เศรษฐศาสตร์และการเมืองเรื่องน้ำ

สฤณี อาชวานันทกุล 9 ก.พ. 2555 | อ่านแล้ว 3766 ครั้ง

 

ข้อมูลภาพ: อิสริยะ สัตกุลพิบูลย์

 

ยุคนี้เป็นยุคที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงจนนักวิทยาศาสตร์และนัก เศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่เลิกพูดถึงวิธีการ “ป้องกัน” ภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (climate change) เพราะป้องกันไม่ได้อีกต่อไป หันมาพูดถึงวิธีการ “ปรับตัว” และ “บรรเทา” ผลกระทบจากภาวะนี้แทน

 

ภาวะสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงส่วนหนึ่งส่งผลให้ภัยธรรมชาติทวีความรุนแรง ภัยแล้งจะแล้งมาก ภัยน้ำท่วมจะท่วมหนัก ปรากฏการณ์ทางทะเลอย่างเอลนีโญซึ่งคนไทยคุ้นเคยดีจะผันผวนแปรปรวนมากขึ้น องค์การสหประชาชาติประมาณการว่าพอถึงปี 2025 ทรัพยากรน้ำต่อประชากรโลกหนึ่งคนจะลดลงถึงหนึ่งในสาม บริเวณที่จะได้รับผลกระทบสูงสุดคือทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลาง เนื่องจากแม่น้ำกำลังจะแห้งขอดขณะที่ประชากรทวีคูณ ภาวะขาดแคลนน้ำในหลายประเทศจะส่งผลให้การแย่งชิงทรัพยากรน้ำรุนแรงยิ่งขึ้น (ดู Infographics สรุปสถานการณ์น้ำได้ที่เว็บไซต์ International Networks Archive – http://www.princeton.edu/~ina/images/infographics/water_big.jpg และดูแผนที่การแย่งชิงน้ำตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ที่เว็บไซต์ World’s Water โดย Pacific Institute – http://www.worldwater.org/conflict/map/)

 

สถานการณ์น้ำในไทยโดยรวมไม่วิกฤตเหมือนกับในแอฟริกาและตะวันออกกลาง รายงานสถิติขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ประเทศไทยใช้น้ำจืด (ไม่นับเพื่อการดื่ม) มากถึง 83 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปี คิดเป็นประมาณร้อยละ 20 ของปริมาณน้ำจืดหมุนเวียนทั้งประเทศ (410 ลูกบาศก์กิโลเมตรต่อปี) คิดเป็น 1,288 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี อัตราการใช้น้ำต่อคนของไทยสูงเป็นอันดับสองในทวีปเอเชียรองจากอิรัก และสูงกว่าประเทศที่ภาคเกษตรกรรมยังเป็นภาคการผลิตที่ประชากรอย่างน้องครึ่ง หนึ่งทำมาหาเลี้ยงชีพ อาทิ เวียดนาม (847 ลูกบาศก์เมตรต่อคนต่อปี) อินเดีย (585) ลาว (506) อินโดนีเซีย (372) และจีน (415) สัดส่วนการใช้น้ำของไทยร้อยละ 95 ใช้ในภาคเกษตรกรรม ชุมชนเมืองกับภาคอุตสาหกรรมใช้ที่เหลืออีกร้อยละ 5

 

การที่อัตราส่วนการใช้น้ำต่อคนของประเทศไทยสูงเป็นอันดับสองในเอเชียนั้น ส่วนหนึ่งสะท้อนภาวะไร้ประสิทธิภาพของเกษตรกรรมไทย เช่น ปัจจุบันไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ที่สุดในโลก แต่มีผลผลิตข้าวเพียง 430 กิโลกรัมต่อไร่ ขณะที่จีนมีผลผลิตข้าวต่อไร่มากกว่า 1,000 กิโลกรัม เวียดนาม 778 กิโลกรัมต่อไร่ อินโดนีเซีย 741 กิโลกรัมต่อไร่ และอินเดีย 512 กิโลกรัมต่อไร่ตามลำดับ นอกจากนี้ ข้อมูลของกรมชลประทานระบุว่า พื้นที่ทางการเกษตรที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานทั้งประเทศมี ทั้งหมด 60.3 ล้านไร่ พัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานแล้วเพียง 28.7 ล้านไร่ หรือร้อยละ 47.6 เท่านั้น

 

แนวโน้มผลผลิตต่อไร่และการบริการจัดการน้ำในภาคเกษตรดูยังไร้อนาคต เพราะพรรคการเมืองต่างๆ ยังมุ่งดำเนินนโยบาย “ขายตรง” เช่น จำนำหรือประกันราคาข้าว ซึ่งเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรอย่างมักง่าย คือตอกตรึงให้เกษตรกรต้องพึ่งพารัฐไม่สิ้นสุดและไม่สนใจกับการปรับปรุงผล ผลิตต่อไร่ แทนที่จะให้ความสำคัญกับการปรับปรุงประสิทธิภาพในการเพาะปลูก และจัดการกับปัญหาพ่อค้าคนกลางเถลิงอำนาจผูกขาดอย่างจริงจัง

 

นอกจากความขัดแย้งเรื่องน้ำจะทวีความรุนแรงจากภาวะภัยแล้งและน้ำท่วม และนักการเมืองก็ยังไม่สนใจหลักเศรษฐศาสตร์ที่ช่วยสร้างศักยภาพในการแข่งขัน อย่างยั่งยืน มากเท่ากับการโหมนโยบาย “ประชานิยม” เพื่อซื้อเสียงและซื้อใจผู้คน ปัญหาที่เกี่ยวกับน้ำในไทยอีกส่วนยังมีรากอยู่ในความเหลื่อมล้ำทางอำนาจและ เศรษฐกิจ ทำให้มันไม่ใช่ปัญหาทางธรรมชาติหรือวิทยาศาสตร์ เท่ากับเป็นปัญหาทางการเมืองและการพัฒนา

 

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ อธิบายลักษณะและสาเหตุของความเหลื่อมล้ำที่ไม่เป็นธรรมชาตินี้ ในบทความเรื่อง “การเมืองเรื่องน้ำท่วม” ตอนหนึ่งว่า

 

...น้ำท่วมปีนี้ [2549] เป็นปีแรก ที่ไม่ต้องกระดากปากอีกต่อไป ที่จะผลักน้ำไปยังคนซึ่งความลาดชันของอำนาจต่อรองทางการเมืองต่ำ เพราะเขาบอกชัดเจนเลยว่า ต้องผลักน้ำเข้าเรือกสวนไร่นาในภาคกลางเพื่อช่วยกรุงเทพฯ ไว้จากอุทกภัยด้วย พื้นที่กี่แสนกี่ล้านไร่, ด้วยชะตากรรมของผู้คนอีกกี่แสนกี่ล้านครอบครัว, ด้วยเศรษฐกิจครอบครัวอีกกี่แสนกี่ล้านบาท, ด้วยชีวิตที่สูญเสียไปโดยไม่จำเป็นอีกไม่รู้กี่สิบกี่ร้อย ฯลฯ ก็ไม่มีการเปิดเผยอย่างชัดเจน...เมื่อไม่ต้องต่อรองแล้ว จะรู้ไปทำไม


รวมทั้งไม่ต้องรู้หรือคิดไว้ก่อนด้วยว่า จะต้องชดเชยให้แก่ความเสียสละที่ไม่เจตนาของผู้คนเหล่านั้นกันเท่าไร และอย่างไร ด้วยเงินหรือทรัพยากรที่คนกรุงเทพฯ จะต้องรับผิดชอบร่วมด้วยสักเท่าไรและอย่างไร หลังจากนี้ไปอีก 5 ปี เราก็จะได้ยินข่าวอย่างที่เคยได้ยินจากโครงการบำเรอคนกรุงเทพฯ อื่นๆ ว่า มีชาวบ้านที่ยังไม่ได้รับค่าตอบแทนที่สัญญาเลยสักบาทอีกหลายครอบครัว

 

...แรงกดดันด้านประชากรเพียงอย่างเดียวไม่สามารถอธิบายการตั้งถิ่นฐานในเขตน้ำท่วม โดยไม่มีการสร้างสาธารณูปการรองรับได้
ประเทศ ไทยเกือบจะเป็นประเทศเดียวในโลก ที่ปล่อยให้ที่ดินเป็นสินค้าบริสุทธิ์ ไม่ต่างจากก๋วยเตี๋ยว และเครื่องเสียง ทั้งๆ ที่ที่ดินเป็นทรัพยากรการผลิตขั้นพื้นฐานของทุกสังคม-ไม่ว่าจะเป็นสังคม เกษตรกรรมหรืออุตสาหกรรม- ฉะนั้นที่ดินจึงถูกนำไปใช้เก็งกำไรได้เหมือนสินค้าอื่น หรืออย่างน้อยก็ถือครองไว้เพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จึงเป็นธรรมดาที่ที่ดินส่วนใหญ่ของประเทศตกอยู่ในมือคนจำนวนหยิบมือเดียว ในขณะที่คนส่วนใหญ่ เข้าไม่ถึงที่ดิน ซึ่งเหมาะแก่การประกอบการทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับกำลังของตน

 

หนทางเดียวคือบุกเบิกไปยังที่ "ชายขอบ" ทั้งหลาย รวมทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำและพื้นที่น้ำท่วมถึง ซึ่งแต่เดิมไม่มีเศรษฐีคนไหนต้องการถือครอง เกิดไร่นาสาโทและหมู่บ้านชุมชนขึ้นทั่วไป โดยรัฐไม่เคยลงทุนปรับสภาพให้รองรับน้ำหลากประจำปีได้

 

...มิติทางสังคมที่ถูกละเลยในการแก้ปัญหาน้ำท่วมยังมีอีกมาก เช่นไม่เคยมีการวางระเบียบเกี่ยวกับการถมที่ จนกระทั่งน้ำไม่เคยไหลสู่ที่ต่ำได้สะดวก พื้นที่สาธารณะซึ่งเคยมีหน้าที่ตามธรรมชาติในการบรรเทาน้ำหลาก เช่นพื้นที่ชุ่มน้ำต่างๆ ถูกบุกรุกทั้งจากเอกชน และหน่วยราชการเอง จนไม่มีขนาดเพียงพอที่จะชะลอน้ำหลากจากภาคเหนือได้ ยังไม่พูดถึงการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นผลมาจากความทุจริตของเจ้าหน้าที่ต่อการละเมิดกฎหมายของประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ-การเมือง

 

การจงใจ “ปล่อยน้ำ” ให้ท่วมจังหวัดรอบๆ กรุงเทพฯ เพื่อป้องกันไม่ให้กรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงท่วม ฝืนธรรมชาติของจังหวัดอันเป็นที่ราบลุ่มปากอ่าวไทย สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดในข้อมูลของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (องค์การมหาชน) ซึ่งติดตามบันทึกเหตุการณ์อุทกภัยในแต่ละปีอย่างละเอียด (ดูแผนภาพสถานการณ์ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งสรุประบบการจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ ของประเทศได้ที่เว็บไซต์สถาบันฯ – http://tiwrm.haii.or.th/DATA/REPORT/php/chaopraya_chart/chaopraya.php?sdate=2011-06-23&ref_file=$ref_file)


 


 
เมื่อ ดูเปอร์เซ็นต์ความจุของแม่น้ำ (ปริมาณน้ำหารด้วยความจุลำน้ำ) ในสองแม่น้ำสำคัญคือป่าสักและเจ้าพระยา ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2553 - 15 พ.ย. 2553 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดน้ำท่วมหนักในภาคกลาง พบว่ามีหลายบริเวณในลุ่มแม่น้ำป่าสักที่น้ำท่วมหนักมาก (เปอร์เซ็นต์ความจุของแม่น้ำมีค่าเกิน 100) แต่พอเข้าใกล้กรุงเทพมากขึ้น (เช่น อยุธยา ซึ่งเป็นจุดที่แม่น้ำป่าสักไหลมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา) เปอร์เซ็นต์ความจุของน้ำกลับลดลงอย่างฮวบฮาบ สะท้อนว่าน้ำได้ถูกระบายไปยังพื้นที่รอบๆ แม่น้ำ แทนที่จะไหลลงมาในพื้นที่ตอนล่างตามธรรมชาติ ทำให้น้ำไม่ท่วมกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียง
 
 
 
หมายเหตุ: เส้นกราฟขาดช่วงบางตอนเนื่องจากมีข้อมูลไม่ครบถ้วน

 

แน่นอนว่าถ้าหากรัฐปล่อยให้น้ำเหนือไหลบ่าเข้าท่วมกรุงเทพฯ จะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจ เนื่องจากกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่ข้อเท็จจริงซึ่งยังไม่มีการถกเถียงกันเท่าที่ควรคือ เกษตรกรผู้ถูกน้ำท่วมเรือกสวนไร่นานั้นจำนวนมากต้องถึงขั้นสิ้นเนื้อประดา ตัว เพราะสายป่านไม่ยาวพอที่จะเอาตัวรอดหรือเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่นได้ ยังไม่นับว่าต้องรอเงินชดเชยจากรัฐเป็นเวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี หลายคนไม่ได้รับเงินเลยเพราะถูกเบียดบังหรือระบบราชการขาดประสิทธิภาพ คนที่ได้รับเงินชดเชยก็ได้เพียงเล็กน้อย เป็นเพียงส่วนเสี้ยวเดียวของมูลค่าผลิตผลที่คาดว่าจะขายได้ถ้าน้ำไม่ท่วม ขณะที่ความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อคนกรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงถ้าหากปล่อยให้น้ำท่วมบ้างนั้นจะน้อยกว่ามากเพราะมีสาย ป่านยาวกว่า โรงงานที่ถูกน้ำท่วมไม่กี่เซ็นติเมตรไม่กี่วันอย่างมากก็สูญเสียรายได้ไป บ้าง คนกรุงเทพฯ อย่างมากก็ต้องรำคาญกับการลุยน้ำและระวังโรคที่มากับน้ำท่วม มีน้อยรายที่จะสิ้นเนื้อประดาตัวอย่างผู้ประกอบอาชีพการเกษตรที่ต้องเฝ้ามอง ไร่นาจมหายไปกับน้ำท่วม

 

ต้นเดือนตุลาคม 2553 ขณะที่คนไทยนับล้านกำลังจะประสบความเดือดร้อนจากอุทกภัยครั้งล่าสุด ดร.ศุภชัย ตันติคมน์ ที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในงานสัมมนาหัวข้อ  “กรุงเทพนครใต้น้ำ” (จากข่าวมติชนออนไลน์, http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1286337704&grpid=04&catid=19) ตอนหนึ่งว่า

 

“ส่วนน้ำทะเลที่ว่าจะสูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน จากข้อมูลของกรุงเทพมหานคร พบว่าบริเวณอ่าวไทยอัตราความสูงของน้ำทะเลอยู่ที่ 4 มิลลิเมตรต่อปีเท่านั้น ทั้งนี้ สาเหตุที่น้ำจะท่วมกรุงเทพมหานคร มีอยู่ 3 ประการสำคัญ คือ 1.น้ำเหนือที่ไหลมาตามแม่น้ำเจ้าพระยา 2.น้ำทะเลหนุนเข้ามาทางปากอ่าวและปากคลองต่างๆ และ 3.ฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ ในการป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร ทางการได้มีการศึกษามาตั้งแต่ปี 2526 โดยมีการจ้างนักวิชาการต่างๆ ซึ่งมีการเสนอความคิดว่าควรทำให้เป็นพื้นที่ปิดล้อม โดยปิดล้อมทางด้านเหนือและภาคตะวันออก รวมทั้งการปิดล้อมประตูระบายน้ำเมื่อน้ำหนุน และปิดล้อมน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนฝั่งตะวันตกหรือฝั่งธนบุรีจะทำให้มีพื้นที่ปิดล้อมย่อยๆ”

 

นโยบายปิดล้อมเมืองโดยไม่คำนึงถึงความต้องการของคนนอกเมือง ประกอบกับการที่รัฐไทยยังไม่จัดการกับการบุกรุกพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างได้ผล และไม่ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการน้ำและเพิ่มผลผลิตอย่างจริงจัง สุ่มเสี่ยงว่าจะทำให้ความขัดแย้งทางกายภาพและความไม่เข้าใจกันระหว่างคน เมืองกับชนบท ตลอดจนความขัดแย้งระหว่างภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตรในการใช้น้ำ ทวีความแหลมคมและตอกลิ่มความเหลื่อมล้ำมากกว่าเดิมในอนาคต.

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: