มีจริงหรือ'สื่อมวลชน'วันนี้ที่จะไม่เลือกข้าง ‘ใบตองแห้ง’ชี้เลือกได้-ต้องมีจรรยาบรรณ นักวิชาการระบุชี้นำอันตรายกว่าเลือกข้าง

วรลักษณ์ ศรีใย ศูนย์ข่าว TCIJ 9 ส.ค. 2555 | อ่านแล้ว 2750 ครั้ง

 

ศูนย์ข่าว TCIJ ร่วมกับโครงการสะพานของ United States Agency for International Development (USAID) จัดเวทีครั้งที่ 3 ในรูปแบบของการดีเบตในหัวข้อ “สื่อเลือกสีเลือกข้างผิดจรรยาบรรณหรือ” เพื่อระดมความคิดเห็น รับฟังมุมมอง จากผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในส่วนของนักวิชาชีพสื่อมวลชน นักวิชาการด้านสื่อมวลชน และบุคคลทั่วไป

 

สื่อควรมีอิสระในการให้ข่าวสาร แต่ไม่อยู่ใต้อำนาจการเมือง

 

 

เริ่มจาก ศ.ดร.โสรัจจ์ หงษ์ลดารมภ์ อาจารย์ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้สังคมกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน ขณะเดียวกันสื่อมวลชนกำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในการต่อสู้ทางการเมือง เพื่อโน้มน้าวประชาชน ดังนั้นสื่อจึงถูกมองว่า เลือกข้างไม่ฝั่งใดก็ฝั่งหนึ่ง ซึ่งการเลือกข้างของสื่อก่อให้เกิดคำถามตามมาเป็นอันมาก โดยเฉพาะคำถามที่ว่าสื่อเลือกข้างผิดหรือไม่  ทั้งนี้ที่ผ่านมาสื่อไม่ได้เลือกข้างเอง แต่หลายสื่อถูกเลือกมาโดยอำนาจที่อยู่เหนือสื่อขึ้นไป

 

อย่างไรก็ตามหลักการพื้นฐานด้านจริยธรรมของสื่อมวลชน คือความเป็นอิสระที่จะต้องให้ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้กับประชาชน หากสื่อไม่เป็นอิสระจะไม่สามารถทำตรงนี้ได้ ในขณะที่ถ้าสื่อกลายเป็นอำนาจของบางฝ่ายทางการเมือง การให้ข้อมูลพื้นฐานกับประชาชน ก็จะขัดกับผลประโยชน์ของอำนาจทางการเมือง ที่ต้องการจะดึงอำนาจของประชาชนมาไว้ในมือ และฝ่ายที่ได้เสียงของประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจแทนที่จะให้ประชาชนตัดสินใจ ด้วยเหตุนี้สื่อที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง จากอำนาจต่างๆ ยังจำเป็นในสังคมประชาธิปไตย เพราะสื่อที่เป็นอิสระจะเป็นกลไกหนึ่ง ที่ทำให้เสรีภาพของประชาชนเป็นจริง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หากจะเลือกข้างควรเลือกประชาธิปไตย

 

 

               “สื่อนอกจากจะทำหน้าที่เสนอข่าวสารแล้ว ต้องทำหน้าที่เป็นปริมณฑลสาธารณะ หรือ Public Sphere ซึ่งเป็นเวทีสำหรับประชาชน จะแสดงความคิดเห็นอย่างจริงใจและอิสระ เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ ในสังคม ซึ่งเป็นหน้าที่ที่สำคัญอย่างยิ่งของสื่อมวลชน และจะทำให้สื่อมีสถานะที่น่าเคารพ เพราะในสังคมหากขาดเวทีกลางหรือปริมณฑลที่มาจากสื่อแล้ว การปกครองระบอบประชาธิปไตยจะไม่อาจเกิดขึ้นได้ ทั้งนี้หากประชาชนได้ถกเถียงกันในเวทีสาธารณะ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ ความเห็นร่วมหรือนโยบายสาธารณะ”

 

 

สังคมอาจมีการถกเถียงกันว่า ในป่าตรงนี้จะสร้างเขื่อนดีหรือไม่ ประชาธิปไตยจะไม่ลงไปบอกว่า สร้างดีหรือไม่ แต่จะสร้างเวทีสาธารณะให้ประชาชนได้ใช้เหตุผลอภิปรายกันอย่างเสรี ว่าควรสร้างหรือไม่ โดยมีสื่อมวลชน องค์กรเอกชน และรัฐบาลคอยให้ข้อมูล

 

นอกจากนี้ ดร.โสรัจจ์กล่าวต่อว่า บทบาทของสื่อในสถานการณ์ของประเทศไทยขณะนี้ สื่อมวลชนควรจะรักษาอุดมคติของประชาธิปไตยเอาไว้ให้ได้ เพื่อจะได้มีเสรีภาพ ถ้าหากสื่อเลือกข้างควรจะส่งเสริมเป้าหมายสูงสุดนั่นคือ ประชาธิปไตย

 

 

สื่อที่ไม่เลือกข้างแต่ชี้นำสังคม อันตรายกว่า

 

ทางด้าน นายอธึกกิจ แสวงสุข บรรณาธิการอาวุโส Voice TV คอลัมนิสต์อิสระ เจ้าของนามปากกา ใบตองแห้ง กล่าวว่า การที่จะบอกว่าสื่อเลือกสีเลือกข้างผิดจรรยาบรรณหรือไม่ คงจะต้องดูในรายละเอียดว่า เป็นอย่างไร จำเป็นที่สื่อต้องเลือกหรือไม่ เพราะความเป็นกลางนั้นเลื่อนลอยและเป็นไปไม่ได้ในสังคมไทย ด้วยสถานการณ์การเมืองที่เป็นอยู่ขณะนี้ เป็นไปไม่ได้ว่า เราจะไม่ถูกผลักไปอยู่ด้านใดด้านหนึ่ง ซึ่งแน่นอนว่าทั้ง 2 ขั้วอำนาจ มีผลประโยชน์ด้วยกันทั้ง 2 ฝ่าย และต้องมีคนเชื่อแต่ละฝ่ายอย่างจริงจัง  สื่อบางฉบับเลือกข้างอย่างมีเหตุผลชัดเจน เปิดเผยและมีเหตุผล ซึ่งดีกว่าสื่อที่ไม่เลือกข้างแล้วชี้นำ

 

                “ASTV หรือ ไทยโพสต์ เห็นได้ชัดว่าเขาเลือกข้าง มีเหตุผลให้คนอ่านได้รู้ชัดเจนว่า เพราะอะไรเขาถึงเลือกข้างนี้ แต่มีสื่อที่ไม่แสดงออกว่าเลือกข้างไหน แต่ชี้นำสังคมนี่สิ น่ากลัว”

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ส่วนเหตุผลในการเลือกข้าง จะมีอยู่ 2 ประเด็นคือ เลือกด้วยความดีชั่ว เช่น มีการตัดสินว่า สิ่งที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทำเป็นเรื่องไม่ดี  ชั่วร้าย จึงเลือกอีกฝั่งหนึ่ง ตัดสินทุกอย่างจากความดีความชั่ว ประเด็นที่ 2 คือ เรื่องของประชาธิปไตยที่สามารถตรวจสอบระบบอำนาจได้ ไม่ใช่เลือกข้างใดข้างหนึ่ง เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่แค่เลือกตั้ง แต่ทุกอย่างต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ ผมเลือกข้อ 2 จึงกลายเป็นเลือกทักษิณไปโดยปริยาย

 

 

เลือกข้างได้ แต่ต้องมีจรรยาบรรณ ไม่บิดเบือน ไม่เอาชนะด้วยความเท็จ

 

 

หน้าที่ของสื่อต้องตรวจสอบ แสดงความคิดเห็น ถ่วงดุลอำนาจ สร้างความสมดุล เช่น สถาบันตุลาการต้องเป็นองค์กรที่ตรวจสอบได้ แต่ตุลาการประเทศนี้กลับเป็นองค์กรปิด เมื่อสื่อเลือกแบบนี้จึงเป็นการขัดกับอำนาจหน้าที่ของสื่อ  ในขณะที่สื่อที่เลือกข้างความดี กำจัดความชั่ว สื่อเหล่านี้จะกำจัดความเห็นต่าง ๆ เพราะคิดแต่เรื่องความดี ซึ่งการเป็นสื่อมวลชนต้องเปิดรับความคิดเห็นต่าง ๆ ไม่ใช่ไม่รับความเห็นอีกฝ่ายหนึ่ง ผลักอีกขั้วออกไป จึงกลายเป็นสองขั้วไปโดยปริยาย

 

นายอธึกกิจกล่าวต่อว่า วันนี้คงจะปฏิเสธการเลือกข้างไม่ได้ แต่เมื่อเลือกแล้วต้องเลือกอย่างมีจรรยาบรรณ ไม่ใช่เอาชนะกันโดยใช้ความเท็จ บิดเบือนข้อมูล ผ่านการพาดหัวข่าว ปลุกความเกลียดชังขึ้นในสังคม  ทำให้เกิดการปิดกั้นเสรีภาพ ยกตัวอย่างกรณีนิติราษฎร์ สื่อปลุกให้เกิดการทำร้าย และการพาดหัวข่าว ไอ้ตู่ อีเพ็ญ ไอ้มาร์ค เป็นการปลุกความเกลียดชังมากขึ้น

 

เรื่องของข่าวต้องเป็นข่าว แต่สื่อส่วนใหญ่ให้การโปรยหัวข่าวเป็นที่ระบายอารมณ์ ปลุกระดม ต้องยอมรับว่ามีมาก ดังนั้นจะทำอย่างไรให้มีการพาดหัวข่าว โปรยข่าวอย่างเหมาะสม เน้นที่ประเด็น ถ้าจะประณามกันต้องมีขอบเขต

 

อย่างไรก็ตามการเลือกข้างและคิดว่าต้องทำลายฝ่ายตรงข้าม เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ สังคมไทยต้องอยู่ภายใต้กฏ กติกา ยอมรับการปฏรูปทั้งหมด อย่าคิดเอาชนะ ต้องมีความยับยั้งชั่งใจและธำรงไว้ซึ่งสิทธิมนุษยชน นั่นคือประเด็นที่สำคัญ

 

 

สื่อไม่ยอมให้ใครตรวจสอบ จ้องแต่จะตรวจสอบคนอื่น

 

 

ขณะที่ ดร.เฉลิมชัย  ยอดมาลัย อาจารย์ภาควิชาวารสารศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะบรรณาธิการรายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์แนวหน้า ระบุว่า การเลือกข้างผิดหรือไม่ อยู่ที่สื่อต้องรู้ตัวเองดีว่ากำลังทำหน้าที่อะไรอยู่ เพราะสื่อมีปากกาในมือ ถ้าสื่อนำเสนอในฐานะของฐานันดรที่ 4 จะนำไปสู่การพาดหัวระบายอารมณ์ อย่างที่พูดกัน สื่อต้องเข้าใจว่า ด่าด้วยเหตุผลความจริง หรือด่าเพราะมีปากกา ซึ่งแม้สื่อจะเลือกข้าง แต่สื่อต้องเปิดโอกาสให้กับทุกฝ่ายมีโอกาสพูด นำเสนอข้อมูล

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

นอกจากนี้สื่อต้องตรวจสอบได้ ซึ่งขอยืนยันว่าองค์กรสื่อเองตรวจสอบไม่ได้ ในขณะที่จะขอตรวจสอบคนอื่น ซึ่งกองบรรณาธิการของแต่ละองค์กรสามารถตรวจสอบได้หรือไม่ และหน้าที่สำคัญอีกประการของสื่อคือ การสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคม เพราะคนทุกคนไม่ได้เลวหรือดีทั้งหมด สื่ออาจจะต้องพิจารณาว่า อะไรที่นำเสนอไปแล้วไม่เกิดประโยชน์ต่อสังคมควรจะเก็บไว้ ไม่เผยแพร่ออกไป อย่างไรก็ตามสื่อเป็นองค์ประกอบที่สังคมจะขาดไม่ได้ ขณะเดียวกันสื่อต้องมีจรรยาบรรณและจริยธรรมด้วย สื่อต้องไม่เลือกข้าง แต่อาจจะไม่เป็นกลาง เจ้าของสื่อก็ไม่เป็นกลาง แต่สิ่งสำคัญคือ สื่อต้องรู้ว่าตัวเองรายงานอะไรออกไป และต้องให้เกิดประโยชน์

 

 

การเลือกข้างทำให้คนไม่ไว้ใจสื่อ และสื่อถูกสังคมเกลียดมากขึ้น

 

 

ทางด้านนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ดร.สุระชัย ชูผกา อาจารย์ภาควิชาสื่อสารมวลชน คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ยืนยันว่า สื่อเลือกข้างผิดทั้งจรรยาบรรณและจริยธรรม เพราะหัวใจของสื่อคือการนำเสนอความจริง ดูแลผลประโยชน์ของสาธารณะ ดังนั้นสื่อต้องนำเสนอให้ตรงด้วยข้อเท็จจริง ด้วยความเป็นกลาง สื่อไม่ได้มีหน้าที่ให้ความเป็นธรรม เพราะคุณไม่ใช่ผู้พิพากษา

 

ความเป็นกลางของสื่อ ไม่ใช่แค่สร้างความสมดุล แต่มากกว่านั้น สื่อต้องนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วนให้กับผู้อ่าน แต่สื่อปัจจุบันคือรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น และผู้ลงโฆษณา อย่างไรก็ตาม ดร.สุระชัย กล่าวว่า เมื่อสื่อเลือกข้าง จะนำไปสู่การรวบรวมข่าวสารที่ผิดพลาด เพราะสื่อจะได้ยินและเห็นในสิ่งที่ต้องการ ซึ่งจะนำไปสู่ความผิดพลาดของข้อมูล แน่นอนว่าการเลือกข้างของสื่อ จะนำไปสู่การพาดหัวข่าว ที่เบลอ บิดเบือน ไปในทางที่คุณอยากให้เป็น คือข้างที่คุณเลือก

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

                “ประชาชนที่เป็นเสียงเงียบ ที่ไม่ได้บอกว่าเขาเลือกข้างไหน จะถูกปกป้องโดยสื่อได้อย่างไรไม่มีใครรู้ เพราะถูกสื่อบังคับให้เลือกข้างไปหมดแล้ว และทำให้คนเหล่านี้ต้องเลือกข้าง หรือถูกบังคับให้เลือก วันนี้การที่สื่อเลือกข้าง ทำให้สังคมส่วนใหญ่ไม่ไว้ใจสื่อ อาจจะมีคนที่ไม่เลือกข้างใดเลย แต่สื่อบังคับให้เขาต้องเลือก ซึ่ง Social Media เป็นผลพวงจากการที่สื่อละเมิดจรรยาบรรณ ผมว่า วันนี้สื่อเดินไปไหน คุณถูกสังคมรังเกียจมากกว่าเดิม โดยที่เขาไม่บอกว่าเขาเกลียดคุณ เหมือนที่เขาบอกนักการเมือง แต่เขาเกลียดคุณ” ดร.สุระชัยกล่าว

 

 

แนะถึงเวลาแล้วที่สื่อควรเลิกเสนอข่าวสงครามสี

 

 

นักวิชาการสื่อมวลชนกล่าวต่อว่า นอกจากนี้สื่อควรจะคำนึงด้วยว่า เมื่อคุณนำเสนอข่าวเรื่องสงครามสี แต่ใครจะดูแลประชาชนในส่วนอื่นที่ยังมีปัญหาอื่น ๆ รออยู่ ดังนั้นสื่อจะเลือกข้างไม่ได้ ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สื่อจะก้าวข้ามผ่านการรายงานข่าวกีฬาสี เพื่อไปสู่ปัญหาอื่นในสังคมที่ยังมีอีกมาก สื่อต้องทำหน้าที่ให้สมกับเป็นสถาบันสื่อมวลชนมากกว่าการเป็นนายทุน

 

อย่างไรก็ตาม วันนี้สังคมไทยควรจะต้องเลือกว่า ต้องการสถาบันสื่อมวลชนแบบไหน แบบจานดำ หรือการโฆษณายาโดยไม่มีการควบคุม หรือสื่อแบบที่แบ่งข้างชัดเจน อย่างเช่น  Asia Update , Blue sky หรือ   มติชน ในขณะที่สังคมอาจจะต้องการสื่อที่เปิดพื้นที่ให้กับทุกคนได้แสดงความคิดเห็นแบบมีส่วนร่วม เพราะสังคมไทยพัฒนาไปมาก ประชาชนเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้ดร.สุระชัย ตั้งคำถามทิ้งท้ายว่า ถึงเวลาหรือยังที่สังคมไทยจะต้องมีสถาบันตรวจสอบสื่อมวลชน

 

 

 

ปธ.สภาการหนังสือพิมพ์ชี้ วันนี้ไม่มีสื่อที่ไม่เลือกข้าง

 

 

ขณะที่ นายจักรกฤษณ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวคิดอุดมการณ์ทางการเมือง ไม่น่าจะเกี่ยวกับจรรยาบรรณของวิชาชีพสื่อ ถ้าแนวคิดหรืออุดมการณ์นั้น ๆ บริสุทธิ์จริง วันนี้แม้สื่อจะไม่เลือกข้างเอง สื่อจะถูกยัดเยียดให้เลือก ในขณะที่สื่อธุรกิจจะเข้ามามีส่วนทำให้ต้องเลือกไปโดยปริยาย ซึ่งมิติทางธุรกิจมีผลเกี่ยวไปถึงอุดมการณ์ทางการเมือง ถ้าสื่อเลือกข้างอย่างบริสุทธิ์ใจ ต้องแสดงให้เห็นจุดยืนที่ชัดเจน ถูกต้องในสิ่งที่คิดและเลือก

 

สื่อจะเลือกข้างหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับบริบททางสังคมในขณะนั้น เมื่อเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516 มีสื่อทั้งที่เรียกว่า ซ้ายจัด และพวกอนุรักษ์นิยม สังคมกำหนดให้ต้องเลือก

 

             “คุณไม่สามารถมองสื่อแล้วบอกว่า สื่อนี้ดีไม่เลือกข้าง มันไม่มี เป็นไปไม่ได้ ซึ่งสื่อก็ควรจะต้องมีแนวทางใดแนวทางหนึ่ง และต้องมีเหตุผลในการนำเสนอด้วย ถ้าจะเสนอเรื่องใดเรื่องหนึ่งสื่อต้องไม่ลำเอียง ขณะที่สื่อสารข้อมูลออกไปในใจต้องไม่มีอคติ เราอาจจะแยกไม่ได้ แต่ละคนอาจผูกพันกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ในการทำหน้าที่ต้องไม่ลำเอียง”

 

อย่างไรก็ตามรูปแบบของสื่อสมัยใหม่ อาจจะไม่ได้อยู่ที่เลือกข้างหรือไม่ แต่สื่อจะต้องหลากหลาย ใจกว้าง ไม่จำกัดความคิด เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่ายนำเสนอความคิด ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ในฉบับหนึ่งมีเรื่องราวหลากหลายมากทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

 

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: