ชี้คนกรุงฯเครียดปัญหาปากท้อง วัยโจ๋หันมาดื่มเหล้า-สูบบุหรี่อื้อ

เอมพงศ์ บุญญานุพงศ์ ศูนย์ข่าว TCIJ 9 ต.ค. 2555 | อ่านแล้ว 1561 ครั้ง

 

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเรื่อง “สุขภาพจิตของคนกรุงท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจ สังคมและภัยธรรมชาติ” เนื่องในวันที่ 10 ตุลาคม เป็นวันสุขภาพจิตโลก จากกลุ่มตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร 1,474 คน พบว่า สิ่งที่ทำให้คนกรุงเทพฯ เครียดและวิตกกังวลมากที่สุดในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา คือ ข้าวของราคาแพง ค่าครองชีพสูง ร้อยละ 28.6 รองลงมาคือ กลัวน้ำท่วมกรุงเทพฯ ร้อยละ 15.4 และการจราจรติดขัด ร้อยละ 12.4 ขณะที่ร้อยละ 3.5 ไม่มีเรื่องเครียดและวิตกกังวลเลย โดยบุคคลที่คิดว่าจะเป็นที่ปรึกษาหรือเป็นที่พึ่งทางใจ ในยามเครียดและวิตกกังวลมากที่สุดคือ คนในครอบครัว ร้อยละ 60.0 รองลงมาคือ เพื่อน ร้อยละ 19.7 และคนรัก ร้อยละ 10.0

 

สำหรับกิจกรรมที่คนกรุงเทพฯ นิยมทำเพื่อผ่อนคลายเมื่อเกิดความเครียดและวิตกกังวลมากที่สุดอันดับแรก คือ ดูโทรทัศน์ ฟังวิทยุ ร้อยละ 98.3 รองลงมาคือ ช้อปปิ้ง ดูหนัง ทานข้าว ร้อยละ 88.0 และออกกำลังกาย ร้อยละ 84.5 นอกจากนี้จากการสำรวจ คนกรุงเทพฯ บางส่วนเลือกที่จะใช้วิธีที่ไม่ดี เพื่อผ่อนคลายคือ ร้อยละ 52.9 เลือกที่จะดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ และร้อยละ 24.9 เลือกที่จะสูบบุหรี่ ทั้งนี้เมื่อพิจารณาเฉพาะกลุ่มที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์พบว่า เป็นกลุ่มเยาวชนอายุ 18-25 ปี มากที่สุด ร้อยละ 19.8

 

เมื่อถามว่าคนกรุงเทพฯ จะมีความเสี่ยงต่อปัญหาทางสุขภาพจิต (เช่น โรควิตกกังวล โรคจิต โรคซึมเศร้า) มากน้อยเพียงใดเมื่อเปรียบเทียบกับคนต่างจังหวัด กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 66.0 คิดว่าคนกรุงเทพฯ มีความเสี่ยงมากกว่า ขณะที่ร้อยละ 29.3 คิดว่ามีพอๆกัน และร้อยละ 3.2 คิดว่ามีน้อยกว่า

 

ด้านความเห็นต่อปัญหาความแตกแยกในสังคม ปัญหาน้ำท่วม ปัญหาของแพง ในปัจจุบันมีส่วนทำให้สุขภาพจิตของคนไทยไม่ดี มากน้อยเพียงใด ร้อยละ 94.6 เห็นว่ามากถึงมากที่สุด และร้อยละ 5.4 เห็นว่าน้อยถึงน้อยที่สุด

 

สุดท้ายเมื่อถามว่าปัจจุบันรัฐบาลให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตของประชาชนมากน้อยเพียงใด คนกรุงเทพฯ ร้อยละ 64.6 เห็นว่าไม่ค่อยให้ความสำคัญ และร้อยละ 22.2 เห็นว่าไม่ให้ความสำคัญเลย ขณะที่ร้อยละ 13.2 เห็นว่าให้ความสำคัญมาก

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: