ปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ประเทศเยอรมนีกลายเป็นจุดสนใจของผู้ติดตามและผู้กำหนดนโยบายพลังงานทั่วโลก เมื่อนายกรัฐมนตรีอังเครา แมร์เคิลประกาศยกเลิกการใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก่อนกำหนดเดิมที่เคยระบุไว้ โดยจะยกเลิกการใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งหมดภายในปี ค.ศ. 2022
บอกลาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ปัจจุบันประเทศเยอรมนีมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ทั้งสิ้น 17 โรง คิดเป็นกำลังการผลิตรวมกันกว่า 20,000 เมกะวัตต์ หรือประมาณร้อยละ 23 ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ ขณะนี้ ยกเลิกการใช้งานไปแล้ว 8 โรง ที่เหลืออีก 6 โรงจะยกเลิกในปีค.ศ. 2021 (เมื่อมีอายุการใช้งานครบ 30 ปี) ส่วนอีก 3 โรงสุดท้ายจะยกเลิกในปีถัดไป (ค.ศ. 2022)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2554 ผู้แทนของกระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ และความปลอดภัยของเยอรมนี Mr. Kai Schlegelmilch ซึ่งได้ร่วมเป็นวิทยากรในการสัมมนา “ทางออกพลังงานยั่งยืนเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ: มุมมองจากเยอรมนีและไทย ที่โรงแรมแกรนด์เมอร์เคียว กรุงเทพฯ ได้เล่าให้ฟังว่า
“การตัดสินใจดังกล่าวเป็นผลพวงมาจากการถกเถียงที่เร่า ร้อนและยาวนานในสังคมเยอรมันมากว่า 4 ทศวรรษ บวกกับการตกผลึกทางความคิดในช่วง 3 เดือนล่าสุดว่า เทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นเทคโนโลยีที่ไม่สามารถรับประกันความปลอดภัย ได้ 100%”
นอกจากอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ในประเทศญี่ปุ่น ประเทศเยอรมนีเองก็กำลังประสบปัญหาการกักเก็บกากเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ซึ่งเก็บไว้ในเหมืองเกลือหินที่เดิมเคยเชื่อกันว่าน่าจะปลอดภัย แต่ล่าสุดกลับพบน้ำซึมเข้าไป และปนเปื้อนกัมมันตภาพรังสีลงสู่น้ำใต้ดิน จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลเยอรมันยังไม่มีทางออกในขณะนี้
(การสัมมนาดังกล่าวจัดโดย หน่วยงานความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งเยอรมนี หรือ GIZ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และมูลนิธีนโยบายสุขภาวะ โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย)
พลังงานหมุนเวียนเบ่งบาน
ในทางตรงกันข้าม หนึ่งทศวรรษที่ผ่านมาประเทศเยอรมนีสามารถพัฒนาพลังงานหมุนเวียนได้อย่างรวด เร็ว จากเดิมในปีค.ศ. 2000 ที่พลังงานหมุนเวียนเคยมีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้าเพียงร้อยละ 6.4 แต่ปัจจุบัน (ค.ศ. 2010) พลังงานหมุนเวียนกลับมีสัดส่วนในการผลิตไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 16.8
การเติบโตของพลังงานหมุนเวียนกลายเป็นพลังสำคัญในขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ของเยอรมัน โดยพลังงานหมุนเวียนสร้างรายได้ต่อปีมากกว่า 33,400 ล้านยูโร หรือมากกว่า 1.4 ล้านล้านบาท ทั้งจากการผลิตไฟฟ้าภายในประเทศ และการส่งออกเทคโนโลยีไปยังต่างประเทศ การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นจาก 160,500 ตำแหน่งในปีค.ศ. 2000 มาเป็น 367,400 ตำแหน่งในปี ค.ศ. 2010 หรือเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวทีเดียว
“การเพิ่มการจ้างงานเป็นสิ่งที่นักการเมืองชอบ เพราะนั้นหมายถึงคะแนนนิยมในหมู่คนเยอรมัน” Mr. Kai Schlegelmilch ขยายความ พร้อมให้ข้อสังเกตว่า “ที่น่าสนใจคือ การจ้างงานจากพลังงานหมุนเวียนจะเกิดขึ้นทั่วทุกเขตเลือกตั้ง ไม่กระจุกตัวเหมือนกับโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ นี่เองทำให้ทุกพรรคหันมาสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน”
ดังนั้น เมื่อปัญหาความไม่ปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มาบวกรวมกับประสบการณ์ความสำเร็จในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนภายในประเทศใน ระยะ 10 ปีที่ผ่านมาแล้ว รัฐบาลเยอรมนีภายใต้การนำของพรรคคริสเตียน เดโมแครต ซึ่งเคยสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ และเคยเลื่อนการยกเลิกการใช้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไป จึงตัดสินใจกลับหลังหัน โดยการยกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เร็วขึ้น ดังที่ได้กล่าวข้างต้น
เมื่อถูกถามถึงการรับมือกับการยกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ Mr. Kai Schlegelmilch อธิบายว่า “ในระยะต้น ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะถูกแทนที่ด้วยโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ที่กำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ แต่ที่เหลืออีก 12,000 เมกะวัตต์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่จะถูกยกเลิกในปีค.ศ. 2022 จะถูกแทนที่ด้วยพลังงานหมุนเวียนที่จะต้องเร่งพัฒนาขึ้นในระยะเวลา 10 ปีจากนี้ไป”
ยุทธศาสตร์พลังงานของชาติ
Dr. Georg Maue ผู้แทนของกระทรวงสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์ธรรมชาติ และความปลอดภัยของเยอรมนีอีกท่านหนึ่งชี้แจงในเวทีสัมมนาดังกล่าวว่า ก่อนหน้าที่รัฐบาลเยอรมนีจะเร่งการปลดระวางโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ให้เร็วขึ้น เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2553 ที่ผ่านมา รัฐสภาเยอรมันได้ให้การรับรองข้อตกลงยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศ (German Energy Concept) อันเป็นการยืนยันถึงความเห็นพ้องต้องกันของพรรคการเมืองต่างๆ ถึงทิศทางการพัฒนาพลังงานของประเทศ
ข้อตกลงยุทธศาสตร์พลังงานของเยอรมนีได้ระบุถึงเสาหลัก 3 ประการในยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศนั่นคือ ก) การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ข) การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และ ค) การพัฒนาโครงข่ายไฟฟ้าแห่งอนาคต ซึ่งเหมาะสมกับการรองรับการเชื่อมต่อของพลังงานหมุนเวียนขนานใหญ่
ในส่วนของพลังงานหมุนเวียน ข้อตกลงยุทธศาสตร์พลังงานของประเทศดังกล่าวกำหนดให้ เร่งการใช้พลังงานหมุนเวียนของประเทศในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.8 ของการจัดหาพลังงานขั้นต้นทั้งประเทศในปีค.ศ. 2010 ให้เป็นร้อยละ 35 ในปีค.ศ. 2020 และเพิ่มเป็นร้อยละ 50 ในปีค.ศ. 2030 และร้อยละ 80 ในปีค.ศ. 2050 ตามลำดับ
Dr. Georg Maue อธิบายว่า การใช้พลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ เมื่อบวกการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพที่กำหนดให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.1 ต่อปี ก็จะช่วยให้ประเทศเยอรมนีสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้ร้อยละ 55 ในปีค.ศ. 2030 และร้อยละ 80 ในปีค.ศ. 2050
สร้างการสนับสนุนที่เป็นธรรม
ทั้งนี้ Mr. Kai Schlegelmilch ได้ช่วยขยายความว่า ร้อยละ 42 ของพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้จะมาจากพลังงานลมนอกชายฝั่ง อีกร้อยละ 20 จะมาจากพลังงานลมบนแผ่นดิน ร้อยละ 12 จะมาจากพลังงานชีวมวล ร้อยละ 11 มาจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ และร้อยละ 8 จะมาจากพลังงานแสงอาทิตย์
และ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว รัฐบาลเยอรมนีจึงกำหนดมาตรการสนับสนุนต่างๆ กว่า 100 มาตรการ โดยเฉพาะการสร้างแรงจูงใจในการับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็นลำดับแรก ด้วยราคาที่ช่วยให้ผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนคุ้มค่ากับการลงทุน หรือที่เรียกว่า Feed-in Tariff โดยระบบดังกล่าวจะกำหนดให้การสนับสนุนดังกล่าวลดน้อยลงเรื่อยๆ ตามกาลเวลา ทั้งนี้เพื่อเร่งให้ผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนนำพลังงานหมุนเวียนเข้าสู่ระบบ ให้เร็วที่สุด (เพื่อจะได้รับราคาที่จูงใจมากกว่า) และขณะเดียวกัน ก็จะช่วยให้พลังงานหมุนเวียนสามารถแข่งขันกับพลังงานประเภทอื่นๆ ได้ในที่สุด
Mr. Kai Schlegelmilch ยกตัวอย่างการพัฒนาพลังงานลมที่เริ่มต้นจากเทคโนโลยีที่มีต้นทุนแพงกว่า แต่ด้วยการสนับสนุนดังกล่าว พลังงานลมจึงมีต้นทุนถูกลงและสามารถแข่งขันได้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และโรง ไฟฟ้าถ่านหินในปัจจุบัน
ปัจจุบัน ผู้ผลิตพลังงานลมของประเทศเยอรมนีสามารถพัฒนากังหันลมในทะเลที่มีกำลังการ ผลิตสูงถึง 5-7.5 เมกะวัตต์ หรือสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากกว่าหนึ่งเท่าตัวของกังหันลมขนาดเดิม โดยมีขนาดของกังหันที่ยาวกว่าปีกของเครื่องบินโบอิ้ง747-400 เสียอีก
นอกจากนั้น รัฐบาลเยอรมนียังตัดสินใจยกเลิกการอุดหนุนการใช้ถ่านหินในประเทศ และการเก็บภาษีเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ ควบคู่กับการเก็บภาษีคาร์บอนที่เก็บอยู่แล้วในปัจจุบัน เพื่อทำให้การแข่งขันระหว่างพลังงานหมุนเวียนกับพลังงานจากซากดึกดำบรรพ์มี ความเป็นธรรมมากขึ้น
ความท้าทายสำคัญ
ในขณะที่การพัฒนาแหล่งผลิตพลังงาน หมุนเวียนเติบโตอย่างก้าวกระโดด ประเทศเยอรมนีกลับกำลังเผชิญความท้าทายในการสร้างโครงข่ายสายส่งไฟฟ้า เพื่อรองรับกับการเชื่อมต่อของพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากการคัดค้านของประชาชนตามแนวสายส่งที่พาดผ่าน
Mr. Kai Schlegelmilch ชี้แจงว่า ในแผนยุทธศาสตร์ดังกล่าว การสร้างโครงข่ายสายส่งเพื่อพลังงานหมุนเวียนจะเป็นไปในลักษณะของ Super-grid (หรือ ทางหลวงสำหรับไฟฟ้า) บวกกับ Smart grid ไปด้วยในตัว แต่ที่ผ่านมาในรอบ 10 ปี เยอรมนีสามารถสร้างสายส่งไฟฟ้าไปได้แค่ 80 กิโลเมตรจากแผนที่วางไว้ถึง 800 กิโลเมตร และในอีก 10 ปีข้างหน้าก็มีแผนที่จะสร้างสายส่งแห่งอนาคตให้ได้ 3,600 กิโลเมตร
“หากยังได้รับเสียงคัดค้านมาก ก็คงต้องเปลี่ยนไปใช้สายเคเบิลใต้ดินแทน” Mr. Kai Schlegelmilch อธิบาย “แม้ว่าสายเคเบิลใต้ดินจะต้องลงทุนเพิ่มขึ้นเท่าตัว แต่ก็อาจจำเป็นที่จะต้องลงทุน เพื่อรองรับกับการเติบโตของพลังงานหมุนเวียน”
ซึ่ง หากทำได้สำเร็จ ยุทธศาสตร์พลังงานของเยอรมนีก็จะปรากฎเป็นจริง โดยมีการลดลงของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการจ้างงานสำหรับชาวเยอรมันเป็นเดิมพัน
ส่งท้าย
ในช่วงท้ายของการสัมมนา Mr. Kai Schlegelmilch ย้ำว่า “หากเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มากถึง 20,000 เมกะวัตต์ หรือเกือบ 1 ใน 4 ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ ยังสามารถยกเลิกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ โดยอาศัยพลังงานหมุนเวียน” เขาก็เชื่อมั่นว่า “ประเทศไทย ซึ่งรัฐบาลมีแผนจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพียง 5,000 เมกะวัตต์ หรือไม่ถึงร้อยละ 10 ของกำลังการผลิตทั้งประเทศ ก็ย่อมสามารถหลีกโรงไฟฟ้านิวเคลียร์พ้นเช่นกัน”
เช่นเดียวกับ Dr. Georg Maue ที่ย้ำส่งท้ายว่า “หากประเทศเยอรมนี ซึ่งไม่ได้ร่ำรวยแหล่งพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะเป็นแสงอาทิตย์หรือชีวมวลที่มีน้อย หรือชายฝั่งทะเลก็มีน้อยนิดเดียว ยังสามารถตั้งความหวังที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้มากถึงร้อยละ 80 แล้วทำไมประเทศไทย ซึ่งมีแหล่งพลังงานหมุนเวียนมากกว่าจะทำไม่ได้”
คงต้องฝากไว้ให้คนไทยและรัฐบาลไทยช่วยกันคิด
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ