ผม เคยไปออกรายการทีวีช่องหนึ่ง สบโอกาสเจอกับเจ้าของบทประพันธ์ ก็ไม่ได้คุยอะไรเป็นการพิเศษ นอกจากคุยกันผ่านรายการผ่านการโยนคำถามของพิธีกร แต่จุดหนึ่งที่ผมบอกไปว่า การกระทำของตัวละคร เหตุการณ์ต่างๆ ในละครเรื่องนี้ “มีสาเหตุ และที่มาที่ไป” ดังนั้นมันจึงดูมีคุณค่าขึ้นมาในระดับหนึ่ง ในสายตาของคนที่วิพากษ์
เจ้าของบทประพันธ์ ซึ่งคือ คุณถ่ายเถา สุจริตกุล บอกว่าตัวบทประพันธ์นั้น มีความตั้งใจมากในการเขียน เพื่อเชื่อมโยง เล่าเรื่องโชคชะตาของตัวละครที่ชื่อว่า “เรยา” ที่เป็นเด็กเกเร มีปมทะเยอทะยานแต่วัยเด็ก และใช้วาจาก้าวร้าวกับคนอื่นๆ และไม่พอใจในชาติกำเนิดตน
เรยาจึงเป็นตัวละครที่ไม่มีความสุขที่แท้ จริงเลย เป็นคนที่หลงอยู่ในกิเลสมอมเมาด้วยมากรักหรือมากชู้ในเวลาเดียวกัน โดยที่ตอนเขียนบทประพันธ์นี้ ก็พยายามสร้างตัวละครอื่นๆ มาคั่นจังหวะและสร้างกรอบศีลธรรมสั่งสอนให้กับเรยา ทั้งตัวแม่ เพื่อน ศัตรูของเธอทุกคนและแม้กระทั่งคนที่เธอรัก
ในบทสนทนาระหว่างตัวละคร ยังแฝงความคิดเรื่องบทบาทที่ไม่เท่าเทียมกันของหญิงชายในสังคมไทย ความจริงก็หลายสังคมในเอเชียหรือฝรั่ง ที่มักมีภรรยาน้อย ซึ่งละครบ้านเราก็มักมีเรื่องแบบนี้อยู่มิใช่น้อย
คำว่าคุณค่านี้ ผมหมายความในเบื้องต้นว่า มีค่าแก่การถกเถียง เรียนรู้ ส่วนจะเรียนได้มากหรือน้อย ก็ขึ้นอยู่กับว่าใครจะดูเอาเนื้อหาสาระหรือดูเอารสเน้นอารมณ์
ยังไม่ได้หมายความวาเป็นคุณค่าความดีงามในตัวละคร ซึ่งเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะตามมาในภายหลัง
เรา มักพูดว่า “ละครสะท้อนชีวิตจริง” หรือ “ชีวิตจริงยิ่งกว่าละคร” ก็นับว่าเป็นความจริงมิใช่น้อย โดยเฉพาะเมื่อหันมาดูข่าวสารบ้านเมืองที่สะท้อนสังคมบ้านเราทุกวันนี้ คนอย่างเรยา ในดอกส้มสีทองก็มีจริงอยู่มาก
“ความสมจริง” ในชีวิตจริง กับ ความสมจริงในละคร มักมีประเด็นให้ถกเถียงได้แตกต่างกัน
เรา มักไม่มีปัญหามากกับความสมจริงในชีวิตเรา เช่น โอ้ยมีความสุขจังเลย(โว้ย) หรือ เฮ้ย ทำไมทุกข์จังเลย(วะ) ก็บ่นๆ ร้องไห้ เศร้า ยิ้มไปตามประสา มากหน่อยหนักหน่อยก็บ่นบ้าไปตามเรื่อง อาจโทษฟ้าฝนเรื่อยไปถึงโชคชะตาเทวดานู่น
แต่ก็รู้ว่ามันเป็นความจริง ความสมจริง เพราะรู้ว่าตื่นมาก็เจอมันอีก
แต่ เรามักมองความสมจริงในละครต่างกันกับชีวิตจริง คือ ความสมจริงในละคร ที่ สมจริงเหมือนกับชีวิตจริงของผู้คนในสังคม คือเหมือนเหลือเกิน ละครพวกนี้ก็มักจะทำ “เพื่อสะท้อน” (reflect) โลกที่เราอาศัยอยู่ เพราะฉะนั้น สื่อก็อาจจะทำละครแนวที่ออกมาเป็นชีวิตจริงๆ ที่มักเรียกว่าละครชีวิต (drama)
ละครหลายเรื่องก็สร้างจากชีวิตจริง ของผู้คน ที่เรียกว่าภาพยนตร์อัตชีวประวัติ ของคนดังๆ ต่างที่มักเอามาสร้าง หรือพัฒนาดัดแปลงบทจากหนังสือชีวิตคนดัง
อย่างนี้เรียกว่า ความจริง ที่สมจริง เพราะมีคนที่มีชีวิตจริงเป็นแหล่งอ้างอิง
ดอก ส้มสีทอง ถึงแม้จะสร้างบทประพันธ์ ถือเป็นเรื่องแต่ง เป็นนวนิยายที่สร้างจากจินตนาการของผู้เขียน แต่ก็ใช้หลักการสร้างเรื่อง ฉาก การกระทำ (หรือความสามารถของตัวละครต่างๆ ที่จะกระทำสิ่งต่างๆ นั้นได้ในชีวิตจริง) โดยถอดแบบมาจากคนจริงๆ
เพราะฉะนั้น ความรุนแรงในชีวิตจริง เช่นการฆ่าอย่างเลือดเย็น วางแผนอย่างแยบยล โต้ตอบด่าทอกัน หรือ ทำลายข้าวของก็ย่อมปรากฏให้เห็นในละครแนวนี้ เพราะในข่าวเราก็รับรู้ว่ามีเหตุการณ์แบนี้อยู่เนืองๆ
ในชีวิตจริงของ คนเรา มันมีที่มาของเหตุแห่งความรุนแรงเสมอ เช่นไปด่าเขา แล้วเขาโกรธ ก็ด่ากลับ หรืออย่างเรยา ไปเป็นเมียน้อยเขา แย่งสามีคนอื่น ก็ต้องโดนกรรมสนองไม่มีใครรักในตอนท้าย หรือท่านเจ้าสัวในเรื่อง ที่มากเมียก็มีเรื่องให้ทุกข์ใจอยู่เช้าค่ำ ความสุขทางใจที่แท้จริงไม่มีเลยจนตายก็เป็นผีเฝ้าบ่อน้ำที่ตนเองทำกรรมเอา ไว้กับผู้อื่น
เพราะในชีวิตจริงนั้น ความรุนแรง เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเรา ย่อมมีสาเหตุและผลสืบเนื่องทั้งสิ้น ยกเว้นว่าหูตามืดบอดมองไม่เห็นเหตุปัจจัยเลย
ปัญหาของละครไทยมักเป็น ความรุนแรงที่ไม่มีสาเหตุ หรือตัวละครที่มีไม่การสร้างพัฒนาการ เป็นตัวละครแบบ “จำลองภาพ” หรือแคเร็คเตอร์เอามาบางส่วน แล้วก็กำหนดบทบาทตายตัวแข็งทื่อไปลอดตั้งแต่ต้นจนจบ
ดูแบน ตัน ไม่สมจริง ดีก็ดี เลวก็เลว ทางใดทางหนึ่งชัดเจน ไม่มีตัวละครสีเทา ทั้งที่ในชีวิตจริงคนเราไม่มีใครดีเลวแบบร้อยเปอร์เซ็นต์
ท่าน ว. วชิรเมธี ตอบเทศนาในตอนท้ายว่า “ในสีดำมีสีขาว ในสีขาวมีสีดำ เช่นกันในความดีมีความเลว และในความเลวย่อมมีความดีปรากฏอยู่ให้เห็น” เพราะนั่นคือสัจธรรมของทุกสรรพสิ่ง
ละครที่ไม่สมจริง ก็คือละครที่ไม่แสดงให้เห็นภาพที่รอบด้านของการกระทำ และที่มาที่ไปของชะตากรรมนั่นเอง
ที นี้ ความสมจริงในละครมันสำคัญอย่างไร ที่ผู้ผลิตละครมักโดนตำหนิว่า ทำไมต้องทำละครดูสมจริง เพราะดูเพื่อบันเทิง เรื่องราวก็ต้องเหนือเกินกว่าชีวิตจริง ให้มันจัดจ้านมีสีสัน ไม่งั้นก็ดูไม่สนุก
ผมคิดว่านั่นคงเป็นคนละเรื่องกัน ระหว่างความสมจริงแบบมีเหตุผลที่มาที่ไป กับความสมจริงแบบแฟนตาซี เพราะหากเป็นอย่างหลัง ย่อมหมายความว่าละครย่อมต้องมีฉากหลัง โครงเรื่องสถานที่ และอำนาจการกะรทำของตัวละครที่ไม่สามารถทำได้จริงในชีวิตได้
แต่ กระนั้น ก็ย่อมมีเหตุผลรองรับการกระทำและผลที่ตามมาของตัวละครอยู่ดี เช่น สมมติทำละครเกี่ยวกับยอดมนุษย์ทั้งหลาย การกระทำของแบทแมน ที่ปราบเหล่าร้าย หรือสไปเดอร์แมน ซูปเปอร์แมนที่ปราบศัตรูที่ก่อกวนเมืองหรือคิดครองโลก ก็ต้องมีสาเหตุว่าทำไมโจรถึงร้าย และทำไมฮีโร่ถึงต้องปราบเหล่าร้ายดำรงคุณธรรม
พลังอำนาจของฮีโร่จึง เป็นสิ่งที่อยู่เหนือชีวิตคนธรรมดา แต่การกระทำของฮีโร่ต่างๆ ในการ์ตูนหรือละครก็ต้องมีเหตุผลอยู่ดีนะครับ จะฆ่าโจรเล่นลอยๆ ก็ทำไม่ได้ เพราะเช่นนั้นก็ไม่มีจริยธรรม ไม่งั้นก็ไม่สามารถเป็นฮีโร่ที่ประชาชนรักได้
เหตุผลของการกระทำ สาเหตุ ผลลัพธ์ของการกระทำ จึงเป็นเรื่องสำคัญ
มัน ก็เข้ามาสู่ประเด็นที่ว่า ก็แล้วละครไทย การกระทำของตัวละครมันไม่มีสาเหตุต่างหาก มันดูไม่สมจริง ก็เพราะมันดุไม่มีเหตุผลเอาเสียเลยที่จะกระทำเอาอย่างนั้น
เช่นนี้ก็ เป็นความตื้นลึกของสติปัญญาผู้กำกับละครที่จะมองเห็นเรื่องนี้อย่างไร นอกจากมองเรื่องความขับเน้นเรื่องอารมณ์หวือหวาเร้าใจของตัวละครที่โต้ตอบ กันในเรื่อง
ความมีเหตุผลสำคัญนะครับ เพราะมิเช่นนั้น หากเราดูละครไปทุกเรื่อง แล้วการกระทำของตัวละครไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย ดูไปดูมา ตามทฤษฏีอบรมบ่มเพาะ เด็กๆ ก็จะติดนิสัยของการไม่ใช้เหตุผล เรียนรู้เรื่องนี้ไม่เป็น และนำไปปฏิบัติในชีวิตจริงได้
ก็เพราะเลียนแบบละครมา
ขณะ เดียวกันหากผู้ใหญ่ผู้ปกครองที่นั่งดูละครกับเด็ก (หรือปล่อยให้เด็กดูละครตามลำพัง) โดยที่ไม่มีการอธิบายให้เหตุผลกับลูกๆ เด็กๆ ก็จะไม่รู้ถูกผิด ขาว-ดำ อีก ก็ยิ่งอาจเข้าใจว่า อะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง
เพราะฉะนั้น ย้อนกลับไปที่ต้นเรื่องคือ แล้วละครไทยกี่เรื่อง ที่ฉายให้เห็นสาเหตุ หรือความสมจริงแบบที่ดูมีเหตุผลหรือไม่ ก็คงตอบว่ามีครับ แต่มันเบาเสียเหลือเกิน ก็เพราะที่เราเน้นอยู่ก็คือ รสชาติของความเข้มข้นในเรื่องอารมณ์ การโต้ตอบทางวาจา ภาษาหรือการกลั่นแกล้งของตัวร้าย ที่กระทำต่อตัวดีมาตลอด
นี่ยังไม่ นับว่าตัวดีไม่ค่อยโต้ตอบ (แต่จริงๆ ละครเดี๋ยวนี้ ตัวเอกอาจเป็นคนเลว หรือนางเอกก็สู้คนแล้วเป็นแล้วนะ ในหลายเรื่อง) แต่ก็ยังเป็นคนละเรื่องกับความมีเหตุผลสมเหตุสมผลในละครที่เรายังไปไม่ถึง อยู่ดี
เหตุผลที่พออธิบายได้นี้ ที่เราดูละครเพราะเน้นเอารสชาติ ไม่เน้นเอาเหตุผลของตัวละคร อาจเป็นความคิดยึดติดหรือวัฒนธรรมคนไทย หรืออาจจะเฉพาะคนทำละครส่วนมากก็แล้วแต่ แต่ผมคิดว่า วัฒนธรรมที่ไม่เอาความสมจริงมีเหตุผลนั้นอันตราย
หากมันอันตรายในละคร ทางทีวี มันก็ย่อมอันตรายในชีวิตจริงด้วย ที่ผู้คนบางส่วนถือเอาเป็นค่านิยมหรือแบบอย่างชีวิตที่ถือปฏิบัติเป็นนิสัย จริงในชีวิต นี่ก็เป็นสมมติฐานสำหรับแนวคิดที่ว่าคนเราเลียนรู้พฤติกรรมบางอย่างจากสื่อ แต่ก็อาจคัดง้างกับคนที่รู้ทันสื่อรู้ทันละครได้เช่นกันว่า ก็ดูเอาสนุก ในชีวิตจริงไม่ได้ทำเช่นนั้นเสียหน่อย ซึ่งก็ดีไป
ความมีเหตุผลใน ชีวิตจริงสำคัญกว่าความมีเหตุผลในละครกว่ามาก เพราะมันส่งผลต่อการดำรงอยู่ของสังคมไปในทางใดทางหนึ่งที่มีกฎเกณฑ์ ความมีระเบียบวินัยที่คนยึดถือปฏิบัติร่วมกัน
ผมเชื่อว่า ฉากความรุนแรง เพศ ภาษาหยาบคายที่เรากังวลใจนั้น จะเป็นเรื่องเบาไปเลย ถ้าละครไทยๆ ถ่ายทอดวัฒนธรรมของการไม่มีเหตุผลรองรับ ที่สุดเราก็เสพเอาแต่เฉพาะฉากรุนแรง บทเลิฟซีน หรือภาษาด่าบริภาษกันเท่านั้นเอง ไม่ใช่ว่าฉากความรุนแรงพวกนี้ไม่มีปัญหานะครับ แต่มันจะมีปัญหามากกว่าถ้ามันไม่ถูกอธิบายให้เห็นสาเหตุและที่มา
แต่ ถ้าเราดูละครแล้วย้อนตั้งคำถามกับตัวเรา กับสังคมที่เราอาศัยอยู่ มันจะดีกว่ามาก อย่าลืมนะครับสื่อนี่ไม่ได้ทำหน้าที่แต่เสนอความบันเทิงอย่างเดียว แต่มันยังทำหน้าที่ถ่ายทอดอุดมการณ์ความคิดทางวัฒนธรรมด้วย
นี่ก็ใกล้ เข้าสู่ช่วงเลือกตั้ง ดอกส้มสีทองก็จบไปแล้ว เลยมีละครการเมืองมาให้ดูคั่นเรื่องไปอีกราว 2 เดือน ก็จะเห็นบรรดานักการเมืองทั้งหลายหาเสียง โต้ตอบผ่านหน้าจอโทรทัศน์ให้เราๆ ท่านๆ ดูเล่น ก็เหมือนกันแหละครับหากนักข่าวยังตั้งคำถามเดิมๆ นักการเมืองตอบคำถามแบบเดิมๆ ไม่เน้นเรื่องนโยบาย ไม่เน้นการตรวจสอบความถูกต้อง หรือความสมเหตุผลของความคิดทางการเมือง มันก็คือละครการเมืองน้ำเน่าอีกคราหนึ่งไม่รู้จบ
ในความถูกผิดยังมีเหตุผล และในความชั่วดีก็ย่อมมีผลลัพธ์เสมอครับ ไม่เช่นนั้น ทั้งละคร และการเมือง มันก็เรื่องประโลมโลกดีๆ นั่นเอง
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ