เรื่องแรก แต่ไหนแต่ไรมา ช่อง 11 มัก เผชิญปัญหาเรื่องการถูกแทรกแซงจากการเมืองจากรัฐบาลทุกยุคสมัย ที่พูดเช่นนี้ ก็เพราะเห็นรายการเชิงข่าว วาไรตี สนทนา ที่มีกลุ่มนักวิชาการ นักการเมือง และคนสื่อจากช่องข่าวอื่นๆ มาผลิตรายการลงในช่อง 11 ก็พลันคิดว่า นี่เป็นปัญหาซ้ำซ้อนที่เกิดขึ้นกับช่อง 11 เรื่องการถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกคราหนึ่ง
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การที่กลุ่มคนเสื้อแดง นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย คนสื่อที่เคยอยู่ในช่องอื่นๆ มาชิงพื้นที่จัดรายการโทรทัศน์ผ่านสื่อนั้น ก็มีลักษณะที่คล้ายคลึงกันกับกลุ่มคนเสื้อเหลือง หรือกลุ่มฝ่ายรัฐบาลทั้งจากประชาธิปัตย์ หรือ เพื่อไทยที่ส่งคนของตนเองเข้ามาครอบงำสถานีโทรทัศน์แห่งนี้
ช่อง 11 หรือ NBT ก็ยังคงเช่นเดิม คือ ไม่มีความอิสระ และเสรีภาพ
ซ้ำยังถูกข่มขืนทางการเมืองอยู่ร่ำไป
ฉะนั้น นักวิชาการ นักการเมือง สื่อมวลชน ที่เคยวิพากษ์วิจารณ์ช่อง 11 ว่า รัฐบาล (หรือผู้นำ นักการเมือง คนสื่อที่มีสี) กำลังใช้ช่อง 11 เป็นเครื่องมือทางการเมือง ก็ควรสงวนคำวิจารณ์นั้นสำหรับการวิพากษ์บทบาทของตนเอง และเตือนสติตน ที่เข้าไปทำสื่อในช่อง 11 นี้ด้วย ว่าท่านก็เป็นส่วนหนึ่งในการใช้ช่อง 11 เป็นเครื่องมือทางการเมือง
หนังสือเก่าเล่มหนึ่ง (ภาษาไทย) ชื่อ “บทบาทของรัฐ ในทางด้านสื่อสารมวลชน” โดย รศ.ดร. อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ และคณะ (2536) เป็นเล่มแรกๆ ที่พูดเรื่องการปฏิรูปสื่อ ประโยคสำคัญ เช่น “ทรัพยากรสื่อสารเป็นสิ่งจำกัด รัฐพึงจัดสรรและดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ”
หนังสือเล่มนี้ยังเป็นจุดเริ่มทาง ความคิดในการกำหนดภาพภูมิทัศน์สื่อ ในประเทศไทย โดยการแบ่งรูปแบบสื่อ ระหว่างสื่อพาณิชย์ ในระบบตลาดเสรี และสื่อของสาธารณะ ในระบบสังคมรัฐ, แลสื่อชุมชน ที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นท้องถิ่น ผู้คนเล็กๆ ในชุมชน
รัฐ – state , ในยุคนั้น (และจนกระทุ่งวันนี้) ถูกตั้งคำถามว่า ควรวางบทบาทอย่างไร? ระหว่าง
(1) การเป็นคนกลางในการดูแล บริหารจัดการสื่อ (regulator) หรือ
(2) เป็นสื่อผู้ให้บริการเสียเอง (media service)
คำตอบที่ลุล่วงไปแล้ว คือ รัฐไทยกำหนดให้มี “กรรมการกลาง” ในการบริหารจัดการสื่อ โดยใช้กฎหมาย เช่น “กสทช.” 11 ท่านที่กำลังปฏิบัติหน้าที่โดยอยู่ภายใต้กฎหมาย กับ “หน่วยงานรัฐ” ที่ทำหน้าที่เป็นสื่อ(องค์กรด้านสื่อ) เช่น ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ (หรือรัฐ เช่น ช่อง 5 กองทัพบก หรือ ช่อง ไทยพีบีเอส) เป็นต้น
กฎหมาย 3 ฉบับ คือ รัฐธรรมนูญไทย 2550, พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์. พ.ศ. 2551 และ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจาย เสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. 2553 และปัจจุบัน “เรามีคณะกรรมการกลาง – ก.ส.ท.ช.” ที่ต้องมาทำหน้าที่ดูแล “ปัญหาเรื่องการแทรกแซงสื่อ” แต่ก็ยังต้องดูว่า กสทช. จะจัดการเรื่องนี้อย่างไร
ประเด็นเรื่อง บทบาทของรัฐนั้น, เรา มีความชัดเจนแล้วว่า ต่อไปนี้ กรมประชาสัมพันธ์จะต้องลดบทบาทของตนเองจากการเป็นผู้ออกกฎ ดูแลกฎ หรือ ผู้แจกจำหน่ายคลื่นสื่อสารให้หน่วยงานต่างๆ จากนี้ทำไม่ได้ คงเหลือไว้แต่เพียงบทบาทการเป็นองค์กรสื่อเพื่อบริการสาธารณะเท่านั้น
มิใช่การบริการทางการเมืองอย่างที่เป็นอยู่
เรื่องที่ 2 ก่อนสิ้นปี มีเหตุการณ์ข่าว 2 เรื่องที่น่าสนใจ และกำลังสะท้อนปัญหาเรื่องการแทรกแซงสื่อได้อย่างดี
กรณีที่ 1 ข่าวเรื่องสส.พรรคเพื่อไทย เข้าไปเป็นบอร์ดอ.ส.ม.ท.
"อ.ส.ม.ท." งามหน้า ตั้ง"จักรพันธ์" สนองเพื่อไทยคุมสื่อ (ผู้จัดการรายวัน, 28/12/54) พาดหัวรองว่า ASTV ผู้จัดการรายวัน - บอร์ด อสมท ตั้ง "จักรพันธ์" ขึ้นรองประธาน สนองเพื่อไทยคุมสื่อ ส่วน "สุระ" ยังนั่งแท่นรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เผยประชุมครั้งต่อไปเตรียมส่งมอบนโยบายใหม่
หนังสือพิมพ์ผู้จัดการนำเสนอข่าวไปใน ทำนองว่า การแต่งตั้งคนในพรรคเพื่อไทยเข้าไปนั่งในบอร์ดอสมท นั้น เป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ไม่เหมาะสม และเป็นการแทรกแซงทางการเมืองจากฝั่งรัฐบาล ด้านหนังสือพิมพ์มติชน ก็นำเสนอเรื่องนี้ ว่า “ตั้งแล้ว6บอร์ดใหม่'อสมท' 'สรจักร'ตามโผ-เต็งนั่งปธ.” (มติชน 21/12/54) โดยอ้างคำสัมภาษณ์อีกฝ่ายในความหมายว่า “บอร์ดอสมท. เองนั้น ในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์เอง ก็บริหารงานผิดพลาด เช่นการต่อสัญญาให้ช่อง 3 นั้น ก็เอื้อประโยชน์ให้เอกชนมาก จนอ.ส.ม.ท. เสียผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับ..”
สนใจข่าวในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ แต่ไม่ได้สนใจประเด็นเรื่อง “ผลประโยชน์ทับซ้อน” ของรัฐบาลเพื่อไทย?,
น่าสนใจที่ว่า ข่าวเรื่องการจัดตั้ง “นักการเมือง/สส.พรรคเพื่อไทย” เข้าไปเป็นบอร์ดบริหารอ.ส.ม.ท. โดยที่ “นักการเมืองผู้นั้น” ก็มีผลประโยชน์ทับซ้อน คือ (1) ปัจจุบัน ยังคงเป็นคนทำงานสื่อ และมีตำแหน่งประธานอยู่ในบริษัทสื่อ รับผลิตรายการให้กับสถานี 2 ช่อง (2) เป็นนักการเมือง สังกัดฝ่ายรัฐบาล และ (3) ถูกแต่งตั้งให้เข้าไปเป็นบอร์ดบริหารองค์กรสื่อ (อ.ส.ม.ท.) ซึ่งเป็นองค์กรรัฐวิสาหกิจ ที่มีผลประโยชน์มหาศาล
ลักษณะเช่นนี้ จึงอาจถือว่า “เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน” และ ผิดกฎหมาย เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ใน มาตรา 48 ระบุว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการหนังสือ พิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ หรือโทรคมนาคมมิได้ ไม่ว่าในนามตนเองหรือให้ผู้อื่นเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นแทนหรือจะ ดำเนินการโดยวิธีการอื่นไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมที่สามารถบริหารกิจการ ดังกล่าวได้ในทำนองเดียวกับการเป็นเจ้าของกิจการหรือถือหุ้นในกิจการดัง กล่าว
กรณีที่ 2 ข่าวเรื่อง นักการเมืองพรรคประชาธิปัตย์ เข้าไปทำสื่อในช่อง Blue Sky Channel
หรือพูดให้ชัดเจน ก็คือ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เข้าไปจัดรายการ “ฟ้าวันใหม่” ผ่านทางช่อง “Blue Sky Channel” (พาดหัวข่าว ผู้จัดการ (10/11/54) - “อภิสิทธิ์” ออกโรงร่วมรายการทุกเช้าวันจันทร์-ศุกร์ ใน “บลูสกายชาแนล” ทีวี ผ่านดาวเทียมในเครือข่ายพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อไทยเตรียมหยิบเป็นประเด็น ชี้ผิด รธน.มาตรา 48 ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองห้ามเป็นเจ้าของสื่อ)
“(ลองอ่านเนื้อหาข่าวจาก ผู้จัดการ จับตา “บลูสกาย”ทีวีช่องใหม่ ปากเสียงประชาธิปัตย์
7/11/12) …..แหล่ง ข่าวจากพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า พรรคประเมินว่าการต่อสู้ทางการเมืองยุคใหม่เปลี่ยนรูปแบบไป เพราะพรรคไหนที่มีสื่ออยู่ในมือจะได้เปรียบกว่าคู่แข่ง โดยเฉพาะบทเรียนจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีที่หลบหนีคดีไปอยู่ต่างประเทศ แต่ใช้สื่อในมือที่มีทั้งสถานีโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อโซเชียลมีเดียในการปลุกปั่นมวลชนคนเสื้อแดงจนประสบความสำเร็จ ดังนั้น การต่อสู้ทางการเมืองพรรคจึงต้องมีการปรับยุทธศาสตร์ใหม่ โดยการให้มีสถานีโทรทัศน์ของตัวเองขึ้นมาเพื่อใช้ในการเผยแพร่ข่าวสารของ พรรคประชาธิปัตย์ไปยังประชาชน และยังเป็นการขยายฐานมวลชนของพรรคให้กว้างขึ้นด้วย จากเดิมที่พรรคมีแค่เพียงเว็บไซต์ของพรรค และสาส์นประชาธิปัตย์ที่เป็นแผ่นพับ เพื่อติดต่อสื่อสารกับประชาชน ทั้งนี้ ยังเห็นว่ามีสถานีโทรทัศน์เพียงช่องเดียวอาจจะไม่เพียงพอ จึงมีความเป็นไปได้ว่านายสุเทพจะมีการเพิ่มช่องทางการสื่อสารเพิ่มขึ้นมาอีก”
ตามรายงานข่าวบอกว่า ช่องนี้ก่อตั้งโดยกลุ่มคนสื่อที่เคยทำงานอย่างใกล้ชิดกับพรรคประชาธิปัตย์มาก่อน
และแน่นอนว่า สส.พรรคเพื่อไทย ออกมาโวยว่า นี่เป็นปัญหาที่เรียกว่า “นักการเมืองเข้าไปใช้สื่อเป็นช่องทางในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง” และสส.ฝ่ายพรรคเพื่อไทย ก็ระบุอย่างมั่นใจ ว่า “ผิดรธน.มาตรา 48”
ปรากฏการณ์นี้.....เหมือนชื่อหนังฮอลลีวู้ดที่ฉายในเมืองไทยว่า “ทีเอ็งข้าไม่ว่า ทีข้า เอ็งอย่าโวย”
ผู้เขียนคิดว่า นี่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ที่ “คนในวงการสื่อ” ไม่ เคยแก้ไขปัญหานี้ได้ บรรดาองค์กร สมาคมวิชาชีพเองก็ประสบปัญหาในการควบคุมดูแลกันเอง ยังไม่นับว่า เรามีกฎหมายต่างๆ ที่มีบทบัญญัติเอาไว้ค่อนข้างชัดเจน เรื่องการห้ามนักการเมืองมาบริหารจัดการสื่อ, หรือการมี “นอมินีสื่อการเมือง” เช่นที่รัฐบาล/นักการเมืองกำลังใช้อยู่ในขณะนี้
แต่ก่อน สื่อเรียกร้อง ให้ รัฐ ถอยห่างจากองค์กรสื่อ แต่เดี่ยวนี้อาจเป็นสื่อ ที่เรียกร้องให้รัฐ(ในนามนักการเมือง หรือนักวิชาการ) เข้ามาใช้สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองเสียเอง
กรณีพรรคเพื่อไทยนั้น ถนัดกับการใช้สื่อเป็นเครื่องมือทางการเมืองมาโดยตลอด แต่กับกรณีประชาธิปัตย์นั้น ไม่เก่งเรื่องหลังนี้ พอมาทำก็โดนวิพากษ์และตำหนิจากฝ่ายที่ถนัดและทำมาก่อน
แต่ผิดทั้งคู่!
มองในฐานะประชาชนด้วยใจเป็นกลาง นี่คือการต่อสู้ทางการเมืองของพรรคการเมืองและนักการเมือง โดยมีคนสื่อ สื่อ และประชาชนเป็นสนามสงครามและผลประโยชน์ทั้งสิ้น
ย้อนดูงานวิจัยสำรวจต่างๆ ในทางนิเทศกว่า 40 ปี งานวิจัยเหล่านั้นล้วนพูดไปในทำนองเดียวกันคือ “สื่อถูกแทรกแซงจากรัฐ” หรือไม่ก็พูดว่า “สื่อเซ็นเซอร์ตัวเอง” แต่เหตุการณ์ทางการเมืองหลายปีมานี้ ทำให้เราไม่สามารถมองเห็น หรือคิดเป็นเช่นนั้นได้อีกต่อไป
นึกในใจว่า “เดี๋ยวนี้การจะเปิดทีวี อ่านหนังสือพิมพ์ ฟังวิทยุ ไม่สามารถทำได้อย่างสบายใจอีกต่อไป” เพราะ ทุกคนทุกฝ่ายต่างก็พยายามที่จะมีสื่อเป็นของตนเองกันทั้งนั้น ทั้งช่องที่แสดงตนชัดเจน ทั้งช่องที่เป็นพวกแอบแฝงมีวาระซ่อนเร้น ทั้งฝ่ายที่พยายามบอกว่าเป็นกลาง ก็ยังมี “เฉดสีซ่อนเงาความคิดทางการเมือง” แฝงเร้นอยู่ข้างใน
เหล่านี้คือ “ปรากฏการณ์ที่นักการเมือง/สื่อ กำลังสานผลประโยชน์ร่วมกัน” และ แวดวงวิชาการด้านสื่อต้องตั้งคำถามเกี่ยวกับอิสระ เสรีภาพสื่อเสียใหม่ เพราะในอนาคตอันใกล้นี้ คงยากที่จะมองและเรียนรู้สื่ออย่างเท่าทันและเข้าใจ
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ