เมื่อแมลงวันไม่ตอมกันเอง สังคมจึงต้องตรวจสอบแมลงวัน

ธาม เชื้อสถาปนศิริ : มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา 10 ก.พ. 2555


 

“News of the World” ที่มีอายุยาวนานกว่า 168 ปี ของ “Rupert Murdoch” เจ้าพ่อสื่อที่ครอบครองสื่อมากในทวีปอเมริกา ยุโรป และ ออสเตรเลีย ทั้งสื่อหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์ ภาพยนตร์ สาเหตุที่ต้องปิดหนังสือพิมพ์ที่มียอดจำหน่ายสูงสุดในวันอาทิตย์ของอังกฤษ เฉลี่ยสัปดาห์ละ 2.8 ล้านฉบับ นี้ ก็คือผลสอบสวนที่ระบุว่าหนังสือพิมพ์นี้มีการแอบดักฟังข้อความสนทนาโทรศัพท์ ของผู้คนต่างๆ กว่า 4,000 คน ทั้งในวงการบันเทิง การเมือง กฎหมาย และชาวบ้านทั่วไปที่ตกเป็นข่าว โดยอาจร่วมมือกับตำรวจและนักการเมืองระดับสูง

 

 

ส่วนบ้านเรา ผลสอบของอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เรื่องอีเมล์ซื้อสื่อ ที่เพิ่งแถลงต่อสาธารณะไปแล้ว ว่า หนังสือพิมพ์บางส่วนมีเหตุให้น่าเชื่อว่า เอนเอียงไปทางพรรคการเมืองหนึ่งอย่างชัดเจน อีกทั้งก็เชื่อได้ว่ามีการบริหารจัดการสื่ออย่างเป็นระบบ ทั้งเรื่องภาพข่าว พาดหัวข่าว สกู๊ปข่าว และโฆษณาพรรคการเมือง

 

เรื่องนี้เป็นปัญหาต่อไปว่า หนังสือพิมพ์ผู้ที่ถูกวินิจฉัยว่าเอนเอียงนั้น ปฏิเสธผลการตรวจสอบของอนุกรรมการฯ ซึ่งแต่งตั้งให้คนนอกมาตรวจสอบ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่เป็นหน่วยงานหลักควบคุมดูแลเชิงจริยธรรม

 

ตอนนี้เลยกลายเป็นว่า คณะอนุกรรมการที่ตรวจสอบสื่อ กลับโดนสื่อตรวจสอบและตั้งคำถามเสียเอง
การตรวจสอบสื่อ การควบคุมดูแลกันเองของสื่อ ในบ้านเรา จึงมักเป็นประเด็นปัญหาเรื่องประสิทธิภาพและการยอมรับ เสมอมา
แนวคิดที่ว่า “ให้สื่อกำกับดูแลตนเอง” กับ “แมลงวันย่อมไม่ตอมแมลงวันด้วยกัน” นั้น ดูท่าจะเป็นจริงมากในสังคมไทย

 

ผู้เขียนรู้สึกโดยส่วนตัวว่า สื่อไทยบ้านเรานี่แปลก ไม่ชอบให้ใครมาวิพากษ์วิจารณ์หรือตรวจสอบ แต่ตนเองกลับมีสิทธิอำนาจเต็มที่ที่จะไปตรวจสอบคนอื่น นับว่าเป็นต้นตอแห่งปัญหาเชิงจริยธรรมในสื่อมาก


กรณีปัญหาเรื่องการซื้อ สื่อ เชื่อว่าทุกรัฐบาลนั้นใช้อำนาจทุนและการเมืองซื้อสื่อด้วยกันทั้งนั้น เพียงแต่มากน้อยต่างกัน  เมื่อปลายปีก่อน ก็มีกรณีพรรคการเมืองหนึ่งใช้เงินให้นักข่าวไปเที่ยวอาบน้ำ จนเป็นข่าวโด่งดัง พอตรวจสอบก็จับมือใครดมไม่ได้ เงียบหายไป  และหลายๆ กรณีปัญหา เช่น การนำเสนอข่าวที่ละเมิดจริยธรรม และกฎหมาย ด้านความรุนแรง ภาพข่าวลามก อุจาดหวาดเสียว การลงข้อความโฆษณาชวนเชื่อหรือเนื้อหาการพนัน  เรียกว่า ปัญหาสื่อไทยนั้น มันยกกำลังสาม ทับซ้อนกันหลายขั้นกันเลยทีเดียว เป็นปัญหาระดับเชิงโครงสร้าง หรือวัฒนธรรมคนทำสื่อไทยกันแน่

 

มองกลับไปที่สื่อหนังสือพิมพ์อังกฤษ “news of the world” นั้น กระบวนการตรวจสอบถึงขั้นการพิจารณาของศาล ในทางกฎหมาย เพราะข้อฟ้องร้องมีมูลน่าเชื่อถือ อีกทั้งการโจรกรรมข้อมูลนั้นก็กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนและบุคคล สาธารณะอื่นๆ

 

กระบวนการโจรกรรมข้อมูลของนักข่าวหนังสือพิมพ์นี้ เชื่อแน่ว่ากองบรรณาธิการ หรือ บรรณาธิการระดับสูงย่อมรู้เห็นเป็นใจกับนักข่าว และหรือตัวบรรณาธิการเองนั้นเสียอีกที่อาจมีส่วนกับการได้มาของข้อมูลข่าว อันผิดกฎหมาย

 

ความน่าเชื่อถือของหนังสือพิมพ์ จึงเป็นส่วนที่นักหนังสือพิมพ์ต้องรักษาให้สำคัญ หาไม่แล้วก็เลือกที่จะยุบหนังสือพิมพ์ไปดีกว่าเช่นที่รูเพิร์ต เมอร์ด็อคทำ (แต่ก็มีคนวิเคราะห์ว่า ที่ยุบหนังสือพิมพ์ นิวส์ออฟ เดอะเวิร์ลด์ นั้น เพราะต้องการจำกัดวงความเสียหายที่มีต่อมูลค่าหุ้นของบริษัทมากกว่า และเพื่อหลีกเลี่ยงการเสี่ยงที่จะถูกตรวจสอบไปยังสื่ออื่นๆ ในเครือกลุ่มบริษัท มากกว่าที่จะเป็นการแสดงความรับผิดชอบทางจริยธรรม)


อย่าง ไรก็ตาม ก็นับว่าเป็นสปิริตของรูเพิร์ตเมอร์ด็อค เพราะเมื่อสูญสิ้นความศรัทธาจากผู้อ่าน ก็เท่ากับว่าหนังสือพิมพ์นั้นล้มละลายทางสังคมและวิชาชีพไปแล้ว
ไม่เกี่ยวกับยอดจำหน่าย มูลค่าหุ้น หรือ อาคาร โรงพิมพ์ บุคลากร แต่เป็นเรื่องของ “ความน่าเชื่อถือ”

 

อันที่จริงปัญหาเรื่องการไม่ยอมรับการตรวจสอบ การวินิจฉัย คงเป็นวัฒนธรรมมาตั้งแต่นักการเมืองระดับสูงไปแล้ว แม้กระทั่งศาลบ้านเมือง ตัดสิน วินิจฉัยอะไรออกมา ผู้กระทำผิดก็มักคัดค้าน ไม่เห็นด้วย ต่อต้าน มากกว่านั้นคือการโต้กลับ ตรวจสอบผู้ที่มาเป็นศาลเสียอีก ยิ่งสร้างปัญหาไปกันใหญ่

 

อาจารย์ ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ รองประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย เคยเสนองานวิจัย เรื่อง "การกำกับดูแลร่วม Co-Regulation" ว่า ปัจจุบันหนังสือพิมพ์ถูกกำกับดูแลจาก 2 ประการคือ พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ กำหนดให้หนังสือพิมพ์ต้องจดแจ้งการพิมพ์กับทางราชการเพื่อประกอบการ และการควบคุมจริยธรรมโดยการกำกับดูแลกันเองผ่านสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

 

แต่ปัญหาคือ การกำกับดูแลกันเองนั้น มักไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร วิธี แก้คือใช้กลวิธีการกำกับร่วม คือจะต้องเชื่อมโยงสมาชิกภาพของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เข้ากับการจดแจ้งการพิมพ์ และกำหนดให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีอำนาจลงโทษสมาชิกที่ฝ่าฝืนข้อบังคับ ตั้งแต่ให้ลงข้อความขอโทษหรือแก้ไข รวมทั้งรัฐบังคับให้ปฏิบัติตาม โดยกำหนดโทษปรับ ไปจนถึงการถอนการจดแจ้งการพิมพ์ ทั้งนี้ ตามข้อเสนอแนะของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และผู้ถูกโทษปรับ หรือถอนการจดแจ้งการพิมพ์ สามารถฟ้องร้องต่อศาลปกครองได้

 

 

ปัญหาเรื่อง “ประสิทธิภาพการกำกับดูแลกันเอง” ในวิชาชีพสื่อหนังสือพิมพ์นี้ มีมานานพอๆ กับอายุของสภาการหนังสือพิมพ์ที่เพิ่งครบรอบ 14 ปีไป งานวิจัยมากมายในสถาบันการศึกษา ล้วนสรุปว่า มีสภาพปัญหาคือการไม่เคารพเชื่อฟังของสมาชิก และอำนาจที่ไม่เด็ดขาด เสมือนเสือกระดาษ หรือ สภาตรายาง นี่จึงน่าจะเป็นโอกาสสำคัญที่สภาการหนังสือพิมพ์ฯ จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงเป็นเสือที่ติดเขี้ยวเล็บเสียใหม่ให้มีอำนาจมากขึ้นใน การตรวจสอบและกำกับดูแลสื่อให้เข้มแข็งมากขึ้น

 

วัฒนธรรม “แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน” นั้น เป็นสิ่งที่ควรปรับปรุงแก้ไข หากยังไม่ปรับปรุง สังคมก็เอือมระอากับสิ่งที่เกิด ต่อไปก็เกิดสื่อแยกสี แบ่งค่าย สื่อพวกใครพวกมัน กลายเป็นสื่อพาณิชย์ สื่อการเมืองกันเสียหมด ถึงตอนนั้นก็ไม่ต้องมีการตรวจสอบ ใครจะทำอะไร อย่างไรก็ไม่ต้องสนใจเรื่องหลักจรรยาบรรณวิชาชีพอีกต่อไป เพราะถือว่าตนเองอยู่ได้บนฐานผลประโยชน์รายได้ มิใช่ “ความน่าเชื่อถือศรัทธาจากผู้อ่าน”

 

ช่วง 7 ปีหลังนี้ ปัญหาจริยธรรมสื่อเรื่องการเลือกข้าง ฝักใฝ่ทางการเมืองนั้นได้กลายมาเป็นประเด็นสำคัญ อำนาจการเมืองเข้ามาแทรกทั้งทางตรงและอ้อม สื่อหลายสำนักเปลี่ยนแปลงอุดมการณ์ที่ตนยึดถือ และทำผิดกฎข้อบังคับจริยธรรมมากมาย ทั้งเรื่องการนำเสนอข่าวที่เอนเอียง อคติ ใส่ความคิดเห็น และชี้นำความคิดของผู้อ่าน โดยอ้างว่าเป็นสภาพข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

 

ปัญหามิได้อยู่ที่ว่าเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นหรือไม่ ปัญหาอยู่ที่ วิธีการคัดเลือกเอาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ต่างหาก ที่สะท้อนความเอนเอียงอคติ และเมื่อนำเสนอ ก็ยากที่จะชี้นำความคิดผู้อ่านไปในทางใดทางหนึ่ง


แนวคิดรู้เท่าทันสื่อ ที่มักสอนกัน  สื่อน่าจะนำไปตั้งคำถามสำหรับตัวเองด้วยคือ  “ทุกๆ เนื้อหาสื่อนั้น ล้วนผ่านการประกอบสร้างทั้งสิ้น” ไม่ได้นำเสนอเสมือนกระจกที่สะท้อนภาพความจริง (truth) แต่เป็นความเป็นจริง (Reality) ที่ผ่านการประกอบสร้าง (construct) มาแล้ว ด้วยกลวิธีการทางภาษา คำ สัญลักษณ์  ซึ่งสลับซับซ้อน และแฝงด้วยความคิดความหมายมากมาย”

 

เมื่อสื่อซับซ้อนขึ้น คนอ่านก็ต้องมีความคิดรู้ทันกระบวนการซับซ้อนของสื่อเหล่านั้น
เมื่อกระบวนการควบคุมกันเองของสื่อไม่ได้ผล สังคมที่รู้เท่าทันสื่อจึงควรมาร่วมตรวจสอบสื่อกันเอง

 

เพราะไหนๆ แมลงวัน ก็ไม่ตอมพวกเดียวกัน  ประชาชนอย่างเราๆจะต้องรู้เท่าทันแมลงวันกันเอาเอง

ร่วมเป็นแฟนเพจเฟสบุ๊คกับ TCIJ ออนไลน์
www.facebook.com/tcijthai

ป้ายคำ
Like this article:
Social share: