แผนพีดีพี: อย่ารีบเพื่อไปช้า

มติชนออนไลน์ 9 ก.พ. 2555 | อ่านแล้ว 1893 ครั้ง

 

 เหตุผลสำคัญที่รัฐบาลมักจะตอบเรื่องความจำเป็นในการปรับแผนพีดีพี 2010 คือ อุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้จำเป็นต้องมีการชะลอโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ออกไปอีก 3 ปี จึงต้องมาปรับแผนพีดีพีกันใหม่

 

 

ในความเป็นจริงแล้ว คณะรัฐมนตรีในยุคคุณอภิสิทธิ์ก็ได้ขอให้มีการจัดทำแผนพีดีพีในกรณีที่ไม่มี โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ด้วย เพราะเกรงว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อาจจะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน จึงให้ทำแผนสำรองไว้เลย

 

 แต่ปัญหาสำคัญที่ทำให้แผนพีดีพี 2010 ซึ่งเป็นแผนการลงทุนในระยะเวลา 20 ปี กลับมีอายุสั้นเพียงปีกว่า ก็เพราะแผนพีดีพีเป็นแผนที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ทำให้การเดินหน้าโครงการตามแผน ไม่ว่าจะเป็นโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และโรงไฟฟ้าถ่านหินสะดุดหยุดลงไปด้วย

 

แผนพีดีพีกับการยอมรับของสังคม

 

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะกระบวนการจัดทำแผนพีดีพี 2010 ไม่เป็นที่รับรู้ และและไม่เป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องที่สำคัญที่สุดรายหนึ่ง นั่นก็คือ ประชาชนเจ้าของพื้นที่ เพราะแทนที่ภาครัฐจะให้เวลากับภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ได้ทำความเข้าใจ ได้เสนอความเห็น ได้เสนอทางเลือก และได้ร่วมกันออกแบบแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดฉันทามติหรือการยอมรับร่วมกัน

 

แต่ภาครัฐกลับเลือกใช้ยุทธศาสตร์ D-A-D ซึ่งย่อมาจาก Decide การตัดสินใจอย่างรวดเร็ว (แผนพีดีพีใช้เวลาทำจริงเพียง 3 เดือนคือ ม.ค.-มี.ค. 53) และรีบดำเนินการ โดยไม่ยอมรอผลการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าให้แล้วเสร็จเสียก่อน

 

ที่สำคัญกว่านั้น แผนพีดีพี 2010 ยังไม่พิจารณาศักยภาพที่แท้จริงของประเทศในการประหยัดพลังงานไฟฟ้า และไม่เปิดให้มีการหารือกับฝ่ายต่างๆ อย่างรอบคอบ โดยในแผนพีดีพี2010 กระทรวงพลังงานจัดเวทีรับฟังความเห็นเพียงครั้งเดียว โดยแจ้งล่วงหน้าอย่างกระชั้นชิด (ประมาณ 6 วัน) และมีการเปิดเผยเอกสารการประชุมล่วงหน้าเพียง 2 วันเท่านั้น

 

จากนั้นก็ภาครัฐก็ประกาศหรือ Announce ออกมาไว้แผนพีดีพีสำเร็จแล้ว แล้วก็พยายาม Defend หรือปกป้องว่าสิ่งที่ตนตัดสินใจไปนั้น เป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด และประชาชนควรจะต้องยอมรับตามนั้น


แต่ ประชาชนในพื้นที่ก็ไม่เห็นด้วย และไม่อาจยอมรับกับการตัดสินใจเช่นนี้ได้ ยิ่งไปกว่านั้น บางพื้นที่ยังมิได้รับทราบเลยด้วยซ้ำ ว่าแผนพีดีพีจัดทำมาอย่างไร และได้พิจารณาทางเลือกต่างๆ อย่างครบถ้วนและรอบคอบแล้วจริงหรือไม่? แล้วเขาจะยอมรับแผนพีดีพีได้อย่างไร? หากเขาไม่ยอมรับในแผนพีดีพี แล้วเขาจะยอมรับในโรงไฟฟ้าที่ระบุไว้ในแผนพีดีพีได้อย่างไร? ประชาชนจึงเลือกที่จะปกป้องชุมชนของตนเอง ด้วยวิธีการต่างๆ ที่ประชาชนจะสามารถดำเนินการได้ ตามสิทธิของตนในรัฐธรรมนูญ การเร่งรีบผลักดันแผนพีดีพีของภาครัฐ จึงกลายเป็น “การรีบในตอนแรก เพื่อไปล่าช้าในตอนหลัง” (หรืออาจเรียกว่า ชะงักงัน ด้วยซ้ำในหลายกรณี)
ซ้ำ ร้ายยังกลายเป็นการผลักดันให้ผู้สร้างโรงไฟฟ้าและผู้ดูแลระบบไฟฟ้า กับประชาชนที่มีสิทธิและหน้าที่ในการดูแลพื้นที่ของตน ต้องยืนอยู่ตรงกันข้ามกัน โดยมิได้ตั้งใจ

 

ทางออกจากภาวะชะงักงัน

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ กระบวนการจัดทำแผนพีดีพีจึงต้องปรับเปลี่ยนจาก D-A-D มาเป็น D-D-D หรือย่อมาจาก Discuss-Design-Deploy

 

กล่าวคือ เริ่มต้นจาก Discuss หรือการหารือถกเถียง แลกเปลี่ยนกันอย่างเต็มที่ ทั้งในแง่ของเป้าหมายของการพัฒนาระบบไฟฟ้า ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้น และทางเลือกทุกทาง (รวมถึงการประหยัดพลังงาน โดยการใช้งานที่มีประสิทธิภาพอย่างจริงจัง) จนเกิดเป็นความเข้าใจร่วมกันถึงทิศทางและเงื่อนไขในการวางแผนระบบไฟฟ้าใน ระยะยาว

 จากนั้น จึงก้าวเข้าสู่ขั้นออกแบบ (หรือ Design) หรือนำทางเลือกต่างๆ ที่หลากหลาย มาผสมผสานกันร่วมกัน เพื่อให้ได้ระบบไฟฟ้าที่มั่นคง มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมลดลง ไม่เพิ่มภาระการนำเข้าจนเกินกำลัง ควรส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานภายในประเทศ และควรมีต้นทุนที่สมเหตุสมผล

 

 ขอย้ำคำว่า ต้นทุนที่ “สมเหตุสมผล” มิใช่ต้นทุนที่ต่ำที่สุด เพราะเทคโนโลยีที่มีต้นทุนต่ำสุดก็มักจะก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและ สุขภาพมากที่สุดด้วย
 จุดสำคัญอยู่ที่ว่า ในขั้นตอนนี้ กระบวนการวางแผนพีดีพีควรเปิดโอกาสให้มีการเปรียบเทียบผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น จากชุดทางเลือกต่างๆ (ตัวอย่างเช่น ชุดที่เน้นการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ กับชุดที่เน้นการผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์) ในด้านความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ในด้านเศรษฐกิจ ในสังคม และในด้านสิ่งแวดล้อม  เพื่อจะได้นำไปสู่การตัดสินใจในขั้นสุดท้ายร่วมกัน โดยทางเลือกที่ตัดสินใจจะเป็นทางเลือกที่ทุกฝ่ายยอมรับกันได้ และพร้อมจะนำไปปฏิบัติต่อไป

 

 ขั้นตอนสุดท้าย จึงเป็นการช่วยกันนำทางเลือกต่างๆ ไปสู่การปฏิบัติ (หรือ Deploy) ไม่ว่าจะเป็นทางเลือกในการลดความต้องการใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นลง ทางเลือกที่จะพัฒนาพลังงานหมุนเวียนตามศักยภาพของแต่ละพื้นที่ และทางเลือกในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในส่วนที่มีความจำเป็น ด้วยระบบและมาตรฐานสิ่งแวดล้อมที่ยอมรับร่วมกัน

 

 

หัวใจสำคัญคือการมีส่วนร่วมของประชาชน

ดังนั้น ในทางปฏิบัติ การเปิดโอกาสให้ประชาชนและภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมจึงควรทำอย่างโปร่งใส และเป็นขั้นเป็นตอน มิใช่จัดกระบวนการให้ความเห็นแบบเหมาโหลอย่างที่ทำกันอยู่ในปัจจุบัน  (กระทรวงพลังงานจัดให้ความเห็นทุกประเด็นในคราวเดียวกัน โดยมีเวลาจำกัดไม่ถึง 3 ชั่วโมง)

 

การเปิดโอกาสให้ประชาชนให้ความเห็นอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จะช่วยให้ทุกฝ่ายเกิดการยอมรับซึ่งกันและกัน อย่างเป็นลำดับขั้น ทั้งยังเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้นำเสนอทางเลือกต่างๆ เพื่อเข้าสู่การพิจารณาและการวิเคราะห์ได้อย่างเต็มที่ และทันการณ์ มิใช่ค่อยไปเปิดให้เสนอทางเลือกกันในตอนท้าย ในขณะที่ระบบทั้งหมดได้ถูกภาครัฐตัดสินใจและออกแบบไว้แล้ว

 

การมีส่วนร่วมในขั้นตอนแรก คือ การกำหนดเป้าหมายของการออกแบบระบบไฟฟ้าร่วมกัน เพื่อ ช่วยกันชี้ว่า ทิศทางของการพัฒนาระบบไฟฟ้าควรเป็นไปเช่นไร? ต้องการให้บรรลุวัตถุประสงค์ใดบ้าง? (เช่น ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละเท่าไร?) และต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดใด? (เช่น ต้องมีกำลังการผลิตสำรองไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 หรือต้นทุนทั้งหมดจะต้องเพิ่มขึ้นไม่เกินร้อยละ 5 เป็นต้น) เพราะอะไร?

 

จากนั้น ในขั้นตอนที่สอง ควรสนับสนุนให้ประชาชนเข้าร่วมในพิจารณาค่าพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุด เพื่อลดปัญหาการพยากรณ์เกินความเป็นจริง และเพื่อให้เห็นภาพร่วมกันถึงความต้องการและความจำเป็นของระบบไฟฟ้าในอนาคต

 

เมื่อเห็นเป้าหมาย และความจำเป็นร่วมกันแล้ว ก็ควรเปิดโอกาสให้ประชาชน เข้าร่วมในการพิจารณาและเสนอทางเลือกในการจัดหาและจัดการระบบไฟฟ้า เพื่อให้การวางแผนพีดีพีเป็นการวางแผนที่เปิดกว้างอย่างแท้จริง รวมถึงการพิจารณาข้อมูลพื้นฐานที่จะใช้เป็นฐานอ้างอิงในการวางแผน เพื่อให้การวางแผนเป็นไปอย่างโปร่งใสที่สุด

 

ทั้งนี้ ในการจัดทำแผนพีดีพีครั้งต่อไป ก็ควรจะได้นำแผนพัฒนาพลังงานทดแทน 15 ปี และแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี มารวมไว้เป็นทางเลือกที่สำคัญในกระบวนการทำแผนพีดีพีครั้งนี้ด้วย


โดย เฉพาะแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี จะเป็นแผนสำคัญที่ทำให้ความจำเป็นในการใช้พลังงานที่ไม่มีประสิทธิภาพลดลงไป ได้มาก ทำให้ลดความจำเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ลดลงไปถึงกว่า 12,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเท่ากับว่า เราลดความจำเป็นในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงได้ 5 โรงบวกกับโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 9 โรง

 

และสุดท้าย กระบวนการวางแผนพีดีพีควรสนับสนุนให้ประชาชน เข้าร่วมในการพิจารณาผลกระทบในด้านต่างๆที่เกิดขึ้นจากชุดทางเลือกต่างๆ เพื่อเสนอมุมมองที่รอบด้านในการตัดสินใจเลือกแผนพีดีพีที่เหมาะสมที่สุด สำหรับสังคมไทย และเป็นแผนที่ทุกฝ่ายยอมรับร่วมกันได้จริงๆ

 

สรุปส่งท้าย

 ผมค่อนข้างเป็นห่วงว่า หากเราไม่เรียนรู้บทเรียนจากการทำแผนพีดีพี 2010 ซึ่งเป็นแผนที่ไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ส่งผลให้เป็นแผนพีดีพีที่มีอายุสั้นมาก เพราะไม่สามารถดำเนิน การตามแผนที่วางไว้ได้ เราก็จะเดินหน้าซ้ำรอยเดิม

 

 เมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2554 ผมได้รับเชิญจากกระทรวงพลังงานว่าจะประชุมเรื่องแผนพีดีพีครั้งใหม่ เป็นการเชิญที่ค่อนข้างกระชั้นชิดคือ เชิญวันอังคาร เพื่อร่วมประชุมในวันศุกร์ และผมก็มีนัดหมายอื่นๆ ไปก่อนแล้ว จึงตอบปฏิเสธไป

 

 โชคดีที่ในที่สุด การประชุมนั้นก็ต้องยกเลิกไป จะด้วยเหตุผลใด ผมมิอาจทราบได้ แต่ผมไม่อยากให้มีการจัดประชุมแบบฉุกละหุกเช่นนี้อีกในกระบวนการทำแผนพีดีพี ครั้งใหม่ เพราะจะส่งผลกระทบต่อการยอมรับในกระบวนการทำแผนพีดีพีที่จะตามมา  ผมอยากเสนอให้กระทรวงพลังงานทบทวนบทเรียนว่า ความเร่งรีบในการจัดทำแผนพีดีพี 2010 กลับนำมาสู่ความล่าช้าและความขัดแย้งตามมา

 

 ดังนั้น ในการทำแผนพีดีพีครั้งใหม่ สิ่งสำคัญคือ เราต้องมุ่งมั่นที่จะก้าวออกจากความขัดแย้งร่วมกัน โดยการรับฟังซึ่งกันและกันอย่างลึกซึ้ง ค้นหาทางเลือกใหม่ๆ และใช้เวลาร่วมกันจนเข้าใจ และหันมาช่วยกันออกแบบระบบไฟฟ้าที่ทุกคนยอมรับร่วมกันจริงๆ

 

 มิฉะนั้น แผนพีดีพีที่เร่งรีบทำกันก็จะเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งตามมา ดังจะเห็นได้จากการคัดค้านโครงการโรงไฟฟ้าในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

 

 สำหรับหลายคน ข้อเสนอเช่นนี้อาจทำให้เกิดความหงุดหงิดใจ เพราะไม่ใช่คำตอบสำเร็จรูป ประเภทว่า หากไม่เอานิวเคลียร์แล้วจะเอาอะไร?
 แต่ หากคำตอบสำเร็จรูปมิใช่ทางออกอย่างที่เห็นๆ กันในปัจจุบัน เราก็ต้องเปิดใจกว้าง เพื่อก้าวไปสู่แนวทางการแก้ไขปัญหาที่จีรัง ยั่งยืนมากกว่าเดิม แทนที่จะต้องรีบเดินหน้าต่อไปโดยลำพัง เพื่อไปเผชิญหน้ากัน และสุดท้ายต้องพบกับความล่าช้าและความบอบช้ำในอนาคต

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: