สลด'วันสตรีสากล'พบมุมมืดผู้หญิงไทยอื้อ สถิติผู้ชายทำรุนแรงกับผู้หญิง-เด็กยังพุ่ง ยอดผู้ต้องหาขยับทั้งค้ายา-รับผิดแทนสามี ซ้ำโรคร้ายคร่าชีวิตอีกปีละกว่า4หมื่นราย

 

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 9 มี.ค. 2555 | อ่านแล้ว 3970 ครั้ง

 

วันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ถูกกำหนดขึ้นให้เป็นวันสตรีสากล เพื่อรำลึกถึงกลุ่มผู้ใช้แรงงานสตรีจากโรงงานทอผ้าในอเมริกาได้เดินขบวนประท้วงในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เพื่อเรียกร้องสิทธิในการทำงาน และให้มีการรับรองสภาพการทำงานของสตรีที่ดียิ่งขึ้น โดยเรียกร้องเพิ่มค่าจ้างและปรับปรุงสภาพ การทำงาน แต่เหตุการณ์ครั้งนั้นจบลงที่คนงานหญิง 119 คนเสียชีวิต จากการเผาโรงงาน ในขณะที่คนงานเหล่านี้กำลังทำงาน ขึ้นเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา

 

หลังจากนั้น สตรีทั่วโลกจึงยึดวันที่ 8 มีนาคม เป็นวันสตรีสากล เพื่อเรียกร้องสิทธิของผู้หญิง จากการถูกกดขี่ข่มเหง และการเอารัดเอาเปรียบที่มีต่อสตรีในสังคม และสร้างความเสมอภาคกันในสังคม

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการกำหนดให้มีวันสตรีสากล เพื่อรำลึกถึงการต่อสู้ของผู้หญิง เพื่อให้ได้มาด้วยสิทธิอันชอบธรรมในการดำเนินชีวิต แต่พบว่ายังมีปัญหาและสภาพการณ์ในมิติต่างๆที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิงอีกมากมาย ศูนย์ข่าว TCIJ จึงประมวลข้อมูลที่เป็นภาพรวมของผู้หญิงไทย ที่ได้รับผลกระทบในด้านต่างๆ เพื่อให้เห็นว่า นอกจากสิ่งที่ได้รับรู้ในข่าวทุกวันนี้แล้ว ยังมีผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบในมิติอื่นซ่อนเร้นอยู่อีกมาก และบางเหตุการณ์ บางมิติกลับรุนแรงมากกว่าที่เป็นข่าวอีกด้วย

 

 

ไทยแพร่ภาพลามกของเด็ก-ผู้หญิงอันดับโลก

 

สถานการณ์ความรุนแรงยังเป็นปัญหาสำคัญ และส่งผลต่อผู้หญิงและเด็กเป็นวงกว้าง ความรุนแรงดังกล่าวเกิดขึ้นในหลายรูปแบบ ทั้งความรุนแรงในครอบครัว ในสถานศึกษา สถานที่ทำงาน และสถานการณ์ในสังคมทั่วไป รวมถึงความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น

 

นอกจากนี้ความรุนแรงต่อสตรีและเด็ก ยังเกิดในลักษณะของการค้ามนุษย์ การข่มขืนกระทำชำเรา การคุกคามทางเพศ และการบังคับให้ค้าประเวณี  ซึ่งกรณีดังกล่าวเกิดมาจากการนำเสนอภาพลักษณ์ของผู้หญิงในทางลบ เช่นทางเพศจากสื่อต่าง ๆ

 

ข้อมูลจากการประชุมการปราบปรามการกระทำผิดต่อเด็กระดับนานาชาติ 26 ประเทศทั่วโลก ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศสในเดือนก.ย.2549 ไทยถูกจัดอันดับเป็นประเทศ ที่เผยแพร่ภาพลามก อนาจารของเด็กและสตรีผ่านเว็บไซต์ เป็นอันดับที่ 5 ของโลก (จากการสำรวจของสถาบันจัดลำดับอินเตอร์เน็ต ที่น่าเชื่อถือ ที่รู้จักกันในนาม Internet Watch Foundation) โดยมีประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นอันดับ 1 ร้อยละ 51.1 อันดับ 2 รัสเซีย ร้อยละ 14.9  อันดับ 3 ญี่ปุ่น ร้อยละ 14.9 อันดับ 4 สเปน ร้อยละ 8.8 อันดับ 5 ไทย ร้อยละ 3.6 อันดับ 6 เกาหลี ร้อยละ 2.16 อันดับ 7 อังกฤษ ร้อยละ 0.2 ประเทศอื่น ๆ อีก ร้อยละ 7.5 สถานการณ์การกระทำความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัวทั่วไป

 

ผู้หญิง-เด็กยังถูกกระทำรุนแรง

 

จากข้อมูลในเว็บไซต์ www.violence.in.th  ระบุว่า ในปี 2553 สถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับเด็กและสตรี รวมถึงความรุนแรงในครอบครัวมี 916 เหตุการณ์ ซึ่งผู้กระทำความรุนแรงเป็นเพศชาย 645 ราย หรือร้อยละ 86.23  ในขณะที่เพศหญิงมีเพียง 86 ราย และไม่สามารถระบุเพศผู้กระทำ 17 ราย หรือร้อยละ 2.27 ของจำนวนผู้กระทำทั้งหมด

 

นอกจากนี้ยังมีจำนวนผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นเพศหญิง 653 ราย หรือร้อยละ 87.18 เพศชาย 77 ราย ไม่ระบุเพศผู้ถูกกระทำ 19 ราย หรือร้อยละ 2.54 ของจำนวนผู้ถูกกระทำความรุนแรงทั้งหมด ทั้งนี้การกระทำความรุนแรงใน 1 ราย อาจมีการกระทำความรุนแรงซ้ำมากกว่า 1 ครั้งหรือ 1 เหตุการณ์ ตัวเลขที่กล่าวข้างต้นนั้น เป็นตัวเลขที่ผู้ถูกทำร้ายเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล จากที่ถูกกระทำซึ่งอาจจะมีผู้ถูกกระทำอีกจำนวนหนึ่งในสังคม ที่ไม่ได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

 

 

เว็บไซต์ www.violence.in.th  ยังระบุด้วยว่า ในจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรง 1,191 เหตุการณ์ เป็นความรุนแรงทางร่างกายมากที่สุด คือร้อยละ 61.29 รองลงมาคือ ความรุนแรงทางจิตใจ คือร้อยละ 27.54 จำนวนผู้ถูกกระทำความรุนแรงทุกประเภท มีเพศหญิงถูกกระทำความรุนแรงมากกว่าเพศชาย คิดเป็นสัดส่วน 8.5 : 1

 

ในประเภทความรุนแรง แม้ผู้ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ จะมีจำนวนน้อยกว่ามาก เมื่อเทียบกับความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจ แต่ผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงทางเพศมากที่สุด คือร้อยละ 94.55 เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ถูกกระทำที่เป็นผู้ชาย รองลงมาเป็นความรุนแรงทางกาย จิตใจ และสังคม ตามลำดับ

 

ทั้งนี้รายละเอียดจาก www.violence.in.th ระบุว่า สาเหตุความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และความรุนแรงในครอบครัว ที่ได้รับการบันทึกข้อมูลเข้าสู่ระบบมี 5 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.เมาสุรา ยาเสพติด 2.สุขภาพกายและจิตใจ 3.นอกใจ หึงหวง 4.เศรษฐกิจ ตกงาน 5.สื่อลามก และไม่ระบุสาเหตุ รวมเหตุการณ์ทั้งสิ้น 1,065 เหตุการณ์

 

 

 

 

เครือข่ายผู้หญิงจี้รัฐออกกฎหมายเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ

 

ดร.สุธาดา เมฆรุ่งเรืองกุล ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้หญิงพลิกโฉมประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ TCIJ เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า สถานการณ์ปัญหาของผู้หญิงที่มีตัวเลขบ่งบอกว่าแย่ลงนั้น สะท้อนให้เห็นถึงนโยบายการพัฒนาของประเทศไทยในด้านความเป็นอยู่ของประชาชน  และไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าถ้าตัวเลขในส่วนที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเพิ่มขึ้นเช่นนี้ นั่นหมายความว่า ตัวเลขความด้อยคุณภาพของประชากรในประเทศมากขึ้นด้วย ในขณะที่ผู้หญิงนั้นเป็นเพศที่เปราะบางกว่า และถูกกระทำมากกว่าเพศชาย สถิติของผู้หญิงจึงเป็นตัวชี้วัด

 

ทั้งนี้สถิติต่างๆที่เกิดขึ้น เกิดจากความเหลื่อมล้ำทำให้ทุกอย่างแย่ลง ยกเว้นตัวเลข GDP ของประเทศที่เติบโตสูงขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับผู้หญิง ปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง จึงยังไม่ได้รับการแก้ไข ผู้หญิงยังถูกล่วงละเมิด บางกลุ่มไม่แข็งแรงถูกกระทบจากสภาพเศรษฐกิจทำให้ยากจน และที่ถูกกระทบมากที่สุดคือ ผู้หญิงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องรับสภาพปัญหาหลายอย่าง เป็นม่าย ต้องเลี้ยงลูกคนเดียว ต้องหาเลี้ยงครอบครัว เงินชดเชยแค่ 3-4 แสน แต่ต้องเลี้ยงลูกคนเดียวอีกทั้งชีวิต นี่คือปัญหาที่ผู้หญิงต้องแบกรับ

 

ดร.สุธาดายังกล่าวถึงความปลอดภัยของผู้หญิงว่า ในสังคมปัจจุบันไม่มีพื้นที่เพื่อความปลอดภัยให้กับผู้หญิงเลย ไม่ว่าจะเป็นทั้งในรูปธรรมและนามธรรม ผู้หญิงแค่ต้องการพื้นที่ที่อยู่แล้วปลอดภัยทั้งกายและใจ ไม่ถูกคุกคามทางเพศ ไม่ถูกฉุดไปข่มขืน ซึ่งรัฐบาลควรจะมีนโยบายที่ชัดเจนกับเรื่องนี้

 

ดร.สุธาดากล่าวอีกว่า สถานการณ์ของผู้หญิงที่ถูกเลือกปฏิบัติและความเหลื่อมล้ำทางเพศที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความไม่ชัดเจนในนโยบายของรัฐบาล ซึ่งไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ไม่เคยมีนโยบายต่อผู้หญิงและเยาวชนที่ชัดเจน เนื่องจากรัฐบาลไม่เคยให้ความสำคัญ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านแค่เฉพาะในเอเชีย ทั้งเวียดนาม สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ เกือบทุกประเทศมีกฎหมายว่าด้วยการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ แต่ประเทศไทยไม่เคยมี เนื่องจากประเทศไทยไม่เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ

 

“ไทยร่วมลงนามตั้งแต่ปี 2528 ที่กรุงไคโร ประเทศอิยิปต์ และรับว่าจะนำอนุสัญญามาออกเป็นกฎหมายในประเทศ จนถึงวันนี้กฎหมายยังไม่เกิด ซึ่งในการประชุมแต่ละครั้งประเทศไทยจะผัดผ่อนมาตลอด ไม่มีการผลักดันอย่างจริงจังจากรัฐบาล ทั้งที่น่าจะเป็นภารกิจหลักของรัฐบาลที่จะต้องออกกฎหมายดังกล่าว เพื่อดูแลประชาชน อย่างไรก็ตามรัฐบาลชุดที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มีการยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งภาคประชาชนโดยเครือข่ายองค์กรสตรีได้นำเสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วย แต่หลังจากเปลี่ยนรัฐบาล ร่างกฎหมายนี้ได้ตกไป”

 

ดร.สุธาดากล่าวอีกว่า แม้ร่างกฎหมายว่าด้วยการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศจะตกไปหลังเปลี่ยนรัฐบาล แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันได้กำหนดไว้เป็นนโยบายในแผนนิติบัญญัติว่ากฎหมายว่าด้วยการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ ฉบับนี้จะต้องออกภายในปี 2557 โดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ อย่างไรก็ตามเครือข่ายองค์กรสตรีได้เคยทำหนังสือท้วงติงไปแล้วว่า กฎหมายฉบับนี้ควรจะออกโดยเร็วรัฐบาลไม่ควรจะรอถึงปี 2557 ตามที่กำหนดไว้

 

ผู้ต้องขังหญิงเพิ่มมากขึ้นทุกปี

 

นอกจากนี้สถิติจากเว็บไซต์เดียวกัน ยังระบุถึงตัวเลขที่ผู้หญิงเป็นผู้ต้องขังคดีอาญาสูงขึ้นตามไปด้วย รายงานจากบทความเรื่องสถานภาพผู้ต้องขังหญิงในไทยและต่างประเทศ ของ ณัชชาภัทร อุ่นตรงจิตร นักวิชาการวิทยาลัยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า ระบุว่า มีผู้หญิงกระทำผิดเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลของกรมราชทัณฑ์มีผู้หญิงเข้าสู่เรือนจำมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี

 

ทั้งนี้สาเหตุของสถิติดังกล่าว สืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพสังคมไทย ที่ทำให้ผู้หญิงมีสิทธิเท่าเทียมกับผู้ชาย ผู้หญิงจึงทำงานนอกบ้านแบกรับภาระของครอบครัว ทำให้ผู้หญิงบางส่วนต้องตกอยู่ในภาวะกระทำผิด ทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ

 

จากสถิติของกรมราชทัณฑ์ปี 2554 พบว่า ในปี 2552 มีผู้หญิงกระทำผิดในคดีที่เกี่ยวกับยาเสพติด 17,483 ราย รองลงมากระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ 3,592 ราย ความผิดต่อชีวิต 378 ราย และร่างกาย ตามลำดับ

 

นอกจากนี้บทความดังกล่าว ได้สะท้อนภูมิหลังของผู้ต้องขังหญิงบางส่วน คือผู้ที่แบกภาระครอบครัวทั้งหมด บางคนสามีออกไปหางานทำและหายไปจากบ้าน ทำให้ต้องรับภาระเลี้ยงดูครอบครัว บางรายจึงตัดสินใจค้ายาเสพติดเพราะเห็นว่ารายได้ดีหวัง จะนำมาแก้ปัญหาครอบครัว ไม่ได้ตั้งใจกระทำผิด และผู้หญิงที่กระทำผิดบางรายรับผิดแทนสามี เพื่อให้สามีได้อยู่ดูแลครอบครัว และจากกรณีศึกษาในรายงานฉบับนี้ ระบุว่า ผู้หญิงที่ต้องโทษจะเป็นผู้หญิงที่มีฐานะยากจน ไม่มีที่ดินทำกิน ไม่มีทุน และไม่มีความรู้

 

ผู้หญิงไทยเสี่ยงโรคคร่าชีวิตปีละกว่า 40,000 คน

 

ส่วนอีกประเด็นที่น่าเป็นห่วงสำหรับผู้หญิงไทยคือ ปัญหาด้านสุขภาพ มีรายงานข้อมูลด้านสุขภาพ ระบุว่า ในปี 2553 มีผู้หญิงเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 5 โรคได้แก่ โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือด รวม 42,500 คน อันดับ 1 คือ โรคมะเร็งทุกชนิด 24,417 คน รองลงมาคือ โรคหลอดเลือดสมอง 7,477 คน และโรคหัวใจขาดเลือด 5,327 คน นอกจากนี้ผู้หญิงยังเสี่ยงใช้ผลิตภัณฑ์เสริมความสวยความงามที่ไม่ปลอดภัย เช่น เครื่องสำอาง ผลิตอาหารลดความอ้วนต่างๆ อีกด้วย

 

รายงานข้อมูลดังกล่าวระบุว่า สถานการณ์ของมะเร็งปากมดลูก ซึ่งพบเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในสตรีไทยรองจากมะเร็งเต้านม แต่มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่ามะเร็งเต้านม เฉลี่ยใน 1 วันมีผู้หญิงไทย เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูก 14 คน ซึ่งเป็นผลจากการคัดกรองทำได้ไม่ครอบคลุม เนื่องจากมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ก่อมะเร็งจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อยหรือมีคู่นอนหลายคน เมื่อได้รับเชื้อ HPV แล้ว ความผิดปกติของปากมดลูกจะเปลี่ยนไปอย่างช้า ๆ เป็นระยะเวลา 10-15 ปี จึงจะกลายเป็นมะเร็ง โดยจะไม่มีอาการผิดปกติแต่จะมีปากมดลูกที่ผิดปกติ ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเวลาตรวจภายใน

 

อย่างไรก็ตามยังมีโรคที่เป็นภัยเงียบ และคร่าชีวิตของผู้หญิงมากเป็นอันดับหนึ่งของโลก แต่ผู้หญิงไม่รู้ถึงข้อมูลนี้คือ โรคหัวใจและหลอดเลือด จากสถิติพบว่า อัตราการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้หญิง เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ต่างกับผู้ชายที่ลดลง ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้หญิงเข้ารับการตรวจสุขภาพน้อยกว่าผู้ชาย และการตรวจวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้หญิงก็ให้ผลการตรวจได้ไม่ชัดเจนเท่ากับผู้ชาย

 

นอกจากนี้ยังมีประเด็นเรื่องของแม่วัยใส ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจของหน่วยงานต่างๆ พบว่า อายุของผู้ที่เริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2545 -2552 โดยอายุเฉลี่ยของการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกมีอายุระหว่าง 15-16 ปี ในขณะที่เมื่อปี 2539 สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ได้ทำการสำรวจการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกของเด็ก อยู่ที่ 18-19 ปี  โดยสถานที่ที่ผู้ปกครองคิดว่าปลอดภัย กับเป็นทีที่เด็กเลือกจะมีเพศสัมพันธ์คือที่บ้าน และสถานการณ์ด้านพฤติกรรมทางเพศของของเด็กในช่วงระหว่าง ม.ต้น ม.ปลาย และอาชีวะ มีความน่าเป็นห่วงมากขึ้น เพราะตั้งแต่ปี พ.ศ.2549-2553 เด็กนักเรียนที่เคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์มาแล้วมีแนวโน้มมากขึ้น โดยเฉพาะในนักเรียนม.ต้น มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: