ในที่สุดนโยบายประชานิยมปรับขึ้นค่าจ้างขึ้นต่ำ 300 บาท ของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.ที่ผ่านมา พร้อมเสียงสะท้อนมุมมองต่อผลกระทบที่เกิดขึ้นทั้งด้านบวกและลบ เช่น ลูกจ้างในระบบที่ยังมีงานทำอยู่พอใจได้ค่าจ้างขั้นต่ำตามที่ขอ ส่วนผู้ประกอบการขนาดเล็กและกลาง (ที่มีลูกจ้างระหว่าง 10-99 คน) ได้รับผลกระทบมากที่สุด ต้องปรับตัว “ลดคน” หรือบางส่วนอาจรับไม่ไหวจนปิดกิจการ
การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเรื่องดี แต่การปรับอย่างฉับพลันและก้าวกระโดด หากไม่มีมาตรการรองรับที่ดีพอ ผลกระทบอาจรุนแรงเกินคาด โดยเฉพาะผลกระทบต่อกลุ่มแรงงานอายุน้อย (ไม่เกิน 25 ปี) ทักษะต่ำ เสี่ยงตกงานหรือถูกผลักไปทำงานในภาคที่ไม่เป็นทางการ ซึ่งมีโอกาสได้รับค่าจ้างต่ำกว่าขั้นต่ำ และไม่ได้รับสวัสดิการและความคุ้มครองตามกฎหมาย
ดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทำการศึกษาผลกระทบของการดำเนินนโยบายรายได้ค่าแรงไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อวัน ให้สัมภาษณ์ว่า การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำยังจำเป็นต้องมีในบริบทของประเทศไทย และควรทำเพื่อช่วยเหลือลูกจ้างระดับล่างที่มีอำนาจต่อรองน้อย ให้มีรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากข้อมูลอัตราค่าจ้างขั้นต่ำโดยเฉลี่ยทั่วประเทศในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา หรือตั้งแต่ปี 2529 ถึง 2553 (รูปที่ 1) เห็นได้ว่า อัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แท้จริง (ปรับด้วยอัตราเงินเฟ้อ) ลดลงอย่างต่อเนื่องหลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 โดยปกติอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในประเทศไทยจะกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้างภายใต้ระบบไตรภาคี ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายนายจ้าง และตัวแทนจากภาครัฐ ดังนั้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง จึงสะท้อนถึงความไม่มีอำนาจในการต่อรองของฝ่ายลูกจ้าง
รูปที่ 1: อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยทั่วประเทศ – (ค่าเงินบาทปี 2552)
จากการศึกษาด้วยแบบจำลองทางเศรษฐมิติ โดยใช้ข้อมูลค่าจ้างในอดีตพบว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของรายได้แรงงานได้มากพอสมควร รูปที่ 2 แสดงประมาณการผลกระทบของการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต่อค่าจ้างแรงงานนอกภาคการเกษตรที่เปอร์เซ็นต์ไทล์ต่างๆของค่าจ้าง โดยพบผลกระทบสูงที่สุด ที่เปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 15 กล่าวคือ การขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 1% จะทำให้ค่าจ้างของแรงงานกลุ่มนี้เพิ่มขึ้น 0.87% และยังพบอีกว่า ผลกระทบในทางบวกต่อค่าจ้าง จะมีขึ้นไปถึงประมาณเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 60-65 (ซึ่งได้รับค่าจ้างประมาณ 407 บาทต่อวัน ก่อนการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ) แต่ขนาดของผลกระทบต่อกลุ่มที่ได้รับค่าจ้างในระดับสูงขึ้นไป จะมีลดหลั่นลงไปตามที่แสดงในรูปที่ 2
รูปที่ 2: ประมาณการผลกระทบของการเพิ่มอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 1% ต่อค่าจ้างแรงงานนอกภาคการเกษตร
จากการวิเคราะห์ด้านบนจะเห็นได้ว่า การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจะเป็นประโยชน์กับแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำและมีอำนาจต่อรองน้อย อย่างไรก็ตามผลดีนี้ส่วนมากจะตกอยู่กับแรงงานที่ยังมีงานทำในภาคการผลิตที่เป็นทางการ ดังนั้นการวิเคราะห์ผลดีผลเสียของนโยบาย จึงจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อการจ้างงาน และการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคการผลิตที่เป็นทางการ (ในระบบ) และที่ไม่เป็นทางการ(นอกระบบ)
งานวิจัยในส่วนนี้เลือกศึกษาเฉพาะกลุ่มแรงงานทักษะต่ำ ที่มีการศึกษาในระดับมัธยมปลายหรือต่ำกว่าเท่านั้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด โดยจะแบ่งประเภทการทำงานออกเป็น 6 กลุ่มได้แก่ 1.ทำงานในฐานะช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง 2.ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง 3.ทำงานในกิจการเอกชนขนาดต่ำกว่า 10 คน 4.ทำงานในกิจการเอกชนขนาด10-99 คน 5.ทำงานในกิจการเอกชนขนาด 100 คนขึ้นไป และ 6.ทำงานภาครัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ
ผลการศึกษาพบว่า การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่มีผลกระทบที่มีนัยสำคัญทางสถิติต่อการจ้างงานโดยรวมสำหรับแรงงานทักษะต่ำที่มีอายุระหว่าง 15-65 ปี แต่สิ่งนี้เป็นเพียงภาพลวงตา เพราะเมื่อพิจารณาการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคการผลิตจะพบว่า สัดส่วนการจ้างงานในกิจการเอกชนที่มีคนงาน 10-99 คน (เอสเอ็มอี) โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมลดลงอย่างมากและมีนัยสำคัญ แรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะหลุดออกไปอยู่นอกภาคการผลิตที่เป็นทางการ กล่าวคือเข้าไปทำงานในฐานะช่วยธุรกิจครัวเรือนโดยไม่ได้รับค่าจ้าง และในกิจการเอกชนขนาดต่ำกว่า 10 คน ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร และไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลค่าจ้างได้
การเคลื่อนย้ายที่น่าวิตกอยู่ในกลุ่มแรงงานวัยหนุ่มสาว (อายุ 15-24 ปี) ทักษะต่ำ ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากการปรับตัวของสถานประกอบการเอสเอ็มอี และกิจการขนาดใหญ่มากที่สุด โดยผลการศึกษาชี้ว่า เมื่อตกงานแรงงานส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ จะเคลื่อนย้ายไปเป็นแรงงานธุรกิจครัวเรือนที่ไม่ได้รับค่าจ้าง หรือเป็นการว่างงานแฝงนั่นเอง การศึกษาประมาณการว่า หากค่าจ้างที่แท้จริงเพิ่มขึ้น 40 % สัดส่วนการจ้างงานของแรงงานกลุ่มนี้จะลดลงจาก 81% เหลือ 70 % ซึ่งเป็นการลดลงอย่างมาก และมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเกือบครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้ จะกลายเป็นผู้ว่างงาน และส่วนที่เหลือจะออกไปจากตลาดแรงงาน
ดร.ดิลกะกล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งนี้ แม้เป็นไปภายใต้นโยบายประชานิยมของรัฐบาลตามที่หาเสียงไว้ และก็ดูเป็นธรรมกับลูกจ้างระดับหนึ่ง (ได้ตามที่ขอ) แต่การขึ้นค่าจ้างมากๆ แบบฉับพลัน มีโอกาสเกิดผลเสีย โดยเฉพาะผู้ประกอบการหรือภาคธุรกิจที่ไม่แข็งแรงพอ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเอสเอ็มอี จึงควรมีมาตรการรองรับเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการปรับตัว เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และสามารถเป็นแหล่งรองรับแรงงานในกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบไม่ต้องถูกเลิกจ้าง หรือถูกผลักไปสู่สภาพการทำงานที่แย่ลง ซึ่งสวนทางกับความพยายามในอดีต ที่สามารถทำให้แรงงานเข้ามาทำงานในระบบ ได้รับการคุ้มครองดูแลตามกฎหมายมากขึ้น แต่ตอนนี้หากไม่เตรียมการรองรับที่ดี ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะทำให้แรงงานระดับล่างอายุน้อยทักษะต่ำ กลับไปอยู่นอกระบบเป็นจำนวนมาก เพิ่มสัดส่วนแรงงานที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าขั้นต่ำและกฎหมายคุ้มครองไปไม่ถึงอย่างน่าเสียดาย
ในบริบทไทยยังจำเป็นต้องมีค่าจ้างขั้นต่ำ แต่การปรับขึ้นอย่างฉับพลันโดยไร้มาตรการรองรับที่ดีจะทำให้เกิดผลกระทบ จึงควรพิจารณาอย่างรอบด้าน เพื่อไม่ให้กลายเป็นการ “ซ้ำเติมแรงงาน” โดยเจตนาดี
www.facebook.com/tcijthai
ป้ายคำ