ภัยพิบัติน้ำท่วม : สื่อรัฐ สื่อเก่าและสื่อใหม่

ธาม เชื้อสถาปนศิริ 9 ก.พ. 2555 | อ่านแล้ว 3574 ครั้ง

 

พูดถึงงานวิจัยด้านการสื่อสารในสถานการณ์ภัยพิบัติ บ้านเราดูจะน้อยมาก ถ้าไม่นับเหตุการณ์สำคัญๆ อย่างคลื่นสึนามิพัดเข้าภาคใต้ เมื่อปี 2547 หรือโรคไข้หวัดนก โรคซาร์ ประเทศไทยมีภัยพิบัติน้อย จึงทำให้งานวิจัยส่วนนี้น้อยไปด้วย และในส่วนน้อยนิดของงานวิจัยแบบนี้ เกินครึ่งยังมาจากปัญหาเรื่องการสื่อสารในภาวะวิกฤตของบริษัทเอกชนเสียด้วย


ปัญหา เรื่องน้ำท่วมตอนนี้  ในทางนิเทศศาสตร์มีความน่าสนใจน่าเอาไปทำวิจัย บทความนี้ ชวนท่าน(ที่อยากลองเป็นนักวิจัย) มาดูหัวข้อการศึกษาในเชิงลึก ทั้ง 3 หัวข้อนี้  มีหน่วยการศึกษาที่แตกต่างกัน

 

 สามเรื่องที่น่าสนใจ คือ
1.“ประสิทธิภาพการสื่อสารเรื่องการป้องกันบรรเทาภัยน้ำท่วมของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัย – ศปภ.”
2. “การใช้เครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ในการรายงานข่าวน้ำท่วม”
3.“บทบาทหน้าที่สื่อมวลชน(ฟรีทีวี) ในการรายงานข่าวน้ำท่วม”

 

ในฐานะนักวิจัย  ผมเองก็อยากจะทำทั้งสามหัวข้อ แต่ไม่มีเวลาเพราะต้อง “เฝ้าระวังเหตุการณ์น้ำท่วม” เนื่องจากตนเองก็อยู่ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยเช่นกัน

 

เริ่มที่ หัวข้อแรก 1.“ประสิทธิภาพการสื่อสารเรื่องการป้องกันบรรเทาภัยน้ำท่วมของศูนย์ปฏิบัติ การช่วยเหลือผู้ประสบภัย – ศปภ.”  (ในกรณีถ้ามีใครสนใจและกล้าทำ) ศึกษาตัวประสิทธิภาพของหน่วยงานรัฐ คือ ศปภ. หรือ รัฐบาล มีประเด็นปัญหาสำคัญคือ เรื่องความด้อย/ไม่ด้อย ประสิทธิภาพในการสื่อสารจัดการเรื่องน้ำท่วมได้ดี/ไม่ดี เพียงพอหรือไม่อย่างไร?

 

ตัวอย่างผลสำรวจทัศนคติและความรู้สึกของคนเมือง โดย สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เรื่อง เสียงสะท้อนของชาวบ้านต่อข้อมูลข่าวน้ำท่วมจากการแถลงของรัฐบาล พบว่า

 

(1) ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 86.2 ระบุข้อมูลจาก ศปภ. ไม่ชัดเจนว่าพื้นที่ของประชาชนจะถูกน้ำท่วมหรือไม่

(2) ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.3 สับสนกับข้อมูลข่าวน้ำท่วมที่ได้รับจาก ศปภ.

(3) นอกจากนี้ เกินกว่าครึ่งหรือร้อยละ 56.9 ไม่มั่นใจต่องานป้องกันปราบปรามอาชญากรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

และ (4) ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 87.2 ไม่วางใจ ไม่เชื่อถือต่อการให้ข้อมูลข่าวน้ำท่วมจาก ศปภ.

 

4 ข้อข้างต้นสะท้อน “ความไม่เชื่อมั่น/วางใจ” ในการแก้ไขปัญหาของรัฐซึ่งทั้งหมดเกิดจากการข้อมูลข่าวสารที่ไม่มีความถูก ต้อง รวดเร็ว แม่นยำ

 

น่าสนใจอย่างยิ่ง ที่ ข้อเสนอจากประชาชน ต่อรัฐบาลคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 73.4 อยากฟังข้อมูลสถานการณ์น้ำท่วมจากกลุ่มคน หรือ หน่วยงานที่ทำงานในพื้นที่มากกว่า ทีมงานโฆษกของ ศปภ. และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 75.1 ต้องการฟังข้อมูลจากคนทำงานที่ศูนย์พักพิงมากกว่า ทีมงานโฆษกของ ศปภ.


ที่สำคัญคือ ประชาชนอยากรับฟังข้อมูลข่าวสารจากนักวิชาการและข้าราชการหรือหน่วยงานที่ทำงานในพระราชดำริมากกว่านักการเมือง

 

ยังมีโพลของหลายสำนักที่สะท้อนสภาพปัญหาเรื่องความเชื่อมั่นของรัฐบาลใน การแก้ไขปัญหา และโดยส่วนมากก็เป็นความรู้สึกในทางลบ ที่น่าตลก(และดูว่ารัฐบาลจะขำไม่ออก) คือ คำตำหนิ ก่นด่า ทั้งหลายในเครือข่ายสังคมออนไลน์นั้น พุ่งเป้าไปที่ความไม่ประสีประสาของท่านผู้นำ โดยเฉพาะคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็กลายเป็นวิวาทกรรม ชวนทะเลาะกันไป (ทั้งประชาชน นักวิชาการ นักการเมือง และมีสื่อมาร่วมขบวนปกป้องบ้าง ตำหนิบ้าง ก็ว่ากันไป)

 

ทฤษฏีสำคัญที่ใช้อธิบายประสิทธิภาพในการสื่อสารของศปภ. ในทางนิเทศศาสตร์คือ การสื่อสารในสภาวะวิกฤต (crisis communications) หรือ การจัดการความเสี่ยง (risk management) ซึ่งมีอธิบายไว้มากมาย

 

ปัญหาหลักๆ ของศปภ. ที่สรุปได้ตอนนี้คือ การทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ สื่อสารความเข้าใจผิด/ไม่เป็นเอกภาพต่อสาธารณะอยู่เสมอ ความน่าเชื่อถือไม่มี ความรวดเร็ว ไม่ได้ ทำงานเป็นทีม  และดูไม่ใช่มืออาชีพในการบริหารจัดการ ซึ่งอาจนำไปเป็นสมมติฐานในการศึกษาได้อย่างดี

 

อาจารย์สุภาภรณ์ โพธิ์แก้ว จากนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ ให้สัมภาษณ์สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส  พูดถึงการสื่อสารในภาวะวิกฤติ  มีประเด็นที่น่าสนใจ 2 ข้อ ที่รัฐต้องรับฟังและแก้ไข คือ

 

(1) “การสื่อสารสองทาง ดีกว่า การสื่อสารทางเดียว” ในภาวะวิกฤตนั้น เรา(หรือรัฐ) มักจะคิดว่าการสื่อสารทางเดียวเหมาะสมสำหรับการแก้ไขปัญหาได้เร็วขึ้น  คือ จริงๆ แล้วไม่ใช่  เพราะกลับทำให้การแก้ไขปัญหามีความผิดพลาดมากขึ้น   ข้อเท็จจริงคือ การแก้ไขปัญหาอย่างถูกจุด ถูกต้องนั้น การตัดสินใจที่รวดเร็วก็จำเป็น แต่การตัดสินใจที่ถูกต้องนั้นสำคัญกว่า และจะยิ่งสำคัญมากเมื่อรัฐได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง

 

(2) “การที่ประชาชนตื่นตระหนก ไม่ได้แย่  แต่หมายถึงพวกเขาพร้อมที่จะตื่นตัว” ปัญหาคือ รัฐมักกลัวว่าการสื่อสารที่บอกข้อมูลทั้งหมดนั้น อาจทำให้ประชาชนตื่นตระหนก ตกใจ ที่จริงแล้วการบอกข้อมูลถึงอันตรายของสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นนั้น จำเป็นเพื่อให้ประชาชนเตรียมพร้อมและรู้สึกตื่นตัวที่จะป้องกันกับสถานการณ์ ได้ดีกว่า

 

ข้างต้นนี้  อาจารย์สุภาภรณ์เรียกว่าเป็น “มายาคติ” ในการสื่อสารที่รัฐมักมอง/เข้าใจผิดมาตลอด ก็ เชื่อว่ารัฐจะปรับเปลี่ยนรูปแบการนำเสนอข้อมูลข่าวสารให้ดีขึ้น ล่าสุดที่เขียนบทความทราบว่าศปภ. หรือ กทม.ดึงตัวท่านอาจารย์ปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ผู้เชี่ยวชาญเรื่องน้ำที่ดีที่สุดมาช่วยกู้และวางแผนรับมือกับสถานการณ์แล้ว น่าจะทำให้ประชาชนเกิดความรู้สึกเชื่อมั่นมากขึ้น

 

ประเด็นอื่นๆ  คือ ศูนย์ข้อมูลข่าวสารต่างๆ นั้นมักกระจัดกระจายตามหน่วยงาน ทบวง กรมกองต่างๆ ซึ่งการทำงานขึ้นอยู่กับผู้นำองค์กร การเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศต่างๆ หรือการจัดการแก้ไขปัญหานั้น เป็นอุปสรรคมากหรือไม่ ทั้งเว็บไซต์ข้อมูลข่าวสารหน่วยงานของราชการต่างๆ ที่ ช้า เฉื่อย อืด นั้น ก็เป็นปัญหาเรื้อรังมานานปี

 

หรือปัญหาภายในทางการเมือง เช่น นักการเมืองแย่งกันเสนอหน้า แย่งความดี กันออกแถลงข่าวสาร จนก่อให้เกิดความผิดพลาดโดยไม่จำเป็น ก็เป็นตัวอย่างสดๆ ร้อนๆ สำหรับรัฐบาลนี้เช่นกัน


นักวิจัยที่อยากทำงานชิ้นนี้ ต้องเก็บบันทึกข่าวสารที่มาจากศปภ. ทั้งจากสื่อโทรทัศน์ และหนังสือพิมพ์ หรือเว็บไซต์ โดยเปรียบเทียบกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในภายหลังวันต่อวัน สนุกกว่านั้นคือเข้าไปสังเกตการณ์ภายในสปภ. บางทีอาจจะได้รู้ว่า ศปภ./รัฐ มีระบบการจัดการเชิงลึกอย่างไร

 

หัวข้อที่ 2 เรื่อง “การใช้เครือข่ายสื่อสังคมออนไลน์ในการรายงานข่าวน้ำท่วม” อัน นี้น่าสนใจสำหรับนักศึกษา/คนรุ่นใหม่ เพราะกำลังเป็นเรื่องใหม่ เหตุการณ์ภัยพิบัติคลื่นสึนามิเมื่อปี 2547 นั้น ยังไม่มีสื่อสังคม (social network) เหมือนเช่นวันนี้ ทวิเตอร์ เฟซบุ๊ค หรือเว็บไซต์สังคมออนไลน์ ผุดเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ด ด้วยแรงหนุน -3 ข้อสำคัญคือ

 

1 ปัจจัยเอื้อเรื่องเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต/เครือข่ายโทรคมนาคม และความสามารถของผู้คนที่คนหันมาใช้ “สื่อใหม่” (new media) กันมากขึ้น
2. พฤติกรรมจิตวิทยาของประชาชน ในเชิงประชาสังคม จิตอาสา เครือข่ายภาคเอ็นจีโอ ภาคประชาสังคมที่เข้มแข็ง  และไม่เชื่อถือในการทำงานของรัฐ เพราะรัฐอ่อนแอ/ล่าช้า หรือไร้ความสามารถ จึงทำให้ประชาชนลุกขึ้นมาใช้สื่อใหม่ในการติดต่อรวบรวมข้อมูลข่าวสารกันเอง
3. สื่อเก่า/สื่อกระแสหลักไม่ทำหน้าที่  ก็เป็นแรงหนุนหลัก เพราะโทรทัศน์บางช่อง ยังไม่ปรับผังรายการพิเศษ มีรายการบันเทิงเช่นเดิม หรือเน้นรายงานข่าวในลักษณะเร้าอารมณ์ ฉาบฉวย ดราม่ามากเกินไป

 

รวมๆ เข้ากัน ที่น่าสนใจคือ “รูปแบบการสื่อสารในเครือข่ายสื่อสังคมนั้น “เวิร์ค” หรือไม่” มันมีรูปแบบ ลักษณะอย่างไร รวดเร็วจริงไหม ใช้ได้ผลจริงไหม ถ้าดี คืออะไร ถ้าแย่ หรือยังด้อยอยู่คืออะไร?

 

แต่ความยากในการศึกษานั้นคือการ “กำหนดหน่วยการศึกษา ทั้งจำนวนแหล่งฐานข้อมูล/ระยะเวลา” ที่สื่อใหม่เสมือนเครือข่าย/ตาข่าย/โครงข่าย ที่ไร้จุดสิ้นสุดของข้อมูล แต่ผู้ที่สนใจก็อาจกำหนดเว็บไซต์บางเว็บในการเก็บข้อมูลได้ เช่น www.thaiflood.com ซึ่งเป็นฐานข้อมูลกลางที่ดูน่าเชื่อมากที่สุดในเวลานี้
น่าศึกษาว่า “ความน่าเชื่อถือ ความถูกต้อง ความรวดเร็ว ในข้อมูลข่าวสาร” ระหว่าง รัฐ (state) กับเครือข่ายประชาสังคมในสื่อสังคม (civil society/social network) นั้น ใครน่าเชื่อถือกว่ากัน? และที่เป็นเช่นนั้นมาจากอะไร

 

หรือการลงไปศึกษาเรื่องการออกแบบเว็บไซต์ข้อมูลข่าวสารในเครือข่าย ว่ามีจุดเด่น ด้อยเช่นไร ความยากง่ายในการ “บูรณาการข้อมูลข่าวสารที่มีมหาศาล” ในสภวะวิกฤติ การส่งต่อความช่วยเหลือ การทำงานร่วมกันระหว่างอาสาสมัครทั้งหลาย ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารใด อย่างไร?

 

นี่อาจเป็นประเด็นที่น่าจะเป็นประโยชน์มากที่สุดที่อยากให้ผู้สนใจลองศึกษาดู

 

ขอนอกเรื่องไปนิด ก่อนไปหัวข้อที่ 3 ผมอยากจะพูดถึงหลักการออกแบบและใช้สื่อใหม่เพื่อการสื่อสารในภาวะภัยพิบัติ

 

เว็บไซต์ www.thaiflood.com เป็นตัวอย่างที่ดีในการออกแบบ และรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่ค่อนข้างครบถ้วนจำเป็น มีข้อมูลทั้งสถานการณ์ข่าวล่าสุด แผนที่ระดับน้ำ พื้นที่ที่ประสบปัญหา ซึ่งเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจสำหรับผู้ออกแบบงานด้านข้อมูลข่าวสารสารสนเทศ

 


 

เว็บไซต์ข่าวของช่องสถานีไทยพีบีเอส ถือว่าน่าสนใจเช่นกัน เนื่องจากรวบรวมข้อมูลข่าวสารเอาไว้อย่างเป็นระบบ เกาะติด และมีทั้งส่วนแทรกรายการสัมภาษณ์ต่างๆ ของสถานี ช่องทางรับ/ส่งต่อความช่วยเหลือ และยังมีอีกหลายเว็บไซต์ที่รวบรวมข้อมูลได้ดี

ตัวอย่างหน้าเว็บเพจของไทยพีบีเอส


 

ข้อเด่นคือเว็บไซต์มีรายการย้อนหลังที่ให้ความรู้ที่สำคัญในการป้องกันและเตรียมภัยได้มาก เป็นระบบ (archive) ได้อย่างดี

 

 

จุดเด่นของสื่อใหม่ อย่างอินเตอร์เน็ต หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ คือ รวดเร็ว ทันที ต่อเนื่อง และใครๆ ก็สามารถเข้าถึงและผลิต/ส่งต่อข้อมูลข่าวสารได้ นั่นทำให้สื่อใหม่มีประสิทธิภาพเต็มที่ในช่วงเหตุการณ์ภาวะวิกฤตที่สื่อ เก่าๆ นั้น (โดยเฉพาะบ้านเรา) มีอยู่อย่างจำกัดและอาจทำหน้าที่รายงานข่าวได้ไม่เร็วเพียงพอ

 

รายงานเรื่อง New Technologies in Emergencies and Conflict: The Role of Information and Social Networks  ซึ่งถอดบทเรียนจากเหตุการณ์วิกฤตทางสังคม การเมือง และภัยธรรมชาติ พูดเรื่องหลักการใช้สื่อสังคม ในการจัดการข้อมูลข่าวสารเพื่อความขัดแย้งหรือในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่นเหตุการณ์น้ำท่วมหรือภัยพิบัติธรรมชาตินี้ ยิ่งน่าสนใจสำหรับสื่อที่จะนำไปประยุกต์ใช้ได้ในการรายงานข่าว

 

รายงานเล่มนี้ ให้แนวทางการใช้ข้อมูลข่าวสาร ที่เจ้าหน้าที่รัฐ สื่อสารมวลชน และสื่อบุคคลที่ใช้อินเตอร์เน็ต หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์อื่นๆ เพื่อความช่วยเหลือผู้ประสบภัย มี 4 หลักการสำคัญ ในช่วงภาวะวิกฤตดังนี้

 

(1) การสื่อสารเพื่อการเตือนภัย (alerts) เนื่องจากในภาวะวิกฤตนั้น ผู้คนย่อมต้องการข้อมูลข่าวสารที่น่าเชื่อถือ เพื่อใช้ในการเตรียมการรองรับ หรือป้องกันแก้ไข เหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น บรรดาข้อกฎระเบียบทั้งหลาย มาตรฐานการป้องกัน ช่วยชีวิต หรือข้อกำหนดเพื่อบรรเทา ป้องกันภัย นั้น จำเป็นที่จะต้องสื่อสารให้ประชาชนรับรู้รับทราบแต่เนิ่นๆ ศูนย์เตือนภัยหรือเฝ้าระวังสถานการณ์ต่างๆ จะต้องมีคนประจำการอยู่ เพื่อตอบข้อมูลคำถามเหล่านี้

 

แน่นนอนว่าจะมีช่องว่างระหว่างเครื่องมือ และการดำเนินงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นผู้คนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ จะต้องเตรียมการข้อมูล เครื่องมือ ที่จำเป็นในช่วงนี้ สำคัญมาก เพราะจำเป็นต้องใช้เพื่อการตัดสินใจแบบทันต่อเวลา/สถานการณ์เฉพาะหน้า เพื่อป้องกันความตื่นตระหนกและความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สิน
ดังนั้นจำ เป็นที่ต้องมีระบบฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกัน ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เป็นจุดเดียวกัน เช่นเว็บไซต์กลางที่มีคณะทำงานจากตัวแทน/ผู้มีอำนาจ ภาระงานที่เกี่ยวข้องมารวมกันในลักษณะเบูรณาการ

 

หลักการสำคัญคือ ความเป็นวัตถุวิสัย(  objective ) ความถูกต้อง และข้อมูลเหล่านั้นต้องเข้าถึงได้อย่างอิสระ ในเวลาอันสั้นและไม่ยุ่งยาก แม้เว็บไซต์จะดีที่สุด แต่ก็อย่าลืมว่ามีคนที่ใช้อินเตอร์เน็ตไม่เป็นอีกจำนวนมาก เป็นหน้าที่ของรัฐบาล เจ้าหน้าที่รัฐ และองค์กรหน่วยงานต่างๆในประเทศทั้งหลายที่ต้องเตรียมการข้อมูลสาธารณะเหล่า นี้รองรับเอาไว้แต่เนิ่นๆ ปัญหามักเกิดจากข้อจำกัดของหน่วยงานต่างๆ ที่มีระเบียบ มีขั้นตอนที่ยุ่งยาก ซับซ้อน เหล่านี้จำเป็นต้องสลายข้อจำกัดและขั้นตอนที่ยุ่งยากเสีย
รูปธรรมคือ การมี ศูนย์เตือนภัย/ศูนย์เฝ้าระวัง ที่มีคนทำงานตลอดเวลา/ประจำการ และมีข้อมูลทุกอย่างทั้งหมดที่เกี่ยวข้องเพื่อการเตือนภัยนั้นๆ ได้ในศูนย์เดียว

 

(2) การสื่อสารเพื่อการเตรียมพร้อม (preparedness) การ เตรียมพร้อมนั้นขึ้นอยู่กับการวางแผนและการศึกษาหาแนวทางต่างๆเอาไว้ เพื่อแน่ใจว่า แผนการต่างๆ นั้นจะได้ใช้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในยามที่เกิดเหตุ

 

การใช้งานเว็บไซต์ ด้วยการมีระบบที่รวมเอาการสื่อสารผ่านข้อความสั้น (sms) หรือทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค หรือแผนที่จาก Google Map ที่ผู้ใช้สามารถอัพเดตข้อมูลได้ตลอดเวลา


ส่วนนี้เป็นข้อมูลที่สำคัญเพราะ การกระทำ/แก้ไขปัญหาต่างๆ ในขั้นนี้ ต้องอาศัยข้อมูลที่ทันสมัย รวดเร็ว และน่าเชื่อถือ ข้อมูลทุกอย่างในขั้นนี้ จำเป็นต้องตรวจสอบ คัดกรอง และสื่อสารอย่างเป็นทางการ ระมัดระวัง

 

การแถลงข่าว/เป็นแถลงการณ์ เป็นสิ่งที่จำเป็น การระบุ วัน เวลา สถานที่ และกิจกรรมหรือคำเตือนที่ระบุอย่างชัดเจน และข้อมูลการติดต่อ ผู้คนรับผิดชอบ หรือมาตรการต่างๆ จำเป็นที่จะต้องสื่อสารออกไปในหลายช่องทางมากที่สุด

 

(3) การสื่อสารเพื่อการแก้ไข/โต้ตอบ/ทันท่วงที (response) ในช่วงเหตุการณ์วิกฤตนั้น ทุกฝ่ายต่างก็ต้องการข้อมูลข่าวสารจำนวนมาก ความน่าเชื่อถือและความรวดเร็วในการโต้ตอบสื่อสารนั้นจำเป็นมาก เว็บไซต์ของรัฐที่มีภาพถ่ายดาวเทียม สามารถช่วยให้การสื่อสารเป็นไปอย่างมีข้อมูลที่ถูกต้องรวดเร็ว

 

ข้อมูลเช่น ภาพถ่ายสภาพอากาศดาวเทียมนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็น และปัจจุบันสามารถทำได้ง่ายผ่านโทรศัพท์มือถือ และทุกฝ่ายสามารถนำไปใช้ในการวางแผนแก้ไขได้ทันท่วงที


ปัจจุบัน โปรแกรมการสื่อสารต่างๆ เช่น Skype หรือ ทวิตเตอร์ ที่สามารถใช้ผ่านโทรศัพท์มือถือนั้น ทำได้ง่าย แต่หลักการคือผู้ส่งสารต้องมีวิจารณญาณ และความชัดเจน แม่นยำ สื่อความสั้น กระชับ ครบถ้วน ถูกต้อง

 

(4) การสื่อสารเพื่อการฟื้นฟู/เยียวยา (reconstruction) เทคโนโลยี สื่อใหม่ในปัจจุบันสามารถทำให้บูรณาการข้อมูลความต้องการช่วยเหลือได้รวด เร็วขึ้น ปัญหาที่สำคัญคือ ผู้ต้องการช่วยเหลือ กับผู้ได้รับความช่วยเหลือนั้น ต้องสอดคล้อง ตรงกัน และรวดเร็ว

 

การมีระบบฐานข้อมูลศูนย์ผู้ประสบความเสียหาย และข้อมูลความต้องการช่วยเหลือนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นต้องจัดทำอย่างเป็นระบบ ทั้งเรื่องเงิน สิ่งของ อาหาร ยา เสื้อผ้า เครื่องจักร หรือข้อมูลนั้น เป็นสิ่งที่ต้องส่งต่ออย่างรวดเร็วและถูกต้อง

 

เทคโนโลยีสื่อใหม่ และผู้คนที่ใช้สื่อใหม่เหล่านี้ กำลังสร้างโอกาสที่สำคัญในการพัฒนาผู้คนให้สามารถเตรียมพร้อม โต้ตอบ และเยียวยาปัญหาต่างๆ จากภัยพิบัติให้ดีมากขึ้น

 

หัวข้อที่ 3 “บทบาทหน้าที่สื่อมวลชน(ฟรีทีวี) ในการรายงานข่าวน้ำท่วม” สิ่ง ที่น่าสนใจคือ สื่อกระแสหลัก เน้นสำหรับฟรีทีวี หรือช่องสถานีข่าวนั้น มีบทบาทหน้าที่ในการรายงานข่าวสารน้ำท่วมที่ดี/ด้อย/เด่นอย่างไร?

 

แก่นหลักคือ บรรทัดฐาน/ความคาดหวังต่อสื่อกระแสหลักในการทำหน้าที่สื่อมวลชน ในการรายงานข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว ถูกต้อง แม่นยำ การให้ความรู้ เพื่อการป้องกัน การทำหน้าที่เพื่อเป็นสื่อกลางในการระดมทุน ความช่วยเหลือ แจ้งเตือนภัย หรือรับส่งความช่วยเหลือ และแม้แต่เพื่อความบันเทิง ผ่อนคลายความทุกข์เศร้าใจจากภัยพิบัติ

 

ปัญหาคือ สื่อฟรีทีวี ทำหน้าที่เหล่านี้ได้ดี/ด้อยต่างกัน ที่เหมือนกันคือการเน้นนำเสนอข่าวเพียงแต่เร้าอารมณ์ เห็นความทุกข์ยาก ความลำบากของประชาชน จนละเลยเนื้อหาข่าวที่ช่วยป้องกัน หรือระดมความคิดช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหา

 

สื่อกระแสหลักมีข้อเด่นคือ ความสามารถในการระดมทุนทรัพย์บริจาค แต่ที่เป็นปัญหาคือ กลายเป็นว่าอาจดูเหมือนกันไปหมด (มีคำถามว่าการรายงานข่าวน้ำท่วม นักข่าวต้องไปยืนน้ำท่วมครึ่งตัว ใส่เสื้อชูชีพ นั่งทำข่าวในพื้นที่จริงๆ หรือไม่? มีกระแสทั้งชอบและไม่ชอบต่างกัน ว่าสื่อแอบอ้างเอาเงิน สิ่งของบริจาคไปเป็นฉากหน้าของธุรกิจสื่อสร้างภาพลักษณ์องค์กรเสียเอง)

 

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจในทางภาษาศาสตร์ คือ กลวิธีการสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ ในเรื่องข่าวน้ำท่วมนั้น เป็นการสร้างความตื่นตระหนก หรือความตระหนัก สร้างความมีสติเพื่อป้องกัน หรือสร้างความทุกข์โศกแก่ผู้ประสบภัยให้ยิ่งเครียดมากขึ้น ข้อนี้ค่อนข้างศึกษาได้ยาก เส้นแบ่งตรงกลางระหว่างทั้งสองนั้นอยู่ตรงไหน ผู้เชี่ยวชาญอาจสนใจเป็นพิเศษ

 

อีกข้อหนึ่งคือ คุณภาพของข้อมูลข่าวสารที่สื่อรายงาน เรื่องความถูกต้อง ความรวดเร็ว ความน่าเชื่อถือ และประโยชน์ที่สามารถนำไปใช้ได้สำหรับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ดูข่าว ผู้คนลำบาก เดือดร้อนแล้ว มีคนช่วยกันบริจาคมากขึ้นไหม ก็เป็นสิ่งดี ดูข่าวเรื่องการเฝ้าระวังปัญหาน้ำท่วมก็ดีสำหรับฝ่ายป้องกัน ดูข่าวเรื่องประสิทธิภาพการทำงานของรัฐบาลก็ดีสำหรับประชาชน/นักลงทุน เรียกว่าข่าวมีมิติที่หลากหลาย เชื่อมโยงเกี่ยวพันกันทั้งหมด

 

สื่อใดที่ไม่ได้คำนึงถึงในประเด็นนี้ก็อาจจะบกพร่องหน้าที่ตนไป ที่สำคัญคือ หน้าที่ในการเป็นพื้นที่เวทีสาธารณะกลางคงไม่ใช่เฉพาะช่องทีวีของรัฐ เท่านั้น ทีวีไทย ช่อง 5 ช่อง 11/nbt นั้นคงพยายามทำอย่างเต็มความสามารถ แต่ช่อง 3 7 9 ก็ต้องช่วยเหลือกันตามหน้าที่

 

มีประเด็นที่ชวนคิดอีกว่า หน้าที่สื่อที่ควรทำ แล้วไม่ได้ทำคืออะไร และสิ่งที่ไม่ใช่หน้าที่สื่อ แต่สื่อไปทำ คืออะไร ? เช่น สื่อตั้งตนเป็นผู้รับบริจาค และนำของไปบริจาคด้วยตัวเอง (โดยใช้ดารา นักข่าว ผู้บริหาร พนักงานในองค์กร) หรือสื่อทำตัวเป็นหน่วยกู้ภัย รับแจ้งภัย นั่นอาจคิดไปได้ว่า แล้วหน่วยงานที่ควรรับผิดชอบโดยตรงนี้ ควรเป็นใคร

 

ตรงนี้อาจมีคนมองต่างมุมว่า ในช่วงเวลาเช่นนี้ สื่อเองก็พยายามช่วยเหลือสังคม พยายามช่วยๆ กันเป็นพลัง แต่ผมติดประเด็นเดียวตรงที่ว่า มีนักข่าวท่านหนึ่ง พูดผ่านรายการว่า “ประชาชนอยากที่จะเอาสิ่งของมาบริจาคกับเรามากมาย และพอพวกเขาเห็นเรา ก็ยิ้มทั้งน้ำตา ดีใจ เข้ามาโอบรุมล้อม ว่านี่ไง สื่อเข้ามาช่วยเหลือพวกเราแล้ว เรารอดตายกันแล้ว”

 

เราอาจหลงลืมไปไหมว่า หน้าที่ตรงนี้คือ หน่วยบรรเทา กู้สาธารณะภัยต่างๆ ของรัฐ ทหาร ตำรวจ ข้าราชการ ที่ควรปฏิบัติหน้าที่ตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าประชาชนรู้สึกว่า อยากจะบริจาคของช่วยเหลือผ่านสื่อ ผ่านนักข่าว ดารานี้ คนนี้ ช่องนี้ แต่ไม่ไปบริจาคที่หน่วยงานส่วนกลางของรัฐ/state แล้วละก็ แสดงว่าสื่อทำหน้าที่ตรงนี้ได้ดีกว่าหน่วยงานรัฐแน่นอน ซึ่งต่อไปจะเป็นปัญหาในอนาคต

 

หรือหน้าที่สื่อในการรายงานข่าว เพื่อตรวจสอบกรณีปัญหาทุจริตเงินบริจาค ปัญหาอาชญากรรม เพื่อป้องกันภัยให้แก่ประชาชนในช่วงน้ำท่วมจากโจรลักขโมย หรือแม้แต่การรายงานข่าวสารเพื่อเตรียมตัวป้องกันน้ำท่วม มากกว่าที่จะรอให้น้ำท่วมแล้วค่อยรายงาน

 

บทบาทของสื่อมิใช่ในช่วงภัยพิบัติ น้ำท่วมเท่านั้น ที่เป็นประเด็นข่าวเชิงเหตุการณ์ แต่ยังมีประเด็นข่าวเชิงนโยบาย เชิงโครงสร้าง ที่เป็นผลกระทบที่ตามมาทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย สื่อจึงต้องมอง/คาดการณ์ล่วงหน้า และมองผลกระทบที่ไม่เห็นจากภัยพิบัติให้ได้

 

ทฤษฏีที่มักใช้วิเคราะห์  คือ หน้าที่ของสื่อ/บทบาทของสื่อ/มาตรฐานแนวปฏิบัติในการรายงานข่าวในเหตุการณ์ ภัยพิบัติ (ซึ่งมีคู่มือผลิตออกมา โดยสำนักข่าวประชาธรรม ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://www.slideshare.net/kapook/ss-9106125) หรือไทยพีบีเอสก็จะมีแนวทางการรายงานข่าวในสถานการณ์ภัยพิบัติเป็นตัวอย่างงาน ศึกษาแนวนี้มีผู้สนใจมาก เช่น สึนามิปี 2546-2547 หรือ โรคไข้หวัดนก โรคซาร์ เมื่อหลายปีก่อน มีงานวิทยานิพนธ์มากมายเป็นพื้นฐาน แต่ก็มักลงเอยที่ว่า รัฐด้อยประสิทธิภาพในการจัดการวิกฤตและมักเป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบสร้างภาพ ผักชีโรยหน้าเสมอ

 

ข้างต้นคงเป็นกรอบหัวข้องานวิจัยหลักๆ ที่มองเห็นกัน แนวอื่นที่ตกค้างและยังน่าสนใจ เช่น เรื่องวัฒนธรรมการสื่อสารเรื่องน้ำท่วม ในประชาชน ว่ามีพฤติกรรม รูปแบบการสื่อสารผ่านกิจกรรม ภาษา การรับรู้ข่าวสารกันอย่างไร (ซึ่ง งานแบบนี้ก็ต้องลงไปศึกษาตัวพฤติกรรมผู้รับสาร) หรืองานศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรม เช่น เพลง ดนตรี ภาพวาด การแสดง หรือศิลปะแขนงอื่นๆ เพื่อการเยียวยา/ฟื้นฟู หรือสื่อรณรงค์ต่างๆ เรื่อยจนไปถึงการศึกษาเรื่อง “วาทกรรมน้ำท่วม” ที่น่าลงไปดูว่า ในช่วงเหตุการณ์น้ำท่วมนั้น สื่อต่างๆ นำเสนอประเด็นข่าวสารความรู้เรื่องอะไรที่เป็นวาทกรรมหลัก/รอง เช่น ต่อว่าตำหนิผู้นำ หรือพลังเชิงบวกสร้างสรรค์ช่วยเหลือสังคม หรือวาทกรรมแอบซ่อนปมเงื่อนเรื่องสถาบัน ความแตกแยกทางการเมือง หรือวาทกรรมเลือกฝักแบ่งฝ่ายที่สื่อหนังสือพิมพ์แต่ละฝ่ายแต่ละฉบับใช้เพื่อ ช่วงชิงความคิด/การกำหนดนิยามความหมายเชิงอำนาจและการตีความในทางการเมือง และสังคม

 

ที่เห็นๆ กันอยู่ก็เช่นหนังสือพิมพ์ใหญ่บางฉบับ หรือสถานีโทรทัศน์ข่าวสารบางช่องที่กลายเป็นเครื่องมือสร้างภาพของนักการ เมืองและปกปิด/บิดเบือนความด้อยของการบริหารจัดการปัญหา โดยอาจเปรียบเทียบกับสถานการข้อมูลข่าวสารที่เกิดขึ้นจริงกับที่รายงานผ่าน สื่อทั้งหมดในระบบ ก็จะดูได้ไม่ยาก

 

ก็ได้แต่หวังว่าจะมีงานวิจัยศึกษาเรื่องการสื่อสาร ที่วิเคราะห์องค์ประกอบสื่อทั้ง 3 ฝ่าย รัฐ ประชาชน และสื่อกระแสหลัก แม้จะต่างองค์กัน และมีส่วนประกอบร่วมกัน คือ สภาวะข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว รัฐไม่สามารถปกปิดข้อมูลได้หมด และข้อมูลข่าวสารก็มิได้มาจากฝ่ายรัฐเพียงอย่างเดียว ขณะที่สื่อกระแสหลัก ก็มิใช่ผู้กำหนดวาระข้อมูลข่าวสารให้สังคมเท่านั้น ยังมีสื่อใหม่/สื่อภาคประชาสังคม เข้ามาอุดช่องโหว่ของกระแสข้อมูลข่าวสารที่ไม่สมดุลนี้ แต่การมีสื่อทั้ง 3 ประเภทก็ยังคงจำเป็นสำหรับสังคมเสมอเช่นเดียวกัน

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: