เกษตรพันธสัญญา กับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11: ทศพล ทรรศนกุลพันธ์

ทศพล ทรรศนกุลพันธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 10 ก.พ. 2555


 

บรรษัทธุรกิจการเกษตรที่สนับสนุนระบบเกษตรพันธสัญญามักหยิบยกประเด็น การสร้างรายได้ที่แน่นอนของระบบพันธสัญญาที่เกิดจาก การตกลงกันระหว่าง บรรษัทธุรกิจเกษตร กับ เกษตรกรรายย่อย มาเป็นหลักฐานยืนยันว่า การมีสัญญารับซื้อผลผลิตอย่างชัดเจนในแต่ละรอบการผลิตเป็น การประกันรายได้ที่ชัดเจนให้กับเกษตรกร
แต่ในความเป็นจริงมีสิ่งที่อำพรางซ่อนเร้น ซึ่งถูกกระบวนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ของบรรษัทและแนวร่วมปกปิดไว้นานนับสิบๆ ปี อยู่หลายประการ

 

ประการแรก เกษตรกรมิได้นำต้นทุนแอบแฝง (ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์หมายถึงต้นทุนใน การดำเนินกิจการที่ต้องคิดคำนวณแม้ว่าจะมองไม่เห็นก็ตามที ซึ่งบางอย่างอาจไม่อยู่ในรูปของตัวเงิน แต่จะต้องมีการตีเป็นมูลค่าออกมา) เข้ามาคำนวณเป็น “ต้นทุนการผลิตที่แท้จริง” เกษตรกรมักจะคำนวณต้นทุนการผลิตจากสิ่งที่ตนออกเงิน เช่น ค่าเมล็ดพันธุ์ ตัวอ่อน ปุ๋ย ยา วิตามิน ฯลฯ แต่มิได้คิด ค่าแรงของตัวเองต่อวัน ซึ่งหลายกรณีเมื่อคำนวณดูแล้วจะได้น้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำหากออกไปรับจ้าง ทั่วไป นี่ยังไม่รวมการไม่คิดค่าน้ำ ค่าไฟ ที่ต้องเสียไปในแต่ละวันอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีค่าเสียโอกาสที่เกิดขึ้น เช่น ค่าที่ดินหากเอาไปให้คนอื่นเช่าทำแทน และ ค่าเสื่อมโทรมของสุขภาพกายจากสารเคมีต่างๆ และสุขภาพจิตที่อยู่ในภาวะเครียดสะสมจากความเสี่ยงที่ตนต้องแบกรับเป็นเวลา นาน
 

ประการต่อมา สังคมต้องมาร่วมแบกรับผลกระทบต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม เช่น ยอดดอยทางภาคเหนือได้เปลี่ยนเป็นทุ่งข้าวโพดพันธสัญญาสุดลูกหูลูกตา ไร่อ้อยที่รุกคืบเข้าครอบคลุมที่ราบสูงแถบอีสาน กระชังปลาวางเรียงรายเต็มสองฝั่งลำน้ำ กลิ่นขี้หมูขี้ไก่ที่รบกวนและเป็นชนวนความขัดแย้งของหลายชุมชน ซึ่งล้วนเกิดจากการผลักดันของบรรษัท โดยมีรัฐสนับสนุนแต่มิได้คำนึงถึงการจัดการทรัพยากรอย่างยืน  
 

ประการถัดมา ระบบเกษตรพันธสัญญาเป็นกระบวนการทำธุรกิจที่คิดค้นขึ้นมาโดยบรรษัท เพื่อผลกำไรสูงสุดของบรรษัท มิได้ตั้งเป้าหมายอยู่ที่คุณภาพชีวิตของเกษตรกร สิ่งที่ปรากฏในทุกขั้นตอนของเกษตรพันธสัญญาตั้งแต่เริ่มปลูก/เลี้ยง จนถึงขาย จะเห็นการ “ผลักภาระความเสี่ยง” ไปให้เกษตรกรแบกรับฝ่ายเดียว ไม่ว่าจะเป็น ภัยธรรมชาติ หรือราคาที่ผันผวนของราคาสินค้าเกษตรที่แปรผันตามกลไกตลาด   และเมื่อมีผลประโยชน์บรรษัทก็จะ “ขูดรีด” ทุกสิ่งที่ตนสามารถกระทำได้ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจในการกำหนดราคารับซื้อ วันที่จะไปจับหรือเก็บเกี่ยว หรือมาตรฐานสินค้า ซึ่งในหลายกรณีปรากฏ “การฉ้อฉล” เช่น การโกงน้ำหนัก โกงมาตรฐาน หรือบังคับให้เกษตรใส่ยา ให้อาหาร สารเคมี หรือปรับปรุงโรงเรือน เกินความจำเป็น แต่บรรษัทได้กำไรจากการขายของเหล่านี้
 

สิ่งที่สำคัญอีกประการ คือ ราคาอาหารที่พุ่งกระฉูดโดยที่รัฐบาลทำอะไรไม่ได้ ก็เนื่องจากบรรษัทธุรกิจเกษตรมีอำนาจเหนือสายพานการผลิต ช่องทางการตลาด เรื่อยมาจนถึงปากผู้กินผ่านระบบเกษตรพันธสัญญานั่นเอง   หากรัฐไม่เข้ามาแทรกแซงก็ควบคุมราคาไม่ได้
 

บทความชิ้นนี้มิได้ต่อต้านเกษตรพันธสัญญาอย่างสิ้นเชิง แต่มุ่งเสนอให้เห็นว่า หากจะมีการส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบพันธสัญญา ผ่านแผนพัฒนฯ ฉบับที่ 11 จะต้องทำในเงื่อนไขที่รัฐและสังคมสามารถควบคุมระบบเกษตรพันธสัญญาให้อยู่บน พื้นฐานของ “ความเป็นธรรม” ดังต่อไปนี้

1. การป้องกันปัจจัยการผลิตให้พ้นจากการผูกขาดโดยบรรษัท ทั้งเรื่องพันธุกรรม ที่ดิน อาหาร ยา ปุ๋ย
 

2. การเน้นระบบกรรมสิทธิ์ร่วมในการจัดสรรทรัพยากรร่วม ทั้งทรัพยากรธรรมชาติ และงบประมาณ บุคลากรของรัฐ   นอกจากนี้จะต้องมีการนำเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์มาปรับใช้เพื่อแก้ปัญหาการ ก่อมลพิษ หรือการฉวยใช้ทรัพยากรส่วนรวมเพื่อการทำเกษตรเชิงเดี่ยว (อย่างไรก็ตามเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่จะนำมาใช้จักต้องต่อไปอีกว่าจะอิง กับกรอบวิธีวิทยา ทางเศรษฐศาสตร์แบบใด เช่น ถ้าหากเปรียบเทียบกรอบเศรษฐศาสตร์การเมืองแนวนิเวศน์ กับ เศรษฐศาสตร์กระแสหลักมาใช้วิเคราะห์ย่อมให้ผลลัพธ์ที่ต่างกัน)
 

3. การสร้างหลักประกันที่มั่นคงให้กับเกษตรกร ด้วยการสร้างระบบ “การแบกรับความเสี่ยงร่วมกัน” โดยให้สัญญาที่เกิดขึ้นมีลักษณะเป็น “หุ้นส่วนทางธุรกิจ” ที่บรรษัทต้องร่วมรับความเสียหายเมื่อเกิดภัยพิบัติ และการขาดทุนจากความผันผวนของราคา เมื่อเกิดกำไรจากการผลิตและการขายสินค้าเกษตรและอาหารให้มีการจัดเก็บเงิน จากบรรษัทเข้าสมทบ “กองทุนสวัสดิการเกษตรกรในระบบสัญญา” เพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิตของเกษตรกร
 
4. การให้สิทธิแก่เกษตรกรในตัวสินค้าเกษตรและอาหารเมื่อผลิตเสร็จสิ้น กล่าวคือ ให้เกษตรกรสามารถเก็บ กิน ใช้ แจกจ่าย หรือเลือกขายผลผลิตของตนเองได้ หากเกษตรกรต้องการ มิใช่การบังคับขายผลผลิตทั้งหมดให้กับบรรษัทในราคาที่กำหนดไว้ล่วงหน้า (หากราคาตอนนั้นดีกว่าที่ตกลง เกษตรกรต้องเลือกขายให้เกิดผลตอบแทนสูงสุดได้) และเป็นการคง “อธิปไตยในอาหาร” ไว้ในมือเกษตรกร
 

5. สร้างระบบตลาดทางเลือก หรือเกษตรพันธสัญญาที่เชื่อมโยง เกษตรกร กับ ผู้บริโภค โดยตรง ไม่ต้องผ่านคนกลางที่อยู่ในรูปของบรรษัท เพื่อให้ ราคา และ คุณภาพ อาหารเกิดจากการตกลงร่วมกันระหว่าง ผู้บริโภค กับ เกษตรกร
 

6. การส่งเสริมการวิจัย ต้องส่งเสริมการวิจัยภาคประชาชน และการวิจัยพัฒนาในระดับชุมชนท้องถิ่นเพื่อรักษาวิถีชีวิตเกษตรกรรมและ ภูมิปัญญาพื้นบ้าน
 

7. การเปิดพื้นที่สาธารณะให้มีการถกเถียงและนำเสนอข้อมูลเกษตรพันธสัญญาอย่าง รอบด้าน มิใช่การผูกขาดพื้นที่การนำเสนอข้อมูลโดยฝ่ายบรรษัทผ่านการโฆษณาประชา สัมพันธ์ในสื่อฝ่ายเดียว
 

หากรัฐสร้างเงื่อนไขข้างต้นได้ เกษตรพันธสัญญาก็อาจเป็นวิธีพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

บทความจาก www.bangkokbiznews.com

ภาพจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: