รองนายกฯฮึ่มขู่ผู้ว่าฯเร่งแก้ปัญหาน้ำท่วม ชี้ดินอุ้มน้ำมากพร้อมถล่มซ้ำถ้ามีฝนตกอีก อุตุฯเตือนก.ค.-ส.ค.ทั่วปท.เจอทั้งฝน-แล้ง

ชุลีพร บุตรโคตร ศูนย์ข่าว TCIJ 9 มิ.ย. 2555 | อ่านแล้ว 2017 ครั้ง

 

รองนายกฯขู่ผู้ว่าฯจังหวัดน้ำท่วมให้เร่งแก้ปัญหา

 

นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดทางภาคใต้ว่า พื้นที่ภาคใต้เป็นลักษณะพิเศษ คือ เมื่อเกิดฝนตกหนักปริมาณน้ำจะไหลบ่าท่วมโดยเร็ว แต่จะลดระดับลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ซึ่งขณะนี้หลายจังหวัดกลับสู่สภาพปกติแล้ว แต่มีบางจังหวัดที่ได้รับความสูญเสีย ถนนหรือสะพานขาด และที่มีผู้เสียชีวิต ซึ่งได้สั่งการให้แต่ละหน่วยงานในแต่ละจังหวัดเข้าไปให้ความช่วยเหลือและดูแลประชาชนเป็นพิเศษ ซึ่งในสัปดาห์หน้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีจะได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ขณะนี้  ได้มอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัดในจังหวัดที่นายกรัฐมนตรีและคณะจะลงพื้นที่ เตรียมความพร้อมและเร่งรัดการดำเนินการเป็นพิเศษ โดยเฉพาะการอนุมัติงบประมาณ ซึ่งจะต้องติดตามโครงการต่างๆ ตามที่รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณไปแล้ว โดยจังหวัดจะต้องเร่งดำเนินการโดยเร็ว ส่วนจังหวัดใดที่ยังมีความล่าช้าอยู่ จะนำเรื่องมาพิจารณาประกอบการประเมินผลการทำงานของผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะใกล้ถึงการแต่งตั้งโยกย้ายในช่วงเดือนกันยายนนี้

“ส่วนจังหวัดที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้ลงพื้นที่จะมีการประเมินด้วยเช่นกัน เพราะขณะนี้มีการร้องเรียนเรื่องความไม่โปร่งใส มีการเรียกเก็บผลประโยชน์จากงบประมาณฟื้นฟูอุทกภัย ซึ่งเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในจังหวัดเป็นผู้ดำเนินการเรียกเก็บ หากผู้ว่าราชการจังหวัดเชื่อคำกล่าวอ้างดังกล่าว ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องรับผิดชอบ เพราะจะต้องปฏิบัติตามความถูกต้อง ไม่ใช่ใครมาอ้างแล้วทำตามนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องมีมาตรฐานในการดูแลพื้นที่” นายยงยุทธกล่าว

 

กรมทรัพย์ฯชี้ดินอุ้มน้ำมากพร้อมถล่มหากฝนหนัก

 

ด้านนายเลิศสิน รักษาสกุลวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักธรณีวิทยาสิ่งแวดล้อม และธรณีพิบัติภัย กรมทรัพยากรธรณี(ทธ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ให้สัมภาษณ์ศูนย์ข่าว TCIJ เกี่ยวกับการเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำป่า ดินถล่มในพื้นที่ 5 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งกำลังเดือดร้อนจากเหตุอุทกภัยในหลายพื้นที่ ว่า จากการตรวจสอบปริมาณฝนล่าสุดพบว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำฝนลดลงแล้ว อย่างไรก็ตามแม้ว่าจะมีฝนตกน้อยลง ก็ไม่ได้หมายความว่า ในพื้นที่ประสบภัยเหล่านี้จะปลอดภัยจากเหตุการณ์น้ำป่า หรือดินถล่ม โดยเฉพาะเหตุการณ์ดินถล่มที่อาจจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะสภาพของมวลดินที่ขณะนี้รับน้ำไว้อย่างเต็มที่แล้ว หากมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นมาอีก ก็อาจจะเกิดเหตุการณ์อันตรายได้ตลอดเวลา ซึ่งที่ผ่านมาพื้นที่ภาคใต้จะสามารถรับน้ำได้ถึงประมาณ 150 ลูกบาศก์เมตร แต่ขณะนี้หากฝนตกมาเพียง 100 ลูกบาศก์เมตรก็น่าเป็นห่วงแล้ว ดังนั้นประชาชนในพื้นที่ควรเฝ้าระมัดระวังและตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยที่สุด

 

“ที่ผ่านมาเรายังไม่พบว่า เกิดเหตุการณ์ดินถล่มรุนแรง จะมีเพียงเหตุดินสไลด์ลงมาทับเส้นทางการเดินทางสัญจรไปมาของประชาชน ทำให้เกิดความเดือดร้อนเรื่องการเดินทาง และสร้างความลำบากในการติดต่อสื่อสาร โดยพื้นที่ที่จะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ พื้นที่ในเขตอ.กะเปอร์, อ.กระบุรี และ อ.เมือง จ.ระนอง รวมไปถึงพื้นที่บางส่วนของ จ.ชุมพร ที่เป็นช่วงที่ติดต่อกับจ.ระนอง ขณะที่ในจ.พังงา จะต้องระมัดระวังพิเศษ ในพื้นที่ อ.คุระบุรี อ.ตะกั่วป่า อ.กะปง, ย่านตาขาว และปะเหลียน จ.ตรัง ส่วนที่ จ.นครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ที่มักจะเกิดเหตุอยู่เป็นประจำ ได้แก่ อ.สิชล อ.นบพิตำ ซึ่งพื้นที่เหล่านี้จำเป็นที่จะต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษหากมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น” นายเลิศสินกล่าว

 

 

แผ่นดินไหวระนองไม่กระทบโครงสร้างดิน

 

สำหรับข้อสงสัยต่อผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างเหตุการณ์อุทกภัย และเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 4 ริกเตอร์ ที่ จ.ระนอง เมื่อวันที่ 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่าจะส่งผลต่อเนื่องถึงกันหรือไม่อย่างไร นายเลิศสินกล่าวว่า ทั้งสองเหตุการณ์จะไม่ส่งผลกระทบถึงกันแต่อย่างใด เพราะเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการเกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างของดิน ซึ่งต่างจากการไหวขนาดใหญ่ ที่โดยปกติแล้วจะส่งผลต่อโครงสร้างของดินแน่นอน ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะไม่ซ้ำเติมทำให้เกิดเหตุรุนแรงขึ้นได้

 

 

ธรรมชาติเปลี่ยนแปลงทำให้คาดการณ์เหตุร้ายยากขึ้น

 

นายเลิศสินกล่าวด้วยว่า แม้ว่าขณะนี้จะพบว่าเหตุการณ์ฝนตกหนักจะเกิดขึ้นมากในพื้นที่ภาคใต้ จนทำให้เกิดความเดือดร้อนในเรื่องของอุทกภัยเป็นอย่างมากในขณะนี้ แต่จากการตรวจสอบพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศนั้น มีข้อที่น่าสังเกตคือ แม้ว่าในพื้นที่อื่นๆ จะมีฝนตกในปริมาณไม่มากนัก แต่กลับได้รับรายงานว่า ในบางพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคเหนือ เกิดเหตุการณ์ น้ำป่า ดินถล่ม  แสดงให้เห็นว่า ขณะนี้มีความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติเมื่อฝนจะไปตกหนักในพื้นที่ที่อยู่ในระดับสูง เช่น ภูเขา หรือเทือกเขามากขึ้นในขณะที่พื้นที่ระดับทั่วไป พื้นที่อาศัยต่างๆ แทบจะไม่มีฝนตกลงมาเลย ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการเตือนภัย เพราะไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์น้ำป่า ดินถล่มได้แม่นยำในหลายพื้นที่ จึงทำให้ประชาชนไม่สามารถที่จะเตรียมการเพื่อหลบภัยได้ทัน

 

“ตอนนี้เราทราบว่าในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น ที่ อ.เด่นชัย จ.แพร่ ก็ประสบเหตุน้ำป่าดินถล่มแล้ว แม้ว่าปริมาณน้ำฝนในพื้นที่จะไม่มาก แต่ฝนกลับไปตกมากๆ บริเวณยอดเขามากกว่า ซึ่งจากความเปลี่ยนแปลงนี้ ในส่วนของกรมทรัพยากรธรณีซึ่งเรามีเครือข่ายแจ้งเตือนภัยอยู่แล้ว ได้พยายามเพิ่มความเข้มในการตรวจสอบ โดยเฉพาะอย่างการตั้งสถานีตรวจสอบปริมาณน้ำฝนโดยเลือกพื้นที่ในจุดใกล้กับต้นน้ำที่สุด เพื่อตรวจวัดปริมาณน้ำฝน และให้แจ้งเตือนเมื่อพบว่าปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นในระดับที่ต้องเตือนภัย”  นายเลิศสินกล่าว

 

 

ปภ.รายงานสถานการณ์ความเดือดร้อน 5 จว.ใต้

 

นอกจากนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้รายงาน สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ประสบภัย 5  จังหวัด คือ กระบี่ ภูเก็ต ระนอง ชุมพร และสุราษฎร์ธานี ในขณะนี้ โดยระบุรายละเอียดความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับประชาชน ดังนี้

 

กระบี่ มีน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 7 อำเภอ 1 เทศบาลเมืองกระบี่ 29 ตำบล 92 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 2,227 ครัวเรือน 5,881 คน บ้านเรือนเสียหาย 248 หลัง ถนน 68 สาย สะพาน 3 แห่ง ได้แก่ อ.เมืองกระบี่ ลันตา เขาพนม ปลายพะยา อ่าวลึก เหนือคลอง ลำทับ และเทศบาลเมืองกระบี่

 

ภูเก็ต ฝนตกหนักทำให้เกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองภูเก็ต กระทู้ ถลาง  เนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน ปัจจุบันระดับน้ำลดลงแล้ว

 

ระนอง เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 5  อำเภอ 14 ตำบล ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 4,521 ครัวเรือน 24,737 คนได้แก่ อ.เมืองระนอง กะเปอร์ สุขสำราญ กระบุรี และละอุ่น

 

ชุมพร เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 7 อำเภอ 31 ตำบล 204 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 6,468 ครัวเรือน 12,540 คน ได้แก่ อ.เมืองชุมพร,ท่าแซะ, สวี,ทุ่งตะโก พะโต๊ะ, หลังสวน และละแม

 

สุราษฎร์ธานี เกิดน้ำป่าไหลหลากในพื้นที่ 10 อำเภอ 42 ตำบล 235 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 10,611ครัวเรือน 35,200 คน ได้แก่ อ.คีรีรัฐนิคม วิภาวดี ท่าฉาง บ้านตาขุน พนม ไชยา ชัยบุรี พุนพิน เวียงสระ และพระแสง

 

ปภ.เร่งให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่

 

“สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตและ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดที่ประสบภัยได้ประสานความร่วมมือกับจังหวัด อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ประสบภัย จัดส่งเรือท้องแบนพร้อมเครื่องยนต์  เรือยาง รถบรรทุก รถเครน รถไฟฟ้าส่องสว่าง รถยูนิม็อค รถตรวจการณ์ เครื่องอุปโภคบริโภค ถุงยังชีพ พร้อมเจ้าหน้าที่ชุด ERTสนับสนุนการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยโดยด่วนแล้ว ตลอดจนจัดเจ้าหน้าที่เร่งสำรวจความเสียหาย เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลัง สุดท้ายนี้ หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานและให้ความช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป” นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมบรรเทาสาธารณภัยกล่าว

 

อุตุฯพยากรณ์อากาศเตือน 3 เดือนล่วงหน้า

 

อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2555 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศการคาดหมายลักษณะอากาศของประเทศไทยราย 3 เดือน คือตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2555 โดยระบุว่า ลักษณะอากาศทั่วไป ประเทศไทยตอนบน เดือนมิถุนายน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมประเทศไทย ซึ่งจะมีกำลังค่อนข้างแรงเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในช่วงต้นและกลางเดือน ประกอบกับจะมีร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบางช่วง ส่งผลให้มีฝนตกชุกเกือบตลอดช่วง กับจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ส่วนมากบริเวณภาคตะวันออก และด้านตะวันตกของภาคเหนือและภาคกลาง

 

จากนั้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมจะมีกำลังอ่อนลง และร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ปริมาณและการกระจายของฝนลดลง ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วงบางพื้นที่ ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตเขตชลประทาน

ชี้ก.ค.-ส.ค.ฝนตกชุกหลายพื้นที่อาจมีน้ำท่วมฉับพลัน

 

สำหรับในช่วงครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม มรสมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยจะกลับมามีกำลังแรงขึ้น โดยจะมีกำลังแรงเป็นระยะๆ กับร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนกลับลงมาพาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบน ส่งผลให้บริเวณดังกล่าวมีฝนตกชุกเพิ่มมากขึ้น โดยจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่อาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในบางพื้นที่ ปริมาณฝนรวมและอุณหภูมิเฉลี่ยจะใกล้เคียงปกติ

 

ภาคใต้ ในช่วงต้นและกลางเดือนมิถุนายน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมทะเลอันดามันและภาคใต้จะมี และจะมีกำลังค่อนข้างแรงเป็นระยะๆ ทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนตกชุก  โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกซึ่งเป็นด้านรับมรสุมโดยตรง กับจะมีฝนตกหนักอีกหลายพื้นที่และหนักมากบางพื้นที่ รวมทั้งคลื่นลมในทะเลจะมีกำลังค่อนข้างแรง โดยทะเลอันดามันจะมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร และในช่วงมรสุม มีกำลังแรงจะมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ส่วนทะเลอ่าวไทย จะมีคลื่นประมาณ 1-2 เมตร

จากนั้นในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมจะมีกำลังอ่อนลงทำให้บริเวณภาคใต้มีฝนลดลง สำหรับในช่วงครึ่งหลังของเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมบริเวณภาคใต้จะมีกำลังแรงขึ้น โดยจะมีกำลังแรงเป็นระยะๆ ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนตกชุกเพิ่มมากขึ้น

 

เตือนระวังพายุหมุนผ่านเหนือ-อีสาน

 

เดือนมิถุนายนและกรกฎาคม อาจมีพายุหมุนเขตร้อนก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก และอาจเคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์ลงสู่ทะเลจีนใต้ได้ ซึ่งจะทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พักปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น เป็นผลให้บริเวณประเทศไทยมีฝนตกเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะบริเวณชายฝั่งภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก

 

เดือนสิงหาคม มีโอกาสสูงที่พายุหมุนเขตร้อนก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก จะเคลื่อนเข้ามาใกล้ หรือเคลื่อนผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคเหนือของประเทศไทย จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและคำเตือนเรื่องพายุหมุนเขตร้อนไว้ด้วย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: