อดีตคนงานแฉภัยสารพิษทำหัวหน้าฆ่าตัว เครือข่ายผู้ป่วยฯจี้รัฐเร่งแก้ความปลอดภัย ศรีสุวรรณยื่นศาลถอน'อีไอเอ-ใบอนุญาต'

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 9 พ.ค. 2555 | อ่านแล้ว 4470 ครั้ง

 

จากเหตุการณ์เหตุระเบิดขึ้นในโรงงานบีเอสที ในเครือบริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ จำกัด ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ตามมาด้วยเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหลของโรงงานของบริษัท อดิตยาเบอร์ล่า จำกัด ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด เช่นเดียวกัน เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์นี้ 12 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก จนกลายเป็นประเด็นที่ยังถูกกล่าวถึงอย่างต่อเนื่อง และหลังจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ได้เกิดความเคลื่อนไหวขึ้นตามมาโดยเฉพาะในภาคแรงงาน กับประเด็นเรื่องความปลอดภัยในที่ทำงานซึ่งมีการออกมาแสดงความคิดเห็น และเรียกร้องให้ผู้ประกอบการ รัฐบาล รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหันมาให้ความสนใจในการดูแลสวัสดิภาพ ความปลอดภัย และสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานมากกว่านี้ หลังจากที่พบว่าในระยะที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุภายในสถานปฏิบัติงานที่ส่งผลกระทบต่อทั้งตัวพนักงานและชุมชนที่อยู่รอบข้างมากขึ้น

อดีตคนงานบีเอสทีแฉภัยในโรงงานบีเอสที

 

นายสมหมาย ประไว นักสื่อสารแรงงาน จากเครือข่ายสมาฉันท์แรงงานไทย ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ ว่า หลังเกิดเหตุระเบิดและไฟลุกไหม้ที่โรงงานดังกล่าวแล้ว ได้พยายามสืบค้นข้อมูลจากเพื่อนพนักงานโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ด้วยกัน ซึ่งได้รับทราบจากอดีตพนักงานบริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบพุด จ.ระยอง ซึ่งเป็นโรงงานที่เกิดเหตุ เล่าว่า ในช่วงที่เขาทำงานในโรงงานแห่งนี้ ช่วงการทำงานจะแบ่งออกเป็น 3 plan แต่ละ plan มีพนักงานประมาณ 100  คน การทำงานมีเพียง 2 กะ กะละ 12 ชั่วโมง ทำ 2 วัน หยุด 2 วัน ทำ 3 วันหยุด 3 วัน รับเงินเป็นเงินเดือน ตกเดือนละประมาณ 8,000 บาท

ตัวของผู้ให้ข้อมูลระบุว่า เคยทำงานในตำแหน่ง Fild Operator คือ พนักงานระดับปฏิบัติการ ทำหน้าที่เก็บตัวอย่างของสารเคมีที่ผสมแล้ว เพื่อนำไปส่งให้กับพนักงานประจำห้องแล็บ ตรวจสอบกระบวนการผสมหรือการทำปฏิกิริยาของสารเคมีว่า ได้ผลกี่เปอร์เซ็นแล้ว รวมทั้งทำหน้าที่ปิด-เปิดวาล์วท่อสารเคมี ที่มีท่อจำนวนมาก อาจจะมีสูงถึงหลักพันวาล์ว ซึ่งในการทำงานพนักงานจะต้องทำตามขั้นตอน และคู่มือการทำงานอย่างเคร่งครัด เพราะหากเกิดความผิดพลาด จะทำให้เกิดเหตุร้ายแรงขึ้นอย่างแน่นอน เนื่องจากในกระบวนการผลิตหากถังที่บรรจุสารเคมีเต็มแล้ว ยังมีการเปิดวาล์วเพิ่มจำนวนสารเคมีเข้าไปอีก แรงดันจะดันจนถังบรรจุรับไม่ไหวและจะเกิดระเบิดขึ้นทันที

นายสมหมายกล่าวต่อว่า จากการพูดคุยกับอดีตพนักงานคนดังกล่าว ยังได้ข้อมูลอีกว่า สำหรับสารเคมีที่ใช้ในโรงงานแห่งนี้ บางชนิดต้องควบคุมอุณหภูมิให้อยู่ไม่เกินลบ 14 องศาเซลเซียส หากเกิดการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิจนสูงขึ้นกว่านั้น อาจติดไฟและระเบิดขึ้นได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่เสี่ยงต่อการเกิดอันตรายเป็นอย่างมาก ส่วนสาเหตุที่เขาต้องลาออกจากโรงงาน เพราะรู้สึกว่าสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่ดี และมีอาการแพ้สารเคมี  โดยเฉพาะจุดที่ทำอยู่นั้นมีสารสไตรีนบิวทาไดอีน ซึ่งเป็นสารที่นำมาเป็นส่วนผสมหนึ่งในกระบวนการผลิตยางสังเคราะห์ ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่จะรับรู้ถึงอันตรายของสารตัวนี้ เพราะแค่ไอของสารมาสัมผัสถูกผิวหนังอาจจะทำให้ผิวหนังไหม้ได้ และในช่วงแรกที่เริ่มเข้าไปทำงาน เขาระบุว่า แค่ได้กลิ่นและสูดดมเข้าไปก็เกิดอาการแสบจมูก แสบคอ ตลอดเวลาที่ทำอยู่ 2 ปี รับรู้ได้ว่าร่างกายมีความอ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด ถึงแม้บริษัทจะมีอุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคลให้ ขณะปฏิบัติงานก็ตาม แต่ก็มีบางจังหวะที่เผลอเรอบ้าง

รันทดคนงานผูกคอตายหนีทรมานจากสารเคมี

 

“เรื่องของผลกระทบที่พนักงานในโรงงานได้รับจากสารเคมีต่างๆ ในโรงงานแห่งนี้ มีให้พบเห็นอยู่อย่างต่อเนื่อง มีอยู่กรณีหนึ่งที่สร้างความสะเทือนใจให้กับพนักงานของโรงงานแห่งนี้เป็นอย่างมาก คือ กรณีของหัวหน้างานคนหนึ่งอายุประมาณ 40 ปี ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า ทำงานกับบริษัทมา 8 ปี เป็นผู้ที่ทุ่มเทให้กับงานมาก เวลางานติดขัดหรือมีปัญหาหัวหน้างานคนนี้จะรีบไปแก้ไขทันที จนบางครั้งไม่ได้ใส่ใจที่จะสวมอุปกรณ์ป้องกันภัยจากสารเคมีต่างๆ เขาทำเป็นประจำ จนในที่สุดการที่รับสารเคมีสะสมเรื่อยๆ ทำให้เขาเกิดอาการไม่สบายจนต้องไปหาหมอ ซึ่งหมอได้ให้ยาเพื่อขับสารพิษที่ตกค้างอยู่ภายในร่างกาย ผลก็คือร่างกายรวมทั้งผิวหนังของเขามีผื่นตุ่มคัน แต่เขาก็ยังคงทานยาและมาทำงานตามปกติ โดยบริษัทเองก็ให้การช่วยเหลือดูแลค่าใช้จ่ายทั้งหมด แต่สุดท้ายเขาทนอยู่ได้ประมาณ 2 ปี จึงตัดสินใจลาโลกด้วยการผูกคอตายในห้องพักของตัวเองเพื่อหนีโรคร้ายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่พนักงานส่วนใหญ่สะเทือนใจอย่างมาก” นายสมหมายกล่าว

 

เครือข่ายผู้ป่วยฯชี้ชีวิตคนงานเสี่ยงภัยทุกวินาที

 

 

ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินการกับเหตุการณ์สารเคมีระเบิดดังกล่าว วันเดียวกัน นางสมบุญ สีคำดอกแค สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ เรียกร้องผลักดันนโยบายสุขภาพความปลอดภัยให้เป็นจริง โดยระบุถึงกรณีเหตุการณ์ระเบิดของโรงงานบริษัท กรุงเทพ ซินธิติกส์ ในนิคมอุตสาหกรรมมาบพุด จ.ระยอง ว่า เป็นความบกพร่องประมาทเลินเล่อ ของสถานประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนเป็นเหตุให้สะเทือนขวัญ เหตุการณ์ระเบิดโรงงานครั้งนี้ นับเป็นข่าวสร้างความเสียหายอีกครั้งหนึ่ง ต่อภาพลักษณ์ของสังคมและประเทศชาติ ที่อาจทำให้ถูกมองว่า มีแต่นโยบายที่มุ่งเน้นแต่การพัฒนาอุตสาหกรรม จนละเลยขาดระบบการป้องกันตรวจสอบ

นางสมบุญกล่าวว่า จากเหตุการณ์โศกนาฏกรรมโรงงานตุ๊กตาเคเดอร์ไฟไหม้ เมื่อวันที่ 10 พ.ค.2536 ผ่านมาจะครบรอบ 19 ปี สถานการณ์เรื่องสุขภาพความปลอดภัยในการทำงาน ชีวิตคนงานก็ยังต้องตกอยู่ในสภาวะวิกฤต เสี่ยงภัยอยู่ทุกวินาที ทั้งภัยเครื่องจักรอันตราย และจากสารเคมีที่ร้ายแรง รวมไปถึงปัญหาในการเข้าไม่ถึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ จึงมีความเห็นและขอเสนอข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ในการดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ต่อกรณีนี้ดังนี้

1.ให้คนงานที่บาดเจ็บและเสียชีวิตในครั้งนี้ได้เข้าถึงสิทธิการดูรักษาอย่างดีและได้เข้าถึงสิทธิตามกฎหมายกองทุนเงินทดแทน 2.ให้นายจ้างจ่ายเงินชดเชยเพื่อแสดงความรับผิดชอบนอกเหนือกฎหมาย 3.ให้ตรวจสอบสถานประกอบการณ์ที่มีอันตรายโดยเร่งด่วนและยุติการผลิตจนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขให้ปลอดภัย

เสนอรัฐชัดเจนนโยบายความปลอดภัยระยะยาว

 

นอกจากประเด็นการเยียวยาวในระยะสั้นแบบเร่งด่วนแล้ว ในแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวยังได้เสนอต่อภาครัฐในการดำเนินการระยะยาว คือ 1.รัฐต้องมีนโยบายแผนงานแห่งชาติพัฒนาระบบงานอาชีวเวชศาสตร์เพื่อให้มีการผลิตบุคลกรทางการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาอาชีวเวชศาสตร์และสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ และปริมาณเพียงพอในระยะยาว การจัดตั้งคลินิกโรคจากการทำงาน ที่ต้องคำนึงถึงมาตรฐาน การจัดบริการที่สามารถทำให้ลูกจ้าง นายจ้างเข้าถึงได้ง่าย

2.ต้องมีนโยบายชัดเจนที่จะพัฒนาส่งเสริมป้องกันการประสบอันตราย หรือเจ็บป่วยจากการทำงาน เพื่อลดการสูญเสียในอนาคตของลูกจ้าง นายจ้างลดรายจ่ายการส่งเงินสมทบเข้ากองทุนเงินทดแทน 3.ต้องให้มีนโยบายส่งเสริมเรื่องตรวจสุขภาพลูกจ้าง ที่สอดคล้องกับปัจจัยเสี่ยงในการทำงาน ตามกฎกระทรวงอย่างต่อเนื่อง โดยลูกจ้างมีสิทธิเลือกแพทย์สถานพยาบาล เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นใจของลูกจ้าง 4.รัฐบาลลงสัตยาบันต่ออนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศที่จำเป็นต่อบริการอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน ดังนี้ ฉบับที่ 155 ว่าด้วย ความปลอดภัยในการทำงานและอาชีวอนามัย ค.ศ.1981 (พ.ศ.2524) ฉบับที่ 161 ว่าด้วยการบริการอาชีวอนามัย ค.ศ.1985 (พ.ศ.2528) และฉบับที่ 187 ว่าด้วยกรอบงานส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงานและอาชีวอนามัย ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549)

 

 

ชี้ต้องให้ทุกหน่วยมีส่วนร่วมอย่างจริงจัง

 

 

5.ร่วมกับเครือข่ายแรงงาน สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยงานจากการฯ องค์กรนายจ้าง องค์กรลูกจ้าง และภาคีเครือข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สถาบันการศึกษาที่ผลิต/อบรมบุคลากรด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการ การศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ กระทวงอุตสาหกรรม และกระทรวงอื่นๆ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกระดับ ร่วมกันพัฒนารูปแบบการทำงาน ด้านอาชีวอนามัยฯ  เพื่อนำไปสู่ “วัฒนธรรมความปลอดภัย” ในการทำงาน

6.การบังคับใช้กฎหมาย พ.ร.บ.ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานอย่างจริงจัง

7.เร่งจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เป็นองค์กรมหาชน มีส่วนร่วม และ บูรณาการ มาทำงานด้านการคุ้มครองสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน ให้กับแรงงานไทย โดยเน้นมีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์และ โครงสร้างกรรมการต้องมาจากการสรรหา

8.การงดใช้แร่ใยหิน ชดเชยผู้ป่วย และ 9.จัดตั้งกองทุนผู้ประสบภัยจากการทำงานและมลพิษ ทั้งนี้ สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยฯ ในสมัชชาคนจน เป็นองค์กรที่รวบรวมสมาชิกที่มีทั้งคนงานและชุมชนที่ประสบปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยและประสบอันตรายจากการทำงานและมลพิษสิ่งแวดล้อม รวมกลุ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2536 ดำเนินการร่วมเรียกร้องสิทธิ และ ผลักดันนโยบายอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน กับรัฐบาลในนามสมัชชาคนจนมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีการทำงานร่วมกับเครือข่ายผู้นำด้านสุขภาพในพื้นที่อุตสาหกรรมต่างๆ ที่ทำงานขับเคลื่อนร่วมกัน ทั้งยังเข้าร่วมเครือข่ายคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยด้วย

 

ฟ้องศาลปกครองถอนอีไอเอ-ใบอนุญาตบีเอสที-อดิตยาฯ

 

นอกจากประเด็นเรื่องของความปลอดภัยในการทำงาน ที่ภาคแรงงานออกมาเรียกร้อง เพื่อให้ผู้ประกอบการ และภาครัฐเข้มงวด และให้ความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายมากขึ้นแล้ว ในประเด็นของการดูแลเรื่องมาตรการความปลอดภัยในด้านสิ่งแวดล้อม และชุมชน ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง ที่มีการเคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน โดยนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามที่ศาลปกครองสูงสุดเคยมีคำสั่งลงวันที่ 2 ธ.ค.2552 ในคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน และชาวบ้านมาบตาพุดรวม 43 รายได้ยื่นฟ้องหน่วยงานรัฐ รวม 8 หน่วยงาน เพื่อขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตโรงงานต่างๆ จำนวน 76 โรงงานในพื้นที่มาบตาพุดและใกล้เคียง และให้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 วรรคสองนั้น

แต่เนื่องจากเมื่อวันที่ 5-6 พ.ค.2555 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุระเบิดขึ้นในโรงงานบริษัท กรุงเทพซินธิติกส์ จำกัด และโรงงานของบริษัทอดิตยา เบอร์ล่า จำกัด ตามลำดับ ทำให้มีผู้ล้มตายและบาดเจ็บเป็นจำนวนมากนั้น เนื่องจากทั้งสองโรงงานดังกล่าว เป็นโรงงานใน 76 โรงงานที่สมาคมฯและชาวบ้านได้ฟ้องร้องและปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด

ดังนั้นในวันที่ 10 พ.ค. เวลา 10.00 น. สมาคมฯจะไปยื่นคำร้องต่อศาลปกครองสูงสุด เพื่อขอให้ศาลปกครองสูงสุด พิจารณาเพื่อมีคำสั่งใหม่ สั่งให้กระทรวงอุตสาหกรรม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 8) เพิกถอนใบอนุญาตการประกอบกิจการของทั้ง 2 โรงงานต่อไป ขณะเดียวกันจะขอให้ศาลสั่งให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) เพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (E/HIA) ของทั้งสองโรงงานต่อไปด้วย

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: