ข่าวสารการเมืองที่เราเสพกันอยู่นี้ นับว่าได้ประโยชน์บ้างมากน้อยแตกต่างกัน นักการเมืองเข้ามายึดครองพื้นที่ข่าวสารมากขึ้น ก็เพราะฤดูกาลหาเสียงและโอกาสทางการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญ ขณะที่ประชาชนก็อยากที่จะรู้จักผู้สมัคร หรือพรรคการเมือง ได้รู้ว่าแต่ละพรรค แต่ละคน มีความตั้งใจ หรือนโยบายใดที่จะเข้ามาบริหารประเทศ ทำได้จริงหรือไม่ ขี้คร้านที่สื่อจะตรวจสอบ แต่ฟังดูเอาสวยหรู แต่ละพรรคเกทับกันก็เท่านั้น ประชาชนไม่ไดประโยชน์อะไร
เสถียร วิริยะพรรณพงศา นักข่าวเนชั่น เขียนบ่นๆ ในทวิตเตอร์ ว่า เบื่อหน่ายกับ หมายข่าวการเมืองของพรรคต่างๆ ว่าพรุ่งนี้จะลงพื้นที่หาเสียงที่ไหน มีกิจกรรมพบปะเรียกเสียงสร้างสีสันการหาเสียงอย่างไรบ้าง หรือเป็นข่าวโต้แย้ง วิวาทะกับฝ่ายตรงข้ามอย่างไร เมื่อไรจะมีข่าวการดีเบตกันระหว่างพรรคการเมือง ว่าที่นายกรัฐมนตรีจากแต่ละพรรคเพื่อพิสูจน์วิสัยทัศน์กันจริงๆ ไปเลย
ข่าวสารการเมืองที่รายงานผ่านสื่ออยู่นี้ ด้อยค่ามากในสายตานักข่าวบางคน ลองพิจารณาข่าวการเมืองของอดีตนักการเมืองอาวุโสหลายท่าน ทั้งที่เป็นหัวหน้าพรรค(ตัวจริง) บางท่าน หรือเป็นนักการเมืองที่โดนตัดสิทธิ์ทางการเมือง หรือนักการเมืองรุ่นเก๋า ลายคราม มากมายที่วนเวียนอยู่ในการเมืองไทยมากมาย นับๆ ดู มีไม่กี่คน แต่ชิงพื้นที่ข่าวได้ชะงัด ประชาชนได้แต่ดูแล้วนึกสงสัยว่า คนพวกนี้ คือผู้มีอิทธิพลทางการเมืองไทยเสียจริง เสียงของพวกเขาช่างมีอิทธิพลและมีความหมาย ขนาดที่ข่าวโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ทุกฉบับต้องลงรายงานกันอย่างถ้วนหน้า แตกต่างกับเสียงความต้องการของประชาชนที่พยายามสื่อสารถึงนักการเมือง พรรคการเมืองต่างๆ ว่า พวกเขาต้องการให้แต่ละพรรคคิดคำนึงถึงเรื่องอะไรบ้าง ที่เป็นวาระปัญหาในมุมมองของเขา ข่าวสารการเมืองในมิติประชาชน พลเมือง ที่สื่อสารส่งถึงนักการเมืองนั้นแทบจะไม่มีเลย
ผู้เขียนเห็นความแตกต่างนี้ชัดเจน เมื่อเปรียบเทียบในรายการข่าวโทรทัศน์ช่องต่างๆ ที่แตกต่างสุดคือช่องไทยพีบีเอส เพราะมีรายการข่าว สนทนา ประเด็นวาระพิเศษการเมืองเรื่องเลือกตั้งในวาระประเทศไทย หรือวาระประชาชน ที่เป็นรายงานข่าวการสัมมนา พูดคุย หรือพยายามจัดเวทีการอภิปรายดีเบตตอบคำถามของประชาชนโดยนักการเมืองในเรื่อง ต่างๆ และยังมีรายงานสกู๊ปพิเศษต่างๆ พยายามแทรกตัวอยู่ในช่วงข่าวปกติ ซึ่งก็นับว่าเป็นพื้นที่ข่าวการเมืองภาคประชาชนที่ให้คุณค่าและความสำคัญกับ ประชาชนผู้มีสิทธิลงคะแนนเลือกตั้ง มากกว่ารายงานข่าวในช่องอื่นๆ ที่เน้นที่ตัวผู้สมัคร หรือ ข่าวสารความขัดแย้ง การรวมกลุ่มก๊วนต่อรองจัดตั้งรัฐบาล ที่เน้นแต่เรื่องผลประโยชน์ทางการเมือง
การเลือกตั้งยังไม่เกิดขึ้น นักการเมืองบางกลุ่มก็คิดถึงการรวมเสียงรวมกลุ่มจัดตั้งรัฐบาลกันแล้ว และสื่อก็พลอยร่วมขบวนไปกับเขาด้วย ก็นำเสนอข่าวไม่เว้นชั่วโมง จนดูว่า ประชาชนอย่างเราคงไม่มีสิทธิมีเสียงใดๆ เลย
ผู้เขียนเห็นว่า สื่อควรมีบทบาทหน้าที่ต่อการรายงานข่าวการเมือง ในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งนี้ หากจะทำอย่างสร้างสรรค์และส่งผลดีต่อการเลือกตั้ง ซึ่งจะนำไปสู่คุณภาพของการเลือกตั้งที่ดีมากขึ้น
1. สถานีข่าว หรือ รายการข่าว ควรให้สัดส่วนพื้นที่ในการรายงานข่าวมากขึ้น เพราะเป็นช่วงเวลาที่ประชาชนควรได้รับข้อมูลข่าวสารในปริมาณมากกว่าปกติ ถือเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพียงไม่กี่เดือน สถานีอาจเพิ่มรายการพิเศษ รายงานพิเศษ หรือให้นักข่าวทำสกู๊ปข่าวพิเศษเพิ่มมากขึ้น และอาจออกอากาศซ้ำได้หากมีประโยชน์และคุณค่า
นอกจากนี้ สถานีอาจมีการปรับผังเวลาการออกอากาศบางส่วน ให้เพิ่มมากขึ้น เช่น ในช่วงเวลาไพร์มไทม์ ก็อาจลดรายการบันเทิงลงสักเล็กน้อย (10-30 นาที) เป็นอย่างต่ำ เพื่อเพิ่มสัดส่วนเวลารายงานข่างการเลือกตั้งให้มากขึ้นได้
สถานี ข่าว ควรคำนึงว่า ในช่วงเลือกตั้ง แม้ข่าวการเมืองเรื่องเลือกตั้งจะมีความสำคัญมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าข่าวสารบ้านเมืองเรื่องอื่นๆ จะไม่สำคัญ เพราะฉะนั้นจะทำอย่างไรให้ประเด็นข้อมูลข่าวสารอื่นๆ มิได้ถูกลดเลือนหายไปด้วย เพื่อไม่ให้หน่วยทางสังคมอื่นๆ ได้รับผลกระทบ ทางเลือกสำหรับการเพิ่มเวลารายการข่าว โดยการลดเวลารายการอื่นๆ บันเทิง / สาระบันเทิงอื่นๆ จึงน่าจะเป็นทางเลือกที่เสียสละได้ในช่วงเวลาสั้นๆ โดยเฉพาะช่องสถานีที่มีสัดส่วนผู้ชมมาก
2. แม้จะมีสัดส่วนพื้นที่รายการข่าวมากขึ้นแล้ว นั่นหมายความว่านักข่าว หรือกองบรรณาธิการย่อมต้องเพิ่มกำลังความสามารถในการค้นหาข่าวการเมือง เรื่องเลือกตั้งมากขึ้น เป็นธรรมชาติของข่าวเช่นกันที่ นักการเมืองส่วนมากก็ย่อมที่จะแสวงหาโอกาสการโฆษณาหาเสียงในพื้นที่สื่อ ดังนั้นการทำข่าวเลือกตั้งจึงดูมิใช่เรื่องยากมากเท่าไร แต่หากเวลารายงานข่าวที่เพิ่มขึ้นของสื่อถูกนักการเมืองนำไปใช้ประโยชน์ใน การโฆษณาหรือหาเสียงสร้างภาพแต่ฝ่ายเดียวก็อาจดูไม่ได้ประโยชน์ เช่นนั้นสื่อก็ควรทำข่าวในเชิงคุณภาพมากขึ้น คำนึงประเด็นข่าวที่สำคัญ ที่ไม่สามารถทำได้ในยามปกติ เช่น การตรวจสอบนโยบายพรรคการเมือง หรือนำเอานักวิชาการ ผู้รู้มาวิเคราะห์เปรียบเทียบนโยบายพรรคการเมืองต่างๆ ในลักษณะขุดคุ้ย ตีแผ่ข้อเท็จจริง ว่านโยบายใดทำได้ ทำไม่ได้อย่างไร
นอกจากนี้ เช่นการรายงานข่าว ผลโพลล์การเลือกตั้ง สื่อไม่ควรทำตนเป็นสำนักโพลล์เสียเอง เช่นรายการข่าวบางช่อง (บางสี ที่เป็นดาวเทียม หรือเคเบิ้ลของบางพรรคการเมืองที่ชัดเจน) ถามผู้ชมรายการข่าวของตนว่าจะเลือกใครเป็นนายกฯ ผลก็อออกมาชัดเจนอยู่แล้ว เพราะฐานผู้ชมของช่องนั้น ก็เป็นฐานการเมืองเดียวกันของพรรคการเมืองนั้นเอง
นอกจากนี้ การรายงานข่าวผลโพลล์ ยังรายงานไม่หมดเนื้อหาสาระครบทุกด้าน นี่ก็สะท้อนว่าสื่อคัดเลือกข้อมูลบางส่วนที่นักการเมืองบางคนได้ประโยชน์ ซึ่งถือว่าไม่เป็นกลาง และที่สำคัญ การรายงานข่าวผลโพลล์ ที่กระทำกันอยู่ สื่อมักไม่บอกจำนวนตัวอย่าง ค่าความคาดเคลื่อน หรือ วิธีการเก็บตัวอย่าง กลุ่มพื้นที่ หรือช่วงเวลาที่ทำการสำรวจ ซึ่งการละเลยข้อมูลเหล่านี้ ทำให้ประชาชนไม่ทราบข้อเท็จจริงของโพลล์และอาจหลงเชื่อ หรือคาดเดาไปได้ต่างๆ นานา ต่อความน่าเชื่อถือ
3. การเพิ่มพื้นที่ข่าวภาคประชาชน ช่วงเวลาเลือกตั้งเป็นช่วงเวลาที่ดี ที่สื่อจะทำเนื้อหาข่าวการเมืองโดยคำนึงถึงความต้องการของประชาชนอย่าง ชัดเจนและแท้จริง ดังนั้น อาจมีรายการข่าว สนทนา พิเศษที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่สาธารณะทางความคิด ความต้องการทางการเมืองของประชาชน
การให้พื้นที่ข่าวสั้นๆ ท้ายข่าว เช่น VOX POP นั้น แม้จะดูว่า เป็นเสียงของประชาชน ซึ่งอาจจะพูดรณรงค์ เชิญชวนไปเลือกตั้ง หรือ พูดสั้นๆ ว่า อยากให้นักการเมืองทำอะไร ต้องการนักการเมืองแบบไหน ก็ส่งผลดีในแง่ของการสร้างความรับรู้สถานการณ์ หรือสร้างบรรยากาศการเลือกตั้งเท่านั้น
สถานีข่าวบางช่อง ทำกิจกรรมรณรงค์ทางสังคม ร่วมกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ก็นับว่าเป็นเรื่องดี แต่ก็จะได้เฉพาะภาพข่าวและเนื้อหาข่าวบรรยากาศความคึกคักของการเดินขบวน ถือธง ร้องรำทำเพลง เชิญชวนให้ประชาชนออกไปเลือกตั้งเท่านั้น แต่หากทำให้ดีมากยิ่งขึ้น ก็น่าจะทำให้เยาวชนมีส่วนร่วมมากกว่าเพียงการเดินขบวน ร้องเล่นทำเพลง แต่มีเวทีสัมมนา ความคิด ความต้องการของนักศึกษา ในประเด็นที่พวกเขาต้องการให้นักการเมือง หรือพรรคการเมืองไปทำ หรือเวทีวิพากษ์นโยบายในมุมมองของนิสิตนักศึกษาก็ได้ และหากมีเนื้อหากิจกรรมในลักษณะนี้จริง สถานีข่าวก็ต้องนำเสนอเนื้อหาข่าวของการสัมมนานี้ด้วย มิใช่นำเอาเฉพาะภาพบรรยากาศ หรือคำพูดของอาจารย์ มหาวิทยาลัย ที่ออกมาพูดรณรงค์ย้ำอีกว่าให้ไปเลือกตั้งเพราะที่ทำอยู่นั้น อาจได้เพียงการสร้างกระแส แต่ไม่ได้สร้างเนื้อหาสาระทางความคิด มุมมอง ความเข้าใจ ความต้องการทางการเมืองของเยาวชน คนรุ่นใหม่ ทั่วประเทศตามสถาบันการศึกษาใดเลย อาจถือว่าลงทุนสร้างภาพของสถานีข่าวไปอีก
การให้พื้นที่ข่าวสารการเมืองกับประชาชน มิใช่ให้เพื่อพวกเขาทราบว่าพรรคการเมืองใดเสนอนโยบายอะไรเท่านั้น หากแต่คือการให้พื้นที่แห่งการพูดคุย ถกเถียง สอบถาม และบอกความต้องการที่แท้จริง มิเช่นนั้น ประชาชนก็จะเป็นได้เพียงกลุ่มมวลชนที่ร่วมกันสร้างแต่เพียงกระแสเลือกตั้ง เท่านั้น แต่ไม่รู้ว่าเลือกอะไร เลือกเพราะอะไร แล้ว เลือกแล้ว ทำไม อย่างไรอีกบทบาทหน้าที่เฉพาะสำหรับช่อง 5 11 หรือ ไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นช่องโทรทัศน์เพื่อบริการสาธารณะตามกฎหมาย ก็ควรแสดงบทบาทตรงนี้อย่างชัดเจนว่า การสร้างเสริมความรู้ทางการเมืองให้ประชาชนรับทราบเกี่ยวกับการเลือกตั้ง นั้น เป็นรูปธรรมผ่านรายการเป็นอย่างไร
ในทางวารสารศาสตร์ ทฤษฏียุดคลาสสิกดั้งเดิมกำหนดว่า ข่าวคือข้อเท็จจริง ข่าวการเมืองก็คือเรื่องราวที่เกี่ยวกับนักการเมือง ที่มีเรื่องผลประโยชน์และผลกระทบต่อสาธารณะ แต่แนวคิดใหม่ทางวารสารศาสตร์อธิบายข่าวว่าคือ ข้อมูลสารสนเทศที่เป็นสินค้าแห่งความบันเทิง และเพื่อการตัดสินใจทางสังคมและการเมือง หาใช่ข้อเท็จจริงแต่อย่างเดียว แต่ข่าวสารยังสร้างประกอบความจริง และกำหนดคุณค่าให้แก่บางสิ่งบางอย่างในสังคมด้วย ข่าวสารยุคเก่าที่พูดเรื่องการโฆษณาชวนเชื่ออาจเก่าไป แต่แนวคิดข่าวสารยุคใหม่นี้กำลังผนวกรวมเอาทุกอย่างเข้าไว้ในสิ่งที่เรียก ว่าข่าว
เพราะฉะนั้น ข่าวสารการเมืองเรื่องเลือกตั้งที่เรากำลังรับชมผ่านสื่อโทรทัศน์อยู่นี้ จึงมีความสลับซับซ้อนมากขึ้นกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะเมื่อมีสถานีข่าวมากมายที่ถูกตั้งขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เช่นในปัจจุบัน เพียงความคาดหวังว่าสื่อจะหน้าที่ที่คำนึงถึงคุณภาพข่าวที่ควรรายงานในช่วง เลือกตั้งที่พูดไป ก็นับว่ายากแล้ว แต่การที่เราประชาชนตาดำๆ ต้องมานั่งระวังข้อมูลข่าวสารจากช่องข่าวการเมืองที่มีวาระซ่อนเร้นอีกนั้น นับว่ายากยิ่งกว่า
==============================
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ