี้มิได้ต่อต้านเกษตรพันธสัญญาอย่างเด็ดขาด แต่มุ่งเสนอให้เห็นว่า หากจะมีการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบพันธสัญญาจะต้องทำในเงื่อนไขที่รัฐ และสังคมสามารถควบคุมให้อยู่บนพื้นฐานของ "ความเป็นธรรม" ดังต่อไปนี้
1.รัฐให้การคุ้มครองสิทธิของเกษตรกรในการเข้าถึงปัจจัยการผลิตอย่างมั่น คง เช่น การคุ้มครองพื้นที่เกษตร การเข้าถึงเมล็ดพันธุ์พืช ตัวอ่อนสัตว์ โดยปราศจากการหวงกันสิทธิของบรรษัท เพื่อให้เกษตรกรมีสิทธิในการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ที่เหมาะกับท้องถิ่น ตนเอง และพัฒนาธุรกิจตน
2.รัฐต้องควบคุมการจัดสรรทรัพยากรร่วมให้อยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน เช่น การรุกพื้นที่ป่าสงวนเพื่อปลูกพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวจนเป็นสาเหตุของภัย ธรรมชาติ รวมทั้งการยึดลำน้ำและชายฝั่ง
3.รัฐเข้ามามีบทบาทในการควบคุมการทำสัญญาให้มีความเป็นธรรม มีกลไกในการบริหาร จัดการสัญญาให้เกิดความเป็นธรรมต่อคู่สัญญา และส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อย
4.การประกันสิทธิของเกษตรกรให้รักษาวิถีการผลิตของชุมชน โดยการจัดหาช่องทางตลาดทางเลือก
5.การเปิดพื้นที่สื่อสาธารณะให้มีข้อมูลของเกษตรพันธสัญญาอย่างรอบด้าน มิใช่เพียงข้อมูลชวนเชื่อ
หากรัฐสร้างเงื่อนไขข้างต้นได้ เกษตรพันธสัญญาก็อาจเป็นวิธีหลุดพ้นจากความยากจน
บทความและภาพจากมติชนออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ