จวกแผนป้องกันน้ำท่วมกบอ.ยังคิดไม่จบ เมิน'ชุมชน-พื้นที่ภัยพิบัติ'เข้ามามีส่วนร่วม ชี้‘เขื่อน-พนัง’ไม่แก้-มีแต่สร้างปัญหาซ้ำ

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 9 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3137 ครั้ง

แม้ว่าสถานการณ์น้ำในปีนี้จะไม่มาก และอาจจะไม่เหมือนปีที่ผ่านมา แต่ปริมาณฝนจากร่องความกดดันอากาศต่ำโดยเฉพาะในพื้นที่เขตภาคกลาง ยังสร้างความหวั่นวิตกให้กับคนที่เผชิญกับภาวะน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว รวมถึงความไม่มั่นใจในแผนการรับมือกับน้ำของรัฐบาล

 

จากสถานการณ์เมื่อปี 2554 รัฐบาลมีแผนการจัดการน้ำอย่างเร่งด่วน ด้วยงบประมาณ 3.5 แสนล้านบาท โดยตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) ขึ้นมาดูแล มีการจัดทำแผนแม่บทเพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ อย่างไรก็ตามมีการตั้งคำถามกับแผนแม่บทดังกล่าว กับการใช้งบประมาณมากขนาดนั้นว่า ทำอะไรบ้างและจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ เนื่องจากรายละเอียดของแผน ที่ส่วนใหญ่ คือโครงสร้างขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วม แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีแผนการบริหารจัดการน้ำในการเรียนรู้ที่จะอยู่กับน้ำ และที่สำคัญคือองค์ประกอบของแผนแม่บทเพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำฯของกบอ. ประชาชนไม่มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมเลย คำถามคือ องค์กรชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอยู่ตรงไหนของการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำท่วม และจะมีบทบาทในแผนการจัดการน้ำอย่างไร

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ชี้แผนกบอ.ไม่สร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน

 

นายสุรจิต ชิรเวทย์  สมาชิกวุฒิสภา จ.สมุทรสาคร ในฐานะคณะอนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ทะเล และชายฝั่ง คณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมวุฒิสภา ซึ่งจะต้องตรวจสอบการใช้งบประมาณของรัฐบาล ได้ตั้งข้อสังเกตต่อการจัดทำแผนแม่บท เพื่อบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ โดยคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย ว่า เข้าข่ายตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 87 ว่าด้วยเรื่องการทำแผนระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น ที่ต้องกำหนดให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือไม่  และในแผนมีการกำหนดไว้แค่ไหน อย่างไร นอกจากนี้กำแพงล้อมรอบเมืองที่สร้างขึ้นตั้งแต่จ.นครสวรรค์ สิงห์บุรี อินทร์บุรี จนถึงกำแพงล้อมรอบนิคมอุตสาหกรรมใน จ.พระนครศรีอยุธยา มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่ ซึ่งหน่วยงานที่ดำเนินการอาจอ้างว่า เป็นมาตรการเร่งด่วน และหากมีผลกระทบเกิดขึ้นใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ

 

 

                “ที่สำคัญคือความคิดนั้นตกผลึกหรือไม่ ว่าจะทำน้ำให้แบนหรือสร้างป้อมค่ายกันน้ำ และมีการดำเนินการป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นแล้วหรือไม่ ถ้าไม่มีการมีส่วนร่วม แล้วจะทำได้อย่างไร รูปแบบ วิธีการ ที่ได้มา ถ้าใช่จะต้องมาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน”

 

 

ทั้งนี้การก่อสร้างกำแพงเพื่อกันน้ำ เช่นที่จ.นครสวรรค์ สูงประมาณ 2.5 เมตร ใช้งบประมาณ 300 ล้านบาท และทำเรื่อยมาถึงสิงห์บุรี ถึงสะพานพุทธ จะตอบโจทย์แก้น้ำท่วมได้หรือไม่ ในขณะที่กรุงเทพฯไม่สามารถผันน้ำไปตามลำคลองที่มีอยู่ แต่ยังต้องพึ่งเครื่องจักรในการระบายน้ำทั้งเมืองหรือไม่

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

สร้างกำแพงขวางทางน้ำ สร้างปัญหามากกว่าแก้ปัญหา

 

 

ขณะที่ ดร.แมน ปุโรทกานนท์ อนุกรรมาธิการทรัพยากรน้ำ ทะเล และชายฝั่ง วุฒิสภา ระบุว่า การหาสาเหตุของเหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อปี 2554 ภาคประชาสังคมยังต้องร่วมกันตรวจสอบ เพราะหากไม่รู้สาเหตุจะรับมือกับภัยในอนาคตได้อย่างยากลำบาก ต้องทำความเข้าใจว่า น้ำท่วมเป็นภัยหรือธรรมชาติที่เราจะต้องปรับตัวอยู่กับน้ำให้ได้ หากเรายังไม่ทำความเข้าใจ ต่อไปเราจะทำสงครามป้อมค่ายกับน้ำ ซึ่งใช้เงินจำนวนมาก

 

ตัวอย่างจากนครสวรรค์ เมื่อสร้างกำแพงป้อมค่าย มวลน้ำจะข้ามทุ่ง อ.พยุหะคีรี ไปท่วมเกาะเทโพ ที่จ.อุทัยธานี ลุ่มน้ำสะแกกรัง เพราะแม่น้ำสะแกกรังและแม่น้ำเจ้าพระยา จะขนานกันที่บริเวณต.เกาะเทโพ  ต.หาดทนง อ.เมือง จ.อุทัยธานี ซึ่งแต่เดิมหาดทนงเคยดูแลตัวเองได้  ถ้าตั้งป้อมค่ายแบบนี้จะทำให้น้ำท่วมอย่างแน่นอน

 

 

                  “จากการสร้างป้อมค่ายเพื่อป้องกันน้ำ สิ่งที่เกิดขึ้นและเราไม่ได้พูดถึงคือ ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ความกดดันทางสังคมที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาบ่มอยู่ข้างในทางสังคม เมื่อเราป้องกันพื้นที่หนึ่งแต่ปล่อยให้น้ำท่วมอีกพื้นที่หนึ่ง”

 

 

เผยชาวบ้านอุทัยธานีช่วยกันดูแลเฝ้าระวัง

 

 

ดร.แมนกล่าวกล่าวว่า สิ่งที่พยายามจะเสนอ คือการจัดการพื้นที่ขนาดเล็ก เพราะเป็นสิ่งที่ชาวบ้านจัดการได้ เช่นที่ ต.หาดทนง จ.อุทัยธานี ประมาณ 10 ตารางกิโลเมตร ชาวบ้านสามารถดูแลสื่อสารกันได้ ด้วยการพูดคุย ขี่รถจักรยานยนต์ไปหากันได้ ช่วยเหลือกันได้ เพราะที่ผ่านมาได้ทำงานเป็นเครือข่ายมาโดยตลอด ซึ่งสวนทางกับสิ่งที่รัฐบาลคิดและทำโดยสิ้นเชิง เช่น ยกถนนทางเข้า จ.อุทัยธานี ทำพนังป้องกันแม่น้ำเจ้าพระยาด้านหน้า ป้องกันแม่น้ำสะแกกรัง ทำให้น้ำยกระดับสูงขึ้นมาอีก ภาวะแบบนี้ไม่มีที่ถอย ซึ่งการจัดการน้ำของเราเป็นแบบป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ไม่ได้สู้กับน้ำ

 

 

   “น้ำจากนครสวรรค์จะฝ่าข้ามทุ่งมา เจอกับน้ำจากแม่วงก์ แควตากแดดที่ค่อนข้างมีปริมาณสูง พื้นที่อย่างเกาะเทโพ หาดทนง หนองไผ่แบน จะเจอสถานการณ์น้ำท่วมเหมือนปีที่แล้ว ซึ่งปีที่แล้วน้ำท่วมสูงประมาณ 4 เมตร 6 เมตรในบางที่ และเที่ยวนี้น่าจะสูงและอันตรายมากขึ้น”

 

 

น้ำเมื่อปีที่แล้วไม่ได้วิ่งอยู่ในลำน้ำ แต่ตัดข้ามทุ่ง ในขณะที่นักวิชาการ หน่วยงานของรัฐพยายามอธิบายถึงน้ำที่วิ่งอยู่ในลำน้ำ แต่จริง ๆ แล้วน้ำไม่ได้วิ่งเป็นระเบียบ แต่วิ่งออกนอกทุ่งซึ่งไม่มีใครรู้ว่าน้ำไปทางไหน เพราะความรู้ทางน้ำในระดับพื้นที่ลดลง คนท้องถิ่นก็ไม่รู้  ยิ่งไม่ต้องพูดถึงคนที่บริหารงานอยู่ในส่วนกลางว่าจะเข้าใจ ในขณะที่การจัดการในพื้นที่ไม่ดีพอ เขื่อนหรือฝายกลายเป็นที่กีดขวางทางเดินของน้ำในขณะนั้นอยู่แล้ว เพราะไม่มีการบำรุงรักษาดูแล

 

 

แนะศึกษานิเวศลุ่มน้ำเล็ก แก้ปัญหาน้ำท่วมใหญ่

 

 

ดร.แมนกล่าวต่อว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ การขาดความรู้ ความเข้าใจในการจัดการน้ำ ทำให้การแก้ปัญหาน้ำท่วมไม่ได้รับการแก้ไขที่ต้นเหตุ และไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้ เช่นปีนี้น้ำท่วม จ.กำแพงเพชร ซึ่งน้ำที่ท่วมเป็นน้ำที่สะสมอยู่ในพื้นที่ อ.คลองลาน คลองขลุง คลองน้ำไหล และน้ำมาติดที่มีการกั้นน้ำทั้งเมือง ที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในพื้นที่ ซึ่งแต่เดิมพื้นที่ที่น้ำท่วมเป็นที่ลาดชัน และปลูกพืชยืนต้น แต่ต่อมาเกษตรกรเปลี่ยนมาเป็นปลูกข้าวในพื้นที่ดินทรายซึ่งค่อนข้างเสี่ยง เพราะเส้นทางน้ำเล็ก ๆจะเอาน้ำที่สะสมไว้ไปท่วมในพื้นที่ ทำให้น้ำจะท่วมในลักษณะแบบนี้อยู่เป็นประจำ หน่วยงานในพื้นที่จะบอกว่าเป็นน้ำหลาก ไม่ใช่น้ำท่วม และจะสื่อสารเช่นนี้ออกไปกับสาธารณะ ทำให้ชาวบ้านเข้าใจสาเหตุของน้ำท่วมผิดไป และลักษณะการท่วมแบบนี้จะกระจายตัวไปทั่ว ถึงแม้น้ำจะไม่มากเท่าปี 2554 ซึ่งไม่มีหน่วยงานไหนเข้าใจและจัดการได้

 

 

                “คำถามคือว่า มีความเสียหายเกิดขึ้นหรือไม่ น้ำท่วม 3 วัน นาข้าวที่กำลังเกี่ยวเสียหายหมด เกณฑ์ในการตัดสินใจเรื่องนี้ จะยากมากขึ้น เพราะกรมชลประทานจะใช้เกณฑ์กลาง ในการตัดสินใจของประเทศทั้งหมด ซึ่งจากสถานการณ์นี้ จะทำให้เกิดภาวะของคนที่ปลูกข้าวและต้องการเงินชดเชย ถ้านโนบายของรัฐบาลเป็นแบบนั้น เหมือนเราสร้างภาวะความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงกระจายไปโดยที่เราไม่ได้ใช้เครื่องมืออย่างอื่นเลย นอกจากงบประมาณและวิธีคิดแบบใช่คณิตศาสตร์ ใช้ตัวเลขเป็นตัวตั้ง” ดร.แมนกล่าว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

วันนี้เป็นเรื่องจำเป็นแล้ว ที่ต้องทำความเข้าใจข้อมูลในพื้นที่นิเวศลุ่มน้ำขนาดเล็ก และต้องอธิบายพื้นที่เหล่านี้โดยภาคอื่น ๆ นักวิชาการบางคนที่อธิบายทุกเรื่อง จะไม่สามารถแก้ปัญหาอะไรได้ หากยังไม่เข้าใจพื้นที่นิเวศลุ่มน้ำขนาดเล็ก กรณีน้ำท่วมที่ จ.สุโขทัย มีลักษณะอาการแบบนี้ เรื่องลักษณะพื้นที่ของแต่ละแห่งเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้ ที่คนในพื้นที่จะเข้าใจและอธิบายความหมายให้คนข้างนอกเข้าใจ และรู้เรื่องให้ได้ เครือข่ายภาคประชาชน จะทำอย่างไรให้คนในพื้นที่รู้เรื่องเหล่านี้ได้หลากหลายมากขึ้น

 

 

บางระกำโมเดล’ เมินแผนรัฐบาล ขอจัดการตนเอง

 

 

ในขณะที่นักวิชาการด้านน้ำ เสนอการจัดการน้ำด้วยการศึกษาระบบนิเวศในพื้นที่ลุ่มน้ำขนาดเล็ก ชาวบ้านในพื้นที่ จ.พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย ซึ่งเป็นพื้นที่รับน้ำและน้ำท่วมหนัก เริ่มปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป เพราะเห็นได้ชัดว่า ฤดูกาลมีการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง เพราะฝนมีปริมาณมาก น้ำมาเร็วเกินปกติ จากปกติคนพิจิตรในลุ่มน้ำยมพอน้ำลดประมาณเดือนธันวาคม จะเริ่มปลูกข้าว  เดือนเมษายนจะปลูกรอบที่สอง และเก็บเกี่ยวก่อนที่จะปล่อยให้น้ำท่วมและอยู่กับน้ำ หาปลาทำประมง แต่ปีที่แล้วข้าวรอบสอง ในเดือนกรกฎาคมไม่ทันได้เกี่ยว น้ำมาก่อน ตั้งแต่ปลายกรกฎาคม จนถึงเดือนธันวาคมน้ำจึงจะลดลง

 

ด้าน นายบุญยืน วงศ์สงวน ผู้ประสานงานเครือข่ายลุ่มน้ำภาคเหนือตอนล่าง กล่าวว่า บทเรียนจากปีที่แล้ว มีผลมาถึงปีนี้ ทำให้ชาวบ้านเริ่มปรับตัว ปีนี้นาข้าวชาวบ้านเสียหายน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่เกี่ยวเสร็จหมดแล้ว ก่อนน้ำจะมา ซึ่งการแก้ปัญหาและปรับตัวของชาวบ้านไม่ได้มาจากการแก้ปัญหาของรัฐบาล แต่เป็นการปรับตัวของชาวบ้านมากกว่า ทั้งนี้พื้นที่รองรับน้ำของลุ่มน้ำยม ตั้งแต่บางระกำไล่จนถึงพิจิตร วันนี้ยังไม่มีโครงการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม และแน่นอนว่า ถ้าชาวบ้านหรือเกษตรกรรอประกาศให้เป็นพื้นที่รับน้ำ และไม่ต้องทำนา ชาวบ้านจะไม่ได้อะไรเลย

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                 “ตั้งแต่เดือนเมษายน ที่รัฐบาลประกาศว่า ตั้งแต่ กำแพงดิน สามง่าม รังนก จนถึงโพธิ์ประทับช้าง เป็นพื้นที่รับน้ำ 100 เปอร์เซนต์ ผู้ใหญ่บ้านให้ชาวบ้านไปขึ้นทะเบียนไว้ตั้งแต่วันนั้น แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะจ่ายค่าชดเชยอย่างไร น้ำจะมาทางไหน จะให้จมกี่เดือน จะดูแลกันอย่างไร สุดท้ายพี่น้องตัดสินใจทำนา และเกี่ยวเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหากชาวบ้านเชื่อรัฐบาลไม่ทำนาจะเสียเวลาไปหนึ่งฤดูกาลโดยไม่ได้อะไร”

 

 

นอกจากนี้บทเรียนที่ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับ คือการนำเสนอข่าวของสื่อ ซึ่งช่วงแรก บางระกำโมเดล ดังไปทั่วประเทศ แต่เมื่อน้ำไหลจากเหนือเข้ากรุงเทพมหานคร บางระกำหลุดจากการนำเสนอข่าวของสื่อ ซึ่งมีความพยายามที่จะสื่อสารจากชุมชนผ่านแกนหลักในพื้นที่ โดยใช้เยาวชนในพื้นที่มาอบรมนักข่าวพลเมืองกับไทยพีบีเอส สร้างระบบการสื่อสารกันเอง ผ่านโซเชียลเน็ทเวิร์ค เฟซบุ๊ก เพื่อสื่อสารข้อมูลที่เป็นบทเรียนจากพื้นที่ ให้พื้นที่อื่นได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเครือข่ายการสื่อสารดังกล่าวยังทำงานการสื่อสารต่อเนื่องมาถึงวันนี้ เป็นทิศทางหนึ่งในการปรับตัวว่า เมื่อเกิดภัยพิบัติ การสื่อสารในพื้นที่เป็นสิ่งจำเป็น แทนที่จะฟังข้อมูลจากส่วนกลาง หน่วยงานของรัฐบาลที่ฟังแล้วไม่รู้เรื่อง

 

และอีกประเด็นของการปรับตัวที่เห็นชัดของชุมชนคือ เรื่องกองทุนหลายชุมชน มีการจัดตั้งกองทุนเมล็ดพันธุ์ ธนาคารพันธุกรรมขึ้นอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่พันธุ์ข้าวถึงพันธุ์พืช พันธุ์ผัก เพราะน้ำท่วมเมื่อปี 2554 ทำให้พืชผักเสียหาย และยากมากที่จะฟื้นกลับมา ชุมชนจึงจัดตั้งขึ้นมาเอง โดยเรียนรู้เทคนิคการทำแพ ปลูกผัก ลอยน้ำ ศูนย์รวมเมล็ดพันธุ์ รวบรวมพันธุ์พืชพื้นเมืองกลับมา เป็นอีกหนึ่งรูปบแบบการปรับตัวที่กำลังขยายวงกว้างมากขึ้น อย่างเป็นรูปธรรม เป็นการปรับตัวของชุมชนเองได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลน้อยมาก

 

 

ปรับเปลี่ยนปฏิทินการผลิตรับมือน้ำ

 

 

อย่างไรก็ตามนายบุญยืนกล่าวว่า  ทิศทางในอนาคตนั้น ชุมชนอาจจะเสนอให้ทบทวนปฏิทินการผลิต ปฏิทินการจัดการทรัพยากรน้ำใหม่ เพราะที่ผ่านมานโยบายจากภาครัฐใน 2 เรื่องนี้ ไม่เคยมีความชัดเจนและเป็นการตัดสินใจแบบรวมศูนย์ รัฐบาลควรจะยอมรับปฏิทินการผลิตของพื้นที่ ที่เป็นลุ่มน้ำย่อย ระบบนิเวศย่อยมากขึ้น โดยให้มีความสัมพันธ์กับนโยบายประกันรายได้ การจำนำข้าว ซึ่งนโยบายการจำนำข้าวเป็นตัวอย่างของการตัดสินใจจากส่วนกลาง และประกาศใช้ทุกพื้นที่ ทั้งๆที่ในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน ฐานการผลิตต่างกัน น้ำมาไม่เหมือนกัน พันธุ์ข้าวไม่เหมือนกัน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                  “การจัดการน้ำในจินตนาการและความเป็นจริงต่างกันมาก  รวมทั้งพันธุ์ข้าวและวิถีการผลิตเปลี่ยนไปมาก เรื่องเหล่านี้อาจจะต้องมีการทำใหม่”

 

 

นอกจากนี้หลายพื้นที่ในจังหวัดพิจิตร ไม่ได้ผลประโยชน์จากการรับจำนำข้าว เนื่องจากการปรับเปลี่ยนเวลาในการปลูกข้าว นโยบายเหล่านี้ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงในพื้นที่ เพราะข้าวที่จะรับจำนำจะต้องเป็นข้าวที่ปลูกช่วงเดือนตุลาคม ถ้านอกจากนั้นจะไม่สามารถจำนำได้ ซึ่งข้าวของชาวบ้านที่เปลี่ยนเวลาในการปลูกจึงไม่สามารถเข้าโครงการจำนำข้าวได้

 

บุญยืนกล่าวเพิ่มอีกว่า ชุมชนในพื้นที่รับน้ำจังหวัดพิจิตรได้ตั้งกองทุนเพื่อการปรับตัว โดยชุมชนมีการตั้งกองทุนเพื่อรับมือและปรับตัวกับสถานการณ์ ในขณะที่รัฐบาลใช้งบประมาณในการทำโครงสร้างเพื่อจะสู้กับน้ำ ซึ่งกระบวนการเริ่มของชุมชนเช่นนี้ รัฐบาลควรจะมีส่วนสมทบเข้ามาช่วยด้วย การปรับตัวขชาวบ้านที่ต้องมีกองทุนช่วยเหลือ  เช่น ดีดบ้านให้สูงขึ้น  เตรียมเรือ เพื่อรองรับการปรับตัวอยู่กับน้ำ

 

 

                “วันนี้ชุมชนเตรียมพร้อมและเริ่มแล้ว ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะเข้ามาสนับสนุน อย่างกรณีจังหวัดสุโขทัย กำแพงที่ปกป้องเขตเมืองของสุโขทัย สุดท้ายไม่สามารถกันน้ำได้ รัฐบาลน่าจะนำบทเรียนเหล่านี้มาบริหารจัดการที่จะอยู่กับน้ำได้อย่างไร สนับสนุนภาคประชาชนที่มีบทเรียนเหล่านี้ให้มีความเข้มแข็งมากขึ้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องทบทวน”

 

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: